การได้ก้าวออกมาจาก Comfort Zone เป็นผู้ประกอบการมีธุรกิจส่วนตัวตามที่วาดฝัน แต่ทำไม? ทำงานแทบตาย แต่ดั๊นไม่มีเงินเหลือ แถมยังเสี่ยงเจ๊ง! นั่นเป็นเพราะอะไรกันละเนี๊ยะ

นอกจากปัจจัยภายนอก ซึ่งเป็นปัญหาที่เราควบคุมไม่ได้ เช่น เศรษฐกิจทำพิษ หรือความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยนไป หรือเหตุผลอื่น ๆ ที่อาจเป็นส่วนหนึ่งทำให้ธุรกิจเรามีเงินหมุนเวียนไม่พอ ยังมีปัจจัยที่เกิดจากปัญหาที่เราควบคุมและแก้ไขได้ด้วย จะมีอะไรบ้าง ลองเช็ค 5 พฤติกรรมเสี่ยงที่อาจทำให้ธุรกิจล่มไม่เป็นท่า มาดูไปพร้อมกันเลยว่า ตอนนี้คุณมีกี่ข้อแล้ว

1.ไม่วางแผนธุรกิจ

ชีวิตยังต้องวางแผน ธุรกิจก็เช่นกัน หากขาดการวางแผน คิดอยากจะทำอะไรก็ทำตามใจชอบ ไม่วัดผลประกอบการ ไม่วางเป้าหมายธุรกิจ ทำไปวันๆ นี่เป็นสัญญาณเตือนภัยแล้วว่า “อีกไม่นานธุรกิจคุณอาจจะล้มเหลวได้”

เพราะอะไรถึงกล้าการันตีว่าถ้าไม่มีแผนธุรกิจคุณแย่แน่ๆ จากมุมมองเว็บไซต์สอนทำธุรกิจอย่าง businessknowhow.com ยืนยันฟันธงว่า

“การทุ่มเททำธุรกิจอย่างหนัก นั่นไม่ได้การันตีความสำเร็จ แต่การทำธุรกิจอย่างมีกลยุทธ์ มีแบบแผนที่่ชัดเจนเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการควรจะทำ เพื่อให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ และไปถึงฝั่งฝันได้อย่างไม่ยาก”

ดังนั้น การไม่วางแผนธุรกิจให้ชัดเจนก็เป็นเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการที่ทำงานหนัก แต่กลับไม่มีเงินเหลือ หรือส่งผลร้ายแรงจนถึงขั้นธุรกิจเจ๊งไม่เป็นท่า

คำแนะนำ : เมื่อธุรกิจเหมือนเรือที่ต้องมีหางเสือ หากต้องการประสบความสำเร็จ การวางแผนระยะสั้น 2-3 เดือน รวมทั้งแผนธุรกิจระยะยาว 2-3 ปีที่ชัดเจน มีการวัดผลความสำเร็จที่ชัดเจน อ้างอิงจากพื้นฐานความเป็นจริง เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจให้มีรายได้ยั่งยืนในอนาคต

2.ไม่เก็บเงิน เดี๋ยวก่อน เรื่องเก็บเงินไว้ทีหลัง 

แย่แน่ๆ ถ้าธุรกิจยังมีเงินทุนหมุนเวียนแบบชักหน้าไม่ถึงหลัง ต่อให้คุณมีสายป่านทางการเงินยาวแค่ไหน แต่ถ้าไม่ยอมเก็บเงิน หรือขาดการจัดการด้านการเงิน เอะอะ! ทุ่มเงินทุนเพิ่มโดยไม่ดูกระแสตลาด ไม่วิเคราะห์คู่แข่ง ไม่มีเงินหมุนเวียน นั่นอาจเกิดภัยร้ายต่อธุรกิจได้เช่นกัน

