ศิริราช เตือนถ้าไม่ทำอะไรเลย 15 เม.ย นี้ คนติดโควิดพุ่ง 3 แสน ตาย 7 พันคน
เมื่อวันที่ 23 มี.ค. ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศไทยเริ่มเพิ่มจำนวนสูงขึ้นจาก 2 กลุ่มใหญ่ คือ กรณีผับ และสนามมวย สำหรับโรคโควิด-19 นั้น สถานการณ์ของโลกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่คุมไม่อยู่ คือแถบยุโรป โดยจำนวนผู้ป่วยจาก 100 คน มาเป็น 200 คนอยู่ที่ประมาณ 3 วันโดยเฉลี่ย และ 2.กลุ่มที่คุมอยู่ เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง กลุ่มนี้อัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยจาก 100 ราย เป็น 200 ราย อยู่ที่ประมาณ 5 วัน ซึ่งถือว่าค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับกลุ่มในยุโรป
โดยประเทศไทยตอนผู้ป่วยถึง 100 คน และเพิ่มมาเป็น 200 คนอยู่ที่ประมาณ 3.5 วัน ทั้งนี้ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ปล่อยให้สถานการณ์เป็นแบบนี้ต่อไป คาดการณ์สิ่งที่เกิดขึ้นก็จะวิ่งไปในแนวทางกลุ่มประเทศที่คุมไม่อยู่ ซึ่งโดยเฉลี่ยแต่ละวันจะมีรายใหม่บวกเพิ่มประมาณ 33%
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า จากการดูอัตราการเพิ่มของผู้ป่วยรายใหม่ในไทยของแต่ละวัน จะพบว่าเพิ่มวันละ 30 คน เป็น 50 คน 89 คน 188 คน ตอนนี้ตัวเลขวิ่งไปเร็ว และอัตราการเพิ่มอยู่ในตัวเลข 30 กว่าเปอร์เซ็นต์จริง ซึ่งหากเราไม่ทำอะไรปล่อยให้จำนวนผู้ป่วยรายใหม่แต่ละวันเพิ่ม 33%
จากการคำนวณทางสถิติพบว่า จากวันที่ไทยพบผู้ป่วยเกิน 100 คนครั้งแรก คือวันที่ 15 มี.ค. 63 หากไม่ทำอะไรใน 30 วัน ประชาชนยังใช้ชีวิตตามปกติ ยังไม่ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” คือวันที่ 15 เม.ย. 2563 ประเทศไทยจะมีผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 351,984 ราย และเมื่อคำนวนจากอัตราความรุนแรงของโรคต่างๆ จะพบว่าจะมีผู้ป่วยต้องนอน รพ. 52,792 ราย อยู่ ไอ.ซี.ยู. 17,597 ราย และเสียชีวิต 7,039 ราย
แต่หากเราเริ่มดำเนินการเพื่อดึงจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ลงมาที่ 20% คำนวณว่า วันที่ 15 เม.ย. เราจะลดจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 มาอยู่ที่ 24,269 ราย นอนรพ. 3,640 ราย อยู่ไอ.ซี.ยู. 1,213 เสียชีวิต 485 ราย
หากพิจารณาจากทรัพยากรที่เรามีจะพบว่า เรามีห้องแยกผู้ป่วยเดียวใน กทม. 237 ห้อง ต่างจังหวัด 2,444 ห้อง ห้องแยกผู้ป่วยรวมสำหรับอาการไม่เยอะหรือ cohort ward ใน กทม. มี 143 เตียง ต่างจังหวัด 3,061 เตียง ห้องความดันลบในกทม. 136 เตียง ต่างจังหวัด 1,042 เตียง ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ทั้งภาครัฐและเอกชนพบว่า มีแพทย์ 37,160 คน พยาบาล 151,571 คน
ซึ่งหากเราไม่ทำอะไรปล่อยให้ผู้ป่วยทะลักเข้ามาจำนวนเท่านี้ ระบบสาธารณสุขจะรองรับไม่ได้ เกินศักยภาพประเทศไทยทั้งประเทศ และจะมีกรณีคนไข้สะสมในห้องผู้ป่วยหนัก ซึ่งกรณีนี้จำเป็นจะต้องเลือกจัดสรรสรรพยากรให้เพียงพอ แต่หากคุมอัตราเพิ่มผู้ป่วยรายใหม่ลงมาที่ 20% จะเห็นว่าจำนวนผู้ป่วยจะพอกับทรัพยากรที่เรามี
