ดร.ประเสริฐ ปิ่นงาม (Ph.D., TREES-A NC)

วท.บ. สาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล

 

“The illiterate of the 21st century will not be those who

cannot read and write, but those who cannot learn, unlearn, and relearn.”
                                                                                                              Alvin Toffler

“ผู้ที่ไม่รู้หนังสือในทศวรรษที่ 21 จะไม่ได้หมายถึงบุคคลที่อ่านหรือเขียนหนังสือไม่ได้อีกต่อไปแล้ว แต่จะหมายถึงบุคคลที่ไม่เรียนรู้ และพร้อมที่จะเลิกจดจำสิ่งเรียนรู้มาเพื่อที่จะเรียนรู้ใหม่” คำพูดนี้ของ Alvin Toffler สะท้อนให้เห็นถึงปรัชญาของผู้ที่จะอยู่รอดในอนาคตเป็นชัดเจน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยีและสภาพของสิ่งแวดล้อม มีการเกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมาก จนกระทั้งไม่สามารถใช้องค์ความรู้แบบเดิมๆมาเป็นเป็นตัวกำหนดวิธีการในการจัดการกับสิ่งต่างๆให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดเหมือนอย่างที่เคยดำเนินการมาก่อนหน้านี้อีกต่อไปแล้ว จึงถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการปรับตัวและเรียนรู้สิ่งต่างๆด้วยองค์ความรู้แบบใหม่ๆกันอย่างจริงจัง ในบรรดาสิ่งมีชีวิตทั้งหมดบนโลกใบนี้ เราถือกันว่าเผ่าพันธ์มนุษย์ของเรามีความสามารถในการปรับตัว และเรียนรู้สิ่งต่างๆที่ดีที่สุดแล้ว โดยในช่วง 200 -300 ปีที่ผ่านมา สืบเนื่องจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยี่ที่ทันสมัยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตของมนุษย์ในด้านที่ทำให้เกิดความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็ต้องแลกมาด้วยการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติเป็นจำนวนมากมาย จนกระทั่งส่งผลกระทบกับโลกและสิ่งแวดล้อมอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นอกจากนี้การพัฒนาที่เน้นเศรษฐกิจถึงกับเพิกเฉยความสำคัญของการรักษาเอกลักษณ์ท้องถิ่นในเรื่องของเมล็ดพันธ์พืชตามที่เป็นข่าวในเรื่องการทำ ข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (CPTPP) ก็เป็นอีกเรื่องที่จะมีผลกระทบด้านลบในระยะยาว จึงเกิดเป็นคำถามสำคัญว่าพวกเรามากันถูกทางแล้วหรือยัง สำหรับแนวทางการพัฒนาที่เป็นกันอยู่ในปัจจุบัน และเพื่อไม่ให้พวกเราอยู่ในกลุ่มของผู้ที่ไม่รู้หนังสือในทศวรรษที่ 21 พวกเราจึงควรที่จะต้องกลับมาทบทวนแนวทางการพัฒนากันใหม่อีกครั้ง ว่าที่ผ่านมาเกิดข้อผิดพลาดอะไรและรูปแบบการพัฒนาที่ยั่งยืนควรจะเป็นอย่างไร เพื่อที่จะให้ลูกหลานของพวกเราได้เรียนรู้ถึงวิธีการที่ถูกต้องและร่วมกันรักษาโลกใบนี้ต่อไป

การขึ้นบกครั้งแรกของพืชกับการปรับตัวครั้งยิ่งใหญ่

สิ่งมีชีวิตบนโลกเริ่มขึ้นเมื่อประมาณ 3800 ล้านปีก่อนโดยพวกเซลล์โปรคาริโอตแบบเซลล์เดี่ยวอย่างเช่น แบคทีเรีย สิ่งมีชีวิตหลายเซลล์มีวิวัฒนาการขึ้นมาประมาณ 1000 ล้านปีต่อมา ซึ่งในช่วงนั้นสิ่งมีชีวิตยังอยู่ในทะเล และเมื่อ 485 ล้านปีที่ผ่านมา มีพืชชนิดแรกที่ขึ้นมาบนบกคือ Liverworts ซึ่งเป็นพืชกลุ่มที่ยังไม่มีท่อลำเลียง

