พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือ ที่เรียกง่ายๆ ว่า "เคอร์ฟิว"  คือ การประกาศห้ามประชาชนออกจากเคหสถานในบริเวณพื้นที่ที่กำหนด ตามระยะเวลาที่ระบุไว้อย่างชัดเจน และ จะเกิดขึ้นได้ในพื้นที่ภายใต้บังคับของกฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงอื่น ๆ ในเวลาที่บ้านเมืองอยู่ในภาวะไม่ปกติ ซึ่งการประกาศ "เคอร์ฟิว" จะมีผลกระทบกับการใช้ชีวิตของประชาชน ทำให้เป็นมาตรการที่หยิบออกมาใช้เป็นตัวเลือกสุดท้าย และควรใช้ในระยะสั้นที่สุด 

          ที่ผ่านมาประเทศไทยเคยมีการประกาศใช้ "เคอร์ฟิว" ไม่กี่ครั้ง จึงทำให้คนไทยอาจจะไม่คุ้นเคยนัก เพราะส่วนใหญ่จะเป็นการประกาศควบคุมสถานการณ์ฉุกเฉินมีการก่อการร้าย การใช้กำลังประทุษร้ายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำที่มีความรุนแรงกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคล และมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาให้ยุติได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที ยกตัวอย่างเช่น

การประกาศเมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2519 จากการรัฐประหาร โดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินที่มีพลเรือเอกสงัด ชลอ อยู่เป็นผู้นำ อาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก ห้ามประชาชนในท้องที่กรุงเทพฯออกนอกเคหสถาน หลังเกิดเหตุการณ์นองเลือดในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การประกาศเมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2520 คณะปฏิวัตินำโดยพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ อาศัยตามคำสั่งคณะปฏิวัติฉบับที่ 4 ห้ามประชาชนในเขตกรุงเทพฯออกนอกเคหสถาน ภายหลังคณะทหารทำการยึดอำนาจจากรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรี

การประกาศเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 โดยนายกรัฐมนตรีสุจินดา คราประยูร ในช่วงเหตุการณ์ชุมนุมขับไล่นายกรัฐมนตรี

การประกาศเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 โดยศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ในช่วงการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลาประมาณสามเดือน

การประกาศเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2550 โดยแม่ทัพภาคที่สี่ประกาศห้ามออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 20.00 น. ถึงเวลา 04.00 น. ในเขตท้องที่ อำเภอยะหา และอำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา หลังจากมีเหตุลอบวางระเบิดและลอบยิงประชาชนอย่างต่อเนื่อง

  

         สำหรับการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 จะเป็นมาตรการ กฎเหล็กที่เข้มข้น ซึ่งรัฐบาลจะมีการประกาศเพื่อควบคุม โดยจะมีศูนย์อำนวยการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ.โควิด ที่ทำเนียบรัฐบาล เป็นศูนย์กลางประกาศมาตรการทุกวัน หลังการประชุมทุกวันในเวลา 19.00 น.

         แน่นอนว่าในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 จำเป็นต้องออกมาตรการคุมเข้ม โดยระยะที่ 1 ที่ประกาศ "พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" หรือ "เคอร์ฟิว" ฉบับที่ 1 บังคับในวันที่ 26 มีนาคมนี้ จะเป็นเรื่องการทำอย่างไรให้ลดการแพร่ระบาดในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งการขอความร่วมมือ หรือการบังคับ ส่วนจะปิดหรือเปิดเพิ่มเติมนั้น เป็นมาตรการในระยะต่อไปที่อาจเข้มข้นขึ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับความร่วมมือของประชาชน ตั้งแต่การกักตัวที่บ้าน หรือในพื้นที่ถ้าจำเป็น ก็มีสถานที่กักตัวของรัฐเพิ่มเติมขึ้น 

        ทั้งนี้จากการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 1 ยังไม่ประกาศกำหนดเวลาเข้าออกเคหสถาน แต่ถ้าในกรณีมีการแพร่ระบาดหรือตรวจสอบพบผู้ติดเชื้อมากขึ้น รัฐบาลจำเป็นต้องหามาตรการอื่นมารองรับ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลสนาม พื้นที่กักตัวขนาดใหญ่ และการจัดหาวิชาการต่างๆ ให้เพียงพอกับการรับมือการระบาด

“สิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นการหารือกันในแต่ละวันใน ศอฉ. ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก”