สงขลาพัฒนาเมือง ใช้สมาร์ทเฮลท์เร่งแก้ปัญหาโควิด-19
ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการในเขตด่านจังหวัดสงขลา หลังจากนี้จะเร่งขยายไปให้ครบ 5 จังหวัดด่านชายแดนภาคใต้โดยเตรียมจะนำเสนอคณะกรรมการโรคติดต่อของจังหวัดพิจารณา
หลังจาก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องรับมือกับไวรัสโควิด-19 อย่างหนักในช่วงนี้จากกรณีมีคนไทยเดินทางเข้ามาจากมาเลเซียอย่างต่อเนื่องดังนั้นเพื่อความไม่ประมาทบริษัทสงขลาพัฒนาเมือง จำกัดจึงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำระบบอัจฉริยะ “สมาร์ทเฮลท์” เข้าไปประยุกต์ใช้งานในการบันทึกข้อมูลคนไทยที่เดินทางเข้ามาในประเทศก่อนที่จะถูกส่งตัวเข้าไปกักตัวตามสถานที่ต่างๆเพื่อให้แต่ละแห่งสามารถรับมือได้อย่างมีความพร้อม
สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ได้สัมภาษณ์พิเศษ ดร.ไพโรจน์ ชัยจีระธิกุล หัวหน้าโครงการ “การจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจเมืองหาดใหญ่เพื่อยกระดับการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของเมืองจังหวัดสงขลา” ร่วมกับ โครงการ “การศึกษาเครื่องมือและกระบวนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ” การสนับสนุนภายใต้แผนงานการพัฒนาภูมิภาคและจังหวัด 4.0 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) ถึงความพร้อมและความร่วมมือของการนำสมาร์ทเฮลท์เข้าไปร่วมป้องกันโควิด 19 ที่ยังระบาดในพื้นที่จังหวัดสงขลา และจังหวัดในเขตติดต่อด่านชายแดน 5 จังหวัดภาคใต้ว่า เรื่องโควิด-19 ยังเข้าไปช่วยดูรายละเอียดในภาพรวมของจังหวัดและของประเทศควบคู่กันไปด้วย
เบื้องต้นสำรวจข้อมูลผู้เดินทางเข้ามาในประเทศไทยว่าเป็นใคร อยู่ในจุดไหนเพื่อเป็นบิ๊กดาต้าว่าจะต้องส่งไปกักตัวจำนวน 14 วันที่ไหนบ้าง และผู้ที่ผ่านการกักตัวแล้วไปอยู่ที่ไหน สถานะเป็นอย่างไรโดยเชื่อมต่อข้อมูลกับกรมควบคุมโรคที่มีด่านตรวจโรคระหว่างประเทศตามจุดด่านชายแดนต่างๆเพื่อป้องกันการหลบหนีไม่เข้าจุดกักตัว
โดยความต่อเนื่องของข้อมูลดังกล่าวทำให้สถานที่กักตัวแต่ละแห่งสามารถวางแผนรองรับไว้ได้อย่างมีความพร้อม ไม่เป็นภาระแก่ผู้ปฏิบัติงาน ผู้กักตัวจะได้รับความสะดวกด้านต่างๆ จึงสามารถลดขั้นตอนไปสู่ภาคปฏิบัติได้รวดเร็วขึ้นและผู้บริหารระดับต่างๆสามารถติดตามผลได้ตลอดเวลา
ประการสำคัญขณะนี้โรงแรมที่ใช้ในการกักตัวมีเพียงพอ แพทย์ พยาบาลที่จะทำหน้าที่ดูแลรู้สถานะของผู้ป่วยล่วงหน้าก่อนแล้วจึงวางแผนและดำเนินการดูแลรักษาได้ตามแผน ลดการสัมผัสกับผู้ป่วยหรือผู้อยู่ระหว่างสังเกตอาการได้อีกด้วย ระบบสมาร์ทเฮลท์ช่วยในจุดนี้ได้อย่างมาก สามารถใช้งานได้อย่างไม่มีปัญหา โรงแรม บุคลากรแพทย์ พยาบาลสามารถเชื่อมระบบได้อย่างครอบคลุม ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการในเขตด่านจังหวัดสงขลา หลังจากนี้จะเร่งขยายไปให้ครบ 5 จังหวัดด่านชายแดนภาคใต้โดยเตรียมจะนำเสนอคณะกรรมการโรคติดต่อของจังหวัดพิจารณาต่อไป
สำหรับขั้นตอนดำเนินการจะเริ่มขึ้นตั้งแต่แจ้งเข้ามาในประเทศจนออกไปจากการกักตัวให้สามารถส่งข้อมูลไปยังพื้นที่นั้นๆเพื่อการตรวจสอบดูแลจนปลอดภัยและมั่นใจว่าจะไม่แพร่เชื้อได้หลังจากพ้น ช่วงระยะเวลา 14 วันของการกักตัวไปแล้ว
“ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องสามารถนำฐานข้อมูลไปประมวล เพื่อประยุกต์ใช้ในการรับมือและวางแผนดูแล รักษา ได้อย่างแม่นยำ รวดเร็วขึ้น เบื้องต้นมีข้อมูลแจ้งเข้ามาว่าในวันที่ 4 พฤษภาคมนี้โรงแรมที่ด่านสะเดาจะเต็ม แต่ยังมีข้อมูลผู้เข้าผ่านด่านโดยไม่แจ้งข้อมูลเข้ามาก็มีหลายรายดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าโรงแรมจะเต็มตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคมนี้ซึ่งผู้บริหารระดับจังหวัดสามารถตัดสินใจแก้ไขได้อย่างทันท่วงที”
