ซื้อ บ้านมือสอง จากไหนเวิร์คที่สุด?
“ บ้านมือสอง ” เป็นอีกทางเลือกของคนอยากมีบ้าน แต่มีเงื่อนไขในชีวิตบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ การเลือกทำเลที่ตั้ง ตลอดจนความต้องการที่จะได้เห็นสภาพแวดล้อม เพื่อนบ้าน ความเป็นอยู่ก่อนย้ายสำมะโนครัวเข้าไปอยู่จริง ในขณะที่บางคนอาจต้องการซื้อเพื่อลงทุนปล่อยเช่า หรือ ทำกำไรในอนาคต เพราะมองเห็นโอกาสทางธุรกิจ
ไม่ว่าโจทย์ในการซื้อ บ้านมือสอง ของคุณจะเป็นอย่างไร ไม่ใช่ปัญหา เพราะคำถามที่ใหญ่กว่า และต้องเลือกตอบให้ได้ ถ้าไม่อยากนำพาความปวดหัวเข้ามาในอนาคต คือ ควรซื้อบ้าน มือสอง จากที่ไหน จากเจ้าของบ้านโดยตรง ประมูลจากกรมบังคับคดี หรือ ธนาคารเวิร์คสุด คำตอบคือ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแต่ละบุคคล เอาเป็นว่า เพื่อเป็นการประกอบการตัดสินใจ ลองไปชั่งน้ำหนัก ดูข้อดีข้อเสียของแต่ละประเภทดีกว่า
1.ซื้อตรงจากเจ้าของบ้าน ใครที่หาบ้านผ่านลงประกาศ บ้านมือสอง ทางเว็บไซต์ หรือตระเวนหาบ้านในทำเลที่สนใจ มีดีลตรงกับเจ้าของบ้าน หรืออาจผ่านนายหน้า ข้อดีของวิธีนี้ คือ สามารถพูดคุยต่อรองราคา ตกลงค่าใช้จ่ายกับเจ้าของผ่านได้ (อาจจะติดต่อกันโดยตรงหรือต่อรองผ่านนายหน้าแล้วแต่กรณี) แต่ข้อเสียคือ ราคาบ้านอาจจะสูง เพราะมูลค่าบ้านถูกบวกค่าตกแต่ง ต่อเติมให้สวยงามหรือพร้อมเข้าอยู่เข้าไปด้วย ซ้ำร้ายถ้าเจอขายผ่านนายหน้าก็ต้องทำใจว่าโดนบวกค่านายหน้าเข้าไปด้วยแน่ๆ เพราะฉะนั้นทางที่ดี คือ อย่าเพิ่งใจร้อนด่วนตัดสินใจ เจอ บ้านมือสอง ที่ถูกใจแล้ว ลองทำการบ้านให้หนัก เปรียบเทียบราคาบ้านในละแวกเดียวกันดูให้มั่นใจ
นอกจากนี้หากตกลงปลงใจซื้อบ้านได้แล้ว ในกรณีไม่ขอสินเชื่อจากธนาคารและไม่มีนายหน้าเป็นตัวกลาง ไม่เพียงผู้ซื้อต้องสละเวลาเพื่อเตรียมและจัดการเรื่องเอกสารให้เรียบร้อย โดยเฉพาะในการทำนิติกรรมที่สำนักงานที่ดิน ยังต้องใส่ใจตรวจสอบโฉนดก่อนจ่ายเงินว่าเป็นของจริงหรือไม่ เพื่อให้มั่นใจว่าไม่ถูกหลอก ทั้งนี้ผู้ซื้อสามารถตรวจสอบชื่อล่าสุดว่าเป็นของผู้ขายหรือไม่ ด้วยการขอคัดสำเนาโฉนดที่สำนักงานที่ดิน โดยจะให้ผู้ขายเป็นผู้ขอคัดเองหรือมอบอำนาจให้ผู้อื่นไปทำแทนก็ได้
ส่วนผู้ซื้อที่ขอสินเชื่อจากธนาคาร นอกจากสามารถมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ธนาคารช่วยดำเนินการด้านการทำนิติกรรมที่สำนักงานที่ดินให้ได้ ยังเบาใจเรื่องโฉนดที่ดินได้จากการส่งประเมินราคาบ้านกับธนาคาร
