ดัชนีฯ มี.ค 63 ปรับลดลงอยู่ในโซนซบเซาเป็นเดือนที่ 2 นักลงทุนกังวลภาวะเศรษฐกิจในประเทศ-สถานการณ์การท่องเที่ยว
ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงอยู่ในเกณฑ์ซบเซาเป็นเดือนที่สองติดต่อกัน โดยผลสำรวจพบว่านักลงทุนกังวลภาวะเศรษฐกิจในประเทศ และสถานการณ์การท่องเที่ยว เป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุน ขณะที่นักลงทุนคาดหวังนโยบายภาครัฐ และผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน และนโยบายอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายทางการเงิน เป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า ผลสำรวจ ณ เดือนกุมภาพันธ์ ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนปรับตัวลดลงมาอยู่เกณฑ์ซบเซาเป็นเดือนที่สองติดต่อกัน โดยความเชื่อมั่นนักลงทุนทุกกลุ่มอยู่ในเกณฑ์ซบเซา และหากพิจารณารายกลุ่ม กลุ่มบัญชีนักลงทุนรายบุคคลลดลงจากเกณฑ์ทรงตัวมาอยู่ในเกณฑ์ซบเซา กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์และกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศลดลงเล็กน้อยอยู่ในเกณฑ์ซบเซาเช่นเดิม ขณะที่กลุ่มนักลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่เกณฑ์ซบเซาเช่นเดิม
ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ปรับตัวลดลงมากโดยเฉพาะในช่วงปลายเดือน จากความกังวลการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 โดยช่วงต้นเดือนดัชนีเคลื่อนไหวค่อนข้างผันผวนอยู่ในกรอบระหว่าง 1500-1540 จุด จากนั้นดัชนีเคลื่อนไหวลดลงมากจากปัญหาการแพร่ขยายของเชื้อไวรัสโคโรน่าในจีนและแพร่กระจายไปประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย ตะวันออกกลางและยุโรป โดยดัชนีฯ ลดลงจากระดับ 1500 จุดมาอยู่ที่ระดับ 1340 จุด ในช่วงปลายเดือน และมีความผันผวนต่อเนื่องไปถึงต้นเดือนมีนาคม ที่ดัชนีลดลงไปต่ำสุดที่ 1317 จุด ก่อนฟื้นตัวขึ้นมาอยู่ในช่วง 1380-1400 จุด ในสัปดาห์แรกของเดือนมีนาคม ภายหลังการเบิกจ่ายงบประมาณรัฐบาลมีผลบังคับใช้ และการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายฉุกเฉินของธนาคารกลางสหรัฐลง 0.5% อย่างไรก็ตามตลาดฯยังมีความผันผวนสูงมากในช่วงนี้
ทิศทางการลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า ปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุดคือการคาดหวังนโยบายภาครัฐ รองลงมาคือผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน และนโยบายการเงินของกนง. ขณะที่นักลงทุนกังวลภาวะเศรษฐกิจในประเทศเป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด รองลงมาคือการท่องเที่ยว และผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน สำหรับปัจจัยทางเศรษฐกิจโลกที่ต้องติดตามได้แก่ความคืบหน้าปัญหาการควบคุมแพร่กระจายเชื้อไวรัสโควิด19 และผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก นโยบายทางการเงินของธนาคารกลางทั่วโลก และนโยบายผ่อนคลายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลในประเทศต่าง ๆ สำหรับปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตามคือ นโยบายเศรษฐกิจภาครัฐเพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย การลงทุน การส่งออกและการท่องเที่ยวที่ลดลงมาก นโยบายอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย และการไหลเข้าออกของเงินทุน
ดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Expectation Index) เดือนมีนาคม 2563
ผลจากดัชนีคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะลดลงจากระดับ 1% ในการประชุม กนง. รอบเดือนมีนาคมนี้ ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี และอายุ 10 ปีมีแนวโน้มลดลงในอีก 11 สัปดาห์ข้างหน้า นับจากวันที่สำรวจ (28 ก.พ. 63) เนื่องจากผู้ตอบแบบสอบถามคาดการณ์ว่า กนง. จะอาจจะปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือน มี.ค. นี้เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอตัวจากผลกระทบจากโคโรน่าไวรัสและปัญหาภัยแล้ง ซึ่งจะส่งผลกระทบกับ การท่องเที่ยว การส่งออก และการบริโภคในประเทศ
นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Expectation Index) เดือนมีนาคม 2563 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- ดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม กนง. รอบเดือนมีนาคมนี้ปรับตัวลดลงต่ำสุดตั้งแต่เริ่มจัดทาดัชนี อยู่ที่ระดับ 8 ลดลงอย่างมากจากครั้งที่แล้วมาอยู่ในเกณฑ์ “ลดลง (Decrease)” สะท้อนมุมมองของตลาดที่ว่าการประชุม กนง. ในเดือนมีนาคมนี้ อาจจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากระดับร้อยละ 1 โดยมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอลง แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยโลกที่ลดลง และ Fund flow จากต่างชาติไหลออก เป็นปัจจัยกาหนดที่สำคัญ
- ดัชนีคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 5 ปีและ 10 ปี ในรอบการประชุม กนง. พฤษภาคม 2563 (ประมาณ 11 สัปดาห์ข้างหน้า) ปรับตัวลดลงต่ำสุดตั้งแต่เริ่มจัดทำดัชนี อยู่ที่ระดับ 22 ทั้ง 2 ดัชนี ลดลงอย่างมากจากครั้งที่แล้วมาอยู่ในเกณฑ์ลดลง “ลดลง (Decrease)” เนื่องจากจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่คาดว่าอัตราผลตอบแทนอาจลดลงจาก 0.88% และ 1.09% ตามลาดับ ณ วันที่ทำการสารวจ (28 ก.พ. 63) โดยปัจจัยหนุนสำคัญ ได้แก่ การขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศที่มีแนวโน้มชะลอตัว อุปสงค์อุปทานในตลาดตราสารหนี้ที่ทรงตัวแนวโน้มทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลกที่ลดลง และ Fund flow จากต่างชาติไหลออก
ที่มา : สภาธุรกิจตลาดทุนไทย