Covid-19 วิกฤตครั้งนี้ แตกต่างจากครั้งเก่าก่อน : ดร.ธนภูมิ ดำรักษ์
ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ระบาดของ covid-19 ที่ขยายไปในวงกว้างมากขึ้น ทำให้ราคาของสินทรัพย์ทั่วโลก โดยเฉพาะสินทรัพย์เสี่ยงเช่นหุ้น หรือราคาน้ำมัน ปรับตัวลดลงอย่างมาก ซึ่งการปรับลดลงนี้คงจะเกิดจากนักลงทุนคาดการณ์ถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะหยุดชะงัก ทั้งในฝั่งอุปสงค์ที่กิจกรรมต่าง ๆไม่ว่าจะเป็นการเดินทางท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีเวนท์ต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งการกินข้าวนอกบ้านต้องหยุดชะงัก ยังไม่รวมถึงความไม่เชื่อมั่นของประชาชนทั่วไปที่อาจจะชะลอการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป ส่วนทางฝั่งอุปทานก็เช่นกัน การผลิตในโรงงานต้องชะลอเนื่องจากโรงงานต้องปิดทำการชั่วคราว หรือการขนส่งวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จไม่สามารถกระทำได้ ทำให้การส่งมอบสินค้าล่าช้าหรือไม่สามารถทำได้
ถ้าเราประเมินผลกระทบในด้านต่าง ๆ จะสรุปออกมาได้ดังนี้
ในระยะสั้น (1-2 เดือน)
1.ในระยะสั้นธุรกิจที่จะได้รับ รับผลกระทบในทันที ได้ได้แก่ธุรกิจในกลุ่มท่องเที่ยวเช่นสายการบิน โรงแรม สถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ร้านอาหารโดยในประเทศไทย รายได้จากการท่องเที่ยวถือเป็นสัดส่วนใหญ่ประมาณ 12% ของ GDP ทำให้รายได้ของบริษัทในกลุ่มนี้หายไปในทันที
2.ประชาชนทั่วไปที่เป็นพนักงานประจำหรือชั่วคราวในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ อาจจะถูกเลิกจ้างหรือมีรายได้ที่ลดลงจากการลดต้นทุนของบริษัท หรือการเลิกกิจการ
ถ้าสถานการณ์สามารถดีขึ้นได้ภายในระยะเวลาอันสั้น (ซึ่งน่าจะเป็นไปได้ยาก) ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและประชาชนโดยรวมก็จะน้อย แต่ถ้าหากการแพร่ระบาดยังคงดำเนินต่อไป
ในระยะกลางถึงยาว (ในกรณีที่สถานการณ์ยังยืดเยื้อออกไป จำนวนผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก)มีโอกาสที่สถานการณ์เหล่านี้อาจจะเกิดขึ้น (ย้ำว่าแค่มีโอกาสนะครับ ไม่ได้แปลว่าจะต้องเกิดขึ้นทุกอัน หรืออาจจะเกิดแค่บางอัน)
- ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ อาจจะเริ่มขาดสภาพคล่อง เนื่องจากรายได้หายไป และยังคงมีต้นทุนในการดำเนินงานอยู่ อาจจะทำให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้
- ธุรกิจอื่น ๆที่ถึงแม้จะไม่เกี่ยวข้องโดยตรงก็อาจจะเริ่มได้รับผลกระทบ เนื่องจากความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจเริ่มลดลง บริษัทต่าง ๆ ชะลอการลงทุนหรือยกเลิกการลงทุน
- ราคาน้ำมัน ซึ่งเราจะเห็นว่ามีการปรับตัวลงมาอย่างรุนแรง (บางส่วนเกิดจากประเทศผู้ผลิตที่ตัดสินใจเพิ่มกำลังการผลิต แต่บางส่วนก็อาจจะมาจากการที่ความต้องการใช้น้ำมันลดลงจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว) จะทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงานมีโอกาสล้มละลายหรือผิดนัดชำระหนี้ได้
- เมื่อมีการผิดนัดชำระหนี้ หรือการคืนหนี้ไม่ได้ ผลกระทบจะลามไปสู่ธุรกิจธนาคาร หรือสถาบันการเงินอื่นๆที่เป็นเจ้าหนี้ (ทั้งหนี้ส่วนบุคคล กู้ซื้อบ้าน หรือหนี้ของบริษัท) ทำให้เกิดปัญหาสภาพคล่องได้
- ในตลาดตราสารหนี้ การผิดนัดชำระหนี้ของบางบริษัทอาจจะทำให้การระดมทุนของบริษัทอื่น ๆ เช่น การขายพันธบัตรใหม่ หรือการครบกำหนดชำระหนี้แล้วขายต่อ (roll over) อาจจะทำได้ยากขึ้น และมีต้นทุนที่สูงขึ้น