2.ประมูลบ้านจากกรมบังคับคดี ในที่นี้หมายถึง ทรัพย์สินของลูกหนี้ธนาคารที่นำมาใช้เป็นหลักประกันในการกู้เงิน แต่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไข จนถูกฟ้องยึดทรัพย์ และนำไปประมูลขายทอดตลาดโดยกรมบังคับคดี ข้อดี คือ มีโอกาสได้บ้านในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดก็จริง แต่ก็มีข้อพึงระวัง คือ ผู้อยู่อาศัยเดิมอาจไม่ย้ายออก เพราะฉะนั้นก่อนการวางเงินประมูลบ้าน ควรไปดูบ้านจริงว่ามีใครอาศัยอยู่ในบ้านหรือไม่ นอกจากนี้ยังต้องเตรียมเงินให้พร้อม เพราะหากสนใจ บ้านมือสอง ประเภทนี้ ต้องวางเป็นเงินประกันซึ่งคิดตามราคาประเมิน และ มีระยะเวลาในการชำระเงิน เมื่อประมูลทรัพย์ได้จะต้องนำเงินไปชำระภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ซื้อทรัพย์ได้ แต่ถ้าอยู่ระหว่างการรวบรวมเงิน หรือกำลังยื่นขอสินเชื่อ ก็สามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาการชำระเงินได้ เพราะหากครบกำหนดระยะเวลาแล้วไม่ชำระเงินส่วนที่เหลือจะถูกริบเงินมัดจำ
3.ซื้อบ้านทรัพย์สินรอการขายของธนาคาร “NPA” หมายถึง ทรัพย์สินที่ธนาคารซื้อคืนด้วยการประมูลจากสินทรัพย์ที่กรมบังคับคดีนำไปไปประมูลขายทอดตลาด จุดเด่นของการซื้อ บ้านมือสอง ดังกล่าว คือ วิธีการไม่ยุ่งยากเหมือนการประมูลบ้านตามข้อ 2 มั่นใจได้ว่าจะไม่ถูกหลอก เพราะเป็นการซื้อโดยตรงกับธนาคารที่ผ่านการตรวจสอบมาแล้ว ที่สำคัญธนาคารที่ไหนก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องยื่นกู้ธนาคารที่ขายทรัพย์สินเท่านั้น แต่การกู้กับธนาคารที่ขายทรัพย์อาจได้รับความสะดวกในด้านการยื่นเอกสาร หรืออาจมีโปรโมชั่นให้กับผู้ซื้อทรัพย์ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องศึกษาเงื่อนไขในการกู้ให้ดี เพราะบางธนาคารอาจมีข้อกำหนดที่จะไม่คืนเงินประกันการเสนอซื้อหรือเงินมัดจำ ในกรณีที่ยื่นกู้ไม่ผ่าน
อย่างไรก็ตาม แต่ละแหล่งขาย บ้านมือสอง ล้วนมีจุดเด่น จุดพึงระวังแตกต่างกันออกไป เพราะฉะนั้นในฐานะผู้ซื้อ ใช้อำนาจของการตัดสินใจที่มีให้ดีที่สุด เพื่อไม่ต้องเสียใจภายหลัง สามารถใช้งานฟรี “TerraBKK ช่วยหาบ้าน” หากคุณกำลังมองหาบ้านหรือคอนโดมิเนียม เพียงบอกมา เราจะจัดหาทรัพย์น่าสนใจให้ทันที คลิ๊ก >> www.terrabkk.com/help-search