ทัศนคติของ Consumer ในระหว่าง Covid-19 Crisis (case study 5 ประเทศ)
จากการแพร่ระบาดของ Covid-19 ทำให้ประเทศต่างๆ ได้รับผลกระทบอย่างหนัก นอกจากจะมีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คนแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกและเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ วันนี้ TerraBKK ขอพาไปดูว่า ในสถานการณ์ตอนนี้ “ทัศนคติและความเชื่อมั่นของผู้คนที่มีต่อเศรษฐกิจ รายได้ กำลังซื้อของผู้คน” เป็นอย่างไร และพฤติกรรมของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ในระหว่างวิกฤต Covid-19 นี้
โดยข้อมูลที่ TerraBKK มานำเสนอนี้ เป็นการสำรวจข้อมูลและติดตามความเชื่อมั่นและทัศนคติของผู้บริโภคเพื่อวัดความคาดหวังของผู้คนในเรื่องเศรษฐกิจภายในประเทศ รายได้หรือค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล และพฤติกรรมของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงระหว่างช่วงวิกฤตนี้ โดยนำข้อมูลมาจาก MCKinsey&Company เป็นการสำรวจข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1-6 เมษายน พ.ศ. 2563 จากกลุ่มตัวอย่าง 5 ประเทศ ได้แก่ กลุ่มตัวอย่างชาวจีน 1,896 คน, สหรัฐอเมริกา 1,484 คน, อิตาลี 1,009 คน, สเปน 1,006 คน และชาวญี่ปุ่น 600 คน
ทัศนคติและความเชื่อมั่นที่มีต่อเศรษฐกิจ
จากการสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างจากประเทศต่างๆ พบว่า คนส่วนใหญ่ไม่มั่นใจในเศรษฐกิจและเชื่อว่าเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบ 6-12 เดือนหรือนานกว่านั้น และเศรษฐกิจจะซบเซาหรือเติบโตได้ช้าหลังจากวิกฤตนี้ จะเห็นได้ว่าผู้คนประเทศ ญี่ปุ่น สเปน และ อิตาลี มีทัศนคติในเชิงลบที่ค่อนข้างสูง โดยมองว่า Covid-19 จะมีผลกระทบยาวนานต่อเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจตกอยู่ในสภาวะถดถอยที่ยาวนาน และมีเพียงประเทศจีนและสหรัฐ ที่คนส่วนใหญ่มองว่า เศรษฐกิจจะดีขึ้นภายใน 2-3 เดือน จะขยายตัวได้ดีหรือเติบโตกว่าตอนก่อนที่จะเกิด Covid-19
ทัศนคติเกี่ยวกับผลกระทบสถานะการเงินส่วนบุคคลในช่วง Covid-19 Crisis
ทัศนคติในเรื่องผลกระทบต่อสถานะการเงินส่วนบุคคลของกลุ่มตัวอย่างจากประเทศต่างๆ พบว่า ส่วนใหญ่มองว่าวิกฤต Covid-19 จะส่งผลกระทบต่อสถานะการเงินของพวกเขา ตั้งแต่ 2 เดือนไปจนถึง 1 ปี โดยประเทศญี่ปุ่นมีความกังวลอย่างมากถึง 37 % ว่าสถานะการเงินส่วนบุคคลจะได้รับผลกระทบยาวนานมากกว่า 1 ปี เพราะพวกเขาไม่มั่นใจในเศรษฐกิจและเชื่อว่าเศรษฐกิจภายในประเทศจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก รองลงมาก็คือ อิตาลี สเปน สหรัฐ และจีน ในทางกลับกันมีคนอีกกลุ่มหนึ่งมองว่า Covid-19 ไม่มีผลกระทบต่อสถานะการเงินของพวกเขา กลุ่มตัวอย่างชาวญี่ปุ่นถึง 24 % มองว่าพวกเขาไม่ได้รับกระทบจากวิกฤตนี้ รองลงมาก็คือ สเปน สหรัฐ และอิตาลี สำหรับผู้คนในประเทศจีนที่คิดว่าไม่ได้รับกระทบจากวิกฤตนี้มีเพียง 1 %
ความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับตัวในช่วง Covid-19 Crisis