ผศ.นพ.มนศักดิ์ ชูโชติรส รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช กล่าวว่า รพ. ศิริราช รพ.ศิริราชมหาปิยะการุณ และศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ได้มีข้อกำหนดในการใช้ห้องแต่ละประเภทเพื่อรักษาผู้ป่วยตามความเหมาะสม ซึ่งรพ. หลายแห่งกำลังเร่งขยายศักยภาพเพิ่มขยายเตียงรองรับผู้ป่วย เพื่อรองรับสถานการณ์ในอนาคต
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทำอย่างไรไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ขณะนี้รัฐบาลระงับการเดินทางของคนนอกพื้นที่เข้ามาในประเทศ คือ การป้องกันคนติดเชื้อข้างนอกไม่ให้เข้าสู่พื้นที่เรา โดยเฉพาะคนที่มาจากพื้นที่เสี่ยงในทวีปยุโรป ซึ่งตอนนี้ไม่สามารถควบคุมโรคในวงจำกัดได้แล้ว ขณะที่การตรวจวัดไข้ที่สนามบินมีคามสามารถในการตรวจจับไข้ได้เพียง 48% เท่านั้น ทางที่ดีที่สุด คือ ที่รัฐบาลประกาศให้คนเข้าประเทศไทยต้องมีหนังสือรับรองว่าปราศจากเชื้อนี้ เข้ามาก็ถูกจำกัด 14 วัน เชื่อว่าทำให้คนส่วนหนึ่งไม่เข้ามา รวมถึงการปิดด่านชายแดนด้วย
รวมถึงมาตรการตรวจจับคนติดเชื้อให้ได้ โดยนำไปแยกกัก ทั้งผู้ป่วย คนมีประวัติสัมผัสคนติดเชื้อ และมีการปิดสถานที่เสี่ยงจำนวนคนเยอะๆ เช่น สถานศึกษา สถานบันเทิง ส่วนการป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ขยายวง คือสิ่งที่เราขอให้ทำอยู่ตอนนี้คืออยู่กับบ้าน ลดโอกาสแพร่เชื้อ เพราะออกไปอาจไม่ป่วยแต่ออกไปแล้วอาจรับเชื้อมาได้ และการรักษาระยะห่างทางสังคม ไม่ใกล้ชิดกว่า 1-2 เมตร หากทำได้ก็จะช่วยลดการแพร่เชื้อลง เพราะโรคติดต่อจะไม่ติดต่อ ถ้าคนไม่ติดต่อกัน ซึ่งหากทำเช่นนี้ได้นาน 3 สัปดาห์ เชื่อว่าช่วงสัปดาห์ที่ 4 เป็นต้นไป จะเห็นการเพิ่มของโรคค่อยๆ ลดลง ชะลอการระบาดของโรค
ซึ่งจากการถอดบทเรียนจากนโยบายปิดประเทศของจีน ก็พบว่า หลังจากประกาศนโยบายจนถึงลางเดือนกุมภาพันธ์ ก็สามารถควบคุมกลุ่มผู้ติดเชื้อ โควิด 19 ไปได้ถึง 70.5% ซึ่งหากไม่มีประกาศดังกล่าว คาดว่าจะมีผู้ที่ติดเชื้อกว่า 779 รายเดินทางออกนอกจีนไปก่อนกลางเดือนกุมภาพันธ์ และในช่วง 3.5 สัปดาห์แรก ก็สามารถลดการเล็ดลอดของผู้ติดเชื้อไปนอกประเทศได้ถึง 81.3% สะท้อนให้เห็นว่านโยบายนี้มีความสำคัญ ที่ทุกประเทศควรทำเพื่อสร้างมาตรฐานการควบคุมโรคติดต่อ เป็นการรับผิดชอบในระดับครอบครัว สังคม ประเทศ และโลก ที่ทุกคนจำเป็นต้องช่วยกัน
"ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องมีการช่วยกัน เพราะตอนนี้กำลังต่อสู้กับไวรัส ดังนั้นการมีจิตสำนึก ปฎิบัติตัวตามนโยบาย ควบคุมการเดินทาง ลดการพบปะ ก็คาดว่าเมื่อดำเนินการเต็มรูปแบบจะชะลอการเพิ่มจำนวนการติดเชื้อได้ในช่วงหลังจาก 4-6 สัปดาห์ และชะลอการระบาดของโรค ลดจำนวนผู้ติดเชื้อ ให้สามารถเข้าสู่ระยะที่ 4 และคาดว่าไวรัสโควิด19 จะหายออกจากไทย ใช้เวลาอย่างน้อย 9 เดือน
ทั้งนี้ความร่วมมือของคนไทย จะเป็นตัวตัดสินสำคัญที่จะกำหนดทิศทางการแพร่ระบาด ทุกคนมีส่วนรับผิดชอบที่จะทให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงขึ้นกว่า 3.5 แสนคน หรือจำกัดวงแคบที่ 2.4 หมื่นคน"
ขอบคุณข้อมูลจาก : คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล