“การทิ้งบ้านทิ้งเมืองเมื่อเกิดโรคระบาดร้ายแรงขึ้นเป็นเรื่องสุดวิสัย เนื่องจากสมัยนั้นยังไม่มีวิธีป้องกันและควบคุมโรค การย้ายออกจึงเป็นวิธีการที่ดีที่สุด ซึ่งตามทฤษฎีสมัยใหม่ระบุว่า โรคระบาดจริงๆ ไม่ต้องทำอะไรก็ได้ เพราะในที่สุดการแพร่ระบาดจะหมดไปเป็น เป็นไปตามวงจรของเชื้อ อีกทั้งจะมีร่างกายและสภาพแวดล้อมจะมีการสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา การย้ายบ้านหรือย้ายเมืองจึงเป็นวิธีที่ดีในขณะนั้น”

ดังนั้นการแพร่ระบาดของ “กาฬโรค” ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ราว พ.ศ.2437 ตามเมืองท่าของประเทศจีนและเกาะฮ่องกง เส้นทางการระบาดเคลื่อนตัวไปยังอินเดีย แอฟริกา รัสเซีย ยุโรป สิงคโปร์ ไทย และออสเตรเลีย สยามจึงหามาตรการเพื่อป้องกันโรค

       นพ.เอช. แคมเบล ไฮเอต แพทย์ชาวอังกฤษที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงจ้างให้มาดำเนินการด้านสุขภาพอนามัย จึงได้เสนอให้รัฐบาลทำมาตรการกักกันโรค และเสนอให้มีการตั้งศาลาจักรสถาน ห้องแลบตรวจพิสูจน์โรค หรือที่เรียกว่าโรงทดลองความสุขของราษฎร์ โดยมีการสั่งซื้อกล้องจุลทัศน์เพื่อมาใช้ตรวจวิเคราะห์โรค

โดยมาตรการกักกันโรค จะกักเรือสินค้าที่จะเข้ามาประเทศ บังคับให้เรือที่มาจากดินแดนเกิดกาฬโรคและใกล้เคียง ต้องจอดให้เจ้าหน้าที่ตรวจโรคทุกคนบนเรือก่อน เพื่อป้องกันกาฬโรคระบาดเข้าสยาม จึงได้มีการตั้งด่านตรวจโรคขึ้นที่ “เกาะไผ่” (ปัจจุบันอยู่ห่างจากเมืองพัทยาราว 9 กิโลเมตร) โดยมีพระบำบัดสรรพโรค หรือ หมออะดัมสัน เป็นนายแพทย์ประจำด่าน

พระบำบัดสรรพโรค หรือ หมอฮันส์ อะดัมสัน (Hans Adamsen) เป็นลูกครึ่งเดนมาร์ค-มอญ เกิดเมื่อ พ.ศ.2400 ที่อำเภอพระประแดง สมุทรปราการ ได้รับปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยเจฟเฟอร์สันสหรัฐอเมริกา ต่อมาได้เข้ารับราชการเป็นนายแพทย์ประจำด่านตรวจโรคที่เกาะไผ่ เมื่อ พ.ศ.2441 นับเป็นครั้งแรกที่มีการป้องกันโรคติดต่อ เช่น กาฬโรค จากต่างประเทศไม่ให้แพร่กระจายเข้าสู่ประเทศไทย และถือว่าเขาเป็นแพทย์ประจำด่านตรวจโรคคนแรกในประเทศไทย

          ในเวลานั้น หมอฮันส์ ออกประกาศจัดการป้องกันกาฬโรค ลงวันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2441 สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ การบังคับเรือที่มาจากเกาะฮ่องกงให้จอดที่เกาะไผ่จนกว่าจะครบ 9 วัน ต่อเมื่อมีการตรวจโรคทุกคนและออกใบรับรองว่าไม่มีใครเป็นกาฬโรค จึงจะอนุญาตให้เดินทางเข้ามากรุงเทพฯ และบังคับให้เรือจากเมืองท่าในประเทศจีนต้องจอดเพื่อตรวจโรคทุกคนบนเรือก่อนโดยที่กรณีหลังจะไม่มีการกักเรือไว้

        ด่านตรวจโรคที่ “เกาะไผ่” ดำเนินงานไป 2 ปี ก็ย้ายมาตั้งที่ฝั่งตรงข้ามกับสถานศุลกากรเมืองสมุทรปราการ แล้วจึงย้ายไปตั้งที่ “เกาะพระ”อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี (ปัจจุบันเป็นหน่วยสงครามพิเศษทางเรือ ในความดูแลของฐานทัพเรือสัตหีบ) ด้วยเหตุผลเรื่องความคล่องตัวในการทำงาน โดยที่บทบาทขณะนั้น เป็นการตรวจเรือเฉพาะช่วงที่มีโรคระบาดเกิดขึ้น และเลิกตรวจเมื่อเหตุการณ์สงบลง

