สรุปเรื่อง เศรษฐกิจ เงินแข็ง เงินเฟ้อ ของประเทศไทย 2019 “ประเทศที่ภาวะเศรษฐกิจดี และมีแนวโน้มเติบโต ค่าเงินมักจะแข็งค่า”

           นี่คือแนวคิดพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์แต่ประโยคนี้อาจใช้ไม่ได้กับประเทศไทยในปัจจุบันตอนนี้มีการคาดการ์ณว่า เศรษฐกิจไทยปี 2019 จะเติบโตไม่ถึง 3% IMF คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโต 2.9% ล่าสุดกระทรวงการคลังก็คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะเติบโตเพียง 2.8% ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นจริง เศรษฐกิจไทยจะเติบโตต่ำสุดในรอบ 5 ปี หลายคนรู้ดีว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจเปิด เน้นภาคส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ

           ปี 2018 มูลค่าการส่งออกของ ไทยประมาณ 7.6 ล้านล้านบาท คิดเป็นประมาณ 50% ของมูลค่า GDP ที่ 15.2 ล้านล้านบาท เมื่อสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ เกิดขึ้น ย่อมส่งผลต่อการส่งออกของประเทศไทย เพราะตลาดส่งออกของไทยที่ไปยังสหรัฐอเมริกาและจีน มีสัดส่วนกว่า 23% หรือ มูลค่ารวมกันเกือบ 1.9 ล้านล้านบาท

           ผลของสงครามการค้าทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวจีนมีการเติบโตต่ำสุดในรอบ 30 ปี ซึ่งจีนเป็นตลาดส่งออกใหญ่ที่สุดของไทยพอตลาดส่งออกอย่างจีนกำลังมีปัญหา ประเทศเราก็พลอยได้รับผลกระทบไปด้วยนั่นจึงทำให้การส่งออกของไทยซึ่งเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจสำคัญ เกิดปัญหา

           เครื่องยนต์อีกตัวที่ถือว่าสำคัญคือ “การบริโภคภายในประเทศ” ที่มีขนาดใหญ่รองลงมาจากการส่งออก ซึ่งหลายคนหวังว่าจะมาช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโตอีกแรงแต่เครื่องยนต์ที่เป็นความหวังนี้ก็อาจมีปัญหา เพราะปัจจุบันหนี้สินของครัวเรือนของประเทศไทยนั้นอยู่ที่ประมาณ 78% ของ GDP

           หมายความว่า หนี้สินของครัวเรือนทั้งระบบอยู่ที่ประมาณ 12 ล้านล้านบาทถ้าเราคิดดอกเบี้ยเฉลี่ยที่ 8% ครัวเรือนทั้งหมดต้องจ่ายดอกเบี้ยเกือบ 1 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 7% ของ GDP ซึ่งภาระหนี้เหล่านี้ส่งผลให้กำลังซื้อหายไปจากระบบเศรษฐกิจไทย

           ในขณะที่หนี้ NPL ทั้งระบบอยู่ที่ประมาณ 450,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 337,000 ล้านบาท จากปี 2015 โดยเฉพาะหนี้เสียที่เป็นสินเชื่อเพื่อการบริโภคกำลังเพิ่มขึ้นอีกครั้งสรุปแล้ว ทั้งการส่งออกและการบริโภคที่พวกเราหวังจะให้มากระตุ้นเศรษฐกิจ กำลังเจอความท้าทายอย่างหนัก ซึ่งปกติแล้วเศรษฐกิจที่ชะลอตัว จะทำให้ค่าเงินของประเทศนั้นอ่อนค่าลง

           อย่างไรก็ตาม เงินบาทกำลังแข็งค่าสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจ..นับจากต้นปี เงินบาทแข็งค่าขึ้นมาแล้วกว่า 7% และตอนนี้ก็กำลังแข็งค่ามากสุดในรอบกว่า 6 ปีเหตุผลที่เงินบาทแข็งค่ามาจากหลายปัจจัยปี 2018 ดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP ของไทยถือว่าสูงเป็นอันดับที่ 16 ของโลก สาเหตุก็เพราะไทยมีการค้าและบริการที่เกินดุล ทั้งจากการส่งออกมากกว่านำเข้า และการท่องเที่ยวที่สามารถดึงเม็ดเงินต่างชาติได้มาก

           เมื่อต่างชาติเอาเงินต่างประเทศมาแลกเป็นเงินไทย ไทยก็ต้องถือครองเงินต่างประเทศมากขึ้น และเป็นเหตุผลที่ทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยนั้นสูงถึง 6.5 ล้านล้านบาท มากเป็นอันดับที่ 12 ของโลกเงินสำรองระหว่างประเทศที่มาก ทำให้ประเทศไทยถูกมองว่า มีสถานะการเงินที่แข็งแรง และทำให้เงินบาทแข็งค่ารวมไปถึงเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) ในโครงการต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมาก็ทำให้ความต้องการเงินบาทสูงขึ้นเช่นกัน

           สำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นไทยนั้น หลายคนอาจสงสัยว่า ทั้งๆ ที่ต่างชาติขายหุ้นออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปีที่แล้ว ที่ขายสุทธิในตลาดหุ้นมากกว่า 287,000 ล้านบาท มากสุดในรอบ 5 ปี แต่ทำไมเงินบาทยังแข็งค่าจริงๆ แล้ว เงินนักลงทุนต่างชาติบางส่วนไม่ได้นำออกไปไหน แต่กลับถูกนำไปลงทุนในตลาดตราสารหนี้ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

           ปี 2018 นักลงทุนต่างชาติถือครองตราสารหนี้ในไทย มูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากปี 2015 ที่ประมาณ 5.7 แสนล้านบาท

           อีกเรื่องคือ เงินเฟ้อเงินเฟ้อ หมายถึง การด้อยของค่าเงินในประเทศนั้นประเทศไหนที่เงินเฟ้อสูง ย่อมไม่มีใครอยากถือครองเงินสกุลนั้น และจะทำให้ค่าเงินของประเทศนั้นอ่อนค่าในที่สุดในขณะที่ประเทศไหนที่เงินเฟ้อต่ำ เงินจะด้อยค่าเพียงเล็กน้อย ย่อมทำให้คนอยากถือครองเงินสกุลนั้น และจะทำให้เงินของประเทศนั้นแข็งค่าในที่สุดสำหรับไทยนั้น ตั้งแต่ปี 2013 - 2018 เงินเฟ้อทั่วไปของไทยเฉลี่ยปีละ 0.9% เท่านั้น ต่างประเทศก็พากันอยากถือครองเงินสกุลไทยบาท และนั่นจึงทำให้ที่ผ่านมาเงินบาทจึงแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง

           เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เราต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด จึงทำให้รัฐบาลแต่ละประเทศก็มีการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ต่างกัน บางประเทศลดดอกเบี้ยจนเข้าใกล้ศูนย์ บางประเทศออกนโยบายแจกเงินไปถึงมือประชาชน เรื่องเหล่านี้บางอย่างอาจได้ผลในระยะสั้น แต่บางอย่างก็อาจทำให้สภาพเศรษฐกิจผิดเพี้ยนไปจากอดีต

           ปิดท้ายด้วยวิธีกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจในโลกนี้ มีประเทศหนึ่งที่มีเงินเฟ้อต่ำ แต่ค่าเงินอ่อนลง ซึ่งขัดแย้งกับความเชื่อเดิมที่ว่าเงินเฟ้อต่ำจะทำให้ค่าเงินแข็งประเทศนั้นก็คือ ญี่ปุ่นประเทศญี่ปุ่นนั้น เงินเฟ้อต่ำต่อเนื่องมาหลายปี และค่าเงินญี่ปุ่นก็แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น จนกระทั่ง ธนาคารกลางญี่ปุ่นเลือกที่จะใช้นโยบายพิเศษ โดยอัดฉีดเงินเข้าระบบครั้งใหญ่ เพื่อคาดหวังให้เงินเฟ้อกลับมาที่ 2% รวมไปถึงการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0% มาตั้งแต่ปี 2011 และล่าสุดกำหนดให้ดอกเบี้ยติดลบที่ 0.1%สิ่งที่เกิดขึ้นคืออัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของญี่ปุ่นติดลบและทำให้คนอยากครอบครองเงินสกุลเยนญี่ปุ่นน้อยลง ส่งผลให้ค่าเงินเยนญี่ปุ่นอ่อนลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น และนั่นก็เป็นสาเหตุที่เราคนไทยไปเที่ยวญี่ปุ่นได้ถูกลงในช่วงที่ผ่านมา นั่นเอง..

References

- http://www.thaiwebsites.com/imports-exports.asp
- https://www.bangkokpost.com/business/1767534/imf-sees-thai-growth-rate-at-2-9-this-year-3-0-in-2020
- https://kasikornresearch.com/en/analysis/k-econ/economy/Pages/y3823.aspx
- https://www.ceicdata.com/en/indicator/thailand/household-debt--of-nominal-gdp
- https://en.wikipedia.org/wiki/Economy_of_Thailand
- http://www.worldstopexports.com/thailands-top-10-exports/
- https://www.bot.or.th/App/BTWS_STAT/statistics/ReportPage.aspx?reportID=794&language=eng
-https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_countries_by_foreign-exchange_reserves_(excluding_gold)
- https://www.inflation.eu/inflation-rates/japan/historic-inflation/cpi-inflation-japan.aspx
- https://tradingeconomics.com/japan/interest-rate?continent=asia


เรียบเรียงโดย TERRABKK Research