7 เทรนด์ พฤติกรรมผู้บริโภคหลังโควิด มายด์แชร์ ชี้ตัวแปรพลิกกลยุทธ์ตลาด
“มายด์แชร์” ส่อง 7 เทรนด์ผู้บริโภคหลังวิกฤติโควิด พึ่งพาประเทศ-พึ่งพาตนเองมากขึ้น ดิจิทัลหลอมรวมเป็นหนึ่งในชีวิตผู้คน เทรนด์รักสุขภาพแรงต่อเนื่อง ดาต้าอาวุธทรงพลังแบรนด์ ขณะทุกภาคส่วนตื่นตัว รับคลื่นดิสรัปชั่นลูกใหม่
จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงหลายด้านทั้งเศรษฐกิจ สังคม ธุรกิจ ตลอดจนพฤติกรรมผู้บริโภค ซึ่งนักการตลาดคาดการณ์ว่า โควิด-19 จะเป็นตัวแปรให้เกิดสิ่งปกติใหม่หรือ New Normal ในอนาคต โดย มายด์แชร์ประเทศไทย เผยงานวิจัย The New Norms' How Life Will Unfold After COVID-19 เผย 7 เทรนด์ที่บ่งชี้พฤติกรรมผู้บริโภคหลังโควิดดิสรัปชั่น
นางสาวณัฐา ปิยะวิโรจน์เสถียร ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนธุรกิจ บริษัท มายด์แชร์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า เทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคหลังโรคโควิด-19 คลี่คลาย อาจไม่ใช่สิ่งใหม่นัก เพราะนักการตลาดกล่าวกันมานานแล้วทั้งประเด็นโลกาภิวัฒน์ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค การใส่ใจสุขภาพมากขึ้น เป็นต้น แต่เมื่อมีโรคโควิดถือเป็นปัจจัย “เร่ง” ให้เทรนด์ดังกล่าวเป็นเรื่องปกติเร็วขึ้น
7เทรนด์เคลื่อนผู้บริโภค
สำหรับ 7 เทรนด์ ประกอบด้วย
1.การหมุนกลับของโลกาภิวัฒน์ (Reverse Globalization) โรคโควิดที่ระบาดในประเทศจีนส่งผลให้การผลิตชะงักงัน กระทบเป็นโดมิโน่ การนำเข้าและส่งออกไม่ได้ วิกฤติดังกล่าวทำให้แบรนด์และผู้บริโภคตระหนักถึงการพึ่งพาฐานการผลิตในประเทศตนเองมากขึ้น จะเห็นการย้ายฐานการผลิตสินค้ากลับประเทศตนเอง และลดการมีฐานผลิตเพียงแห่งเดียว ส่วนการดีไซน์สินค้ายังมาจากระดับโลก หรือโกลบอลเหมือนเดิม
ขณะที่ประชาชนทั่วไปตื่นตัวหันพึ่งพาตนเองมากขึ้น ปรับตัวเพิ่มทักษะความรู้หลายด้านพร้อมกัน เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงเช่น ทำงานประจำ แต่หารายได้เสริมด้วย
“ดิจิทัล”อีกปัจจัยพื้นฐานชีวิต
2.ดิจิทัล กลายเป็นปัจจัยพื้นฐานในชีวิต (Digital Takeover)ไม่ใช่แค่ส่วนหนึ่งของชีวิตเหมือที่ผ่านมา ประเด็นนี้แบ่งเป็น 2 ส่วน ในมุมการค้าทั้งผู้ขายและผู้ซื้อถูกโควิดบีบให้ปรับตัวใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ ทำให้ยอดขายบนมาร์เก็ตเพลสเติบโตอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน จังหวะนี้เป็นโอกาสดีของแบรนด์ในการทำตลาดเพราะผู้ซื้อจะได้ข้อมูล(Data)ของผู้บริโภค นำไปต่อยอดรักษาและขยายฐานลูกค้าได้ รวมถึงใช้สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน
นอกจากนี้ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่บูม การหยิบจับสินค้าและบริการเพราะกลัวเชื้อไวรัส ยังทำให้บริการดิลิเวอรี่ การชำระสินค้าผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ยังเติบโตตาม ทำให้สังคมไร้เงินสดจะมีบทบาทมากขึ้น ขณะที่นโยบายการอยู่บ้าน ทำงานที่บ้านทำให้ธุรกิจอีเวนท์ซึ่งสร้างประสบการณ์แก่ลูกค้าโดยตรง ต้องปรับสู่การสร้างประสบการณ์เสมือนจริงมากขึ้น เช่น กูเกิลพาทัวร์พิพิธภัณฑ์ออนไลน์ รถพุ่มพวงมีเครือข่ายทั่วกทม.และใช้แผนที่กูเกิลช่วยทำงาน