โดยในครั้งแรกนั้นพืชต้องเผชิญกับสภาวะแวดล้อมที่แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง ทั้งเรื่องของแสงแดดและรังสียูวี ที่ไม่มีน้ำช่วยกรองแสง พืชจึงต้องมีการสร้างคิวตินเพื่อช่วยป้องกันแสงและช่วยลดการระเหยของน้ำ หลังจากนั้นพืชก็ได้มีการพัฒนาระบบท่อลำเลียงเพื่อช่วยในการลำเลียงน้ำ และจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่สุดที่ทำให้พืชขึ้นมาครอบครองบนพื้นแผ่นดินได้สมบูรณ์คือการพัฒนาระบบรากและมีการสร้างปฏิสัมพันธ์กับจุลินทรีย์กลุ่มแบคที่เรียและเชื้อรา ซึ่งเรียกว่า Symbiosis หรือระบบอยู่อาศัยแบบพึ่งพาซึ่งกันและกัน ทำให้พืชสามารถหาอาหารและเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งมีการพัฒนาระบบขยายพันธ์โดยการเปลี่ยนจากการสร้างสปอร์มาเป็นการสร้างเมล็ดและพัฒนากลายเป็นพืชชั้นสูงแบบมีดอก อย่างที่เห็นในปัจจุบัน

เมื่อพืชขึ้นบกครั้งแรกเมื่อประมาณ 485 ล้านปีที่ผ่านมา ซึ่งใช้เวลาเกือบ 350 ล้านปี ในการปรับตัวและเรียนรู้จนกระทั่งกลายเป็นพืชชั้นสูงที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งหลังจากที่พืชพัฒนาถึงจุดสูงสุดแล้ว ต้องใช้เวลาอีก 60 ล้านปี ที่บรรพบุรุษของมนุษย์เริ่มแยกจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ และหลังจากนั้นอีก 60 ล้านปี ก็มีHomo กลุ่มแรกเริ่มเดินสองขา และไม่นานนักพวกเราก็พัฒนาขนาดสมองจนกระทั่งเกิดเผ่าพันธ์ของ Homo sapiens ที่สามารถสร้างระบบสัญญลักษณ์ที่ทำให้เกิดความแตกต่างกับ Homo กลุ่มอื่นๆอย่างสิ้นเชิง โดยรวมแล้วหลังจาก Homo กลุ่มแรกแล้ว เราใช้เวลาในกระบวนการวิวัฒนาการ 17 ล้านปี แต่ก้าวกระโดดที่สำคัญของพวกเราคือเมื่อประมาณ 500 ปีที่ผ่านมาที่มีการพัฒนาเทคโนโลยี่และสิ่งอำนวยความสะดวกสบายต่างๆมากมาย ในขณะเดียวกันก็เกิดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่บนโลกอย่างมหาศาลเช่นกัน

