กรุงศรีเผยเงินบาทแข็งค่าหลังกนง. คงดอกเบี้ย มองมีโอกาสลดอีกเพื่อบรรเทาผลกระทบจาก COVID-19
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีความเห็นต่อผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่มีมติด้วยคะแนนเสียง 4 ต่อ 2 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.75%
หลังจากที่ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ในที่ประชุมฉุกเฉินเมื่อวันที่ 20 มี.ค. ที่ผ่านมา มติของกนง. สวนทางกับคาดการณ์ของเราที่ว่าจะมีการปรับลดอีกครั้งในวันนี้ ขณะที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยมาที่ระดับ 32.82 ต่อดอลลาร์ภายหลังการลงมติ นับตั้งแต่ต้นปี
เงินบาทอ่อนค่าลงมากกว่า 9% กลับทิศจากที่แข็งค่าในปี 2562 โดยคณะกรรมการกนง. ระบุว่าเงินบาทได้อ่อนค่าลงสวนทางกับสกุลเงินของประเทศคู่ค้าและสกุลหลักๆ และคาดว่าจะยังผันผวนต่อไป แม้ว่าเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยยังคงแข็งแกร่ง สะท้อนจากเงินสำรองระหว่างประเทศที่ยังสูง
คณะกรรมการ กนง. แสดงความกังวลว่าการระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทย แต่ยอมรับว่า ระบบการเงินโดยรวมยังมีเสถียรภาพหลังจากที่มีมาตรการเสริมสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ผู้กำหนดนโยบายประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะหดตัวอย่างรุนแรง เนื่องจากการท่องเที่ยวและการส่งออกได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลต่อรายได้ของภาคธุรกิจและอุปสงค์ในประเทศ
โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับลดคาดการณ์จีดีพีใน 2563 ลงมาเป็นหดตัวถึง 5.3% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 2.8% ก่อนที่การเติบโตจะพลิกกลับมาเป็นบวกในปี 2564 ขณะที่ ธปท. คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะปรับลดลง 60% ในปีนี้
คณะกรรมการกนง. มีกำหนดการประชุมรอบถัดไปในวันที่ 20 พฤษภาคม 2563 ความเห็นของ กนง. ในวันนี้แสดงถึงมุมมองที่สนับสนุนนโยบายการเงินแบบผ่อนปรนอย่างชัดเจน
รวมทั้งความเห็นเชิงลบต่อคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจ คณะกรรมการย้ำถึงความจำเป็นสำหรับนโยบายการคลังที่จะมีบทบาทสำคัญในการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัส
อย่างไรก็ตาม กลุ่มงานโกลบอล มาร์เก็ตส์คาดว่า มีความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 0.50% รวมทั้งการใช้นโยบายแบบเจาะจงเป้าหมาย เนื่องจากผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้กระจายไปในทุกภาคส่วน