จดหมายเปิดผนึกของผู้นำทางความคิดกว่า 100 คนในสหรัฐฯ “จีนคือคู่แข่งทางเศรษฐกิจ แต่ไม่ใช่ศัตรู”
จีนเป็นประเทศที่มีประชากร 1 ใน 5 ของโลก มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก มีรัฐบาลที่อาศัยเศรษฐกิจกลไกตลาด และระบบการเมืองแบบอำนาจนิยม ที่มีพรรคการเมืองแบบพรรคเดียว เป็นประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์เพื่อใช้ป้องปรามจำนวนหนึ่ง มีระบบควบคุมประชาชนอย่างกว้างขวาง มีค่ายกักกันเพื่อปรับทัศนคติ และมี “ผู้นำตลอดชีพ” อย่างสี จิ้นผิง ประเทศแบบนี้ เป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐอเมริกาหรือไม่
เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ Washington Post ได้ตีพิมพ์จดหมายเปิดผนึกของนักวิชาการชั้นนำ อดีตนักการทูต และผู้นำธุรกิจ ที่มีชื่อเสียงของสหรัฐฯ ที่เขียนถึงประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และสมาชิกรัฐสภาของสหรัฐฯ โดยบุคคลที่มีชื่อเสียงและมีอิทธิพลทางความคิดที่ลงชื่อในจดหมายเปิดผนึก ได้แก่ Taylor Fravel จาก MIT, Stapleton Roy อดีตทูตสหรัฐฯ ประจำจีน, Susan A. Thornton จากมหาวิทยาลัย Yale และ Ezra Vogel กับ Joseph Nye จาก Harvard เป็นต้น
จดหมายเปิดผนึกกล่าวว่า บุคคลที่ลงนามในจดหมายทุกคน มาจากสมาชิกในชุมชนทางวิชาการ นโยบายต่างประเทศ ทางทหาร และทางธุรกิจของสหรัฐฯ หลายคนมีวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับภูมิภาคเอเชีย และวิตกกังวลต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ที่นับวันจะเลวร้ายลงไป พวกเขาเชื่อว่า สิ่งนี้ไม่ได้สนองประโยชน์ของสหรัฐฯ และของโลก
ข้อเสนอทางความคิด 7 ประการ
จดหมายเปิดผนึกกล่าวว่า สิ่งที่จะกล่าวต่อไปนี้ คือข้อเสนอทางความคิดของบุคคลที่ลงนามในจดหมาย ในเรื่อง ทัศนะที่มีต่อจีน ต่อปัญหาที่เกิดจากวิธีการที่สหรัฐฯ ใช้กับจีนในปัจจุบัน และนโยบายของสหรัฐฯ ที่จะให้ผลลัพธ์ที่ดีมากกว่า
(1) พฤติกรรมของจีนที่สร้างปัญหามากขึ้น ในระยะปีที่ผ่านมา เป็นการท้าทายที่ร้ายแรงต่อส่วนอื่นๆ ของโลก เช่น การปราบปรามในประเทศมากขึ้น อำนาจการควบคุมของรัฐมากขึ้นต่อธุรกิจภาคเอกชน การล้มเหลวที่จะทำตามพันธะทางการค้า และนโยบายต่างประเทศที่ก้าวร้าวมากขึ้น การท้าทายเหล่านี้ต้องการมาตรการตอบโต้ที่หนักแน่นและมีประสิทธิผลจากสหรัฐฯ แต่วิธีการที่รัฐบาลสหรัฐฯ ในปัจจุบันใช้กับจีนได้ผลตรงกันข้ามกับที่ตัวเองต้องการ
