ข้าวเหนียว-ผักผลไม้สดแพง ดันเงินเฟ้อเดือน ส.ค. เพิ่ม 0.52%
สถานการณ์สินค้าเกษตรอย่างผักผลไม้ ข้าวเหนียว ที่มีผลผลิตออกมาสู่ตลาดน้อยจึงทำให้ช่วงนี้หลายคนจะเห็นว่าราคาอาหารสดแพงขึ้นหลายอย่างเลยทีเดียว
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้ สรุปสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการ เดือนสิงหาคม 2562 พบว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้น 0.52% ชะลอตัวจาก 0.98% ในเดือนก่อนหน้า โดยสินค้ากลุ่มอาหารสดเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น ในอัตราที่ชะลอตัว 5.15% โดยเฉพาะข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว เนื้อสุกร ไข่ ผักและผลไม้ ขณะที่สินค้ากลุ่มพลังงานยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง โดยลดลง 5.16% ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับลดต่อเนื่อง 4 เดือน ซึ่งเมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว เงินเฟ้อพื้นฐาน ขยายตัวที่ 0.49% เงินเฟ้อเฉลี่ย 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค.) ปี 2562 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 สูงขึ้น 0.87%
สำหรับหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์สูงขึ้น 2.63% โดยผักและผลไม้ สูงขึ้น 7.23% โดยเฉพาะผลไม้สด(ฝรั่ง มะม่วง สับปะรด) สูงขึ้น 8.69% ผักสด(มะนาว พริกสด มะละกอดิบ) สูงขึ้น 4.99% เนื่องจากผลผลิตที่ออกสู่ตลาดน้อย กอปรกับฐานราคาในปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำจึงทำให้ปีนี้มีราคาสูงขึ้น ส่วนข้าว,แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง โดยเฉพาะข้าวสารเหนียวและข้าวสารเจ้า สูงขึ้น 7.06% ตามปริมาณผลผลิตที่ออกน้อย สวนทางกับความต้องการมีอย่างต่อเนื่อง ด้านเนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ (เนื้อสุกร ปลานิล ไก่ย่าง) สูงขึ้น 3.63% ไข่และผลิตภัณฑ์นม (ไข่ไก่ นมสด นมเปรี้ยว) สูงขึ้น 1.82% ตามผลผลิตที่ออกสู่ตลาดน้อย
สำหรับอาหารบริโภคในบ้านและ นอกบ้าน (กับข้าวสำเร็จรูป อาหารเช้า ข้าวราดแกง)สูงขึ้น 0.97% และ 0.96% ตามลำดับ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (กาแฟร้อน/เย็น น้ำอัดลม น้ำผลไม้) สูงขึ้น 0.52% ขณะที่เครื่องประกอบอาหาร ลดลง 0.90%
ด้านหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและ เครื่องดื่ม ลดลง 0.67% ตามการลดลงของน้ำมันเชื้อเพลิงทุกประเภท ซึ่งลดลง 8.15% (ยกเว้นก๊าซธรรมชาติ (NGV) และก๊าซยานพาหนะ (LPG)) ส่งผลให้หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร ลดลง 2.22% หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ลดลง 0.09% (รองเท้า เสื้อผ้าบุรุษและสตรี) หมวดการตรวจรักษและบริการส่วนบุคคล ลดลง 0.03% โดยเฉพาะของใช้ส่วนบุคคล (แป้งทาผิวกาย สบู่ถูตัว ยาสีฟัน) จากการส่งเสริมการตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขาย
ขณะที่ค่าโดยสารสาธารณะ สูงขึ้น 6.19% หมวดเคหสถาน(ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน) สูงขึ้น 0.30% หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ (ค่าเดินทางไปเยี่ยมญาติและทำบุญ ค่าเล่าเรียน-ค่าธรรมเนียมการศึกษา) สูงขึ้น 0.79% และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ (สุราและเบียร์) สูงขึ้น 0.02%
ทั้งนี้ในจำนวนสินค้าและบริการที่นำมาคำนวณอัตราเงินเฟ้อ จำนวน 422 รายการ มีสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น 221 รายการ ขณะที่สินค้าที่ราคาลดลง มี 112 รายการ ส่วนสินค้าที่ทรงตัว มี 89 รายการ ทำให้เฉลี่ยในช่วง 8 เดือนแรก เงินเฟ้อยังสูงขึ้น 0.87% แม้จะอยู่ในกรอบคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 0.7-1.3% แต่คาดว่าปีนี้น่าจะขยายตัวไม่ถึง 1% หรืออยู่ที่ 0.8-0.9% ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลังคาดว่าจะโตที่ 1% โดยมีปัจจัยสำคัญจากการลดลงต่อเนื่องของราคาพลังงาน และราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคค่อนข้างทรงตัว โดยยังมีสัญญาณการชะลอตัวของความต้องการบริโภค หรือประชาชนระมัดระวังการจับจ่าย แต่ยังไม่น่ากังวลว่าจะเกิดภาวะเงินฝืด เนื่องจากเป็นการลดลงจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังมีมุมมองเชิงบวกต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในอนาคต และสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจน่าจะส่งผลต่อเสถียรภาพด้านราคาในวงจำกัด
ทั้งนี้คงจะต้องติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงครึ่งหลังปีนี้ วงเงินกว่า 3 แสนล้านบาท ทั้งการประกันรายได้เกษตรกร และการเพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่คาดว่าจะกระตุ้นให้เกิดการบริโภคทั้งทางตรงและทางอ้อม ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ดีกว่าช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา