แม่เหียะสมาร์ทซิตี้ เมื่อเทคโนโลยีปรับเปลี่ยนเมือง
เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา มีพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่าง หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ กับเทศบาลเมืองแม่เหียะ ภายใต้การศึกษาวิจัย “โครงการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ของเทศบาลเมืองแม่เหียะ” วัตถุประสงค์เพื่อต่อยอดวิชาการสู่เมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City อย่างยั่งยืน
โดยความเป็นมาของการลงนามความร่วมมือดังกล่าวผศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการภารกิจ การจัดทำแผนยุทธศาสตร์และกรอบงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(สกสว.) กล่าวว่าการจัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือเพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการกับเทศบาลเมืองแม่เหียะ โดยนายธนวัฒน์ ยอดใจ นายกเทศมนตรีเมืองแม่เหียะ เป็นผู้แทนลงนามในครั้งนี้
วัตถุประสงค์เพื่อความร่วมมือในด้านการพัฒนาข้อมูลเชิงพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรมตลอดจนสามารถนำแผนที่ได้ไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเมืองได้จริง เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการขับเคลื่อนงานพัฒนาเมือง ผลักดันให้เกิดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของเมือง ยกระดับคุณภาพชีวิตของสังคมเมืองและนำเสนอในระดับนโยบาย สร้าง Model City Lab ของเมืองแม่เหียะ เพื่อจัดทำแผนพัฒนาเมืองให้เป็นต้นแบบเมืองอัจฉริยะ
โดยความร่วมมือครั้งนี้กำหนดบทบาทของสกสว.ให้การสนับสนุนระบบบริหารจัดการข้อมูล แลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากการวิจัยและความรู้ด้านบริหารจัดการข้อมูล และผลักดันให้เกิดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ด้านการบริการสาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพสู่ประชาชน
นอกจากนั้นภายหลังการลงนามแล้วนายกเทศมนตรีเมืองแม่เหียะยังนำเสนอการดำเนินงาน “แม่เหียะสมาร์ทซิตี้” พร้อมขับเคลื่อนเมืองแม่เหียะสู่เมืองอัจฉริยะด้านการบริการสาธารณะในครั้งนี้อีกด้วย
นายธนวัฒน์ ยอดใจ นายกเทศมนตรีเมืองแม่เหียะ กล่าวถึงแนวทาง “การพัฒนาแม่เหียะสมาร์ทซิตี้” ว่า การให้บริการสาธารณะคือสิ่งสำคัญที่เทศบาลเมืองแม่เหียะดำเนินการมาโดยตลอด จากสังคมชนบทเริ่มปรับเปลี่ยนไปสู่สังคมเมืองมากขึ้นจึงต้องนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมเข้ามาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน สนองนโยบายรัฐบาลที่จะเข้าไปสู่ยุค 4.0 ดังนั้นจึงเริ่มดำเนินการขั้นตอนต่างๆอาทิ การขออนุญาตต่างๆต้องรวดเร็ว ผ่านแอพพิเคชั่นจัดทำขึ้นมาที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนได้เป็นอย่างดี
ความสำเร็จดังกล่าวส่งผลให้เทศบาลเมืองแม่เหียะมีผลงานดีเด่นจนได้รับรางวัลจากสถาบันพระปกเกล้า 7 สมัยติดต่อกันมา ปัจจุบันเทศบาลเมืองแม่เหียะลงนามโดยใช้ลายเซ็นสแกนเป็นแห่งแรกของประเทศไทย จึงสามารถขับเคลื่อนการให้บริการสาธารณะแก่ประชาชนได้รวดเร็วขึ้น หากพบท่อรั่ว ท่อแตก ไฟฟ้าดับ ทิ้งขยะไม่เป็นที่สามารถแจ้งไปยังผู้รับผิดชอบเร่งเข้าไปให้บริการซ่อมแซมแก้ไขได้ในระยะเวลาที่รวดเร็ว