การปรับตัวและการเรียนรู้ของพืชในปัจจุบัน

ทฤษฎีวิวัฒนาการตามที่พวกเราได้เรียนรู้กันมา ได้อธิบายกลไกของสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในอดีต โดยวิธีการศึกษาผ่านฟอสซิส ซึ่งอาจจะมีคาดเคลื่อนบ้างตามสิ่งที่ค้นพบ ถ้ามีการอธิบายที่เกินความจริงจากฟอสซิลก็จะเกิดคำถามถึงความถูกต้องต่างๆมากมาย อย่างไรก็แล้วกรอบแนวคิดหรือหลักการที่ส่งต่อมาถึงปัจจุบันก็เป็นสิ่งที่สำคัญมากๆในการนำไปต่อยอดเพื่อเข้าใจสิ่งต่างๆในเชิงลึกต่อไป ปัจจุบันความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบการทำงานของพืชและสิ่งมีชีวิตอื่นๆเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วจากการพัฒนาเครื่องมือที่สามารถวิเคราะห์ในระดับโมเลกุลและการเรียงลำดับของยีนส์ ทำให้ผลงานวิจัยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา สามารถค้นพบสิ่งใหม่ๆมากมาย จนกระทั่งหลายสิ่งหลายอย่างที่ค้นพบแทบจะลบล้างความรู้แบบเดิมๆทิ้งไปได้เลย และเราต้องมา relearn หรือเริ่มต้นเรียนรู้กันใหม่ ตัวอย่างที่ชัดๆคือการดำรงชีวิตแบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันระหว่างพืช จุลินทรีย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ โดย Dr.Elaine Ingham ได้ศึกษาวงจรอาหารใต้ดินที่เรียกว่า Soil food web ที่อธิบายความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตใต้ดินด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ซึ่งทำให้เกิดวิถีการทำเกษตรกรรมแบบธรรมชาติในหลายรูปแบบ นอกจากนี้ Dr.Suzanne Simard ที่ศึกษาวงจรชีวิตในป่าไม้ที่ออกมาเป็น Wood wild web ซึ่งสามารถอธิบายวงจรการอยู่อาศัยของระบบนิเวศได้อย่างสมบูรณ์ โดยเฉพาะความเข้าใจในเรื่องกลไกการทำงานของระบบรากพืชกับเครือข่ายของไมโครไรซ่า  โดยมีตัวอย่างที่ชัดเจนของ EMs และ AMs ที่เป็นเชื้อราไมโครไรซ่าชนิดหนึ่งที่ดำรงชีวิตแบบพึ่งพาอาศัยกันและกัน (symbiosis) กับรากพืช มานานกว่า 400 ล้านปี โดย AMs จะได้รับที่อยู่อาศัยและสารอาหารจากพืช ในขณะเดียวกันพืชจะได้รับธาตุอาหารต่างๆ โดย AMs มีความสามารถในการกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืช ซึ่งยังทำให้เกิดการหมุนเวียนของธาตุอาหาร นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มทั้งภูมิต้านทานโรคและความทนทานให้กับพืชในภาวะที่ทำให้เกิดความเครียดต่างๆกับพืช  ซึ่งพบว่าร้อยละ 80 ของพืชชั้นสูงจะมีความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยของเชื้อรา AMs กับรากพืช (Harley & Smith, 1983; Smith & Read, 1997; Brundrett, 2009)

นอกจากการค้นพบรูปแบบความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นมานานกว่า 400 ล้านปีแล้ว ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยผลักดันพื้นฐานที่มีผลต่อการดำรงชีวิตของพืชก็มีมากขึ้นด้วยเช่นกัน

โดยภาพรวมแล้วปัจจัยผลักดันพื้นฐานของพืชจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือปัจจัยด้านสภาวะแวดล้อม (Abiotic factor) กับ ปัจจัยที่เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิต (Biotic factor) ซึ่งทั้งสองปัจจัยมีผลเกี่ยวเนื่องกัน ทำให้การตอบสนองหรือการปรับตัวของพืชก็มีความสลับซับซ้อนด้วยเช่นกัน ซึ่งจะใกล้เคียงกับกลไกของมนุษย์และสัตว์ตามที่เราเข้าใจกันเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็แล้วแต่ เราสามารถแสดงกลไกการตอบสนองของพืชตามปัจจัยหลักๆได้ดังนี้

