ปัญหาทายาทในกรณีมรดกไม่มีพินัยกรรมตกลงกันไม่ได้หรือไม่สามารถมายื่นคำขอรับโอนมรดกพร้อมกัน
โดย คุณวสันต์ กิจบำรุง (หมอที่ดิน) อดีตเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดิน 8
หมายเหตุ – ในการอธิบายวิธีการแก้ปัญหาผู้เขียนได้นำข้อความในกฎกระทรวงและระเบียบมาใส่ไว้ให้เห็นชัดเจนจึงทำให้มีความยาวมาก ก็โดยมีจุดประสงค์ให้ผู้ขอรับโอนมรดกได้มีข้อความอ้างอิงได้อย่างชัดเจนสามารถยกอ้างต่อเจ้าหน้าที่ได้เมื่อมีการปฏิเสธหรืออิดออดที่จะทำตามคำขอของทายาท ที่กล่าวอย่างนี้เพราะผู้เขียนรู้ดีว่าในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่บางคนนั้นมักจะอยากดำเนินการตามที่ตนเห็นว่าจะสะดวกในส่วนของเจ้าหน้าที่มากกว่าจะทำตามความสะดวกของทายาท โดยไม่ได้ให้ความสำคัญว่ากฎหมายวางหลักการเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ทายาทได้ใช้แก้ปัญหาของตนเป็นหลักใหญ่ มากกว่าจะอำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่ นั่นคือทายาทมีสิทธิเลือกวิธีการที่แก้ปัญหาของตนได้ดีที่สุด ไม่ใช่ให้เจ้าหน้าที่เลือกวิธีการให้ทายาท แต่เจ้าหน้าที่ก็สามารถชี้แจงผลดีผลเสียได้ แต่ในท้ายที่สุดแล้วต้องให้ทายาทเป็นผู้เลือกวิธีการแก้ปัญหาของตนเป็นหลัก แต่หากเจ้าหน้าที่ยังไม่ดำเนินการตามที่ทายาทต้องการ ก็ให้เข้าพบเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดได้โดยไม่ต้องลังเล และอธิบายความประสงค์พร้อมเหตุผลความจำเป็นให้ทราบ ซึ่งปกติแล้วผู้บังคับบัญชามักจะสั่งให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบโดยเคร่งครัด เพราะหากปฏิเสธทายาทมีสิทธิร้องขอให้เจ้าพนักงานที่ดินทำหนังสือปฏิเสธเป็นลายลักษณ์อักษร และสามารถนำไปประกอบคำฟ้องต่อศาลปกครองได้หากเห็นว่าไม่ดำเนินการให้โดยไม่ชอบด้วยระเบียบกฎหมาย ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินมักเห็นว่าเป็นการง่ายที่จะสั่งให้เจ้าหน้าที่รับดำเนินการตามความประสงค์ของทายาท มากกว่าอยากมีปัญหาในการถูกฟ้องร้องในศาลปกครอง ซึ่งการฟ้องก็ทำได้ง่ายโดยไม่จำเป็นต้องจ้างทนายความด้วย
สภาพปัญหา
ในการยื่นคำขอรับโอนมรดกที่สำนักงานที่ดินแม้กฎหมายไม่ได้บังคับให้ทายาทมายื่นคำขอพร้อมกัน แต่ปกติผู้ขอมักได้รับคำแนะนำให้นัดกันมาทำเรื่องขอประกาศรับโอนมรดกพร้อมกันทุกคน เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะได้สอบสวนจัดทำบัญชีเครือญาติได้จากทายาทหลายคนเป็นการรับรองยืนยันข้อเท็จจริงต่าง ๆ ได้ถูกต้องดีกว่ามาน้อยคน และเพื่อจะได้ลงลายมือชื่อขอรับมรดกร่วมกันไปพร้อมกัน ทำให้มีตัวอย่างลายเซ็นเพื่อใช้ในการตรวจสอบเมื่อผู้รับมรดกมาดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินแปลงนั้นในภายหลัง เช่น มาขายหรือจำนอง และเพื่อใช้ในการตรวจเปรียบเทียบลายเซ็นเมื่อมีการทำหนังสือมอบอำนาจมาทำนิติกรรม เพราะหากไม่มีลายเซ็นให้ตรวจสอบ ก็ไม่มีวิธีอื่นให้ตรวจสอบว่าเป็นลายเซ็นของคนมอบอำนาจจริงหรือไม่ จึงมักต้องให้ผู้มอบอำนาจมาทำด้วยตนเอง