จากการสอบถามระยะเวลาในการปรับตัวของผู้คนให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งเรื่องกิจวัตรประจำวัน การทำงาน พฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอย การเดินทาง จากกลุ่มตัวอย่างประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่คาดว่า ต้องใช้เวลาปรับตัวมากกว่า 4 เดือนขึ้นไป โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นถึงครึ่งหนึ่งมองว่าต้องใช้เวลามากกว่า 1 ปี ในทางกลับกันผู้บริโภคชาวจีน ถึง 99 % มองว่า การปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์นี้จะใช้เวลาภายในระยะเวลา 1 ปี ในขณะที่สหรัฐอเมริกาเองที่ปัจจุบันมียอดผู้ติดเชื้อสูงที่สุด ก็มองว่า สามารถที่จะปรับตัวตามสถานการณ์ได้ภายในระยะเวลา 1 ปี
ความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนในวิกฤต Covid-19
ชาวจีน 1 ใน 4 มีความกังวัลมากสุด คือ เรื่องการที่ไม่รู้ว่า Covid-19 จะแพร่ระบาดอีกนานไหมและจะจบลงเมื่อไหร่ แล้วระบบสาธารณสุขจะเป็นอย่างไร อีกทั้งยังเป็นห่วงสุขภาพของตัวเองและครอบครัว โดยสิ่งที่คนกังวลน้อยที่สุด ก็คือเรื่องเศรษฐกิจของประเทศ เพราะพวกเขามีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นอย่างแน่นอน
ชาวอเมริกัน 69% มีความกังวลอย่างมาก เกี่ยวกับความไม่แน่นอนในวิกฤต Covid-19 นี้ ทั้งในเรื่องระยะเวลาในการแพร่ระบาดของ Covid-19 เรื่องระบบสาธารณสุขภายในประเทศ ความปลอดภัยของตัวเองและครอบครัว อีกทั้งเรื่องเศรษฐกิจภายในประเทศ เพราะคนส่วนใหญ่มองว่า เศรษฐกิจจะซบเซาและต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว
ชาวอิตาลีถึง 73% มีความกังวลอย่างมาก โดยเรื่องที่กังวลมากที่สุดคือเศรษฐกิจภายในประเทศเพราะมองว่าเศรษฐกิจได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤต Covid-19 รวมถึงเรื่องสุขภาพของตัวเอง ครอบครัว และสาธารณสุขโดยรวมภายในประเทศ อีกทั้งยังกังวลในเรื่องระยะเวลาในการแพร่ระบาดของ Covid-19 ว่าจะจบลงเมื่อไหร่
ชาวญี่ปุ่นกว่า 74% มีความกังวลอย่างมาก โดยเรื่องที่กังวลมากที่สุดคือเศรษฐกิจภายในประเทศเพราะคนส่วนใหญ่มองว่าเศรษฐกิจจะตกอยู่ในสภาวะถดถอยที่ยาวนาน รวมถึงยังกังวลในเรื่องระยะเวลาในการแพร่ระบาดของ Covid-19 อีกทั้งเรื่องสุขภาพของตัวเอง ครอบครัว และสาธารณสุขโดยรวมภายในประเทศ
ชาวสเปนกว่า 80% มีความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับสุขภาพ ทั้งสุขภาพของผู้คนที่รู้จักที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง รวมถึงระบบสาธารณสุขภายในประเทศ อีกทั้งยังกังวลเรื่องสุขภาพของตัวเองและครอบครัว และมองว่าเศรษฐกิจได้รับผลกระทบอย่างหนักและต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ
พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปในช่วงวิกฤต Covid-19
ทีนี้เรามาดูผลสำรวจที่เกี่ยวกับการใช้จ่ายว่าแต่ประชาชนในแต่ละประเทศ มีพฤติกรรมจับจ่ายใช้สอยต่างกันออกไปอย่างไร?