ปัจจุบันเทศบาลเมืองแม่เหียะมีหลายองค์กรสนใจขอเข้ามาศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่องปีละกว่า 300 คณะ ประการสำคัญด้วยความใส่ใจในกระบวนการทำงานระดับท้องถิ่นที่มุ่งหวังให้สามารถตอบโจทย์การทำงาน ต้องการให้ท้องถิ่นเติบโตยิ่งๆ ขึ้นไป ส่วนกลางไม่ต้องขยายใหญ่มาก เพราะจะตอบโจทย์การพัฒนาที่ตรงกับความต้องการของประชาชนที่ต้องการให้รัฐบาลดูแลพี่น้องประชาชนอย่างใกล้ชิดเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาอย่างยั่งยืน นั่นเอง
ทั้งนี้เทศบาลเมืองแม่เหียะปัจจุบันมีประชากร 1.9 หมื่นคน ประชากรแฝงประมาณ 7,000 คนดังนั้นรวมกว่า 2 หมื่นคนที่เทศบาลเมืองแม่เหียะจะต้องนำเอาบริการสาธารณะไปให้บริการอย่างทั่วถึง ประการสำคัญพนักงานเทศบาลกว่า 100 คนไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง จึงร่วมกันสร้างแพลตฟอร์มเทคโนโลยีเรียกกันว่า App ขึ้นมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
เทศบาลเมืองแม่เหียะนำชาวบ้านมาร่วมหารือกันว่าจะปรับปรุงในสิ่งใดอีกบ้าง ประชาชนต้องการให้เทศบาลเข้าไปดำเนินการในเรื่องใดอีกบ้าง โดยสรุปภาพรวมคือความสนใจให้นำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ในการทำงาน จึงเป็นที่มาของการพัฒนาโปรแกรมการทำงาน “ศูนย์บริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จ” ให้เทศบาลเมืองแม่เหียะสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างเข้าถึงและรวดเร็วเพื่อให้ลดความยุ่งยากซับซ้อนจากขั้นตอนตามระบบราชการ
“ศูนย์บริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จ” มีฟังก์ชั่นการทำงานที่หลากหลาย ให้ประชาชนลดระยะเวลาการติดต่อราชการลงไปได้อย่างมาก ให้สามารถทราบเรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์ได้อย่างรวดเร็วโดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมายังเทศบาลสามารถติดต่อส่งข้อมูลแจ้งรายละเอียดผ่านมือถือได้ทันที ด้วยแอพพิเคชั่นที่เทศบาลเมืองแม่เหียะจัดทำไว้ให้บริการประชาชน
ระบบอัจฉริยะดังกล่าวยังสามารถไว้ติดตามความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาต่างๆในแต่ละระดับชั้นการปฏิบัติงานได้อีกด้วย ประชาชนยังสามารถติดตามและเสนอแนะได้อีกทางหนึ่งด้วย นอกจากนั้นยังสามารถขยายผลการทำงานไปยังส่วนอื่นๆที่จะเป็นอุปสรรคได้อีกด้วย อาทิ การขออนุญาตก่อสร้างต่างๆเดิมต้องใช้ระยะเวลานาน แต่ปัจจุบันลดขั้นตอนโดยการเสนออนุมัติผ่านระบบออนไลน์ได้แล้ว ประการสำคัญยังอยู่ระหว่างการปรับระบบให้ประชาชนสามารถกรอกเอกสารยื่นผ่านระบบออนไลน์ผ่านแอพพิเคชั่นของเทศบาลเมืองแม่เหียะนั่นเอง
“สกสว. เข้ามาแนะนำด้านเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มอื่นๆเพิ่มเติมมากขึ้นให้สามารถยกระดับหรือต่อยอดต่อไปได้อีก โดยเฉพาะองค์ความรู้ของบุคลากรของเทศบาล เนื่องจากแอพพิเคชั่นของเทศบาลเมืองแม่เหียะ พัฒนาโดยบุคลากรของเทศบาลเอง เพื่อดูแลและใช้แก้ไขปัญหาของประชาชนในพื้นที่ เน้นงานบริการสาธารณะ ประชาชนไม่ต้องเดินทางเข้ามาแจ้งที่เทศบาลด้วยตนเอง เริ่มมาได้ 3 ปีแล้ว ประโยชน์มากมาย อาทิ ลดขั้นตอนการขออนุญาตก่อสร้างบ้าน บ้านชั้นเดียวไม่เกิน 150 ตร.ม.เดิมต้องใช้เวลาดำเนินการไม่น้อยกว่า 20 วัน ปัจจุบันภายใน 2 ชั่วโมงแล้วเสร็จหากเอกสารพร้อม อีกทั้งเรื่องบริการสาธารณะอื่นๆยังใช้บริการผ่านแอพพิเคชั่นได้อีกด้วย ก้าวต่อไปคือการนำไปพัฒนาด้านผังเมืองให้สามารถดูในระบบ 3 มิติได้ทันที”
จึงนับเป็นอีกหนึ่งโครงการพัฒนาเมืองสมาร์ทซิตี้ที่รัฐบาลและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสกสว.เข้าไปส่งเสริม สนับสนุน เร่งผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรมชัดเจนโดยเร็วและยังเป็นต้นแบบนำไปขยายสู่จังหวัดอื่นๆต่อไป