แต่บางกรณีทายาทมาทำเรื่องพร้อมกันไม่ได้ด้วยสาเหตุหลายประการ เช่น ทายาททะเลาะกันตกลงกันไม่ได้ ทายาทอยู่คนละจังหวัดไกลกัน หรือบางคนไปอยู่ต่างประเทศ บางคนติดต่อไม่ได้เลย เพราะไม่รู้ที่อยู่ขาดการติดต่อกันนานมาก หรือแม้แต่สูญหายไปก็มี หรือเป็นคนวิกลจริตจิตฟั่นเฟือนไม่สามารถรับรู้แบบคนปกติ หรือบางคนไม่อยากได้มรดกก็ไม่สนใจใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะมีทรัพย์สินมาก หรือได้ทรัพย์อื่นจากเจ้ามรดกไปมากจนพอใจแล้วก็ไม่สนใจมาทำเรื่อง
วิธีแก้ปัญหา
1. ให้ทายาทบางคนมายื่นคำขอและให้ลงชื่อทายาทอื่นที่มีสิทธิรับโอนมรดกร่วมรับพร้อมกันไปทั้งหมด
วิธีดำเนินการโดยย่อ
ให้ทายาทคนหนึ่งหรือหลายคนก็ได้ที่พร้อมไปยื่นคำขอประกาศรับโอนมรดกที่สำนักงานที่ดิน และต้องแจ้งเครือญาติเจ้ามรดกว่ามีใครบ้างโดยต้องบอกให้ครบถ้วน(และต้องบอกที่อยู่ด้วยหากมีกรณีต้องส่งประกาศการขอรับโอนมรดกให้ทราบ) ตามที่ตนเองรู้หากไมรู้ก็ต้องบอกว่าไม่รู้เพราะเหตุใด เช่น เจ้ามรดกหรือทายาทไปอยู่ต่างประเทศนานขาดการติดต่อกัน ทำให้ไม่รู้ว่าเจ้ามรดกมีลูกหลานกี่คน หรือมีใครตายไปบ้างแล้วและใครตายก่อนตายหลังกัน และหากมีการตายก่อนหรือหลังเจ้ามรดกก็ต้องรู้คู่สมรสเขาด้วย ต้องรู้ว่าเขามีลูกชื่ออะไรจะได้ให้รับมรดกแทนที่ทายาทคนที่ตายไปก่อนเจ้ามรดก ซึ่งหากตรวจสอบจริงจังโดยละเอียดก็มักจะทราบได้ว่ามีใครบ้าง เมื่อแสดงบัญชีเครือญาติที่มีสิทธิรับมรดกแล้ว ผู้ขอที่มายื่นคำขอนั้นสามารถแจ้งให้ลงชื่อทายาทอื่นทั้งหมดร่วมรับมรดกพร้อมไปกับตนก็ได้ โดยไม่ต้องให้มาร่วมลงชื่อประกาศรับมรดกพร้อมกับตนแต่อย่างใด แต่ผู้ขอต้องนำหลักฐานแสดงว่าคนที่ให้ลงชื่อรับมรดกนั้นเป็นทายาทด้วย หากไม่มีหลักฐานพิสูจน์ว่าเป็นทายาทจริง ก็จะไม่สามารถให้รับมรดกร่วมไปด้วยกันได้ สำหรับหลักฐานที่ใช้พิสูจน์ว่าเป็นทายาทก็ได้แก่ทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน หรือใบเกิด หรือเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น มรณบัตรของทายาทที่ตายก่อนเจ้ามรดกเพื่อให้คนอื่นรับมรดกแทนต่อไป ซึ่งในการประกาศการขอรับโอนมรดกนั้นจะต้องระบุลงไปด้วยว่าผู้ขอให้ลงชื่อใครบ้างเป็นผู้รับมรดกร่วมกันตนเพื่อให้คนมาคัดค้าน ซึ่งการประกาศให้สาธารณชนได้รับทราบเพื่อให้คัดค้านนี้เป็นวิธีมาตรฐานที่กฎหมายมักให้ทำกันโดยทั่วไปในเรื่องต่าง ๆ หากประกาศไปครบ 30 วันแล้วไม่มีคนคัดค้านเจ้าพนักงานที่ดินก็จะจดทะเบียนไปตามที่ได้ประกาศไว้
การที่กฎหมาย (กฎกระทรวงฉบับที่ 24 ข้อ 4 (1)) กำหนดหลักการให้ใส่ชื่อทายาทอื่นร่วมรับมรดกไปด้วยกันได้ก็ด้วยเหตุผลที่ว่าตามกฎหมายมรดก(มาตรา 1599) เมื่อใครตายมรดกก็ตกเป็นของทายาทตั้งแต่วันที่เจ้ามรดกตาย สิทธิในมรดกตกเป็นของทายาทแล้วโดยผลของกฎหมาย ขั้นตอนต่อไปจึงเป็นการจดทะเบียนโอนมรดกตามสิทธิที่มีอยู่แล้วให้ปรากฏในโฉนดเท่านั้น ซึ่งกฎหมายที่ดินและกฎกระทรวงฉบับที่ 24 ก็ให้ทำได้โดยการมายื่นคำขอด้วยตนเอง หรือทายาทอื่นมายื่นคำขอและให้จดทะเบียนลงชื่อทายาทอื่นร่วมรับมรดกไปพร้อมกันด้วยก็ได้ เป็นการที่กฎหมายอำนวยความสะดวกในการรับมรดกของทายาทเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามหากปรากฏในภายหลังว่าได้จดทะเบียนโอนผิดพลาดไปก็สามารถดำเนินการเพิกถอนได้ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 61 ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเกิดขึ้นน้อยมาก เพราะว่าโดยทั่วไปแล้วไม่มีใครต้องการให้คนอื่นที่ไม่ใช่ทายาทมาร่วมรับมรดกกับตนอยู่แล้ว และการแจ้งเท็จก็เสี่ยงที่จะโดนโทษอาญาด้วยซึ่งโอกาสที่จะโดนลงโทษนั้นสูงเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ทีเดียว เพราะว่าในการดำเนินการต่าง ๆ ในเรื่องรับมรดกจะต้องนำหลักฐานต่าง ๆ มาประกอบ มีการเซ็นรับรองสำเนา มีการให้ถ้อยคำรับรองต่าง ๆ และหลักฐานเหล่านี้จะเก็บไว้ที่สำนักงานที่ดินตลอดไปไม่มีการทำลาย ดังนั้นเมื่อมีการฟ้องร้องกันก็สามารถพิสูจน์ความผิดได้โดยง่าย แต่โดยทั่วไปแล้วทายาททั้งหลายมักจะชอบนัดหรือได้รับคำแนะนำให้พากันมาทำเรื่องพร้อมกันมากกว่า แต่การใช้วิธีให้ลงชื่อรับมรดกร่วมกันนั้นมีพอมีอยู่บ้างเพราะปัญหาใหญ่คือไม่สามารถนำหลักฐานการเป็นทายาทที่คนอื่นเก็บไว้มาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ได้ จะใช้วิธีนี้ได้ดีก็เฉพาะกรณีผู้ขอมีหลักฐานอยู่พร้อมแล้ว เช่นมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเดียวกันตลอดมาเป็นต้น หรือทายาทคนที่จะให้ลงชื่อร่วมรับมรดกด้วยนั้นส่งมาให้
วิธีที่กล่าวมานั้นทำได้ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 24 ข้อ 4 ความว่า
ข้อ ๔ การจดทะเบียนสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้มาโดยทางมรดกไม่มี
พินัยกรรม และมีทายาทซึ่งมีสิทธิได้รับมรดกหลายคน นอกจากจะต้องดำเนินการตามข้อ ๓ แล้ว
ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการดังต่อไปนี้ด้วย
(๑) ในกรณีที่ทายาทบางคนมาขอจดทะเบียนรับมรดกตามสิทธิของตนหรือ
ขอให้ลงชื่อทายาทอื่นที่มีสิทธิได้รับมรดกทุกคนตามที่ผู้ขอแสดงไว้ในบัญชีเครือญาติ เมื่อไม่มีผู้โต้แย้งภายในกำหนดเวลาที่ประกาศ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนให้ตามที่ผู้ขอแสดงหลักฐานการมีสิทธิตามกฎหมาย
ซึ่งระเบียบกรมที่ดินว่าด้วยการจดทะเบียนสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้มาทางมรดก พ.ศ. 2548 (แก้ไขเพิ่มเติมถึงปัจจุบัน (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2557) ก็ได้วางแนวทางปฏิบัติรองรับไว้ชัดในข้อ 11
ข้อ ๑๑ การสอบสวนและจดบัญชีเครือญาติของเจ้ามรดกไว้ด้านหลังบันทึกการสอบสวนฯ (ท.ด.๘) นั้น ให้ผู้ขอแสดงชื่อทายาทที่มีสิทธิรับมรดกตามลำดับและชั้นของทายาทตามกฎหมาย เช่น ชื่อบิดา มารดา ชื่อผู้สืบสันดาน หรือผู้รับมรดกแทนที่ และชื่อคู่สมรส เมื่อได้เขียนชื่อทายาทของเจ้ามรดกดังกล่าวแล้วใต้ชื่อเจ้ามรดกให้เขียนว่า “เจ้ามรดกตายเมื่อ…..…..” ให้เขียนคำว่า “ผู้ขอ” ไว้ใต้ชื่อผู้ขอ ในกรณีผู้ขอขอให้ลงชื่อทายาทอื่นที่มีสิทธิได้รับมรดกเป็นผู้รับมรดกร่วมกับผู้ขอด้วย ให้เขียนคำว่า “ผู้ขอขอให้ลงชื่อ” ไว้ใต้ชื่อทายาทนั้น ๆ และถ้าทายาทคนใดเป็นผู้เยาว์ หรือเป็นคนไร้ความสามารถ หรือตาย ให้เขียนอายุผู้เยาว์หรือการเป็นคนไร้ความสามารถหรือตาย และวัน เดือน ปี ที่ตายไว้ใต้ชื่อทายาทนั้น ๆ ด้วย
ในกรณีที่ผู้ขอไม่ทราบเครือญาติของเจ้ามรดกโดยครบถ้วน ก็ให้แสดงบัญชีเครือญาติเท่าที่ทราบและให้บันทึกเหตุผลที่ไม่ทราบไว้โดยชัดแจ้ง เช่น มีบิดาอยู่ต่างประเทศ อาจมีภรรยาและบุตรที่ต่างประเทศอีกหรือไม่ ผู้ขอไม่ทราบ