(2) เราไม่เชื่อว่าจีนเป็นศัตรูทางเศรษฐกิจ หรือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ ที่จะต้องใช้วิธีการเผชิญหน้าในทุกๆ ปริมณฑล เราไม่เชื่อว่า จีนมีความเป็นหนึ่งเดียวกันทั้งหมดแบบก้อนหินขนาดใหญ่ หรือทัศนะของผู้นำคือสิ่งที่เขียนไว้ในศิลาจารึก แม้ว่าการเติบโตอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจและทางทหารทำให้จีนแสดงบทบาทระหว่างประเทศที่แข็งกร้าวมากขึ้น แต่เจ้าหน้าที่และคนชั้นนำของจีนจำนวนมากรู้ว่า วิธีการร่วมมือกับตะวันตก ที่เป็นแบบแท้จริง สายกลาง และมุ่งเห็นผลทางปฏิบัติ คือสิ่งที่เป็นผลประโยชน์ของจีนเอง นโยบายของสหรัฐฯ ที่เป็นปรปักษ์ต่อจีนไปทำให้ฐานะของกลุ่มผู้นำจีนที่มีทัศนะดังกล่าวอ่อนแอลง แต่กลับไปสร้างความเข้มแข็งให้กับพวกชาตินิยม การใช้นโยบายที่สมดุลระหว่างการแข่งขันกับความร่วมมือ จะช่วยเสริมความเข้มแข็งให้กับกลุ่มผู้นำจีน ที่ต้องการให้จีนมีบทบาทแบบสร้างสรรค์ต่อกิจการของโลก
(3) ความพยายามของสหรัฐฯ ที่จะปฏิบัติต่อจีนในฐานะศัตรู และดำเนินการตัดขาดการเชื่อมโยงที่จีนมีกับเศรษฐกิจโลก (decouple) จะก่อความเสียหายแก่บทบาทกับชื่อเสียงของสหรัฐฯ ต่อเวทีนานาชาติ และจะบ่อนทำลายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของทุกประเทศในโลก การต่อต้านของสหรัฐฯ จะไม่สามารถยับยั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องของจีน หรือส่วนแบ่งตลาดที่มากขึ้นของบริษัทจีน รวมทั้งการมีบทบาทมากขึ้นของจีนในกิจการของโลก ยิ่งกว่านั้น สหรัฐฯ ไม่สามารถจะสกัดการพุ่งขึ้นมาของจีนโดยที่สหรัฐฯ เองไม่เกิดความเสียหาย หากสหรัฐฯ กดดันพันธมิตรให้ปฏิบัติต่อจีนเป็นศัตรูทางเศรษฐกิจและการเมือง สหรัฐฯ ก็จะทำให้ความสัมพันธ์กับพันธมิตรอ่อนแอลง และจบลงที่สหรัฐฯ โดดเดี่ยวตัวเอง มากกว่าจะทำให้จีนโดดเดี่ยว
(4) ความกลัวที่ว่าจีนจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำโลกแทนสหรัฐฯ เป็นการให้ความสำคัญในเรื่องนี้ที่เกินความจริง ประเทศส่วนใหญ่ในโลกไม่ได้ประโยชน์อะไรจากผลลัพธ์แบบนี้ และก็ยังไม่ชัดเจนว่า จีนเองมองเห็นว่าเป้าหมายนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นและเป็นไปได้ ยิ่งไปกว่านี้ รัฐบาลที่ดำเนินการจำกัดข่าวสารและโอกาสแก่ประชาชนของตัวเอง และปราบปรามชนกลุ่มน้อยอย่างรุนแรง ไม่อาจจะได้รับการสนับสนุนจากนานาชาติอย่างมีนัยสำคัญ หรือประสบความสำเร็จในการดึงดูดคนมีความสามารถจากทั่วโลก การตอบโต้ที่ดีที่สุดของสหรัฐฯ ต่อปัญหาเหล่านี้คือ การร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อสร้างโลกที่มั่งคั่งและเปิดกว้างมากขึ้น โดยจีนเองได้รับการเสนอโอกาสในการเข้ามามีส่วนร่วม ความพยายามที่จะโดดเดี่ยวจีนมีแต่จะทำให้ความประสงค์ของจีนที่จะพัฒนาตัวเองให้เป็นสังคมที่มีความเอื้อเฟื้อและอดทนอดกลั้นมากขึ้นต้องอ่อนแอลงไป