ทำอย่างไร? ถึงจะเก็บเงินให้อยู่หมัด

หนทางการเซฟเงินสุดคลาสสิกของ เบนจามิน แฟรงคลิน (Benjamin Franklin) บิดาผู้สร้างชาติของสหรัฐอเมริกา เคยระบุว่า “Beware of little expenses. A small leak will sink a great ship.” คือความหมายที่ว่า การทำธุรกิจควรระวังสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เพราะรอยรั่วเล็กๆ อาจจะทำให้เรือลำใหญ่ล่มได้

และเพื่อไม่ให้เงินทองรั่วไหลเกินความจำเป็น แฟรงคลิน แนะนำว่า “ทุก ๆ กำไรในธุรกิจคุณควรหัก 10% เก็บไว้” หลายๆ คนอาจกำลังคิดว่า “ลำพังแค่หายอดขายให้ได้ตามเป้า ก็ยากเย็นเลือดตาแทบกระเด็นแล้ว นี่ยังจะต้องมาลดค่าใช้จ่าย เพื่อหักเงินเก็บอีกหรือ”

ทั้งนี้ เราขอยืนยันกระต่ายขาเดียวเลยว่า การประหยัดเก็บเงินเพียงเล็กน้อย นั่นอาจเพิ่มเงินก้อนโตให้คุณโดยไม่รู้ตัว ใครจะไปรู้ล่ะว่า ในวันนึงเงินในส่วนดังกล่าว อาจเก็บสะสมได้มากสูงสุดถึง 10 เท่าของยอดขาย หรือเงินเดือนของเจ้าของกิจการก็ได้นะ

3.ไม่สนใจ ใช้เงินกำไรของธุรกิจแบบเพลินใจ สไตล์สายเปย์

“สบายๆ ใช้เงินกระเป๋าเดียวกับเงินธุรกิจ เป็นเรื่องธรรมดาใครๆ ก็ทำกัน” ถ้าคุณกำลังมีความคิดแบบนี้ และกำลังเพลิดเพลินกับการนำเงินในส่วนของธุรกิจมาใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ด้วยความคิดว่ากำไรมากมายที่เข้ามา เป็นเงินของเราทั้งหมด!! โดยที่ไม่เก็บออม เงินกำไรให้กลายเป็นเงินทุนหมุนเวียน หรือเพื่อลงทุนต่อยอดธุรกิจ งานนี้ขอเตือนเลยว่า ในไม่ช้าหายนะร้ายแรงจะมาเยือนได้

ดั่งคำที่ว่า “ยามขึ้นอย่าหลง” ธุรกิจมีขึ้นก็ต้องมีลงได้เสมอ ดังนั้น การแบ่งสัดส่วนการเงินให้ชัดเจนก็เป็นเรื่องที่ต้องทำ! เน้นย้ำเลยว่า “ต้องทำทันที”

โดยมีกฎเหล็ก คือ “เงินธุรกิจ และเงินของเจ้าของกิจการ นั้นเป็นเงินคนละส่วน คนละกระเป๋ากัน ห้ามนำมาใช้ปะปนกันอย่างเด็ดขาด”

นอกจากแบ่งรายได้ให้เป็นสัดส่วนแล้ว ในยุคสังคมก้มหน้าเช่นนี้ การบริหารจัดการเงินด้วยการใช้เทคโนโลยีบันทึกและติดตามการเงินในธุรกิจก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ และเพื่อไม่ให้นักธุรกิจเสียเวลาไปโดยไม่จำเป็น การใช้สมาร์ทโฟนพกพาให้เป็นประโยชน์ในด้านธุรกิจถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะข้อมูลจะอยู่กับคุณตลอดเวลา และสามารถใช้วิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจได้ทุกที่ทุกเวลา

แนะนำแอปพลิเคชั่นที่น่าสนใจสำหรับธุรกิจ : QuickBooks , BOSS และ Book Keeper เป็นต้น อย่างไรก็ดี แอพพลิเคชั่นธุรกิจข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนเท่านั้น สามารถหาโหลดใช้เองได้ตามความชอบและความถนัดส่วนตัวเลยจ้ะ