เมื่อได้ทำบัญชีเครือญาติเสร็จแล้ว ให้ผู้ขอลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วมือรับรองบัญชีเครือญาติที่ให้ไว้ แล้วให้พนักงานเจ้าหน้าที่ลงลายมือชื่อกำกับไว้(ตามตัวอย่างหมายเลข ๖) และในกรณีพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องส่งประกาศให้แก่ทายาท ให้จัดทำบัญชีรายชื่อและที่อยู่ของทายาทซึ่งผู้ขอแสดงประกอบการขอรับมรดกไว้ด้วย (ตามตัวอย่างหมายเลข ๗)
ในกรณีผู้ขอเป็นผู้รับพินัยกรรม ผู้ขอไม่จำเป็นต้องแจ้งบัญชีเครือญาติ และพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ต้องส่งประกาศมรดกแจ้งให้ทายาทอื่นทราบ
ซึ่งในตัวอย่างบันทึกการสอบสวนขอจดทะเบียนโอนมรดก (ท.ด. 8) นั้นก็ให้คนยื่นคำขอเซ็นชื่อเท่านั้น ไม่ต้องให้คนที่ให้ลงชื่อรับมรดกร่วมด้วยมาเซ็นชื่อด้วยแต่อย่างใด (ดูได้จากตัวอย่างหมายเลข 6 ด้านล่าง)
1.2 ให้ทายาทบางคนมายื่นคำขอรับโอนมรดก และให้ผู้ไม่รับมรดกทำหนังสือไม่รับมรดกมามอบให้เจ้าหน้าที่ โดยตนเองไม่จำเป็นต้องมาที่สำนักงานที่ดินก็ได้ แต่จะให้คนขอรับมรดกนำมามอบหรือส่งทางไปรษณีย์ก็ได้
สภาพปัญหา
ในการยื่นคำขอรับโอนมรดก บางครั้งทายาทบางคนไม่ต้องการรับโอนมรดกแปลงนั้น ๆ ด้วยสาเหตุบางประการ และก็ได้ตกลงกับคนอื่นแล้วว่าจะไม่รับมรดกแปลงนั้น ผู้ไม่รับมรดกสามารถเลือกวิธีการแสดงการไม่รับมรดกที่สำนักงานที่ดินได้สองวิธี คือ มาเซ็นชื่อไม่รับมรดกที่สำนักงานที่ดินด้วยตนเองเลย ซึ่งปกติมักจะให้ทำตามวิธีนี้เพราะเจ้าหน้าที่สอบถามจากเจ้าตัวเองได้ ป้องกันการปลอมตัวหรือปลอมหนังสือไม่รับมรดกได้ดีที่สุด ส่วนอีกกรณีหนึ่งคือให้ทำหนังสือไม่รับมรดก มอบให้ผู้ขอรับมรดกนำมามอบให้เจ้าหน้าที่ หรือส่งมาโดยทางไปรษณีย์ก็ได้ ซึ่งวิธีนี้ใช้ในกรณีที่ผู้ไม่รับมรดกไม่สะดวกในการเดินทางหรือมีธุระมาไม่ได้
และในทางปฏิบัติสำนักงานที่ดินก็ให้คนขอรับโอนมรดกรับรองว่าเป็นหนังสือของคนไม่รับมรดกจริง เป็นการร่วมรับรู้รับผิดชอบด้วยเพราะในทางความเป็นจริงนั้นคนขอรับมรดกและคนไม่รับมรดกก็รู้จักกันและต้องติดต่อกันว่าจะทำอย่างไร คงไม่คิดเอาเองว่าทายาทอื่นจะทำหนังสือไม่รับมรดกมาให้เอง เพราะหากว่าไม่มีหนังสือไม่รับมรดกมามอบให้เจ้าหน้าที่ภายในเวลาการประกาศโอนมรดก 30 วัน คำขอก็จะเสียเปล่า ตามที่กฎกระทรวงฉบับที่ 24 กำหนดไว้ คนรับโอนมรดกก็จะเสียเวลาดำเนินการไปโดยเปล่าประโยชน์
สำหรับวิธีการทำหนังสือโดยไม่ต้องมาด้วยตนเองนั้นทำได้ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 24 ข้อ 4 (2) ความว่า
ข้อ ๔ การจดทะเบียนสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้มาโดยทางมรดกไม่มี
พินัยกรรม และมีทายาทซึ่งมีสิทธิได้รับมรดกหลายคน นอกจากจะต้องดำเนินการตามข้อ ๓ แล้ว
ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการดังต่อไปนี้ด้วย
(๑) ในกรณีที่ทายาทบางคนมาขอจดทะเบียนรับมรดกตามสิทธิของตนหรือ
ขอให้ลงชื่อทายาทอื่นที่มีสิทธิได้รับมรดกทุกคนตามที่ผู้ขอแสดงไว้ในบัญชีเครือญาติ เมื่อไม่มี
ผู้โต้แย้งภายในกำหนดเวลาที่ประกาศ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนให้ตามที่ผู้ขอแสดง