ต่อยอดระบบสมาร์ทเฮลท์ได้อย่างไรบ้าง
ระบบนี้เชื่อมข้อมูลถึงโรงพยาบาลโดยสมาคมสตาร์ทอัพไทย โรงพยาบาลราชวิถีและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยกคณะแพทย์มาช่วยพื้นที่ด่านสะเดา จึงวิเคราะห์ข้อมูลและสั่งการได้อย่างทันท่วงที นอกจากนั้นยังมีการติดตั้งระบบเทเลคอนเซาท์ซึ่งเป็นการพบหมอทางไกลไว้แล้ว หมอจะไม่ต้องสัมผัสกับผู้ป่วย เป็นการปรึกษาทางไกลกับแพทย์โดยเฉพาะโรคโควิด-19 ที่ไม่มีอาการ อีกทั้งผู้ที่ไม่เป็นอะไรจะไม่ต้องมาโรงพยาบาล หรือมีรถรับ-ส่งยาให้ถึงบ้านซึ่งโรงพยาบาลหาดใหญ่และโรงพยาบาลสงขลานครินทร์อยู่ระหว่างการวางแผนทั้งระบบเข้าไปดำเนินการ
“ระบบสมาร์ทเฮลท์ต้นเรื่องเกิดจากสมาคมสตาร์ทอัพไทยดำเนินการให้กับโรงพยาบาลราชวิถีและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อได้รับการร้องของจากสงขลาจึงระดมกันช่วยในทันทีโดยดำเนินการในนามบริษัทสงขลาพัฒนาเมือง จำกัด สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ภาคใต้ตอนล่าง จึงทำให้ทราบว่ามีบุคลากรของไทยที่มีฝีมือจำนวนมากไม่ด้อยไปกว่าชาติใดในโลกนี้ โดยมีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นตัวเชื่อมระบบทั้งหมด”
สำหรับโรงแรมที่ใช้กักตัวที่ด่านนอกรองรับได้ 1,200 ห้องแต่พบอีกว่ายังมีผู้ไม่แจ้งลงทะเบียนเข้าประเทศเดินทางมาเพิ่มอย่างต่อเนื่องจึงเป็นข้อกังวลของฝ่ายดำเนินการโดยปัจจุบันพบว่ามีผู้เดินทางเข้ามาทางด่านวันละประมาณ 100 คนหากมีจำนวนเพิ่มมากกว่านี้จะส่งผลกระทบตามมาได้เช่นกัน
มีข้อเสนอต่อภาครัฐอย่างไรหรือไม่??
ในส่วนข้อเสนอต่อภาครัฐที่จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือประชาชนนั้นเห็นว่ารัฐควรเร่งบูรณาการช่วยภาคเอกชน หามาตรการหรือเครื่องมือในการเปิดเมืองให้ไม่เกิดปัญหาตามมาในภายหลัง ไม่ใช่โยนให้ภาคเอกชนรับผิดชอบหากอยากเปิดเมืองแล้วเกิดปัญหาต่างๆตามมา อีกทั้งสิ่งที่หอการค้าจังหวัด หรือคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน(กกร.) จังหวัด ให้เปิดเมือง รัฐจึงไม่ควรโยนความรับผิดชอบให้เอกชนอย่างเดียว ควรกำหนดมาตรการควบคุมการระบาดให้ได้โดยหากมีเครื่องมืออะไรก็นำมาใช้ให้เหมาะสม โดยเฉพาะมีแอพพิเคชั่นหลายกลุ่มรัฐจึงควรบูรณาการร่วมกัน แชร์เครื่องมือให้ใช้งานร่วมกันได้
ประการหนึ่งนั้นศูนย์โควิด-19 ประจำจังหวัดก่อตั้งไว้แล้วแต่มาตรการในการเปิดเมืองควรบูรณาการร่วมกัน คุมให้อยู่ หากรัฐเป็นตัวกลางแล้วแชร์ข้อมูลร่วมกันน่าจะเกิดประโยชน์ต่อภาคปฏิบัติได้ไม่มากก็น้อยเพราะทุกคนล้วนมีวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายเดียวกันนั่นเอง
“จึงขอสนับสนุนให้ 5 จังหวัดภาคใต้เป็นพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาระบบควบคุมโควิด-19 โดยขณะนี้การแชร์ถอดบทเรียนร่วมกันยังไม่เด่นชัด ควรบูรณาการกันมากกว่านี้ เน้นให้แบ่งปันความรู้ แชร์ประสบการณ์ต่อกัน จะเกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่ายอย่างแท้จริง สิ่งสำคัญ 5 จังหวัดภาคใต้ต้องเร่งดำเนินการเนื่องจากกังวลว่ากิจกรรมทางศาสนาอย่างกรณีเข้าสู่ช่วงเดือนรอมฎอนที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 25 เมษายนนี้เป็นต้นไป พฤติกรรมบ้วนน้ำลายลงพื้นจะส่งผลกระทบต่อการแพร่เชื้อโควิด-19 อีกหรือไม่ก็ต้องขอความร่วมมือทุกคนทุกฝ่ายให้ร่วมแรงร่วมใจป้องกันอย่างจริงจังตามมาตรการที่จุฬาราชมนตรีกำหนดไว้”