ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา องค์กรต่าง ๆ ในประเทศจีนมีการจดสิทธิบัตร (patent) ด้านปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ (artificial intelligence — AI) เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉลี่ยมากกว่า 20% ต่อปี เมื่อเทียบกับประเทศที่จดสิทธิบัตรทางด้านเอไอมากสุดในโลกก็จะพบว่าสหรัฐอเมริกากับจีนอยู่ในระดับ top 5 แสดงให้เห็นว่าทั้งสองประเทศมีความมุ่งมั่นและให้ความสนใจกับการวิจัยและพัฒนาเอไออย่างมาก ซึ่งเปรียบเสมือนหัวใจหลักในการสร้างศักยภาพของประเทศสู่การเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลก

จากงานสำรวจของ Accenture กับประเทศที่พัฒนาแล้ว 12 ประเทศ คาดการณ์ว่าภายในปี ค.ศ. 2035 เอไอจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า และจากผลสำรวจของ PwC ก็คาดการณ์ว่าภายในปี ค.ศ. 2030 จีดีพีโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 14% หรือประมาณ 15.7 ล้านล้านดอลลาห์สหรัฐ โดยทั้งสองรายงานเห็นพ้องตรงกันว่าเอไอจะเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน มีการนำมาทำ automation หรือการนำเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีมาทำงานแทนมนุษย์ เพื่อเพิ่มผลผลิตของงานและเกิดความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยเริ่มจากโรงงานต่างๆ การขนส่ง และขยายไปในอุตสาหกรรมอื่นๆ ซึ่งในอนาคตโอกาสของการเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มจะนำมาซึ่งข้อมูลมหาศาล ทำให้เข้าใจในความต้องการของผู้บริโภคที่สามารถนำมาสร้างประสบการณ์เฉพาะบุคคล ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของสินค้าและบริการ เพิ่มรายได้และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งระดับประเทศและระดับโลก ด้วยเหตุนี้ใครเลยจะไม่อยากอยู่ในตำแหน่งนั้น

กล่าวถึงความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจ จีนกับสหรัฐอเมริกามีความสัมพันธ์กันเป็นอย่างมาก โดยจีนในฐานะที่เป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภครายใหญ่ ประกอบกับมีนโยบายพัฒนาประเทศอย่างก้าวกระโดด มีการส่งออกสินค้า วัตถุดิบ การลงทุน รวมถึงมีบุคลากรด้านการศึกษาทั้งนักศึกษาและนักวิจัยคุณภาพ ส่วนทางด้านสหรัฐอเมริกาก็มีการส่งออกสินค้าด้านการเกษตร และ semiconductor หรือวัสดุที่ใช้ทำอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ต่างๆ ให้กับจีน (ถ้าผู้อ่านสนใจอยากรู้เรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา ผมขอแนะนำให้อ่านหนังสือจีน-เมริกา ของ ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร อ่านสนุกมากครับ)

ซึ่งสงครามการค้าที่เกิดขึ้นระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเอไอในระดับโลก โดยเฉพาะในระยะหลังที่สื่อมีการนำเสนอภาพลักษณ์ของเอไอในเชิงการแข่งขันทางอาวุธ (AI arms race) ล้วนเป็นการนำเสนอที่เป็นอันตรายต่อโลก เพราะถึงแม้เอไอจะเป็น dual-use technology ที่ใช้ได้ทั้งด้านการทหารและกับประชาชน แต่จริงๆ แล้วความเป็นผู้นำด้านงานวิจัยและพัฒนาเอไอที่ดี ควรจะต้องร่วมมือกันคำนึงถึงหลักจริยธรรมในการออกแบบและการนำไปใช้งานเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์กับมนุษย์และสังคมโลกเป็นสำคัญ

