กูรูกฎหมายแนะภาคธุรกิจเตรียมตัวด้านกฎหมาย ภาษี หลังโควิด-19 พร้อมแนะรบ.ใช้ Big Data ช่วยเหลือตรงจุด
นายกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด เปิดเผยในช่วง Legal in Action "ข้อเสนอ : ช่วยเหลือประชาชนและการปรับโครงสร้างภาษีไทยหลัง COVID-19" ว่า การเตรียมตัวด้านกฎหมายหลังโควิด-19 ของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะเรื่องของภาษี แนะผู้ประกอบการให้ดูสิทธิประโยชน์ทางกฎหมายของรัฐบาลให้ดี ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายแรงงาน ในแง่ของประกันสังคม, การขยายเวลายื่นภาษีและการหักภาษี ณ ที่จ่าย และมาตรการผ่อนปรนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กับลูกหนี้
โดยที่ผ่านมาทางรัฐบาลได้ให้มาตรการภาษีไปบ้างแล้ว เช่น การเลื่อนระยะเวลาการจ่ายภาษีไปถึงเดือนส.ค.63, การลดภาระดอกเบี้ยจ่ายให้แก่เอสเอ็มอีที่เข้าร่วมมาตรการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ของรัฐบาล โดยสามารถหักรายจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มได้ 1.5 เท่า สำหรับการจ่ายดอกเบี้ยในช่วงตั้งแต่เดือน เม.ย.-ธ.ค.63, การสนับสนุนให้เอสเอ็มอีจ้างงานต่อเนื่อง โดยสามารถนำรายจ่ายค่าจ้างพนักงานมาหักรายจ่ายได้ 3 เท่า สำหรับรายจ่ายค่าจ้างตั้งแต่เดือน เม.ย.-ก.ค.63 และสิทธิประโยยช์การปรับโครงสร้างหนี้ เป็นต้น
อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่รัฐบาลยังไม่ได้ทำในวันนี้ คือ ทำอย่างไรที่จะขึ้นทะเบียนคนเหล่านั้นให้มาอยู่ในระบบ เพื่อจะช่วยเหลือให้ถูกต้องในอนาคต และช่วยลดปัญหาการเลี่ยงภาษีได้ในอนาคต เช่น การขึ้นทะเบียนและจัดระบบใช้จ่ายเงินแบบไร้เงินสด (Cashless) หรือลงทะเบียนรับความช่วยเหลือ โดยรวมข้อมูลประชาชน ของแต่ละกระทรวงให้อยู่ในระบบเดียวกัน (Big Data) และรับการโอนเงินเข้าบัญชีพร้อมเพย์ หรือบัตร Smart card ซึ่งใช้จ่ายได้กับทุกหน่วยธุรกิจที่อยู่ภายใต้ระบบภาษีอากร
นอกจากนี้รัฐบาลควรช่วยเหลือผู้ที่เสียภาษีเงินได้ให้มากขึ้น โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือกับลูกจ้าง ผู้ประกอบการ และนิติบุคคลที่ได้เคยเสียภาษีให้กับรัฐบาลมาตลาดระยะเวลาหลายปี เช่น ลดอัตราภาษีเงินได้ให้ผู้ที่ต้องยื่นเสียภาษีปี 2562, โอนเงินให้แก่ผู้มีรายได้ดังกล่าวที่ไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีด้วยวิธีการขึ้นทะเบียนและจัดระบบใช้จ่ายเงินแบบไร้เงินสด และพิจารณาให้เครดิตภาษีแก่นิติบุคคลที่มีกำไร เป็นต้น เพื่อให้เกิดความรู้สึกว่าเมื่อมีการเสียภาษีจะได้รับการดูแลจากรัฐบาล
พร้อมกันนี้รัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือ Sofe Loan สิทธิประโยชน์ทางภาษี Supply Chain ทั้งของภาครัฐและบริษัทขนาดใหญ่ เช่น ให้ความช่วยเหลือ SME ด้วยการให้เงินกู้ไร้ดอกเบี้ย, ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับบริษัทขนาดใหญ่ ที่ผลประกอบการดี สละสิทธิ์ในการเข้าร่วมโครงการของรัฐฯ และมีการช่วยเหลือคู่ค้าของตน อีกทั้งรัฐบาลควรช่วยจ่ายเงินเดือนให้พนักงานบางส่วน หรือช่วยจ่ายเงินเดือนจำนวนหนึ่งให้กับบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ยังมีศักยภาพที่จะประกอบการได้ และไม่เลิกจ้างลูกจ้าง นอกเหนือจากประกันสังคม โดยอาจจำกัดวงเงินให้ความช่วยเหลือโดยพิจารณาเงินเดือนขั้นสูงของพนักงาน รวมถึงยืดเวลาการชำระหนี้และงดคิดดอกเบี้ยของสถาบันการเงิน เช่น พักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้ซึ่งเป็นทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล, งดคิดดอกเบี้ยในช่วง 3-6 เดือนนี้ เพื่อช่วยให้บุคคลเหล่านี้มีเงินสดมาใช้จ่ายมากขึ้น
นายกิติพงศ์ กล่าวว่า สำหรับการเตรียมตัวในด้านอื่นๆ ของภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 สิ่งที่สำคัญคือ เตรียมศึกษาการปรับโครงสร้างหนี้นอกศาล เช่น การเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อขยายเวลาการชำระหนี้, ลดเงินต้น/ดอกเบี้ย, การขายทรัพย์สินที่ไม่ใช่ทรัพย์สินหลัก, แปลงหนี้เป็นทุน, หาพันธมิตรร่วมทุน, การควบรวมกิจการ, ซื้อหนี้คืนโดยมีส่วนลด และโอนทรัพย์ดีใช้หนี้ เป็นต้น รวมถึงเตรียมศึกษาการปรับโครงสร้างหนี้ โดยกระบวนการฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายล้มละลาย
SOURCE : www.ryt9.com