ทำไมมนุษย์ต้องเรียนรู้การดำรงชีวิตจากพืช
ดร.ประเสริฐ ปิ่นงาม (Ph.D., TREES-A NC)
วท.บ. สาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล
วิวัฒนาการของพืชรุ่นสุดท้ายที่อยู่มาถึงปัจจุบันเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 1.8 ล้านปีที่ผ่านมา ในยุคที่เรียกว่า Quaternary Period เป็นช่วงที่โลกเย็นตัวลง ต้นไม้ใหญ่ล้มตาย เกิดเป็นท้องทุ่งของพืชตระกูลหญ้าเช่นข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์เป็นต้น ในขณะที่มนุษย์ช่วงแรกนั้นยังดำรงชีวิตด้วยการล่าสัตว์เป็นอาหาร โดยเริ่มเปลี่ยนมาทำการเพาะปลูกเมื่อประมาณ 13,000 ปีที่ผ่านมานี้เอง (https://www.kremp.com/plant-evolution-timeline) ในขณะที่ บรรพบุรุษของเรา (Homo Sapiens) เริ่มต้นมาเดินบนโลกใบนี้เมื่อประมาณ 200,000 ปีที่ผ่านมา จึงไม่น่าแปลกใจที่จำนวนฟีโนไทป์ยีนของต้นข้าวจะมากกว่าเรา ด้วยจำนวนยีนส์ที่น้อยกว่าแต่มนุษย์เราก็มีวิธีการถ่ายทอดให้กับคนรุ่นใหม่ในแบบฉบับที่เฉพาะ ซึ่งก็คือการเรียนรู้และการถ่ายทอดที่เป็นเอกสาร อย่างไรก็แล้วไม่มีใครสมบูรณ์แบบ ความผิดพลาดย่อมมีเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
คำขอโทษแห่งทศวรรษ
พฤศจิกายน ค.ศ. 1992 องค์พระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 ได้ประกาศกล่าวคำขอโทษต่อกาลิเลโอ ในการที่คริสตจักรได้กระทำผิดต่อกาลิเลโอเมื่อ 359 ปีที่ผ่านมาแล้ว โดยประเด็นที่กาลิเลโอถูกกล่าวโทษคือการที่ให้ความเห็นว่าโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ ซึ่งขัดแย้งกับพระคัมภีร์ไบเบิลที่กล่าวไว้ว่าโลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล จึงทำให้กาลิเลโอถูกจองจำจนเสียชีวิต โดยมีคำพูดที่กาลิเลโอกล่าวไว้ว่า “ตัวเขาเองยอมรับความผิดตามที่คริสตจักรกล่าวอ้างจริงๆ แต่โลกก็ยังหมุนรอบดวงอาทิตย์อยู่ดี” โดยในภายหลังมีการให้เหตุผลว่าสิ่งที่กาลิเลโอทำนั้นเป็นการปกป้องพระคัมภีร์จากการตีความที่ผิดด้วยใครบ้างคน แต่คริสตจักรทำในสิ่งที่ตรงข้ามกันโดยการปกป้องคัมภีร์ที่ตีความมาแบบผิดๆ อย่างไรก็แล้วแต่ นี้คือสิ่งที่ทำให้มนุษย์เราแตกต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆก็คือการที่เรามีระบบการบันทึกการเรียนรู้ การถ่ายทอด มีการสืบสานขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรม ซึ่งโดยประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาก็ยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่แสดงถึงความผิดพลาดของมนุษย์ที่เกิดจากระบบการเรียนรู้และถ่ายทอดที่เรายึดถือกันจนถึงทุกวันนี้ เรื่องนี้ทำให้เราต้องกลับมาทบทวนกันใหม่ว่าความถูกต้องในมุมมองของมนุษย์คืออะไรกันแน่ ณ.วันนี้ หลักวิชาความรู้ ความเชื่อและความศรัทธาที่เราถ่ายทอดกันอยู่เป็นของจริงที่จะทำให้เผ่าพันธ์ของเราอยู่รอดต่อไปจริงหรือไม่ ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับพืชที่มีระบบการถ่ายทอดประสบการณ์ การดำรงอยู่การต่อสู้กับภาวะต่างๆที่เกิดขึ้นผ่านทางยีนส์ให้กับลูกหลานรุ่นต่อๆไป การที่พืชมีจำนวนยีนส์ที่มากกว่าพวกเราจะทำให้พืชฉลาดกว่าเราหรือไม่จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจ เพราะการมียีนส์ที่มากกว่าทำให้มีระบบการบันทึกข้อมูลที่แม่นย่ำหรืออาจจะเรียกว่าพืชมีระบบ Big data ที่ใหญ่และมีเสถียรภาพมากกว่าเราก็เป็นไปได้ ดังนั้นการที่เราจะเข้าใจพืชให้มากกว่าเดิมจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง
ที่มา : https://web.ku.ac.th/schoolnet/snet2/knowledge_math/time_nature.htm
ความพยายามเข้าใจเกี่ยวกับพืช
ชาร์ล ดาร์วินได้ตีพิมพ์หนังสือ On the origin of species ในปี ค.ศ.1859 ซึ่งเป็นหนังสือที่โด่งดังและมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในมุมมองของสรรพสิ่งมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งเป็นหนังสือที่อธิบายว่าสิ่งมีชีวิตต่างๆจะมีรูปแบบในการวิวัฒนาการหรือมีการปรับเปลี่ยนตามเหตุและปัจจัยที่แตกต่างกันไป โดยกระบวนการต่างๆเหล่านี้จะเกิดขึ้นอย่างค่อยๆเป็นค่อยๆไป โดยปัจจุบันค้นพบว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งเรียกได้ว่าสิ่งมีชีวิตต่างๆมีวิวัฒนาการที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องซะด้วยซ้ำไป อย่างไรก็แล้วแต่ หลังจากที่ได้ตีพิมพ์หนังสือแห่งประวัติศาสตร์ไปแล้วนั้น ในปี ค.ศ. 1880 ชาร์ล ดาร์วินและลูกชาย ฟรานซิส ดาร์วิน ซึ่งเป็นนักพฤษศาสตร์ ได้ตีพิมพ์หนังสืออีกเล่มชื่อว่า Power of movement in plant ซึ่งขายหมดอย่างรวดเร็วในช่วงเวลานั้น โดยในการทดลองอันหนึ่งที่ยังส่งผลมาถึงวันนี้ก็คือการทดลองที่ศึกษาว่าพืชใช้ส่วนไหนในการมองเห็นแสง โดยมีการทดลองกับต้นหญ้าขมิ้น (Canary grass) โดยเริ่มต้นจากการปลูกต้นหญ้าขมิ้นในห้องมืด เมื่อต้นหญ้าโตขึ้น แล้วจึงเอาออกมาทดลอง
โดยต้นที่ 1 ต้นควบคุม
ต้นที่ 2 ตัดยอดออก
ต้นที่ 3 ครอบวัสดุทึบแสงที่ปลายยอด
ต้นที่ 4 ครอบวัสดุโปร่งแสงไว้ที่ปลายยอด
ต้นที่ 5 ครอบวัสดุทึบแสงไว้ที่ลำต้น
ผลการทดลองที่สรุปได้คือพืชใช้ส่วนของยอดในการมองเห็นแสงและเบนตัวเองไปทางแหล่งกำเนิดแสง ซึ่งเป็นการทดลองที่ง่ายๆ ซึ่งเกิดขึ้นมานานเกือบ 200 ปีแล้ว
โดยหลังจากนั้นในยุคปัจจุบัน Daniel Chamovitz ได้มีการตีพิมพ์ What a plant knows ในปี ค.ศ. 2012 ซึ่งทั้งมีการทดลองและรวบรวมศักยภาพของพืชในด้านการมองเห็น การรับรู้รส กลิ่น การรับรู้การสัมผัส การได้ยินการรักษาสมดุลและการจดจำ ซึ่งพอที่จะสรุปเป็นตารางเปรียบเทียบระหว่างพืชกับคนได้ตามตารางนี้
ตารางเปรียบเทียบศักยภาพของพืชและคน
**Yuval Noah, Homo Deus; 2016. Inter subjective reality = บัญญัติสมมุติ
คือสิ่งที่มนุษย์ร่วมกันกำหนดขึ้นมาเพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติร่วมกันเช่นกฏหมาย ศาสนา ชาติ เผ่าพันธ์และระบบเศรษฐกิจเป็นต้น
จากตารางด้านบนจะเห็นได้ว่าเมื่อมีการศึกษาในด้านของศักยภาพกันจริงๆแล้ว จะเห็นได้ว่าความสามารถของพืชในการตอบสนองกับสภาพแวดล้อมหรือสิ่งต่างๆล้วนมีมากกว่าคนทั้งสิ้น ยกเว้นเรื่องขึ้นการได้ยินซึ่งพบว่าพืชมียีนส์ที่ทำให้เกิดการหูหนวกได้ด้วย อาจจะมีเหตุผลที่เชื่อมโยงกับการที่พืชไม่เคลื่อนไหวหรือไม่มีการหลบหนีก็เป็นไปได้ ซึ่งโดยภาพรวมสรุปได้ว่าศักยภาพของพืชส่วนใหญ่จะสูงกว่ามนุษย์แน่นอน
แบ่งปันอย่างเท่าเทียมไม่เลือกเผ่าพันธ์
ที่มา : https://www.wikye.com/trees-talk-to-each-other-in-a-language-we-can-learn-how
ระบบการศึกษาของเราเน้นการเรียนรู้และถ่ายทอดในสิ่งที่สามารถจับต้องมองเห็นและสัมผัสได้ ความรู้ความเข้าใจในสิ่งต่างๆเหล่านั้นจึงเป็นสิ่งชี้นำการกระทำที่สืบทอดกันมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การเข้าใจเกี่ยวกับพืชก็เช่นกัน ความเข้าใจเกี่ยวกับปุ๋ยหรือสารเคมีที่ใช้กับพืชก็เป็นผลผลิตจากการศึกษาพืชในระดับที่เหนือพื้นดินขึ้นมาเป็นต้น ( Above ground study) ส่วนผลกระทบหรือปัจจัยที่เกิดขึ้นใต้ดินเราแทบจะไม่มีความเข้าใจ รวมทั้งส่งผลให้ไม่ใส่ใจในที่สุด อย่างไรก็แล้วแต่ยังมีงานวิจัย (Below ground study) ของ Suzanne Simard ที่พยายามศึกษาเกี่ยวกับเรื่องกับกลไกใต้ดินของระบบป่าไม้ที่แสดงถึงความสัมพันธ์ที่ทำให้เราได้ความรู้ใหม่ที่ยิ่งใหญ่ไม่น้อยกว่าการค้นพบอนุภาคฮิกส์ ในมุมมองของผู้ที่รักธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยที่ Suzanne ได้มีการทดลองฉีดสารไอโซโทบ C-13 และ C-14 ไปในต้นไม้ 3 ชนิดที่ต่างกัน และติดตามการเปลี่ยนแปลงการถ่ายทอดสารไอโซโทบระหว่างต้นไม้และราไมโครไรซ่าที่อยู่รอบๆ ซึ่งแสดงถึงความสัมพันธ์ที่ทำให้การอยู่ร่วมกับแบบพึ่งพาอาศัยอย่างแท้จริง
โดยประเด็นสำคัญที่ทำให้เห็นถึงการอยู่อาศัยร่วมกันคือ พืชทั้ง 3 ชนิดมีการแบ่งปันอาหารที่เกิดจากการสังเคราะห์แสงซึ่งกันและกันอย่างเท่าเทียม โดยต้นไม้ที่มีร่มเงาใหญ่กว่าหรือมีต้นที่ใหญ่กว่าก็จะแบ่งปันผลผลิตที่ได้มากกว่าต้นอื่น โดยมีราไมโครไรซ่าเป็นตัวเชื่อมระหว่างต้นไม้ทั้งสามต้นและยังเชื่อมโยงไปถึงต้นอื่นๆด้วย ซึ่งแสดงว่าระบบใต้ดินของต้นไม้มีการสื่อสารแบ่งปันอาหารซึ่งกันและกันตลอดเวลา อีกทั้งยังมีการส่งสัญญาณเตือนภัยเมื่อมีผู้บุกรุกเข้ามาในพื้นที่อีกด้วย นอกจากนี้ประเด็นที่น่าสนใจก็คือต้นไม้ต้นแม่เมื่อตายลงก็จะมีการส่งต่อข้อมูลที่แสดงถึงภัยรบกวนผ่านทางยีนส์ในรุ่นถัดๆไปด้วย
สรุปบทเรียนจากต้นไม้ ด้วยวิวัฒนาการที่มากกว่ามนุษย์ ด้วยจำนวนยีนส์ที่มากกว่า ด้วยศักยภาพการตอบสนองที่ดีกว่า มองโลกได้กว้างกว่าเราตามสเปคตรัมของแสง อีกทั้งพืชมีระบบการถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์ผ่านทางยีนส์ที่คาดเคลื่อนน้อยกว่าคำพูดและที่สำคัญมีระบบการแบ่งปันพึ่งพาอาศัยที่ไม่แบ่งชนชั้นและเผ่าพันธ์เพื่อร่วมกันเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน สิ่งต่างๆเหล่านี้น่าจะมีเหตุผลเพียงพอหรือเปล่าครับ ที่ทำไมเราต้องเรียนรู้การดำรงชีวิตที่ยั่งยืนจากพืชเป็นแบบอย่าง ขอแค่พวกเราเปิดใจให้กว้าง กระผมเชื่อว่าเผ่าพันธ์ของพืชพร้อมที่จะสอนบทเรียนต่างๆเหล่านั้นให้กับพวกเรา Homo Sapiens ผู้น่าสงสาร เพื่อที่จะได้ร่วมกันรักษาโลกใบนี้ โลกใบที่ให้กำเนิดพวกเราทั้งคน สัตว์ พืชและจุลินทรีย์ ได้อยู่ร่วมกันไปอีกนานแสนนาน แล้วเราควรจะเริ่มต้นอย่างไร มาติดตามกันต่อในตอนต่อไปนะครับ