"กว่าที่การระบาดของ “กาฬโรค” ครั้งนั้นจะหมดไป ต้องผ่านเวลามาหลายสิบปี โดยพบผู้ป่วยรายสุดท้ายที่จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อ พ.ศ.2495 และจวบจนปัจจุบันก็ยังไม่พบอีกเลย การเกิดขึ้นของ “เกาะไผ่” นับเป็นจุดกำเนิดของด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศแห่งแรกของประเทศไทย ก่อนที่บทบาทของด่านฯ จะปรับตัวและเปลี่ยนแปลงอีกหลายครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละยุคสมัย ที่การสัญจรข้ามประเทศมีรูปแบบหลากหลายกว่าในอดีต"

      ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือรัชกาลที่ 6 ได้เกิดมีโรคครั้งร้ายแรงขึ้นอีก โดยครั้งนี้เป็นการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์สแปนิชฟูล มีผู้เสียชีวิตทั่วโลก 20-40 ล้านคน ซึ่งประเทศไทยก็มีผู้เสียชีวิตเช่นกัน แต่เนื่องจากระบบการเก็บข้อมูลทางระบาดยังไม่มีในขณะนั้น ทำให้ไม่มีการรายงานตัวเลขผู้ป่วยและเสียชีวิตที่ชัดเจน และหลังจากนั้นรัฐบาลจึงได้ออกพระราชบัญญัติสำหรับโรคระบาด พ.ศ. 2456 ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลเริ่มใส่ใจต่อการป้องกันและควบคุมโรคระบาด

“การเกิดโรคระบาดในอดีตแต่ละครั้งจะมีความรุนแรง มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เนื่องจากความรู้และเทศโนโลยีการแพทย์เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงหลัง ไม่ใช่แต่เฉพาะประเทศไทย แต่ในแถบประเทศตะวันตกก็เช่นกัน ทั้งทฤษฎีเชื้อโรค การปลูกฝีเพื่อป้องกันไข้ทรพิษ ที่เราเริ่มรู้จักในสมัยรัชการที่ 5 ในช่วงที่หมอบรัดเลย์นำเข้ามาเผยแพร่ รวมถึงยาสลบที่เริ่มเข้ามาใช้ในประเทศไทยหลังจากที่มีการค้นพบไม่ถึง 10 ปี ทำให้การแพทย์สมัยใหม่เป็นที่ยอมรับมากขึ้น”

         จากที่ได้ทำการศึกษาค้นคว้าการเกิดโรคระบาด ทำให้เห็นว่าในการป้องกันและควบคุมโรคในอดีต สิ่งสำคัญคือวิสัยทัศน์ของชนชั้นนำในระดับปกครองหรือผู้มีอำนาจบริหารประเทศ ในการยอมรับความรู้ใหม่ๆ เพื่อใช้ในการเปลี่ยนแปลงและกำหนดนโยบาย หรือวางมาตรการสำคัญในการป้องกันและควบคุมโรค แต่ต่อมาหลังปี 2500 ได้มีการเปลี่ยนแปลงทำนโยบายสาธารณสุขมูลฐาน เนื่องจากสถานพยาบาลมีน้อย โรงพยาบาลใหญ่ๆ มีแต่เฉพาะในกรุงเทพเท่านั้น ส่งผลต่อเข้าถึงการรักษา จึงต้องเน้นให้ชาวบ้านดูแลสุขภาพและสุขอนามัยขั้นพื้นฐานของตนเองเพื่อป้องกันโรค

แม้ว่าภายหลังการดำเนินงานด้านสาธารณสุขมูลฐานเริ่มลดลงเช่นกัน เนื่องจากการพัฒนาเมืองที่มีการจัดระบบปะปา ระบบสุขาภิบาล ทำให้โรคที่เคยระบาดในอดีตลดลง แต่สาธารณสุขมูลฐานยังถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในการป้องกันโรค แม้จะเป็นโรคติดต่อไม่เรื้อรัง อย่าง โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ที่มีสาเหตุจากพฤติกรรมการบริโภค จะช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคได้

อ้างอิง : 

ขวัญชาย ดำรงขวัญ. (2559).UNSEEN กรมควบคุมโรค เส้นทางประวัติศาสตร์และความทรงจำ. นนทบุรี: สถาบันวิจัย จัดการความรู้และมาตรฐานการควบคุมโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข.

โกมาตร จึงเสถียรทรัพน์ บรรณาธิการ. ปกิณกคดี 100 ปี การสาธารณสุขไทย. หอจดหมายเหตุสาธารณสุขแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข, พ.ศ. 2561.

เว็บไซต์หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สุขภาพไท

และ เว็ปไซต์ Hfocus เจาะลึกระบบสุขภาพ