“ธนาคารโลก” เผย โควิด19 กระทบเศรษฐกิจ “เอเชียใต้” โตต่ำสุดในรอบ 40 ปี
สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า ธนาคารโลก เปิดเผยรายงานคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศในเอเชียใต้จะเข้าสู่จุดเลวร้ายที่สุดในรอบ 40 ปี และอาจทำลายความก้าวหน้าในการต่อสู้กับความยากจนที่หลายประเทศในภูมิภาคนี้พยายามมาเป็นเวลาหลายสิบปี โดยเป็นผลมาจากการแพร่รระบาดของโรคโควิด-19
แม้ว่าในปัจจุบัน จำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในอินเดีย บังกลาเทศ ศรีลังกา และปากีสถานจะยังคงมีอัตราไม่สูงนัก แต่ผู้เชี่ยวชาญกังวลว่า กลุ่มประเทศเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นศูนย์กลางของการแพร่ระบาดในอนาคตอันใกล้ จากจำนวนประชากรในภูมิภาคที่สูงกว่า 1,800 ล้านคน โดยผู้คนจำนวนมากกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่
รายงานของธนาคารโลกระบุว่า “เอเชียใต้กำลังได้รับผลกระทบหลายประการ ทั้งความเสียหายในภาคการท่องเที่ยว การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานโลก ความต้องการเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่ลดลง รวมถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนที่ลดลงด้วย”
ธนาคารโลกได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชียใต้ปี 2020 ลงสู่ระดับ 1.8%-2.8% จากการคาดการณ์เดิมที่ระดับ 6.3% โดยภูมิภาคดังกล่าวจะเข้าสู่ภาวะถดถอยเชิงลึก (deep recession) อย่างน้อยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้
ทั้งนี้ “มัลดีฟส์” จะเป็นประเทศที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่หายไปในพริบตา ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจของมัลดีฟส์หดตัวลงถึง 13% ขณะที่ “อินเดีย” ซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่สุดในภูมิภาคก็จะขยายตัวเพียง 1.5% จากเดิมที่ธนาคารโลกคาดการณ์ไว้ที่ 5%
ธนาคารโลกได้แนะนำให้รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ เร่งดำเนินการเพื่อรับมือเหตุฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ปกป้องประชาชนของตนเองโดยเฉพาะกลุ่มผู้ยากจนและอ่อนแอที่สุด รวมทั้งเร่งหามาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะยาว ขณะที่ในปัจจุบัน ควรมีมาตรการหางานชั่วคราวให้กับแรงงานต่างชาติ มาตรการบรรเทาหนี้ให้กับธุรกิจและครัวเรือน รวมทั้งลดข้อกำหนดและอุปสรรคในการนำเข้าและส่งออกสินค้าที่จำเป็น
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารโลกยังได้ตั้งงบประมาณ 160,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับสนับสนุนทางการเงินให้กับประเทศที่อ่อนแอ โดยสามารถกู้ยืมได้เป็นเวลามากกว่า 15 เดือน เพื่อให้ประเทศเหล่านั้นสามารถรับมือกับภาวะโรคระบาดภายในประเทศได้