Whistleblowing : การเปิดโปงการทุจริตกับราคาที่ต้องจ่าย จะทำอย่างไรให้คนกล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง
“ในกระแสแห่งยุติธรรมา ยากจะหาความเกษมเปรมใจ”
ความตอนหนึ่งในบทพระราชนิพนธ์แปลของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเรื่องเวนิสวาณิช ซึ่งทรงแปลมาจากนวนิยายของ William Shakespeare เรื่อง Merchant of Venice สะท้อนให้เห็นถึงสภาพการเป็นคดีความกันย่อมยังความทุกข์ใจมาให้คู่ความที่เกี่ยวข้อง หรือที่ในสังคมไทยมักจะพูดกันอยู่เนืองๆว่าหากจะต้องเป็นคดีกัน กินขี้หมาดีกว่า ขออภัยท่านผู้อ่านนะครับ จริงๆการขึ้นโรงขึ้นศาลนั้น จะต้องเป็นกรณีที่ไม่สามารถหาทางออกทางใดได้ เรียกได้ว่าเป็นที่พึ่งสุดท้ายหรือ Last Resort แต่ที่ปรากฏให้เห็นในสังคมกลับกลายเป็นว่ามีการฟ้องคดีต่อศาล หรือแจ้งความดำเนินคดีต่อพนักงานสอบสวนกันอย่างพร่ำเพรื่อ โดยไม่จำเป็นในหลายๆกรณี บางครั้งเป็นการฟ้อง “แก้เก้อ” ทำให้มีคดี “รกโรงรกศาล” อยู่เสมอ
โดยเฉพาะการฟ้องดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทกับผู้แจ้งเบาะแส หรือ ผู้เป่านกหวีด (Whistleblower หรือ Tipster) ที่ออกมาเปิดโปงการกระทำทุจริตเพื่อปกป้องประโยชน์ส่วนรวมของสังคม
ผู้แจ้งเบาะแสถือว่าเป็นผู้ที่มีบทบาทที่สำคัญในการรักษาประโยชน์ให้กับสังคม โดยเฉพาะการเป็นผู้นำข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำผิดกฎหมายมาส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการกับผู้กระทำความผิด ถือว่าเป็นผู้ที่เสียสละและมีความกล้าหาญมากที่จะต่อสู้กับความไม่ถูกต้องเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม
หากผู้แจ้งเบาะแสออกมาทำหน้าที่อย่างรวดเร็วก็จะยับยั้งความเสียหายไม่ให้บานปลาย ในทางกลับกันหากออกมาช้าก็จะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงและไม่อาจจะกลับมาเป็นอย่างเก่าได้
แม้จะมีคำกล่าวที่ว่าเงินหลวงตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้แต่จริงๆแล้วไม่ใช่ เพราะต้นทุนในการดำเนินคดีและติดตามทรัพย์สินหรือการให้ชดใช้ทางแพ่ง แม้จะได้ยอดเงินมาตามจำนวนที่เสียไปพร้อมดอกเบี้ย แต่จริงๆแล้วไม่ครอบคลุมต้นทุนที่แท้จริง
เพราะในกระบวนการมีต้นทุนเบี้ยใบ้รายทางเยอะมาก ทั้งค่าเสียโอกาส ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับตัวบุคลากรในกระบวนการ เช่น ค่าตอบแทน เบี้ยประชุม หรือเงินเดือนของเจ้าหน้าที่ ที่ต้องเบิกจ่ายให้กับคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ผู้พิพากษา ฯลฯ รวมถึงที่ไม่สามารถตีเป็นตัวเงินที่ชัดเจนได้ เช่น ระบบธรรมาภิบาลที่เสียหายไปหรือความเชื่อมั่นของประชาชนที่ลดลง ในเรื่องนี้หากจะคำนวณความเสียหายที่แท้จริงทั้งหมดคงต้องใช้หลักวิชา Forensic economic มาช่วย
อย่างไรก็ตามในอดีตที่ผ่านมาผู้แจ้งเบาะแสไม่สามารถทำหน้าที่ของตนได้อย่างเต็มที่เพราะในทางปฏิบัติแล้วผู้แจ้งเบาะแสเป็นผู้ที่ถูกกระทำเสมอมา ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่เกิดขึ้นในต่างประเทศหรือในประเทศของเรา