หลักฐานการมีสิทธิตามกฎหมาย
(๒) ในกรณีที่ทายาทบางคนมาขอจดทะเบียนรับมรดกทั้งหมด ถ้าผู้ขอนำทายาทที่แสดงไว้ในบัญชีเครือญาติทุกคนมาให้ถ้อยคำยินยอม หรือนำหลักฐานการไม่รับมรดกของทายาทดังกล่าวนั้นมาแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ภายในกำหนดเวลาที่ประกาศ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนให้ตามที่ผู้ขอแสดงหลักฐานการมีสิทธิตามกฎหมาย แต่ถ้าผู้ขอไม่สามารถนำทายาทที่แสดงไว้ในบัญชีเครือญาติทุกคนมาให้ถ้อยคำยินยอม หรือไม่สามารถนำหลักฐานการไม่รับมรดกของทายาทดังกล่าวนั้นมาแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในกำหนดเวลาที่ประกาศได้ ก็ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ยกคำขอเสีย
และตามระเบียบกรมที่ดินว่าด้วยการจดทะเบียนสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้มาทางมรดก พ.ศ. 2548 (แก้ไขเพิ่มเติมถึงปัจจุบัน (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2557) ก็วางระเบียบรองรับไว้ใน ข้อ 12 ความว่า
ข้อ ๑๒ กรณีผู้ขอนําทายาทที่แสดงไว้ในบัญชีเครือญาติทุกคนมาให้ถ้อยคํายินยอมหรือนําหลักฐาน การไม่รับมรดกของทายาทดังกล่าวมาแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายหลังที่ครบหนดเวลาที่ประกาศแล้วเช่นนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่สามารถดําเนินการต่อไปได้ เนื่องจากคําขอถูกยกไปโดยอํานาจของกฎหมาย นับแต่ครบกําหนดเวลาที่ประกาศแล้ว ทั้งนี้ตามที่กฎกระทรวงว่าด้วยการโอนมรดกตามมาตรา ๘๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินกําหนดไว้ แต่หากผู้ขอยังประสงค์จะยื่นขอรับมรดกต่อไปอีกให้พนักงานเจ้าหน้าที่แนะนําให้ผู้ขอยื่นคําขอใหม่โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ต้องสั่งยกเลิกคําขอเดิม แต้ให้หมายเหตุถึงการที่คําขอถูกยกเลิกไว้ในคําขอว่า “คําขอนี้ถูกยกเลิกเนื่องจากผู้ขอไม่สามารถนําทายาทที่แสดงไว้ในบัญชีเครือญาติทุกคนมาให้ถ้อยคํายินยอมหรือไม่สามารถนําหลักฐานการไม่รับมรดกของทายาทดังกล่าวนั้นมาแสดงภายในกําหนดเวลาที่ประกาศ” แล้วให้พนักงานเจ้าหน้าที่ลงนามพร้อมวัน เดือน ปี กํากับไว้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ชี้แจงให้ผู้ขอทราบถึงเหตุที่คําขออาจจะถูกยกเลิกในกรณีตามวรรคหนึ่ง ไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในเวลาที่ผู้ขอยื่นคําขอด้วยทุกราย
(หมายเหตุ - ข้อความ ในระเบียบข้อ 12 ตรงที่ว่า “กรณีผู้ขอนําทายาทที่แสดงไว้ในบัญชีเครือญาติทุกคนมาให้ถ้อยคํายินยอมหรือนําหลักฐาน การไม่รับมรดกของทายาทดังกล่าวมาแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายหลังที่ครบหนดเวลาที่ประกาศแล้วเช่นนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่สามารถดําเนินการต่อไปได้ นี้ ต้องตีความกลับกันคือหากสามารถนำหลักการการไม่รับมรดกมามอบให้ภายในกำหนดประกาศ 30 วัน ก็ให้ใช้ได้นั่นเอง แต่หากนำมามอบภายหลังประกาศ 30 วัน ถึงจะใช้ไม่ได้ ขอให้ผู้อ่านเข้าใจตามนี้ด้วย)
และมีแนวคำวินิจฉัยกรมที่ดินว่าการทำหนังสือไม่รับมรดก ไม่ใช่การสละมรดกที่จะต้องไปทำที่อำเภอแต่อย่างใด และถือว่าทำได้ตามนี้...
และที่สำคัญได้ มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4921/2552 ตัดสินว่าการทำหนังสือทำนองนั้นใช้ได้เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความอย่างหนึ่งนั่นเอง
การสละมรดกมี ป.พ.พ. มาตรา 1612 บัญญัติให้กระทำได้ 2 แบบคือ แสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ คำว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1612 หมายถึง ผู้อำนวยการเขตหรือนายอำเภอหรือหัวหน้ากิ่งอำเภอและหมายรวมถึงบุคคลที่กระทำหน้าที่แทนด้วย ดังนั้น การที่บุตรทั้งเจ็ดของเจ้ามรดกไปให้ถ้อยคำและทำบันทึกหลักฐานเป็นหนังสือระบุชัดแจ้งว่าไม่ขอรับโอนมรดกที่ดินไว้ต่อเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินอำเภอซึ่งเป็นหัวหน้าส่วนราชการประจำสำนักงานที่ดินอำเภอสวี ในฐานะเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินปฏิบัติราชการแทนนายอำเภอ ซึ่งนายอำเภอมีอำนาจตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 38 (10) ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นที่จะมอบอำนาจให้หัวหน้าส่วนราชการที่ประจำอยู่ในอำเภอปฏิบัติราชการแทนได้ จึงเป็นการแสดงเจตนาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายแล้ว แต่การที่บุตรทั้งเจ็ดระบุว่า ไม่ประสงค์ขอรับมรดกที่ดินแปลงนี้และยินยอมให้จำเลยรับมรดกแปลงนี้แต่ผู้เดียว ไม่ใช่การสละมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1612 เพราะเป็นการสละมรดกโดยมีเงื่อนไข ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1613 อย่างไรก็ตามบันทึกดังกล่าวมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความมีผลใช้บังคับผูกพันบุตรทั้งเจ็ดกับจำเลยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 850, 852 และ 1750
https://deka-by-mrt.blogspot.com/2012/04/49212552.html
https://deka.in.th/view-493988.html
ตัวอย่างการทำหนังสือการไม่รับมรดก
โดยที่กฎหมายไม่ได้กำหนดแบบฟอร์มการทำหนังสือไม่รับมรดกไว้แต่อย่างใด ในทางปฏิบัติจึงทำตามรูปแบบใดก็ได้ให้ได้ข้อความว่าผู้ไม่รับมรดกนั้นไม่ต้องการรับมรดกที่ดินแปลงใด ซึ่งควรต้องอ้างถึงคำขอประกาศรับโอนมรดกไว้ด้วยว่าใครเป็นคนยื่นคำขอตามคำขอประกาศรับโอนมรดกลงวันที่ใด และตนได้รับทราบการยื่นคำขอนั้นแล้วแต่ไม่มีความประสงค์จะรับมรดกแปลงตามคำขอนั้น ยอมให้ผู้ขอรับโอนมรดกไปตามที่ประกาศการขอรับโอนมรดกนั้น และถ้าจะให้ดีควรใส่ข้อความให้ชัดแจ้งไปว่าจะไม่ฟ้องเรียกร้องอ้างสิทธิใด ๆ เกี่ยวกับการรับมรดกในที่ดินแปลงนั้น
ตัวอย่างหนังสือไม่รับมรดก (ร่างโดยผู้เขียนบทความ)
หนังสือไมรับมรดก
ทำที่่บ้านเลขที่.................................................