- ในตลาดหุ้น บริษัทที่เริ่มขาดสภาพคล่อง ราคาหุ้นจะตกต่ำ ในกรณีที่สภาพคล่องเหลือน้อยก็จะต้องทำการเพิ่มทุน หรือปิดกิจการหรือขายให้ผู้ซื้อรายอื่น ส่วนนักลงทุนที่เอาหุ้นไปค้ำเป็น collateral ก็จะเจอกับ margin call
- รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ออกมาตรการมาช่วยเหลือธุรกิจที่มีปัญหาขาดสภาพคล่อง (bail out) ซึ่งจะทำให้ตกเป็นภาระทางการคลัง และทำให้หนี้สาธารณะสูงขึ้น หรือทำให้ต้องขึ้นภาษี และมีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น
- ธนาคารกลางทำการอัดฉีดสภาพคล่องเข้ามาในระบบด้วยการซื้อพันธบัตร หรือการเพิ่มปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบในปริมาณมาก ซึ่งในระยะสั้นอาจจะช่วยให้ระบบมีสภาพคล่องได้ แต่ในระยะยาวอาจจะมีผลต่อความน่าเชื่อถือของระบบการเงินของประเทศ ทำให้ค่าเงินตกต่ำในระยะยาว
ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดขึ้นทุกข้อ แต่ในกรณีเลวร้าย บางข้อน่าจะเกิดขึ้น ความเสี่ยงโดยเฉพาะในตลาดตราสารหนี้นั้นถูกเก็บสะสมมานานเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ทำให้นักลงทุนเข้าซื้อสินทรัพย์ที่เสี่ยงมากขึ้น ด้วยราคาที่สูงขึ้น (search for yield)
วิกฤตในครั้งนี้มีความแตกต่างจะในครั้งก่อนๆ เนื่องจากผู้ที่ได้รับผลกระทบนั้นเป็นวงกว้างมาก ทั้งประชาชนทั่วไปที่มีรายได้เป็นรายวันที่ไม่สามารถออกนอกบ้านมาหารายได้ หรือพนักงานประจำที่อาจจะถูกเลิกจ้าง บริษัทขนาดเล็กที่ต้องหยุดประกอบธุรกิจชั่วคราว หรือบริษัทขนาดใหญ่เช่นกลุ่มพลังงาน หรือการเงิน ที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน นอกจากนี้ ยังเกิดวิกฤตพร้อมกันทั่วโลก
ถ้าเราเปรียบเทียบกับวิกฤตครั้งก่อนเช่น ต้มยำกุ้ง ปี 2540 ในตอนนั้นผู้ที่ได้รับผลกระทบคือธุรกิจที่กู้เงินจากต่างประเทศ และสถาบันการเงินเท่านั้น และยังจำกัดอยู่ในประเทศไทยและเอเชีย ส่วนวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์นั้นก็เกิดขึ้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และใน sector อสังหาริมทรัพย์และการเงินเท่านั้น
ถ้าถามว่าแล้วเราควรจะปรับตัวอย่างไรในสภาวะแบบนี้ คำตอบก็คงจะขึ้นกับสถานการณ์ของแต่ละคน
คำแนะนำโดยรวมก็คือ
- เตรียมเงินสำรองไว้ใช้จ่ายยามฉุกเฉิน ในกรณีที่ต้องออกจากงานหรือการค้าขายหยุดชะงัก
- มีสินทรัพย์ที่ช่วยรักษาความมั่งคั่งไว้ได้ในกรณีที่เกิดวิกฤตค่าเงิน ซึ่งสินทรัพย์ที่ทำหน้าที่ได้ดีก็คือทองคำนั้นเราควรจะมีสัดส่วนอยู่บ้างในพอร์ต เนื่องจากมีประวัติที่ยาวนานในการรักษามูลค่าได้
- ทยอยลงทุนเพิ่มในตลาดหุ้นเมื่อราคาตกลงมาถึงจุดที่คุ้มค่าในการลงทุน เนื่องจากวิกฤตินั้นเป็นโอกาสที่เราจะเข้าลงทุนในหุ้นที่ถูกเทขายออกมา แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ควรลงทุนสัดส่วนใหญ่ในทีเดียวซึ่งถ้าหากเป็นการเข้าซื้อที่ผิดจังหวะอาจจะทำให้ขาดทุนหนักได้
- วิเคราะห์หุ้นที่จะซื้อให้ดี เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถรอดพ้นจากวิกฤติได้ โดยจะต้องมีคุณสมบัติดังนี้
- สินค้าหรือบริการยังคงเป็นที่ต้องการแม้อยู่ในวิกฤติเศรษฐกิจ
- มีความได้เปรียบในการแข่งขันเหนือคู่แข่ง
- มีสภาพคล่อง (เงินสดหรือเทียบเท่า) ในมือเพียงพอที่จะฝ่าวิกฤตไปได้
- มีหนี้สินไม่มากเกินไป สามารถที่จะหาเงินมาชำระดอกเบี้ยได้
- ตลาดยังไม่อิ่มตัว ยังมีโอกาสในการเติบโต
บทความโดย : ดร.ธนภูมิ ดำรักษ์