ไทยเร่งเจรจาสหรัฐฯ ขอคืน GSP นัดแรกในงานอาเซียนซัมมิต พ.ย.นี้ USTR ยังเปิดให้ทบทวนสิทธิ
วันนี้ (28 ตุลาคม 2562) นายกีรติ รัชโน ผู้ตรวจราชการ กระทรวงพาณิชย์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ได้แถลงข่าวกรณีสหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP ไทย โดยกล่าวว่า ตามที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกแถลงการณ์ประธานาธิบดีระงับสิทธิพิเศษทางการค้าภายใต้ระบบสิทธิพิเศษภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalized System of Preferences – GSP) ที่ยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าต่างประเทศ โดยจะระงับการให้สิทธิ GSP เป็นการชั่วคราว สำหรับสินค้านำเข้าจากไทยจำนวน 573 รายการ มีผลบังคับ 6 เดือนนับจากการประกาศแถลงการณ์นี้ หรือในวันที่ 25 เมษายน 2563
นายกีรติกล่าวต่อว่า มีประเด็นที่จะขอชี้แจงและทำความเข้าใจ 2-3 เรื่อง เนื่องจากในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมามีการนำเรื่อง GSP ไปโยงกับหลายเรื่อง เรื่องแรก ขอทำความเข้าใจเกี่ยวกับ GSP โดย GSP คือสิทธิพิเศษที่ไทยได้รับจากประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งไทยไม่ได้รับจากสหรัฐฯ ประเทศเดียว แต่ยังได้รับจากสหภาพยุโรป รัสเซีย สวิตซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ญี่ปุ่น
“ประเทศเหล่านี้เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ได้ให้สิทธิแก่ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศด้อยพัฒนา ในการที่จะได้รับการลดหย่อนภาษี GSP เป็นสิทธิเพื่อการส่งของไปขาย ซึ่งมีความหลากหลายตามประเทศที่ให้” นายกีรติกล่าว
สหรัฐฯ ได้ให้ GSP แก่ประเทศไทยตั้งแต่ปี 2519 ซึ่งไทยได้ใช้สิทธิเรื่อยมา และแต่ละช่วงเวลาเป็นแผนงานของสหรัฐฯ ที่มีการทบทวน มีการตัดบ้าง เพิ่มบ้าง ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการค้า ปัจจุบันโครงการที่สหรัฐฯ เป็นการต่ออายุครั้งที่ 10 มีอายุ 1 มกราคม 2561 ถึง 31 ธันวาคม 2563
“สิ่งที่สำคัญที่สุดเกี่ยวกับ GSP คือเป็นการให้ฝ่ายเดียวต่อประเทศ ซึ่งมีทั้งสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่แล้วเป็นสินค้าอุตสาหกรรม พร้อมกับกำหนดคุณสมบัติการได้รับสิทธิ GSP ไว้ว่า หากยอดการส่งออกภายใต้ GSP เกิน 185 ล้านดอลลาร์ เขาก็มีสิทธิที่จะตัดสิทธิได้ หรือการส่งออกของเราไปกระทบอุตสาหกรรมภายในของเขา หรืออาจจะพิจารณาจากรายได้ประชาชาติต่อหัวที่กำหนดไว้ประมาณ 12,000 ดอลลาร์ต่อหัว ซึ่งของประเทศไทยอยู่ที่ 6,600 ดอลลาร์ต่อหัว หรือแม้กระทั่งหากมีการทบทวนที่จะตัด เราต้องมีการดูแลทรัพย์สินทางปัญญา มีการดูแลสิทธิแรงงาน ซึ่งก็ตรงกับที่เขากำลังพิจารณาอยู่ตอนนี้ แม้กระทั่งเรื่องอื่น เป็นเรื่องที่เขาจะพิจารณาในแต่ละช่วงเวลา” นายกีรติกล่าว
โดยหลักการแล้วสหรัฐฯ จะมีหลักในการทบทวนพิจารณา GSP กับประเทศผู้ที่ได้รับสิทธิ เช่น ระดับการพัฒนาประเทศ ซึ่งวัดจากรายได้ประชาชาติต่อหัว การเปิดตลาดสินค้าและบริการ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การคุ้มครองสิทธิแรงงาน การกำหนดนโยบายลงทุนที่ชัดเจน และการสนับสนุนสหรัฐฯ ในการต่อต้านการก่อการร้าย รวมถึงการการกำหนดมูลค่านำเข้าไม่เกินกฎว่าด้วยความจำเป็นด้านการแข่งขัน (competitive need limitations – CNLs) โดยถือว่า สินค้านั้นมีความสามารถแข่งขันสูงในตลาดสหรัฐฯ และไม่จำเป็นต้องได้รับสิทธิ GSP ซึ่งกำหนดไว้ 2 กรณี คือ