China
ผู้คนตั้งใจที่จะใช้จ่ายบนออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะ Entertainment at home หรือความบันเทิงภายในบ้าน, เสื้อผ้า สินค้าอุปโภคบริโภคภายในบ้าน และ บริการ Delivery อาหาร รวมถึงอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน
US
จะเห็นได้ว่าชาวอเมริกันมีการปรับเปลี่ยนกิจกรรมในชีวิตประจำวันอย่างเห็นได้ชัด โดยกิจกรรมส่วนใหญ่ผู้คนทำ ก็คือทำอาหาร ที่เพิ่มขึ้นในทุกวัย ตั้งแต่ Gen Z ไปจนถึง วัย Baby boommers นอกจากนี้ยังมีการทำกิจกรรมอื่นๆ ที่เพิ่มมากขึ้นในทุกช่วงวัย โดยเฉพาะกลุ่มคน Gen Z และ Millenials เช่น ดูข่าวสด อ่านข่าวออนไลน์ เล่น Social media เป็นต้น
Italy
โดยชาวอิตาลีมีการทำกิจกรรมออนไลน์มากขึ้น เช่น Online media streaming, การเล่นวิดีโอเกมส์ออนไลน์, การวิดีโอคอลระหว่างกัน และมีการใช้แอพที่เกี่ยวกับสุขภาพมากขึ้น และ มีกิจกรรมใหม่ที่เพิ่มเริ่มใช้ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของ Covid-19 เช่น การประชุมออนไลน์ การเรียนรู้ออนไลน์สำหรับผู้คนทั่วไปและเด็กนักเรียน และการเรียนออกกำลังกายออนไลน์
Spain
ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของ Covid-19 ชาวสเปนเริ่มมีการทำกิจกรรมบนออนไลน์มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เช่น การใช้ delivery สำหรับสินค้าทั่วไปและอาหารเพิ่มมากขึ้น, การทำงานและเรียนทางออนไลน์, Home Entertainment, Online media streaming, การดูแลสุขภาพและออกกำลังกายออนไลน์ เป็นต้น
Japan
ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นคาดว่าจะใช้จ่ายน้อยลงในสินค้าทุกประเภท เช่น ขนม, อาหารที่ซื้อกลับบ้านแและบริการ delivery, เสื้อผ้า, การออกกำลังกาย, เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น โดยจะมีสินค้าที่จะยอมใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ก็คือ สินค้าอุปโภคบริโภคและ Entertainment at home เพราะมองว่าเป็นสินค้าที่จำเป็นในสถานการณ์เช่นนี้
จากเหตุการณ์ครั้งนี้ดูเหมือนว่าประชาชนชาวญี่ปุ่นจะมีความเป็นกังวลมากที่สุดไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ, สุขภาพ ฯลฯ ในขณะที่สำรวจข้อมูล (วันที่ 1-6 เมษายน) คือช่วงเวลาที่จีนเริ่มมีสถานการณ์ที่ดีขึ้นแล้ว ทำให้ตัวเลขของจีนดูจะไม่ค่อยมีความกังวลอะไรมากนัก รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของประชาชนในแต่ละประเทศ ไม่ว่าคุณจะเคยใช้ชีวิตต่างกันแค่ไหน ในสถานการณ์แบบนี้สิ่งเดียวที่เหมือนๆกัน คือ เน้นการทำงานออนไลน์ ทำกิจกรรมต่างๆบนออนไลน์มากขึ้นและการใช้ชีวิตในบ้านเป็นหลัก โดยเฉพาะ Home Entertainment ที่ดูจะได้รับความนิยมเป็นพิเศษในช่วงนี้
Source : www.mckinsey.com