4.ไม่มีเพื่อนร่วมธุรกิจ 

“หลายหัวย่อมดีกว่าหัวเดียว” สุภาษิตนี้ยังใช้ได้เสมอทุกยุคทุกสมัย หากใครที่ไม่มีเพื่อนร่วมธุรกิจ นับต่อจากนี้ไปต้องเริ่มมองหาได้แล้ว เพราะหากมีพาร์ทเนอร์ดี ย่อมมีชัยไปกว่าครึ่ง เพื่อช่วยให้ธุรกิจสามารถขยายตลาด สร้างความมั่งคั่งได้อย่างยั่งยืน การจับมือร่วมกับพาร์ทเนอร์ธุรกิจ นั่นเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ควรมีเอาไว้

สำหรับนักธุรกิจมือใหม่หัดขาย ในโลกธุรกิจที่มีนักธุรกิจมากมายหลากหลายเจนเนอเรชั่น การแข่งขันเพื่อฟาดฟันคว้าเพียงแต่ชัยชนะ ก็อาจกลายเป็นเรื่องที่เก่าเกินไปแล้วสำหรับยุคนี้

เพราะการรับมือกับเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเช่นนี้ การมองหาคู่ค้า หรือพาร์ทเนอร์ที่ส่งเสริมธุรกิจซึ่งกันและกันแบบ Win-Win เอื้อประโยชน์ให้กันทั้งสองฝ่าย นี่จึงเป็นอีกหนทางหนึ่งที่พาคุณไปสู่ความสำเร็จในธุรกิจได้เช่นกัน แต่ก็ควรศึกษาจนแน่ใจก่อนนะว่าจะไม่มีการโกงหรือเกิดปัญหาตามาทีหลัง

5.ไม่หาความรู้ใหม่ 

นักธุรกิจที่ดีต้องไม่หยุดการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และไม่คิดว่าตัวเองเป็นน้ำเต็มแก้วที่ปฏิเสธ และไม่ยอมรับความรู้ใดๆ เพิ่มเติม เพียงคิดว่าตัวเองรู้แล้ว ฉันรู้ดีแล้ว เพราะแม้แต่ บิล เกตส์ เจ้าพ่อไมโครซอฟท์ เขายังต้องมีที่ปรึกษาทางธุรกิจ เพื่อให้เรียนรู้ แลกเปลี่ยนความคิด รวมทั้งปรึกษาขอคำแนะนำอยู่เสมอ

สำหรับที่ปรึกษาของอภิมหาเศรษฐีระดับโลกก็ไม่ใช่ใครที่ไหน คือ เซอร์ริชาร์ด แบรนสัน ผู้ก่อตั้ง Virgin กรุ๊ป, วอร์เรน บัฟเฟตต์ พ่อมดการเงินวอลสตรีท และเซอร์เฟรดดี้ เลกเกอร์ ผู้ก่อตั้งสายการบิน Laker Airways โลว์คอสต์แอร์ไลน์แห่งเมืองผู้ดีที่เคยโด่งดังเป็นพลุแตกในอดีต

และหนึ่งในคำแนะนำที่น่าสนใจของ บิล เกตส์ คือ “นักธุรกิจห้ามหยุดเรียนรู้!! ไม่เพียงเรียนรู้เรื่องการตลาด และข่าวคราวของอุตสาหกรรมของธุรกิจตนเท่านั้น แต่ต้องเรียนรู้อุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ซื้อและขายผลิตภัณฑ์และบริการของธุรกิจคุณด้วย” ซึ่งหากผู้ประกอบการท่านไหนลองเช็คลิสต์ทั้ง 5 ข้อพบว่า พฤติกรรมทั้งหมดนี้ใช่ทุกข้อ หรือส่วนใหญ่นี่คือตัวฉันชัดๆ ก็ไม่ต้องตื่นตกใจไปนะ เพราะปรับปรุงวันนี้ยังไม่สายเกินแก้

___

ที่มา : successharbor, business know how, entrepreneur

เรื่อง : Butter Cutter 

Source from : www.dooddot.com