“อนาคตดิจิทัลจะกลายเป็นชีวิตเรา เป็นโครงสร้างพื้นฐานเหมือนน้ำประปา ไฟฟ้า เพราะตอบสนองความสะดวกสบายอย่างมาก
“บิ๊กดาต้า”พลิกแบรนด์
3.บิ๊กดาต้า พลิกชะตาแบรนด์ ผู้บริโภค (Emergence of Big Data) การใช้บิ๊กดาต้าจะมีประสิทธิภาพและทรงพลังต่อการทำตลาดมากขึ้น รวมทั้งเป็นตัวแปรในการนำไปจัดการแก้ไขปัญหาต่างๆได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นผู้ประกอบการต้องเร่งเก็บฐานข้อมูลที่จำเป็น มีประโยชน์ไปใช้งาน เช่น แบรนด์เก็บข้อมูลการทำธุรกิจซื้อขายของลูกค้า เพื่อนำไปพัฒนาโปรโมชั่น กระตุ้นการซื้อซ้ำ
เทรนด์สุขภาพแรงต่อเนื่อง
4.การยกระดับเรื่องสุขภาพทั้งภายในและภายนอก (Elevated Health and Wellness) แม้โควิดคลี่คลาย แต่พฤติกรรมการล้างมือ ใส่หน้ากาก เพื่อป้องกันโรค และการรักษาสุขภาพจะตระหนักทั้งการบริโภคอาหารและการออกกำลังกาย ขณะที่ระบบสาธารณสุขและการแพทย์คาดว่าจะพัฒนาให้ประชาชนเข้าถึงง่ายขึ้นด้วย
5.โควิดคลี่คลาย แต่ไม่คลายล็อกการรักษาระยะห่าง(Physical Distancing Continues ) แม้ผู้บริโภคจะโหยหาการใช้ชีวิตเหมือนก่อนเกิดโรคโควิดทั้งรับประทานอาหารนอกบ้าน พบปะเพื่อนฝูงแต่จะรักษาระยะห่างด้วย เห็นได้จากการเปิดร้านอาหารต่างๆที่มีการกั้นฉาก จัดที่นั่งให้ห่างกัน เป็นต้น
6.นิยามความสุขใหม่จากสิ่งเล็กน้อยรอบตัว (Happiness is Redefined) เมื่อต้องอยู่บ้าน ทำงานที่บ้าน ทำให้ผู้บริโภคสร้างสุขได้ด้วยสิ่งเล็กๆน้อยๆรอบตัว เช่น การดื่มกาแฟธรรมดาที่บ้านแต่ตีฟองนมเติมไปให้ดูหรูหรา การปลูกต้นไม้ ใช้หม้อทอดไร้น้ำมันฯ เพิ่มความท้าทายการทำตลาดให้กับแบรนด์สินค้าในการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความสุขผู้บริโภค
แบรนด์หนุนผู้บริโภคพึ่งตนเอง
7.เตรียมตัวรับ คลื่นดิสรัปชั่นลูกถัดไป (Prepare for the Next Disruption) วิกฤติครั้งนี้ได้ส่งผลให้แบรนด์และผู้บริโภคต่างตระหนักถึงการเตรียมความพร้อมหากเกิดวิกฤติครั้งใหม่ในอนาคต ทั้งการพยายามพึ่งพาตนเองและเสริมทักษะพื้นฐานต่างๆ ที่จำเป็นในชีวิต หรือการทำงานจากบ้านที่เกิดขึ้นได้จริงๆ ในช่วงรักษาระยะห่างทางสังคม ทั้งนี้ ในอนาคตแบรนด์จึงควรมีบทบาทสำคัญที่จะส่งเสริมหรือช่วยเหลือให้ผู้บริโภคสามารถพึ่งพาตนเองได้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม
“มนุษย์เป็นสัตว์สังคมมีความสุขเมื่อได้ออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน แต่วิกฤติโควิดที่เขย่าโลก แม้จบแต่พฤกิรรมผู้บริโภคจะห่วงสุขภาพมากขึ้น ดิจิทัลยังโตเพราะตอบโจทย์ความสะดวกสบาย การรักษาระยะห่างทางสังคม นักการตลาดและแบรนด์เข้าใจจึงควรเข้าใจถึงความคุ้นเคยใหม่ของชีวิตผู้บริโภค เพื่อปรับกลยุทธ์การสื่อสารทางการตลาด สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจที่มีความท้าทายมากขึ้นในอนาคต”
SOURCE : www.bangkokbiznews.com