(5) แม้ว่าจีนมีเป้าหมายที่จะเป็นประทศมหาอำนาจทางทหารในกลางศตวรรษที่ 21 แต่จีนก็ประสบปัญหายากลำบากที่จะแสดงตัวเป็นประเทศมหาอำนาจทางทหารในโลก ความสามารถทางทหารของจีนที่สูงขึ้นได้กัดกร่อนอำนาจนำทางทหารของสหรัฐฯ ที่มีอยู่มายาวนานในแปซิฟิกตะวันตก วิธีที่ดีที่สุดในการรับมือต่อสิ่งนี้ไม่ใช่การแข่งขันด้านอาวุธแบบไม่รู้จบสิ้นโดยไปเน้นที่อาวุธในเชิงรุกและที่สามารถโจมตีได้ลุ่มลึกมากขึ้น หรือการตั้งเป้าหมายที่เป็นไปไม่ได้ในการยืนหยัดฐานะนำของสหรัฐฯ ที่กว้างไกลไปจนถึงพรมแดนจีน นโยบายที่ดีที่สุดคือการทำงานร่วมกับประเทศพันธมิตร ในการรักษามาตรการทางทหารแบบยับยั้ง (deterrence) โดยเน้นหนักที่การป้องกันตัวเอง เน้นความสามารถทางทหารที่ต่อต้านการยึดครองพื้นที่ (area denial capabilities) และความสามารถที่จะป้องกันการโจมตีต่อดินแดนสหรัฐฯ และพันธมิตร ขณะเดียวกัน ก็เสริมสร้างกลไกการบริหารจัดการวิกฤติกับฝ่ายจีน
(6) จีนนั้นหาหนทางที่จะทำให้บทบาทของค่านิยมประชาธิปไตยของตะวันตกอ่อนแอลงในระเบียบโลก แต่จีนไม่ได้ต้องการที่จะพลิกคว่ำองค์ประกอบเศรษฐกิจและด้านอื่นๆ ของระเบียบโลก ที่จีนได้ประโยชน์มานานหลายทศวรรษ จริงๆ แล้วการที่จีนมีส่วนเข้าร่วมในระบบนานาชาติเป็นปัจจัยสำคัญต่อการอยู่รอดของระบบนี้ และการมีมาตรการที่ได้ผลในแก้ปัญหาร่วมกัน เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ สหรัฐฯ ควรจะส่งเสริมจีนให้เข้าร่วมในระบบโลกที่มีการแก้ไขใหม่ โดยที่ประเทศมหาอำนาจเกิดใหม่มีสิทธิ์มีเสียงมากขึ้น การใช้วิธีการกับจีนจากทัศนะที่มองว่า เมื่อฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์ หมายถึงอีกฝ่ายเสียประโยชน์ (zero-sum game) จะไปส่งเสริมให้จีนมีท่าทีที่ว่า หากไม่ถอนตัวจากระบบที่เป็นอยู่ ก็ไปสนับสนุนการสร้างระเบียบโลกที่แตกแยกออกไป ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อประโยชน์ของชาติตะวันตก
(7) สรุป นโยบายสหรัฐฯ ต่อจีนที่จะประสบความสำเร็จ จะต้องเน้นการสร้างพันธมิตรกับประเทศอื่นๆ เพื่อสนับสนุนเป้าหมายทางเศรษฐกิจและความมั่นคง นโยบายจะต้องวางอยู่บนการประเมินที่เป็นจริงต่อผลประโยชน์ เป้าหมาย และพฤติกรรมของจีน การมีนโยบายที่ถูกต้องอย่างทัดเทียมกันของสหรัฐฯ และพันธมิตร และการสร้างความสามารถของสหรัฐฯ ให้เป็นแบบอย่างแก่ประเทศอื่น และท้ายที่สุด สิ่งที่จะเป็นผลประโยชน์ดีที่สุดของสหรัฐฯ คือการฟื้นฟูความสามารถในการแข่งขันอย่างได้ผล ในโลกที่เปลี่ยนแปลงไป และโดยการทำงานร่วมกับประเทศอื่นๆ กับองค์การระหว่างประเทศต่างๆ มากกว่าการใช้นโยบายที่ขัดขวางหรือปิดล้อมการที่จีนจะเกี่ยวข้องและติดต่อสัมพันธ์กับโลก
จดหมายเปิดผนึกกล่าวสรุปว่า คนที่ลงนามในจดหมายฉบับนี้ต้องการแสดงให้ปรากฏชัดเจนว่า การมีท่าทีเป็นปรปักษ์ต่อจีน ไม่ใช่นโยบายที่เป็น “ฉันทานุมัติวอชิงตัน” (Washington Consensus)
ขอบคุณข้อมูลจาก thaipublica.org