Show Me Empathy
Santander สถาบันการเงินระดับนานาชาติของสเปน และ Anheuser-Busch ผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ต่างก็ปรับปรุงผลิตภัณฑ์ของตนเองเพื่อตอบรับกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งการผ่อนปรนเรื่องการชำระหนี้และการปรับโรงเบียร์มาช่วยผลิตน้ำยาล้างมือ แต่ในส่วนที่เกี่ยวพันกับธุรกิจกีฬาซึ่งการแข่งขันทั้งหมดต้องถูกยกเลิก ในฐานะสปอนเซอร์และเครื่องดื่มที่มาคู่กับการแข่งขันในสนาม ทั้งสองแห่งก็ต้องเพิ่มหนทางในการเชื่อมต่อกับลูกค้ากลุ่มนี้
จากสปอนเซอร์ของการแข่งขันฟุตบอลลาลีกา ลีก มาสู่การแข่งขันอี-สปอร์ต LaLiga Santander FIFA 2020 โดยให้นักเล่นเกมชื่อดังอย่าง อิไบ ยานอส (Ibai Llanos) ที่ก่อนหน้านี้เคยจัดการแข่งขันฟุตบอลออนไลน์ที่มียอดผู้เข้าชมถึง 60,000 คนเท่าในสนามจริง ทำหน้าที่จัดการเชิญนักเตะจากหลายสโมสรมาเป็นผู้แข่งขันในการบังคับเกมฟุตบอลออนไลน์ที่มียอดเข้าชม 1 ล้านวิว ซึ่งแม้ว่าจะไม่สามารถเทียบกับสเกลการแข่งขันจริงได้ แต่การจัดการแข่งขันบนแพลตฟอร์มใหม่ครั้งนี้ก็ได้สร้างประสบการณ์ที่ดีสำหรับแฟน ๆ ที่ได้ใกล้ชิดกับนักเตะของพวกเขาในอีกรูปแบบหนึ่ง และตัวนักเตะเองก็รู้สึกชื่นชอบกับชัยชนะในรูปแบบใหม่นี้เช่นกัน
ในส่วนของเบียร์ Anheuser-Busch การร่วมมือกับสภากาชาดอเมริกันประจำรัฐมิสซูรีและอาร์คันซอ (American Red Cross of Missouri and Arkansas) ไม่ใช่แค่การบริจาคเงิน แต่ยังเป็นการทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์ด้านการกีฬาทั่วประเทศ ในการเปลี่ยนสนามกีฬาที่ว่างเปล่า 30 แห่ง ให้กลายเป็นสถานที่บริจาคโลหิต เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนเลือดจากการที่รถขนส่งเลือดถูกสั่งห้ามไม่ให้วิ่งข้ามมลรัฐ ด้วยพื้นที่ขนาดใหญ่ของสนามกีฬาจึงทำให้สามารถตั้งเตียงให้มีระยะห่างกัน เมื่อประกอบกับการหมั่นตรวจเช็กและทำความสะอาดสถานที่ ก็ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติงานได้เกือบเป็นปกติ
แม้ว่าสเกลของผู้ชมเกมออนไลน์หรือการบริจาคโลหิต จะเทียบไม่ได้กับการเปิดสนามแข่งขัน แต่ก็ทำให้สปอนเซอร์และพาร์ตเนอร์ธุรกิจเหล่านี้ สามารถส่งต่อคุณค่าใหม่ของแบรนด์ไปถึงแฟนกลุ่มนี้ได้ ซึ่งแน่นอนว่าจะเป็นผลดีในระยะยาว โดยรายงานของที่ปรึกษาการบริหารระดับโลก McKinsey & Company ระบุว่า การแสดงความห่วงใยและใส่ใจในยามวิกฤติจะช่วยให้บริษัทสร้างรากฐานของความรู้สึกดีและความผูกพันกับลูกค้าได้ เพียงแต่ต้องสร้างสรรค์ให้ถูกที่ถูกทาง ซึ่งเราได้เห็นจากผู้ผลิตหลายรายที่พยายามทำให้ระบบออนไลน์ยังคงอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันได้ ตั้งแต่การสั่งของกินของใช้ การเข้าถึงความบันเทิงในทุกรูปแบบ ตั้งแต่ภาพยนตร์ พิพิธภัณฑ์ ความรู้ และการดูแลสุขภาพที่ไม่อาจทำได้ แต่สำหรับบางธุรกิจที่ไม่สามารถย้ายทุกอย่างมานำเสนอบนช่องทางออนไลน์ การนำความเชี่ยวชาญและคุณค่าของบริษัทมาตอบโจทย์ความกังวลที่อยู่ในใจของคนส่วนใหญ่ อย่างเช่น ร้านค้าที่เปิดเวลาขายของพิเศษให้กับผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มเปราะบางเพื่อลดความเสี่ยงและเป็นการลดจำนวนผู้ป่วยทางอ้อม หรือการปรับโรงงานมาผลิตสินค้าที่ขาดแคลน การผ่อนเบาความวิตกด้านการงานและการเงินที่ตามมาด้วยความพยายามรักษาสถานภาพของพนักงานและการผ่อนผันการชำระหนี้ ก็เป็นอีกทางในการรักษาสายสัมพันธ์ที่ดีเอาไว้จนเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น เพราะแม้จะไม่ใช่ลูกค้าทั้งหมดที่หันมา แต่ความประทับใจในสิ่งที่ได้รับยามวิกฤติ ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะลืมกันง่าย ๆ
ที่มาภาพ : Kelly Sikkema/Unsplash
มนฑิณี ยงวิกุล
บรรณาธิการอำนวยการ
SOURCE : www.tcdc.or.th