การตอบสนองของพืชทั้งหมด มีหลักฐานทางงานวิจัยรองรับและเกิดขึ้นภายในช่วงเวลาไม่เกิน 20 ปีที่ผ่านมา โดยที่กลุ่มนักวิจัยยอมรับกันในวงกว้างว่าความรู้ความเข้าใจของมนุษย์เกี่ยวกับพืชยังน้อยอยู่มาก เนื่องจากจำนวนของอุปกรณ์และเครื่องมือที่ทันสมัยยังอยู่ในวงจำกัด จึงสามารถกล่าวได้ว่าความลับของพืชและธรรมชาติที่แท้จริงยังคงเป็นความลับและเป็นปริศนาให้มนุษย์ได้ค้นคว้าและเรียนรู้ต่อไป

บทเรียนจากพืชเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

หลังจากที่พืชเลือกเส้นทางในการขึ้นมาใช้ชีวิตบนบกครั้งแรก โดยเลือกที่จะไม่ใช้วิธีการเคลื่อนที่มาใช้ในการหาอาหาร ซึ่งต่างจากสัตว์และมนุษย์โดยทั่วไป พืชเลือกที่จะใช้วิธีในการปรับปรุงตัวเองให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมให้ได้ และใช้แนวทางการดำรงชีวิตแบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันมาเป็นแนวทางหลัก เพื่อที่จะดำรงไว้ซึ่งเผ่าพันธ์ของตนเอง ซึ่งแตกต่างกับมนุษย์ที่ชื่นชอบกับการปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เป็นไปตามความชอบของเราและยังส่งเสริมกลไกการแข่งขันที่พวกเรายกย่องกันว่าจะทำให้พวกเราพัฒนาและเจริญรุ่งเรืองยิ่งๆขึ้นไป ซึ่งถ้าเปรียบเทียบช่วงเวลานับตั้งแต่ Homo sapiens มาเดินบนโลกใบนี้เมื่อสองแสนปีที่ผ่านมา กับ 500 ปีที่โลกแห่งวิทยาศาสตร์เกิดขึ้นมาบนโลกใบนี้ ผลสรุปที่ได้น่าจะทำให้เราได้กลับมา relearn กันใหม่อีกครั้ง เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลา 400 ล้านปี ที่พืชทำตัวอย่างให้พวกเราดู จะเห็นได้ว่ามนุษย์เราเป็นเพียงแค่ทารกที่ยังไม่สามารถเดินได้ด้วยตัวเองซะด้วยซ้ำไป ถ้าเปรียบเทียบอายุของโลกที่เกิดขึ้นมาแล้ว 4600 ล้านปี เท่ากับอายุ 100 ปี อายุของพืชก็จะประมาณเกือบ 9 ขวบ ส่วน Homo sapiens ก็จะมีอายุเพียง 1.6 วัน ยังอยู่ในตู้อบอยู่เลย จึงน่าจะเป็นเหตุผลเพียงพอที่เราจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้หลักสูตรการดำรงชีวิตจากพืช ถึงแม้ว่ามันจะขัดแย้งกับความรู้สึกของเราก็ตามที่ ช่วงเวลากว่า 400 ล้านปีที่พืชอยู่บนโลกใบนี้ โลกใบนี้ไม่เคยเสียหายจากการดำรงอยู่ของพืชเลย ต่างจากมนุษย์แห่งโลกวิทยาศาสตร์ที่อยู่บนโลกใบนี้เพียง 500 ปีเท่านั้นก็เกิดข้อสงสัยมากมายเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเราทำกันมา

จึงได้แต่หวังว่า Homo sapiens ของพวกเราจะสามารถปรับตัวและเรียนรู้ เพื่อจะได้อยู่ถ่ายทอด ความหมายของคำว่า  The illiterate of 21st century แบบตัวเป็นๆ ไม่ใช้เหลือไว้แค่เพียงเอกสารให้ลูกหลานได้ดูต่างหน้าแค่นั้นเอง มาเรียนรู้กันต่อไปนะครับ

“บทเรียนจากพืช สู่วิถีเกษตรกรรมธรรมชาติ”