วันที่......เดือน.................................. พ.ศ............................
ข้าพเจ้า นาย/นาง/นางสาว......................................นามสกุล........................อายุ.......ปี
บัตรประชาชนเลขที่.......................................เป็นทายาทของนาย/นาง/นางสาว...............
.......................................เจ้ามรดกที่ดินโฉนดเลขที่..........................เลขที่ดิน..............
หน้าสำรวจ......................ตำบล..................................อำเภอ.....................................
จังหวัด....................................... โดยเป็น(บอกความสัมพันธ์การเป็นทายาทของเจ้ามรดก
เช่น เป็นบิดา มารดก บุตร หลาน) ของเจ้ามรดก
ตามที่นาย/นาง/นางสาว.............................................ได้ยื่นคำขอรับโอนมรดกที่ดินแปลงเครื่องหมายข้างต้นนี้ตามคำขอโอนมรดกลงวันที่........................นั้น ข้าพเจ้าทราบแล้วและไม่ขอรับมรดกที่ดินแปลงดังกล่าวแต่อย่างใด ขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการโอนมรดกให้แก่ผู้ขอไปได้ตามรายละเอียดที่ได้ขอประกาศรับโอนมรดกที่ดินแปลงนี้ไว้ทุกประการ และข้าพเจ้าไม่ฟ้องร้องเรียกร้องสิทธิใด ๆ ในที่ดินแปลงนี้เกี่ยวกับการรับโอนมรดกตามคำขอแต่อย่างใดทั้งสิ้น
ข้าพเจ้าได้อ่านข้อความข้างต้นแล้วรับรองว่าถูกต้องตามความประสงค์แล้ว จึงได้ลงชื่อไว้เป็นสำคัญต่อหน้าพยาน
ลงชื่อ……………………………………………......ผู้ไม่รับมรดก
(...……………………………………………....)
ลงชื่อ…………………………………………………..พยาน
(.. ………………………………………………..)
ลงชื่อ………………………………………………….พยาน
(…………………………………………………..)
ข้าพเจ้านาย/นาง/นางสาว………………………………………ผู้ขอรับโอนมรดก ขอรับรองว่าหนังสือไม่รับมรดกนี้เป็นของนาย/นาง/นางสาว…………………………………………….จริง และได้นำมามอบให้ข้าพเจ้าเพื่อนำมามอบให้พนักงานเจ้าหน้าที่อีกต่อหนึ่ง หากเป็นความเท็จยินยอมให้ใช้เอกสารนี้เป็นพยานในคดีอาญาได้
ลงชื่อ)……………………………………………….ผู้ขอรับมรดก
(……………………………………………….)
หมายเหตุ – ในกรณีที่ผู้ขอรับโอนมรดกเป็นผู้นำหนังสือไม่รับมรดกมามอบให้พนักงานเจ้าหน้าที่ด้วยตนเอง ให้ผู้รับโอนมรดกลงชื่อรับรองว่าเป็นหนังสือที่ผู้ไม่รับมรดกได้ทำขึ้นเองและมอบให้ตนนำมามอบให้พนักงานเจ้าหน้าที่
1.3 ทายาทบางคนมายื่นคำขอรับโอนมรดกมายื่นคำขอรับมรดกตามที่ตนเองมีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกในที่ดินแปลงนั้นเท่านั้น ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับทายาทคนอื่นแต่อย่างใด ซึ่งในงานที่ดินเรียกการโอนมรดกแบบนี้ว่า "โอนมรดกบางส่วน" (คำที่ใช้ในระเบียบคือ “ในกรณีที่มีผู้ขอจดทะเบียนมรดกเพียงบางส่วนตามสิทธิของตนเช่น ก. เป็นเจ้าของ ก. ตาย จ. หรือ ฉ. หรือ ญ. มาขอจดทะเบียนมรดกเพียงบางส่วนตามสิทธิของตน โดยคงส่วนของทายาทคนอื่นไว้ในนามของเจ้ามรดกต่อไปทำนองเดียวกับการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์รวม ให้เขียนชื่อประเภทว่า “โอนมรดกบางส่วน” )
ตัวอย่าง
นายดำ เป็นเจ้าของที่ดินและตายลง โดยมีทายาทมีสิทธิรับมรดกสามคน คือนายแดง นายเขียว นางขาว โดยนางขาวเป็นคนเก็บโฉนดที่ดินไว้ ทั้งสามคนนี้นายแดงกับนายเขียวทะเลาะกันไม่พูดกัน แต่นางขาวดีกับทุกคน กรณีเช่นนี้หากนางขาวจะแก้ปัญหาให้ทุกคนก็ทำได้ โดยการมาสำนักงานคนเดียวและยื่นคำขอรับโอนมรดก แล้วก็ให้เจ้าพนักงานที่ดินจัดการจดทะเบียนลงชื่อนายแดงกับนายเขียวร่วมรับมรดกไปพร้อมกับตนก็ได้ โดยต้องเอาหลักฐาน(เช่น สำเนาทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน) ที่แสดงว่านายเขียวกับนายแดงเป็นทายาทด้วยมาให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบว่าเป็นทายาทจริง (ซึ่งก็คือเป็นวิธีการรับมรดกตามวิธีที่ 1 นั่นเอง)