1) มูลค่านำเข้าสหรัฐฯ เกินมูลค่าขั้นสูงที่สหรัฐฯ กำหนดไว้ในแต่ละปี โดยในปี 2561 กำหนดไว้ที่ 185 ล้าน ดอลลาร์ (โดยให้เพิ่มขึ้นทุกปี ปีละ 5 ล้านดอลลาร์) และ 2) ส่วนแบ่งตลาดนำเข้าจากสหรัฐฯ เกิน 50% แต่มูลค่านำเข้าสหรัฐฯ ของสินค้าดังกล่าวต่ำกว่ามูลขั้นต่ำ (de minimis value) ที่สหรัฐฯ กำหนด ซึ่งในปี 2561 มีจำนวน 24 ล้านดอลลาร์
ปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาสิทธิพิเศษทางการค้า GSP มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งจากประเทศที่สหรัฐฯ ให้สิทธิ GSP ทั้งหมด 119 ประเทศ ขยับขึ้นมาแทนอินเดียที่ถูกตัดสิทธิไปในวันที่ 5 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา
นายกีรติกล่าวต่อว่า ประเด็นที่สองที่จะชี้แจงคือ เรื่องที่มีการประเมินการตัดสิทธิ GSP ว่ามีผลกระทบ 40,000 ล้านบาท โดยที่ผ่านมาไทยซึ่งได้สิทธิ GSP มาต่อเนื่องมีทั้งตัดสิทธิบางรายการ เพิ่มบางรายการ นั้น สถิติการใช้สิทธิ GSP เฉลี่ยของไทยตั้งแต่ปี 2519 อยู่ที่ระดับ 70% ส่วนอีก 30% ไม่ได้ใช้สิทธิ
ทั้งนี้สหรัฐฯ ได้ให้สิทธิ GSP แก่ไทย 3,500 รายการ ซึ่งไทยได้ใช้สิทธิ 1,285 รายการ
การประเมินผลกระทบ 40,000 ล้านบาท หรือ 1,300 ล้านดอลลาร์เป็นมูลค่ารวม 573 รายการที่ถูกตัด ดังนั้นสหรัฐฯ คำนวณจากฐานการส่งออกภายใต้โครงการ GSP ของปีที่แล้วทั้งปี ไม่ได้หมายความว่าเมื่อมีการตัด GSP แล้วไทยไม่สามารถส่งออกไปสหรัฐฯ หรือสูญเสียมูลค่าที่ได้รับสิทธิ GSP ประมาณ 40,000 ล้านบาท
“ไทยยังคงส่งออกได้เพียงแต่ต้องเสียภาษีในอัตราปกติหรือ MFN Rate เฉลี่ยประมาณ 4.5% ขึ้นอยู่กับสินค้าหรือคิดเป็นมูลค่าราว 1,500-1,800 ล้านบาท เป็นผลกระทบที่เราต้องจ่ายภาษีเพิ่ม ซึ่งบางกลุ่มสินค้าอัตราภาษี 1% อาจจะมีนัยสำคัญ หากปริมาณการส่งออกภายใต้ GSP สูง แต่ขอย้ำว่า GSP เป็นสิทธิที่เขาให้ฝ่ายเดียว วันหนึ่งเขาอาจจะไม่ให้เราก็ได้” นายกีรติกล่าว
สินค้าสำคัญที่ถูกระงับสิทธิ GSP ได้แก่ มอเตอร์ไซค์ แว่นสายตา เครื่องจักรกลและอุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติกและของที่ทำด้วยพลาสติก อาหารปรุงแต่ง เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์ที่ทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า ทองแดง ผลิตภัณฑ์เซรามิก เครื่องประดับ
กลุ่มสินค้าที่ถูกเรียกเก็บภาษีสูงสุดคือ เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและเครื่องครัวเซรามิกในอัตรา 26% และอัตราต่ำสุดคือเคมีภัณฑ์ 0.1%
ไทยใช้สิทธิ GSP จากสวิตเซอร์แลนด์สูงเป็นอันดับสอง และใช้สิทธิ GSP จากรัสเซียสูงสุดเป็นอันดับสาม นอร์เวย์เป็นอันดับสี่ ส่วนสหภาพยุโรปได้ตัดสิทธิ GSP ไทยไปตั้งแต่ปี 2558 รวมทั้งญี่ปุ่นที่ได้ตัด GSP ไปเมื่อเร็วๆ นี้
ใน 8 เดือนแรกของปีนี้ ไทยได้ใช้สิทธิ GSP รวมมูลค่า 3,200 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 13% จาก 2,800 ล้านดอลลาร์ในระยะเดียวกันของปีก่อน
“กรมการค้าต่างประเทศได้มีการพูดคุยกับผู้ประกอบการมาตลอดเวลาว่า สิ่งนี้วันหนึ่งอาจจะหายไปได้ แล้วเราต้องกลับมาพัฒนาตัวเองเพื่อให้แข่งขันได้ ต้องไม่พึ่งพาราคาอย่างเดียว” นายกีรติกล่าว
