ลองถามตัวเองกันดูสิครับว่าในทุกวันนี้กิจกรรมที่เราทำบ่อยที่สุดในแต่ละวันคืออะไร ???

          ใช่การออกกำลังกายรึเปล่า การอ่านหนังสือรึเปล่า ในความเป็นจริงเรื่องพวกนี้อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในแต่ละวันของเรา แต่สิ่งที่มนุษย์โลกเราส่วนใหญ่ทำเป็นกิจวัตรประจำวันใช้เวลาบ่อยกว่าการออกกำลังกาย การกินอาหาร หรือการเจอเพื่อนฝูง นั้นคือการยกโทรศัพท์ขึ้นมาดู

          จากการรายงาน Global Digital Q3 ปี 2019 ของ Hootsuite  ระบบบริหารจัดการโซเชียลมีเดีย พบว่าประชากรโลกประมาณ 7.71 พันล้านคน มีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือที่ไม่ซ้ำกันประมาณ 5.11 พันล้านคน คิดเป็น 66.28% ของประชากรโลก มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 4.33 พันล้านคน คิดเป็น 56.16 % ของประชากรโลก ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าทั้งจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ และผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมีจำนวนเกินครึ่งของประชากรโลก หรือคิดง่ายๆ ถ้าเราเดินไปเจอคน 10 คนบนท้องถนนจะมีคนที่มีโทรศัพท์มือถือ ประมาณ 6 คน มีคนใช้อินเทอร์เน็ต 5 คน

แล้วเราใช้เวลาเฉลี่ยในการอยู่บนโลกอินเทอร์เน็ตนานเท่าไร ???

          โดยเฉลี่ยแล้วผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกใช้เวลาออนไลน์ 6 ชั่วโมง 42 นาทีต่อวันคิดเป็น 26.75% ของวัน หรือประมาณ 1 ใน 4 ของวัน ซึ่งจากข้อมูลของ Polar Sleep Plus ที่มีอยู่ในนาฬิกา ของ Polar รุ่น M430 และ A370 ที่ได้ทำการเก็บข้อมูลจากผู้ส่วมใส่นาฬิกาจากทั่วโลกที่มีประมาณ 6,105,544 คน พบว่าโดยเฉลี่ยแล้วคนทั่วโลกนอนหลับเฉลี่ยประมาณ 7 ชั่วโมง 22 นาที ระยะเวลาในการนอนหลับนานที่สุด เกิดขึ้นที่ประเทศเอสโตเนีย คือ ประมาณ 7 ชั่วโมง 36 นาที ส่วนประเทศที่มีระยะเวลาการนอนหลับสั้นที่สุด ก็คือ ประเทศญี่ปุ่นประมาณ 6 ชั่วโมง 33 นาที นั้นเท่ากับว่าเวลาเฉลี่ยของการใช้อินเทอร์เน็ตของทั้งโลกยังมากกว่าเวลานอนของใครบางคนด้วยซ้ำ

เราใช้อินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือทำอะไรกันในแต่ละวัน ???

          จากรายงานของ Global Digital 2019 ของ Hootsuite ได้รายงานไว้ว่าเว็บไซต์ที่คนส่วนใหญ่เข้ามาที่สุดแต่ละวัน 3 อันดับแรกคือ Google ใช้เวลาเฉลี่ยในการเข้าแต่ละครั้งอยู่ที่ 9 นาที อันดับสองคือ Youtube ใช้เวลาเฉลี่ยในการเข้าแต่ละครั้งอยู่ที่ 21 นาทีต่อครั้ง อันดับสามคือ Facebook อยู่ที่ 11 นาที

          มนุษย์เราใช้เวลาบนโลกอินเทอร์เน็ตมากเสียจนมีโรคที่เกิดจากการใช้อินเทอร์เน็ต ก็คือ โรคติดอินเทอร์เน็ต (Internet Addiction Disorder) จัดเป็นกลุ่มอาการทางจิตใจอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดจากการใช้อินเทอร์เน็ตในการเสพข้อมูลหรือข่าวสารมากเกินไป และหากเปรียบเทียบกับการติดดูโทรทัศน์หรือการติดอย่างอื่นๆ แล้วอินเทอร์เน็ตจะมีข้อแตกต่างกับสื่ออื่นๆ ก็คือ ความสามารถโต้ตอบกับผู้ที่เข้ามาใช้คนอื่นๆ ได้ทันที (Real Time) และจากบทความของ honestdocs.co ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า  ผู้ป่วยโรคนี้มักจะเป็นผู้ชายในช่วงวัยรุ่น ช่วงอายุ 20 และ 30 ปี และมีบางรายงานกล่าวว่าโรคเสพติดอินเทอร์เน็ตเป็นปัญหาที่รุนแรง โดยเฉพาะในประเทศแถบเอเชีย ตามรายงานของรอยเตอร์ในปี ค.ศ. 2013 เยาวชนอายุ 10-19 ปี ของประเทศเกาหลีใต้มีอาการเสพติดอินเทอร์เน็ต ส่วนในประเทศจีนก็ได้พัฒนาค่ายฟื้นฟูสมรรถภาพอย่างเข้มงวดเพื่อควบคุมให้ผู้ที่เสพติดอินเทอร์เน็ตห่างไกลจากการทำกิจกรรมออนไลน์ โดยรายงานปี ค.ศ. 2012 ในสื่อ China Daily ให้ข้อมูลว่า ประเทศจีนมีครูฝึกในค่ายมากกว่า 1,500 คนที่มีใบอนุญาตในการรักษาอาการเสพติดอินเทอร์เน็ต

          เราจะเห็นได้ว่าในความเป็นจริงอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือ เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของชีวิตของเรามากขึ้น เป็นอีกหนึ่งอย่างที่ไม่ว่าจะไปไหนเราก็ขาดไม่ได้ โดยเฉพาะในกลุ่มของวัยรุ่น และเทคโนโลยีของอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์ก็มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เพื่อตอบสนองการใช้งานให้กับมนุษย์เรามากขึ้น จึงไม่แปลกที่ทั้งสองสิ่งจะกลายเป็นปัจจัยที่จำเป็นในการใช้ชีวิต กลายเป็นอวัยวะที่ 33 ที่ต้องมีติดตัวไว้ตลอด

          แต่เราคงต้องกลับมาดูตัวเรากันอีกครั้งว่าเวลาที่เราใช้ไปในโลกอินเทอร์เน็ตและเวลาที่ใช้ไปกับโทรศัพท์มือถือ มันคุ้มค่าจริงรึเปล่า มันเกิดประโยชน์สูงสุดรึเปล่า และมันสร้างมูลค่าเพิ่มให้ตัวเรารึเปล่า เพื่อนๆมีความคิดเห็นอย่างไร มาร่วมแชร์ความคิดเห็นในเรื่องนี้กัน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ww.hootsuite.com 

www.honestdocs.co

www.polar.com