EP02: Feng Shui กับอนาคตอสังหาริมทรัพย์ไทย (ตอน 2 Reactive หรือ Proactive)
จาก EP 01 ภาพจากคนในวงการอสังหาริมทรัพย์ต่อเนื่องจนถึงปลายยุคของดาวยุค 8 ค่อนข้างมืดมน เมื่อมองไปข้างหน้าถึงปัญหาเศรษฐกิจที่จะซบเซาต่อเนื่องจากผลของ Covid-19
ผู้ประกอบการหรือผู้บริหารจะทำอย่างไร
ผู้เขียนขอเสนอทางเลือกให้ท่านสองทาง
ทางแรก- Reactive
คือ ไม่ต้องทำอะไร รอให้เหตุการณ์เกิดขึ้นก่อน ค่อยมีปฏิกิริยาตอบโต้ แก้ไขสถานการณ์ตามปัญหาที่เข้ามากระทบองค์กร วิธีนี้ จีนมีสุภาษิตว่า “น้ำมา สร้างทำนบสู้”
การมองเหตุการณ์เลวร้ายไปทั้งหมด อาจเป็นการตีตนไปก่อนไข้ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันมีความแข็งแกร่งพอสมควร เหตุการณ์ร้าย ๆ เช่นวิกฤตลดค่าเงินบาทปี 2540 ซับไพรม์ในปี 2551 ก็ผ่านมาได้ สาอะไรกับไข้หวัด Covid-19 ก็คงต้องผ่านไปได้เช่นกัน
เพราะอย่างไรก็ตาม อสังหาริมทรัพย์เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่จำเป็นในการดำรงชีวิต ถึงจะตกต่ำไปบ้าง ก็คงไม่นาน
การจะซบเซาต่อเนื่องถึง 4 ปี ดูจะเป็นความเห็นเชิงลบของคนในวงการมากไปหน่อย อาจไม่เกิดขึ้นนานขนาดนั้นก็เป็นได้
ทางสอง- Proactive
เตรียมตัวรับสถานการณ์ตั้งแต่ยังไม่เกิดขึ้น ไม่รอให้เหตุการณ์เลวร้ายขึ้นมา เป็นการกันปัญหาไม่ให้มีผลกระทบมากจนเกินแก้ โดยผู้ประกอบการหรือผู้บริหาร ควรใส่ใจกับ
- ตั้งสติ
เหมือนกัปตันเรือบรรทุกสินค้าที่เห็นพายุลูกใหญ่จากจอเรด้าร์ขณะพายุยังมาไม่ถึง ลูกเรือยังไม่ตระหนักถึงมหันตภัยที่กำลังคืบคลานมาใกล้ กัปตันต้องมีสติก่อน
อย่าตื่นตระหนก คุมสติไว้ ความคิดและสมองจะได้ปลอดโปร่งลื่นไหล เตรียมหาทางรับมือกับพายุที่กำลังมาถึง
- วิเคราะห์
มองให้ทั่วถึงความเป็นไปได้ที่อาจเกิดขึ้น ตัวช่วยหลักคือข้อมูลด้านการเงิน ดูสิว่าสายป่านยาวแค่ไหน บริษัทอยู่ได้บนรายได้ที่ลดลงได้กี่เปอร์เซ็นต์
หลักการที่แนะนำให้ใช้คือ Scenario Planning หรือการวางแผนรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น
Plan A คือ สถานการณ์ที่ดีที่สุด (Best-Case Scenario) สำหรับกัปตันเรือที่กำลังเผชิญพายุ คือการนำเรือฝ่าพายุไปถึงที่หมายโดยเกิดการสูญเสียน้อยที่สุด พายุนี้รุนแรง ต้องลดสัมภาระที่ไม่จำเป็น อุดรูรั่ว ลดสิ่งรุงรังออกให้หมด
นั่นคือสถานการณ์ที่บริษัทจะอยู่ได้บนรายได้ที่ลดลงจากปีที่แล้ว กี่เปอร์เซ็นต์
Plan B คือ สถานการณ์ที่น่าจะผ่านได้ (Most Likely Scenario) กัปตันยังนำเรือไปถึงจุดหมายได้ โดยเกิดความเสียหายต่อเรือและลูกเรือบางส่วน
ทำให้นึกถึงประธานบริษัทหัวเหว่ย ที่บอกให้พนักงานเตรียมตัวสำหรับยามยากที่อาจเกิดขึ้น เช่นเงินเดือนอาจถูกลดเหลือครึ่งเดียว พนักงานต้องรัดเข็มขัด กัดก้อนเกลือกิน แต่ถ้าผ่านไปได้ และสภาวะการเงินกลับมาเป็นปรกติ บริษัทจะชดเชยในสิ่งที่ตัดออกจากรายได้พนักงานคืนให้
Plan C คือ สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด (Worst-Case Scenario) กัปตันเรือไม่สามารถนำเรือฝ่าพายุไปได้ ก่อนเรืออับปางต้องสละเรือใหญ่ลงเรือเล็ก เพื่อรักษาชีวิตตัวเองและลูกเรือให้รอดถึงฝั่ง
ถึงตอนนั้นบริษัทอาจต้องขายทรัพย์สินบางส่วนและชดเชยพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง บริษัทอาจถึงขั้นล้มละลายหรือปิดตัวเองในที่สุด
แม้ตอนนี้ Covid-19 ยังระบาดไม่ถึงที่สุด เอเชียเริ่มควบคุมการระบาดได้ แต่ยุโรปเริ่มมีปัญหาการแพร่ของโรค แต่นักเศรษฐศาสตร์เริ่มวิเคราะห์กันแล้วว่าหลัง Covid-19 อาจมีคนล้มละลายมากกว่าคนติดโรคนี้
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์จาก Plan A ไป Plan B ไป Plan C ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นข้ามคืน ต้องใช้เวลาพอสมควร ฉะนั้น การเลือกที่จะ Proactive เป็นการเตรียมตัวสำหรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น เพื่อจะได้มีสติ ไม่เครียดจนตัดสินใจแบบขาดสติ อันจะนำมาซึ่งความเสียใจและเสียหายในภายหลัง
สรุป
ปัญหาทุกอย่างมองได้สองด้าน เหมือนเหรียญที่มีสองหน้า การตัดสินใจที่จะจัดการอย่างไรกับสภาพเศรษฐกิจหลัง Covid-19 ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการหรือผู้บริหาร ว่ามีมุมมองในเรื่องนี้อย่างไร
สำหรับหลักการ ที่เสนอให้ท่านวันนี้ มียุทธศาสตร์ (Strategy) ต่างกันคือ
Reactive คือ การรบแบบตั้งรับ
ส่วน Proactive คือ การรุกไปข้างหน้าเพื่อหาช่องว่าง
ท่านต้องตัดสินใจเองว่า จะรบกับศึก Covid-19 ข้างหน้าแบบไหน
(โปรดติดตามใน EPISODE หน้า ซึ่งเป็นตอนจบ)...