สำหรับประเด็นที่สามที่นายกีรติชี้แจง ได้แก่ การตัดสิทธิ GSP เพราะการค้ามนุษย์ ซึ่งมีการแสดงความเห็นกันว่าไทยได้ดำเนินการจนได้รับการยกระดับมาอยู่ใน Tier 2 โดยกล่าวว่า ขอแยกออกเป็น 3 ประเด็น หนึ่ง การค้ามนุษย์ เรื่องนี้กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ รับผิดชอบ โดยฝั่งไทยที่ประสานงานเจรจาคือกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นงคงของมนุษย์ สอง แรงงานเด็ก กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ดำเนินการ สาม สวัสดิการแรงงาน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ไทยถูกตัด GSP ครั้งนี้ โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เป็นผู้ดำเนินการ
“วิธีการที่เริ่มที่จะไต่สวนหรือพิจารณา มีด้วยกัน 2 วิธี คือ หนึ่ง self-initiate หรือเริ่มโดยกระทรวงแรงงานสอบถามโดยตรงว่าแต่ละประเทศมีการดูแลสวัสดิการแรงงานหรือไม่ อีกวิธีหนึ่งคือ มีคนมาร้องเรียน ซึ่งของไทยเข้ากรณีนี้คือมีคนมาร้องเรียน ได้แก่ AFL-CIO” นายกีรติกล่าว
สมาพันธ์แรงงานและสภาอุตสาหกรรมแรงงานสหรัฐฯ (American Federation Labor & Congress of Industrial Organization – AFL-CIO) ได้ยื่นคำร้องให้ตัดสิทธิ GSP ไทยเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2562 และวันที่ 16 ตุลาคม 2562 เนื่องจากเห็นว่าไทยมิได้คุ้มครองสิทธิแรงงานตามมาตรฐานระหว่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาไทยได้ปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ และมาตรฐานองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) แต่สหรัฐฯ มองว่าไทยยังไม่สามารถดำเนินการตามข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ
“สหรัฐฯ เรียกร้องให้เราดำเนินการหลายด้าน ซึ่งเรามีการดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2556 รายละเอียดอยู่ที่กระทรวงแรงงาน ดังนั้นเรื่องนี้มีมานานแล้ว เราเองก็ทราบมาช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้วจากการประชุมในเวทีต่างๆ ที่สหรัฐฯ ส่งสัญญานมาว่า ช่วงปลายตุลาคมหรือต้นพฤศจิกายนจะประกาศผลการพิจารณา ซึ่งเราก็พอทราบมาก่อน” นายกีรติกล่าว
เร่งเจรจาสหรัฐฯ ขอคืนสิทธิ
นายกีรติกล่าวว่า กรมการค้าต่างประเทศได้มีการพูดคุยหารือกับผู้ประกอบการมานานแล้ว และตระหนักดีว่า GSP เป็นสิทธิที่เขาให้ฝ่ายเดียว และมีโอกาสจะหมดไป ดังนั้นต้องมีการปรับตัว คือ ทำสินค้าให้มีคุณภาพมากขึ้น เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า ที่ไม่ใช่การแข่งขันด้านราคา อีกประเด็นหนึ่งที่ผู้ประกอบการรับรู้ว่าต้องมีการลดความเสี่ยง ด้วยการกระจายตลาด หาตลาดใหม่ ซึ่งก็ต้องดำเนินการอย่างแข็งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดที่คิดว่าจะกระจายความเสี่ยง 10 แห่ง เช่น ตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันออก แอฟริกา ซึ่งเอกชนสามารถแจ้งความจำนงได้ว่าต้องการที่จะไปตลาดไหน ฝ่ายรัฐก็จะสนับสนุน