แต่หากนายแดงเกิดอยากรับโอนมรดกเร็วไม่รอนางขาวและนายเขียว นายแดงจะไปสำนักงานที่ดินคนเดียวและยื่นคำขอรับโอนมรดกให้ใส่ชื่อตนไปคนเดียวโดยไม่แตะต้องส่วนของอีกสองคนและนายแดงก็ไม่ได้ให้ลงชื่อนายเขียวกับนางแดงร่วมรับมรดกพร้อมกับตนก็ได้ และกรณีแบบนี้นายแดงก็ไม่ต้องรับความยินยอมจากอีกสองคนแต่อย่างใดเพราะไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับสิทธิของสองคนนั้น เมื่อประกาศการขอรับมรดกครบ 30 วันแล้วไม่มีคนคัดค้านเจ้าพนักงานที่ดินก็จะจดทะเบียนโอนมรดกบางส่วนให้แก่นายแดง ซึ่งเขาจะมีส่วนเป็นเจ้าของที่ดินหนึ่งในสามของทั้งหมดเพราะมีทายาทมีเพียงสามคนและทุกคนเป็นบุตรเจ้ามรดกเหมือนกัน จึงแบ่งกันคนละหนึ่งในสาม เมื่อจดทะเบียนแล้วก็จะมีชื่อนายแดงและยังจะมีชื่อนายดำเจ้ามรดกอยู่ในโฉนดพร้อมกันด้วย ที่เป็นเช่นนี้เพราะมรดกของนายดำยังไม่หมดไปคือนายแดงไม่ได้รับโอนทั้งแปลงนั่นเองจึงต้องคงชื่อนายดำเอาไว้ ต่อเมื่อนายเขียวและนางแดงมารับโอนมรดกของนายดำที่เหลือจนหมด ชื่อนายดำก็จะหมดไป โฉนดจะเหลือแต่ชื่อนายแดง นายเขียว นางขาวเป็นเจ้าของรวมในที่ดิน
การขอรับโอนมรดกประเภท “โอนมรดกบางส่วน”นี้ใช้แก้ปัญหาในกรณีทายาทไม่ร่วมมือกันใด ๆทั้งสิ้นทะเลาะกันจนไม่มีทางมาดำเนินการร่วมกันเลย และก็ไม่ยอมเซ็นยินยอมอะไรทั้งนั้น กรณียื่นคำขอแบบนี้แม้นายแดงไม่ได้โฉนดมา แต่ก็ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินเรียกโฉนดจากนางขาวมาจดทะเบียนได้ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 81 หากนางขาวไม่ส่งมอบโดยไม่มีเหตุอันควรก็จะโดนแจ้งความฐานละเมิดคำสั่งเจ้าพนักงานที่สั่งโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย กรณีนี้คือสั่งตามมาตรา 81 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งในระเบียบกรมที่ดินข้อ 17 ได้กำหนดไว้ชัดว่าให้เจ้าพนักงานที่ดินแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานต่อไป
ข้อ ๑๗ การเรียกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินให้พนักงานเจ้าหน้าที่เรียกต่อเมื่อเรื่องที่ขอจดทะเบียนนั้นพร้อมที่จะทําการจดทะเบียนได้ โดยให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีหนังสือส่งทางไปรษณีย์ตอบรับถึงผู้ยึดถือหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินให้นําหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินมามอบต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ที่ทําการของพนักงานเจ้าหน้าที่ในวันที่กําหนด แต่อย่างช้าไม่เกินสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือเรียก
เมื่อครบกําหนดตามที่เรียกให้ส่งหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน และมีหลักฐานการได้รับหนังสือของผู้ยึดถือแล้ว แต่ผู้ยึดถือไม่ส่งหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่และไม่แจ้งเหตุขัดข้องให้ทราบภายในกําหนด ก็ให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดําเนินคดีฐานขัดคําสั่งเจ้าพนักงานต่อไป
TerraBKK คลังความรู้ TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก