อุจจาระบอก(โรค)อะไรได้บ้าง
เมื่อเรารับประทานอาหาร กระเพาะจะทำหน้าที่ย่อยและส่งต่อสารอาหารที่มีประโยชน์ไปเลี้ยงร่างกาย จากนั้น กากจะถูกขับออกมาเป็นอุจจาระ โดยปกติสีและลักษณะของอุจจาระจะมีความแตกต่างกันตามประเภทของอาหารที่รับประทานและปริมาณน้ำที่ดื่ม แต่ในบางครั้งสีและลักษณะของอุจจาระยังบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพได้เป็นอย่างดี ดังนั้นหลังจากถ่ายอุจจาระแล้วลองหมั่นสังเกตดูรูปร่างหน้าตาและสีสันของอุจจาระดู เป็นการตรวจสอบสุขภาพของตัวเองแบบง่าย ๆ ที่ทุกคนสามารถทำได้
สีสันอุจจาระ
สีน้ำตาลและเหลือง
คือ สีอุจจาระของคนสุขภาพดี การทำงานของระบบย่อยและทางเดินอาหารเป็นปกติ อุจจาระที่สีค่อนไปทางน้ำตาลอาจเกิดจากน้ำดีในตับที่ทำหน้าที่ระหว่างการย่อยอาหาร แต่ถ้าอุจจาระเป็นสีเหลืองจางๆ มีความมันและกลิ่นเหม็น อาจเกิดจากไขมันส่วนเกินที่อยู่ในอุจจาระ ซึ่งบ่งบอกว่าน้ำดีมีปัญหา หรือเป็นสัญญาณของความผิดปกติในระบบย่อยหรือระบบดูดซึมอาหารของลำไส้ หากเป็นติดต่อกันหลายวัน ควรพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย
สีเขียว
การรับประทานผักใบเขียวปริมาณมากอาจทำให้อุจจาระเป็นสีเขียว แต่หากมีอุจจาระเหลวร่วมด้วย อาจเป็นอาการเริ่มต้นของโรคท้องร่วง หรือทั้งนี้เกิดจากการทานยาบางชนิดก็เป็นได้
สีดำ
อาจเป็นสัญญาณเตือนว่ามีเลือดออกในระบบทางเดินอาหารส่วนต้น โดยเฉพาะหากมีสีดำเข้มเหมือนยางมะตอย ควรต้องรีบไปพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจระบบทางเดินอาหาร ยิ่งไปกว่านั้นหากอุจจาระเป็นสีดำบ่อยๆ โดยไม่ทำการรักษา นั่นอาจหมายถึงคุณกำลังเผชิญอยู่กับมะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่ในบางกรณี สีดำของอุจจาระอาจเกิดจากการทานอาหารหรือยาบางชนิด เช่น ตับหรือเลือด ข้าวเหนียวดำ ลูกหม่อน ยาบำรุงเลือดที่มีธาตุเหล็ก หรือยาแก้ท้องเสียบางชนิด
สีแดง
สีออกโทนแดงส่วนใหญ่เกิดจากการกินอาหาร เช่น บีทรูท กระเจี๊ยบ มะละกอ แตงโม หรือเครื่องดื่มสีแดงในปริมาณมาก แต่หากอุจจาระเป็นสีแดงมีเลือดปน มักเกิดจากริดสีดวงทวาร หรืออาจเป็นสัญญาณของการมีเลือดออกทางเดินอาหารส่วนล่าง เช่น ถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ หรืออาจมีเนื้องอก
สีเทา
สีเทาเข้มอาจเกิดจากมีเลือดออกในระบบทางเดินอาหารส่วนต้น หรือรับประทานธาตุเหล็กบำรุงเลือดเช่นเดียวกับอุจจาระสีดำ แต่หากเป็นสีเทาอ่อนคล้ายขี้เถ้า คือสัญญาณเตือนถึงภาวะตับหรือตับอ่อนมีปัญหา นอกจากนี้การที่อุจจาระเป็นสีเทาอ่อนจางเกือบขาว อาจบ่งชี้ว่าท่อน้ำดีอุดตันส่งผลให้อุจจาระขาดน้ำดี หรือกำลังมีปัญหาที่ตับอ่อน รวมถึงอาจเกิดจากผลข้างเคียงจากการรับประทานยาบางชนิดมากเกินไป
รูปร่างอุจจาระ
ก้อนเล็ก แข็ง คล้ายลูกกระสุน หรือขี้กระต่าย
มักเกิดในผู้มีอาการท้องผูก เนื่องจากอุจจาระแห้ง เคลื่อนผ่านลำไส้ได้ยาก หรืออาจเพราะมีอุจจาระค้างในลำไส้เป็นเวลานาน สาเหตุมาจากการรับประทานอาหารที่มีกากใยไม่เพียงพอ และดื่มน้ำน้อย หรือรับประทานยาที่ส่งผลให้ท้องผูก หากไม่รีบแก้ไขอาจทำให้มีอาการท้องผูกเรื้อรัง และอาจกลายเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ในที่สุด
ก้อนเล็กๆ หลายก้อนรวมกัน คล้ายเอาลูกกระสุนมาโปะรวมกัน
มองเห็นก้อนเล็กๆ แข็งๆ มารวมกันอย่างชัดเจน เป็นลักษณะของอาการท้องผูกเช่นกัน ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีกากใยเพิ่มขึ้น ดื่มน้ำให้พอเพียง หมั่นออกกำลังกาย ขยับร่างกาย และไม่เครียดจนเกินไป ก็จะช่วยไม่ให้อุจจาระกักอยู่ในลำไส้นานจนเกิดอาการท้องผูก
ทรงรียาวคล้ายไส้กรอก ผิวขรุขระ ค่อนข้างแข็ง
ขับถ่ายได้ไม่ลำบากนัก เป็นอุจจาระที่ปกติแต่ค่อนข้างขาดน้ำ ควรดื่มน้ำให้มากขึ้น
เป็นลำสวยผิวเรียบคล้ายกล้วยหอม
ไม่แข็งหรืออ่อนยุ่ยจนเกินไป ถือว่าเป็นรูปทรงอุจจาระที่สมบูรณ์และสุขภาพดีที่สุด
แตกๆ แต่เป็นชิ้นสั้นๆ ขับถ่ายง่าย
ยังนับว่าเป็นอุจจาระคุณภาพดี แต่อาจขาดสารอาหารหรือกากใย เนื่องจากการลดน้ำหนักหรือควบคุมอาหาร
กึ่งเหลวกึ่งก้อน
เปื่อยยุ่ย ขับถ่ายง่ายมาก อาการเริ่มต้นของท้องเสีย หรือเนื่องจากแบคทีเรียในลำไส้ไม่สมดุล หากถ่ายเหลวบ่อยๆ อาจส่งผลให้ขาดน้ำ หรือสารอาหารที่จำเป็น ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ รวมถึงเพิ่มโยเกิร์ตเพื่อปรับสมดุลของแบคทีเรียในลำไส้
เหลวเป็นน้ำ
อาการท้องเสีย ที่อาจหมายถึงมีการติดเชื้อในลำไส้ ควรรับประทานเกลือแร่และจิบน้ำบ่อยๆ หากเป็นติดต่อกันมากกว่า 1 วัน ควรรีบพบแพทย์
การหมั่นสังเกตอุจจาระของตัวเองทุกวัน เป็นการคัดกรองอาการป่วยเบื้องต้นแบบง่ายๆ ที่ทุกคนสามารถทำได้ นอกจากนี้ยังมีวิธีการตรวจอุจจาระด้วยเครื่อง FIT Test เพื่อตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระที่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง รวมถึงยังสามารถช่วยให้แพทย์ทำการวินิจฉัยโรคบางชนิดได้เร็วขึ้นอีกด้วย
อย่างไรก็ตามหากพบว่าอุจจาระมีสีผิดปกติ ควรหยุดบริโภคอาหารที่ทำให้เกิดสีดังกล่าว แล้วลองสังเกตสีของอุจจาระภายใน 2-3 วัน หากยังคงผิดปกติอยู่ ควรพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย รวมไปถึงการที่อุจจาระมีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมโดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด เช่น ลำเล็กลงจากเดิม หรือกลายเป็นเม็ดเล็กๆ ก็ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหรือตรวจด้วยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (colonoscopy) เพิ่มเติม นอกจากนี้การตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอก็มีส่วนช่วยในการป้องกันโรคไม่ให้รุนแรงหรือพบโรคเมื่อสายเกินไป
SOURCE : www.samitivejhospitals.com