ปัจจุบันสิ่งที่นักวิจัยเป็นกังวลครอบคลุมตั้งแต่การใช้เอไอกับการสอดส่องดูแลความปลอดภัย (surveillance) ข้อมูลที่มีอคติ (data bias) การที่เจ้าของเทคโนโลยีมีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลของประชาชนเปรียบเสมือนใช้ข้อมูลในสร้างอาณานิคม (data colonism) โดยที่ประเทศนั้นๆ ไม่ได้สิทธิ์เข้าถึงข้อมูลของประชาชน วิกฤติอากาศ (climate crisis) ที่เกิดจากใช้ data center รวมถึงการใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงในการสร้างเอไอ ซึ่งบางโมเดลก่อให้เกิดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ สูงถึง 300,000 กิโลกรัม เทียบเท่ากับการนั่งเครื่องบินไปกลับปักกิ่ง-นิวยอร์กถึง 125 เที่ยว สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนที่ทำงานด้านเอไอต้องช่วยกัน

จากสถานการณ์ความแตกแยกทางการค้า ส่งผลให้จีนใช้ความได้เปรียบทางด้านพื้นที่และวัฒนธรรมที่อยู่ใกล้กับทวีปเอเชีย รวมทั้งการใช้โครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 (Belt and Road Initiative) หรือยุทธศาสตร์หลักของจีนในการขยายอิทธิพลบนเวทีโลกผ่านการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่งกับนานาประเทศ ในการขยายความช่วยเหลือทางด้านเทคโนโลยีให้กับประเทศที่กำลังพัฒนาเทคโนโลยีเอไอ

ส่วนสหรัฐอเมริกาก็เริ่มกังวลกับความล้าหลังในการพัฒนาเอไอเมื่อเทียบกับจีน โดยในรายงานของคณะกรรมการความมั่นคงด้านเอไอระบุว่า งบประมาณด้านวิจัยที่ลดลงทำให้เกิด “สมองไหล” นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยย้ายไปทำงานในอุตสาหกรรมต่างๆ ทำให้เกิดความขาดแคลนบุคลากรและงบประมาณในการทำวิจัย ส่งผลให้สหรัฐอเมริกาลดความสามารถในการเป็นผู้นำด้านเอไอ ก่อให้เกิดความเสี่ยงทางด้านความมั่นคงของประเทศ เนื่องจากมีเทคโนโลยีเอไอที่มีศักยภาพลดน้อยลง

ในขณะที่ประเทศชั้นแนวหน้าอื่นๆ รวมทั้งจีนมีการลงทุนงบวิจัยด้านเอไอที่สูงขึ้น สิ่งที่รายงานให้คำแนะนำคือ การเพิ่มงบประมาณในการทำวิจัยเพื่อสร้างคน การประยุกต์ใช้เอไอในด้านความมั่นคงต่างๆ และการเน้นสร้างความสัมพันธ์กับทั้งภาครัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัย ในการเร่งสร้างงานวิจัย รวมทั้งมีการติดต่อเจรจากับนานาชาติ เพื่อส่งเสริมให้เกิดงานวิจัยเชิงบวกและความร่วมมือในการสร้างเอไอที่ปลอดภัยและเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษย์

สำหรับประเทศไทยในฐานะที่เป็นมิตรกับทั้งสองประเทศ เราควรจะใช้ประโยชน์จากการเรียนรู้ผ่านความร่วมมือจากนานาชาติเพื่อลดความเสี่ยง (technological risk diversification) กับการผูกขาดด้านเทคโนโลยีของประเทศใดประเทศหนึ่ง เพราะสิ่งที่เราต้องระวังคือ การยึดครองข้อมูล (data/technology colonization) โดยการนำข้อมูลของประชากรในประเทศไปเป็นอำนาจแบบหนึ่งที่สร้างอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจให้กับประเทศนั้นๆ ได้ ในยามที่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเปลี่ยนไป ซึ่งถือเป็นความมั่นคงของประเทศที่ควรคำนึงถึงมากที่สุด

References:

SOURCE : www.thaipublica.org