นอกจากนี้ยังได้แนะนำผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากการที่ประเทศไทยจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี FTA 13 กรอบความตกลงจากอาเซียน จีน ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี และเปรู ซึ่งผู้ประกอบการสามารถทั้งนำเข้าวัตถุดิบและสามารถส่งออกสินค้าโดยใช้สิทธิพิเศษทางภาษีได้จากข้อตกลง FTA รวมั้งขยายการลงทุนไปยังประเทศที่ยังได้รับสิทธิ GSP จากสหรัฐฯ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ซึ่งได้รับสิทธิภาษีมากกว่าไทย
นายกีรติกล่าวว่า ไทยจะดำเนินการเจรจาไปทุกเวทีทุกช่องทางที่จะเจอกับสหรัฐฯ ซึ่งจากการประสานงานกับสำนักทูตพาณิชย์ที่วอชิงตันก็พบว่าสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ก็ยินดีที่จะรับฟัง แต่จะมีการนัดหมายเพื่อพูดคุยหารือเมื่อไรยังไม่สามารถบอกได้ อีกทั้งยังมีอีกหลายเวทีที่ไทยสามารถเจอกับสหรัฐฯ ได้
ภาครัฐจะดำเนินการเจรจาขอคืนสิทธิโดยเร็วที่สุด โดยคาดว่าจะยื่นขอเจรจากับสหรัฐฯ หลังช่วงการประชุม East Asia Summit ภายใต้การประชุมสุดยอดอาเซียนในประเทศไทยที่กำหนดจะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ รวมทั้งเจรจาภายใต้กรอบความตกลงการค้าและการลงทุนไทย-สหรัฐฯ (Trade and Investment Framework Agreement Joint Council – TIFA-JC) ต่อไป
“ความเป็นไปได้ที่เร็วที่สุดที่ไทยจะเจอกับสหรัฐฯ คือ การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 ซึ่งมีตัวแทนจากสหรัฐฯ เข้าร่วม” นายกีรติกล่าว
นายกีรติกล่าวว่า การตัดสินสิทธิ GSP ครั้งนี้เป็นการตัดชั่วคราว มีเวลา 6 เดือนที่จะเจรจาทำความเข้าใจในหลายเรื่อง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพยายามทำให้ดีที่สุด เพราะมีหลายมิติที่ต้องพิจารณาไม่ใช่เรื่องแรงงานอย่างเดียว การประกาศครั้งนี้ไม่ใช่มีไทยประเทศเดียว แต่มีหลายประเทศ เช่น โบลิเวีย อิรัก ยูเครน อุซเบกิสถานที่มีการทบทวน GSP โดยไทยมีประเด็นสิทธิแรงงาน แต่ยูเครนและอุซเบกิสถานมีประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา ที่ผ่านมาไทยเคยถูกตัดสิทธิ GSP จากประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา
นายกีรติกล่าวอีกว่า การตัดสิทธิ GSP ของประเทศไทยครั้งนี้ไม่ใช่การกีดกันทางการค้า เป็นเรื่องที่มีการดำเนินการมาต่อเนื่องเพื่อให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์และกฎหมายของสหรัฐฯ ไทยเป็นผู้ส่งออกที่มีสหรัฐฯ เป็นลูกค้า จึงต้องดำเนินการภายใต้หลักเกณฑ์ที่สหรัฐฯ กำหนด และเป็นเรื่องของผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองฝ่าย
“ผมไม่สามารถพูดได้ว่าเรายอมรับเหตุผลด้านสิทธิแรงงานของสหรัฐฯ ในการตัดสิทธิ GSP ครั้งนี้เนื่องจากยังไม่ได้เห็นรายละเอียด รวมทั้งต้องหารือกับกระทรวงแรงงานก่อน แต่เราต้องหาตลาดใหม่”
จุรินทร์ยันไม่เกี่ยวแบนสารเคมี
เมื่อวานนี้ (27 ตุลาคม 2562) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกรณีสหรัฐฯ ตัดสิทธิทางภาษีหรือ GSP ว่า ปัจจุบันนี้สหรัฐฯ ให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรหรือ GSP สำหรับการส่งออกสินค้าไทยไปยังสหรัฐฯ รวมทั้งหมดราคา 1,800 ล้านดอลลาร์ แต่ไทยไม่ได้ใช้สิทธิเต็มตามจำนวนที่ให้สิทธิ โดยมีการใช้สิทธิเพียง 1,300 ล้านดอลลาร์
“การตัด GSP หมายความว่าต่อไปนี้สินค้าของไทยที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ ที่มียอดขายรวมกัน 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐนั้นจะต้องเสียภาษีนำเข้าสหรัฐฯ จากเดิมที่ไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งภาษีที่ต้องเสียตก 4-5% โดยประมาณ ซึ่งทั้งหมดนี้หมายความว่า ต่อไปนี้สินค้าไทยที่จะส่งไปขายสหรัฐอเมริกาจะต้องมีภาระภาษีแทนที่จะไม่ต้องจ่ายภาษี ซึ่งภาระทางภาษีแต่ละปี เมื่อคำนวณแล้วตกประมาณ 1,500 ถึง 1800 ล้านบาท” นายจุรินทร์กล่าว
นายจุรินทร์กล่าวว่า ประเด็นที่เป็นที่มาของสหรัฐฯ ใช้เป็นเงื่อนไขในการตัดสิทธิ์ ทำให้ไทยต้องเสียภาษีคือเรื่องแรงงาน สหรัฐฯ ต้องการให้ไทยเปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าวที่มาทำงานอยู่ในประเทศไทยสามารถตั้งสหพันธ์แรงงานได้ อันนี้เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญ
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า ช่วงนี้เป็นช่วงพิจารณาประจำปีของสหรัฐฯ แต่ไทยสามารถที่จะอุทธรณ์หรือขอให้ทบทวนใหม่ได้ ซึ่งหลายครั้งที่ผ่านมาอย่างเช่นปีที่แล้วก็ทบทวนรายการสินค้าคืนมาให้ 7 รายการ และปีนี้ไทยก็จะยื่นขอทบทวนอีก ถ้าสหรัฐฯ ไม่ทบทวนถือว่าเป็นอำนาจของเขาเช่นกันเพราะมีสิทธิฝ่ายเดียว สามารถให้หรือไม่ให้ประเทศใดก็ได้
นายจุรินทร์กล่าวว่า สำหรับการที่ไทยห้ามการใช้ 3 สารเคมีอันตรายในภาคเกษตร คือ พาราควอต คลอไพริฟอส และไกลโฟเซต เท่าที่ติดตามไม่ได้เป็นเงื่อนไขของครั้งนี้ สิ่งที่ทราบเป็นทางการ คือ เกี่ยวกับประเด็นแรงงาน
USTR เปิดให้ทบทวนสิทธิ
เอกสารข่าวของสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ที่เผยแพร่วันที่ 25 ตุลาคม 2562 ระบุว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศระงับสิทธิพิเศษ GSP ที่ให้กับประเทศไทยสำหรับการส่งออกภายใต้โครงการรวมมูลค่า 1,300 ล้านดอลลาร์ เนื่องล้มเหลวในการดำเนินการด้านสิทธิแรงงานระหว่างประเทศ
สำนักงานผู้แทนการค้า (Office of the United States Trade Representative) ยังระบุว่า การประกาศของประธานาธิบดีทรัมป์ครั้งนี้ เป็นผลจากการดำเนินการใน 3 ด้าน ได้แก่ 1) การพิจารณาต่อการทบทวนสิทธิ GSP ที่ยังมีผลอยู่ 2) การประเมินประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับผลประโยชน์ตามปกติ บวกกับความเห็นจากสาธารณะ เพื่อพิจารณาว่าจะทบทวนสิทธิใหม่หรือไม่ และ 3) การทบทวนสินค้าภายใต้ GSP ประจำปี
สำหรับประเทศไทย แม้ได้มีการดำเนินการมา 6 ปี แต่ยังไม่สามารถจัดการด้านสิทธิแรงงานให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลในหลายด้านที่มีความสำคัญตามที่ AFL-CIO เรียกร้องมา เช่น การให้เสรีภาพในการตั้งสมาคมและการต่อรอง ดังนั้นจึงระงับการให้สิทธิ GSP เป็นเวลา 6 เดือน สำหรับสินค้า 1 ใน 3 ของการส่งออกสินค้าภายใต้โครงการ GSP ซึ่งมีมูลค่าส่งออกรวมกัน 4.4 พันล้านดอลลาร์ในปี 2018 นับจากวันที่การประกาศแถลงการณ์นี้
รายการสินค้าที่ถูกตัดสิทธิ GSP เน้นไปที่สินค้าที่ไทยส่งออกมาสหรัฐฯ จำนวนมาก แต่สหรัฐฯ มีส่วนแบ่งในตลาดไทยน้อยมาก นอกจากนี้โดยที่ประเด็นสิทธิแรงงานในอุตสาหกรรมอาหารทะเลและชิปปิ้งที่มีมายาวนาน จึงระงับสิทธิ GSP ที่ให้กับสินค้าอาหารทะเลทุกประเภทจากไทย แต่ก็ยังคงเปิดให้มีการทบทวนสิทธิ GSP ของไทย
ขอบคุณข้อมูลจาก thaipublica.org
สำหรับสินค้าที่ถูกระงับสิทธิ GSP ที่จะมีผลในวันที่ 25 เมษายน 2563 ได้แก่