กรณีที่เกิดขึ้นไม่นานนี้ที่เห็นได้ชัดคือในช่วงที่ Covid-19 ระบาด เป็นช่วงเวลาที่สังคมตกอยู่ในความสับสนวุ่นวาย มีบางกลุ่มสบช่องที่จะหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมีผู้หวังดีได้เปิดโปงพฤติการณ์ที่เข้าข่ายการกระทำความผิดกฎหมายแต่กลับมีการเตรียมดำเนินคดีกับบุคคลนั้นๆ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการบั่นทอนกำลังใจของผู้ที่ปรารถนาดีต่อสังคมจริงๆ
การกระทำลักษณะดังกล่าวทำให้ผู้แจ้งเบาะแสตกอยู่ในสภาพลำบากเรียกได้ว่าเนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง แต่กลับได้กระดูกมาแขวนคอ หรือ “เข้าเนื้อ” อีก
เมื่อต้องถูกดำเนินคดีนอกจากจะต้องต่อสู้คดีซึ่งมีค่าใช้จ่ายและมีค่าเสียโอกาสต่างๆมากมาย ยังอาจจะได้รับผลร้ายในเรื่องของความไม่ปลอดภัย รวมถึงหน้าที่การงานที่อาจถูกกลั่นแกล้งได้ด้วยซึ่งมักจะพบกรณีที่ผู้แจ้งเบาะแสร้องเรียนออกมาเปิดโปงกรณีการทุจริตของหน่วยงานตนเอง
สิ่งเหล่านี้ทำให้การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นธรรมในท้ายที่สุดนั้นมันมีมูลค่าที่แพงเหลือเกิน
การกลั่นแกล้งผู้แจ้งเบาะแสโดยการดำเนินคดีดังกล่าวข้างต้น ในทางวิชาการเรียกว่า Strategic Lawsuit Against Public Participation หรือ SLAPP แปลตรงตัวได้ว่ากลยุทธ์การดำเนินคดีทางกฎหมายอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการมีส่วนร่วมของสาธารณชน
SLAPP เป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจทั้งในเชิงเศรษฐกิจและในเชิงตำแหน่งที่ผู้นั้นมี ใช้กระทำต่อผู้ที่แจ้งเบาะแสร้องเรียนเพื่อเป็นการตอบโต้ หรือที่เราเรียกว่าเป็นการฟ้อง “แก้เก้อ” การกระทำดังกล่าวถือเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อบุคคลที่จะออกมารักษาประโยชน์ให้กับสังคม
SLAPP เป็นต้นทุนที่แสนแพงที่ทำให้คน “ขยาด” ไม่อยากออกมาทำประโยชน์ให้กับบ้านเมือง เป็นต้นทุนที่สูงมากของผู้แจ้งเบาะแส ซึ่งมนุษย์เรานั้นเป็นสัตว์เศรษฐกิจ จะทำอะไรก็มีเหตุมีผลในการตัดสินใจ หากชั่งน้ำหนักดูแล้ว ได้ไม่คุ้มเสียก็คง “ขอบาย” ดีกว่า เพราะหากอยากทำดี แต่หนทางข้างหน้ารู้ตัวแน่แท้แก่ใจว่าเจ็บตัวแน่ๆจะมีใครสักกี่คนที่จะตัดสินใจไปต่อ เว้นแต่จะเป็นกรณี “เลือดเข้าตา” หรือ “ไม่มีอะไรจะเสียแล้ว”
ความหวาดกลัวดังกล่าวทำให้มีจำนวนคนที่กล้าทำสิ่งที่ถูกต้องนี้ลดลง สวนทางกับความต้องการของสังคมในปัจจุบันที่พวกเราต้องการคนแบบนี้มากๆ โดยเฉพาะในสภาวะการแพร่ระบาดของ Covid-19 ที่มีการดำเนินโครงการภาครัฐที่ใช้เงินงบประมาณเป็นจำนวนมหาศาล เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด รวมถึงเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งย่อมก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายขึ้นจากการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง หรือการเบิกจ่ายเงิน
เมื่อคนกลัวไม่กล้าออกมาเปิดโปงสิ่งที่ไม่ถูกต้อง จึงทำให้ต้นทุนของผู้กระทำผิดต่ำลง ดังเช่นที่ Edmund Burke นักปรัชญาชาวไอริชเคยกล่าวไว้ว่าคนชั่วจะได้ใจก็เพราะว่าคนดีนิ่งเฉยไม่ทำอะไรเสียเลย “The only thing necessary for the triumph of evil is for good men to do nothing.”
จะทำอย่างไรดีที่จะลดต้นทุนของผู้แจ้งเบาะแส ให้กล้าออกมาทำในสิ่งที่ถูกต้อง ในเรื่องนี้มีบางคนอาจบอกว่า “The one who protects dharma will be protected by Dharma” ภาษาชาวบ้านเราก็คือคนดีผีคุ้ม ดังนั้นหากทำดีก็ย่อมได้ดีในที่สุด แต่นั่นก็คือที่พึ่งทางใจ เป็นนามธรรมที่ไม่สามารถจับต้องได้และไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นจริงเมื่อไหร่ ดังนั้น นอกเหนือจากการที่จะสวดมนต์เพื่อความสบายใจ และโอนความเสี่ยงที่ทำให้ไม่สบายใจไปให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้ว มีเครื่องมืออะไรที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ที่ช่วยปกป้องคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสได้บ้าง
การที่จะสนับสนุนส่งเสริมให้ประชาชนออกมาแจ้งเบาะแสเพื่อรักษาประโยชน์ให้กับประเทศชาติ ย่อมต้องพิจารณาว่าคนคิดทุจริตมีต้นทุนในการทำฉันท์ใด คนแจ้งเบาะแสก็มีราคาที่ต้องจ่ายกลับกันฉันท์นั้น ดังนั้นหากมองการแจ้งเบาะแสการกระทำทุจริตเป็นสินค้าแล้ว สินค้าตัวนี้จะต้องมีราคาไม่แพงและสามารถหาซื้อได้ง่าย กรณีจึงต้องมีการออกแบบและบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพในการให้ความคุ้มครองรวมถึงให้สิทธิประโยชน์จูงใจแก่ผู้แจ้งเบาะแสเพื่อให้กล้าออกมาทำหน้าที่ของตน ผู้สนใจโปรดดู บทความเรื่องการสร้างตลาดสินค้าธรรมาภิบาล กรณีศึกษาการมีส่วนร่วมของภาคพลเมืองในงานตรวจเงินแผ่นดิน ของ ดร. สุทธิ สุนทรานุรักษ์ ในวารสารรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ปีที่ 2 ฉบับที่ 2 (ก.ค.-ธ.ค. 2559)
ในหลายประเทศได้พยายามออกแบบและบังคับใช้กฎหมายการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสเพื่อที่จะสร้างแรงจูงใจให้ออกมาทำความดีและประสบความสำเร็จมาแล้ว เช่น ในประเทศเกาหลีใต้ องค์กรตรวจเงินแผ่นดินที่ชื่อว่า Board of Audit and Inspection หรือ BAI พยายามส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามาให้ข้อมูลเบาะแสต่างๆ โดยมีมาตรการคุ้มครองและให้รางวัลแก่ผู้แจ้งเบาะแสด้วย ทั้งนี้เป็นไปตามรัฐบัญญัติว่าด้วยการต่อต้านการประพฤติมิชอบ ค.ศ. 2001 หมวด 3 ว่าด้วยการรายงานการประพฤติมิชอบและการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส (CHAPTER 3 Reporting of Acts of Corruption and Protection of Whistleblowers, Etc.) ซึ่งมาตรการที่บัญญัติไว้ในหมวดดังกล่าว มีสาระสำคัญคือ
การคุ้มครองพยาน – โดยห้ามมิให้พนักงานของหน่วยงานตรวจสอบเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลใดๆของผู้แจ้งเบาะแส ผู้ร้องเรียน และในกรณีที่ผู้แจ้งเบาะแส ผู้ร้องเรียน หรือญาติของบุคคลเช่นว่านั้น ถูกข่มขู่คุกคามจนรู้สึกว่าไม่มีความปลอดภัยอาจใช้มาตรการให้หัวหน้าสถานีตำรวจท้องที่นั้นๆรักษาความปลอดภัยให้ได้
การรับประกันการดำรงตำแหน่ง – โดยห้ามมิให้หน่วยงานต้นสังกัดไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชนดำเนินการใดๆที่กระทบต่อตำแหน่งหน้าที่การงานหรือเงื่อนไขในการทำงานของผู้แจ้งเบาะแส ผู้ร้องเรียนที่ให้ข้อมูลภายใต้กฎหมายฉบับนี้ เช่นห้ามไม่ให้ใช้มาตรการทางวินัยหรือการบริหารงานบุคคลที่เป็นผลทางลบต่อผู้แจ้งเบาะแส ผู้ร้องเรียน
การให้รางวัลเพื่อเป็นการจูงใจ – ในกรณีที่การแจ้งเบาะแสข้อมูลใดๆภายใต้กฎหมายนี้ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทรัพย์สินของหน่วยงานของรัฐ ป้องกันความเสียหายของทรัพย์สินเช่นว่านั้น หรือก่อให้เกิดประโยชน์สาธารณะ อาจได้รับการเสนอให้ได้รับรางวัลภายใต้กฎหมายรัฐบัญญัติว่าด้วยรางวัลและอิสริยาภรณ์ (the Awards and Decorations Act) ได้และในกรณีที่ทำให้หน่วยงานของรัฐได้รับเงินคืน เงินที่เพิ่มขึ้น หรือต้นทุนที่ลดลง ผู้แจ้งเบาะแสอาจได้รับเงินรางวัลอีกด้วย
ภายหลังจากที่มีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวแล้วจำนวนเรื่องร้องเรียนที่ BAI รับในแต่ละปีนั้นมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนมีความกล้าและมั่นใจในการที่จะออกมาแจ้งเบาะแสและข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการตรวจสอบเงินแผ่นดินมากขึ้น
ในขณะที่ประเทศอินเดียมีการตรวจสอบโดยภาคสังคมหรือ Social Audit ที่ประชาชนในระดับหมู่บ้านร่วมประชุมกันเพื่อตรวจสอบร่วมกันว่าเงินที่ได้รับจากรัฐบาลนั้นแต่ละคนได้รับและลงลายมือชื่อจริงหรือไม่ ถือได้ว่าเป็นการรวมพลังกันแบบ collective action เพื่อต่อสู้กับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง โดยไม่ได้ปล่อยให้ใครต่อสู้เพียงลำพัง และหากพบว่ามีพฤติการณ์เข้าข่ายการทุจริต เจ้าหน้าที่ตรวจสอบหรือ auditor จากองค์กรตรวจเงินแผ่นดินอินเดีย (Office of the Comptroller and Auditor General of India) ที่จะเข้าร่วมการประชุมด้วยทุกครั้งก็จะ “รับไม้ต่อ” เพื่อดำเนินการทางกฎหมายต่อไป
ส่วนในประเทศสหรัฐอเมริกา องค์กรตรวจเงินแผ่นดินที่เรียกว่า Government Accountability Office หรือ GAO มีระบบการรับเรื่องร้องเรียนและข้อมูลจากภาคประชาชน ที่เรียกว่า FraudNet ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญของฝ่ายงานบัญชีสืบสวนและตรวจสอบสืบสวนหรือ Forensic Audits and Investigative Service Team ระบบดังกล่าวเป็นระบบอัตโนมัติที่ประชาชนสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับพฤติการณ์ประพฤติมิชอบ การใช้จ่ายที่สิ้นเปลืองหรือไม่ถูกต้องได้โดยตรง นอกจากระบบนี้แล้ว ยังมีกฎหมายที่เป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมให้ประชาชนกล้าออกมาให้เบาะแสการกระทำผิดอีกด้วย นั่นก็คือกฎหมายว่าด้วยการเรียกร้องค่าเสียหายจากการกระทำที่ไม่ถูกต้อง หรือ The False Claims Act กฎหมายฉบับนี้ให้อำนาจบุคคลที่ไม่ใช่รัฐบาลเป็นโจทก์ฟ้องคดีได้ในนามของรัฐบาล ในกรณีที่พบเห็นพฤติการณ์ฉ้อโกงหรือทุจริต ทั้งนี้โจทก์ที่ยื่นฟ้องจะได้รับส่วนแบ่งรางวัลจากค่าเสียหายที่รัฐบาลได้รับตั้งแต่ร้อยละ 15-25 ซึ่งตามสถิติแล้วมากกว่าร้อยละ 70 ของการดำเนินการตามกฎหมายฉบับนี้เป็นการฟ้องคดีในนามรัฐบาลโดยผู้แจ้งเบาะแส โดยคดีส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับสุขภาพอนามัย การทหาร ตลอดจนโครงการต่างๆของรัฐบาล ทั้งนี้รัฐบาลได้รับการชดใช้ค่าเสียหายไป 38,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ระหว่างปี ค.ศ. 1987 ถึง 2013 ส่วนในปีงบประมาณ ค.ศ. 2019 ได้รับมากกว่า 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
The False Claims Act มีชื่อเรียกอีกชื่อว่ากฎหมายลินคอน “Lincoln Law” เนื่องจากเป็นกฎหมายที่ออกบังคับใช้ในสมัยอับบราฮัม ลินคอน ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม ค.ศ. 1863 ซึ่งในช่วงนั้นเกิดสงครามกลางเมืองขึ้น และเป็นช่วงที่คู่สัญญาซื้อขายกับรัฐบาลมีพฤติการณ์ฉ้อโกงรัฐบาลอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะบริษัทที่ขายวัสดุครุภัณฑ์ให้กับกองทัพสหภาพ (Union Army) เช่นการส่งมอบลังที่บรรจุขี้เลื่อยให้กับรัฐบาลแทนที่จะเป็นอาวุธปืน
ประธานาธิบดี ลินคอนจึงสนับสนุนอย่างเต็มที่ให้มีกฎหมายดังกล่าวที่ใช้หลักการ “Qui Tam” (“Qui Tam” เป็นภาษาละติน มาจากประโยคที่ว่า “qui tam pro domino rege quam pro se ipso in hac parte sequitur” หมายความว่าบุคคลที่กระทำการทั้งเพื่อพระมหากษัตริย์และเพื่อตนเอง) คือให้บุคคลที่ไม่ใช่รัฐบาลเป็นโจทก์ฟ้องคดีผู้ที่ทุจริตหรือฉ้อโกงรัฐบาลได้ในนามของรัฐบาล กฎหมายดังกล่าวมุ่งส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสอดส่องพฤติกรรมการประพฤติมิชอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมและจูงใจให้ผู้แจ้งเบาะแสที่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างในบริษัทที่เป็นคู่สัญญากับรัฐบาลที่อาจเห็นหรือทราบพฤติการณ์ใดๆว่าบริษัทซึ่งตนทำงานอยู่มีการฉ้อโกงรัฐบาลหรือทุจริตเช่นส่งมอบของที่ไม่ตรงตามคุณลักษณะเฉพาะ (TOR) ส่งมอบของที่ชำรุดบกพร่อง ไม่มีประสิทธิภาพ มีความกล้าในการที่จะออกมาทำในสิ่งที่ถูกต้อง
ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ องค์กรตรวจเงินแผ่นดินที่เรียกว่า Swiss Federal Audit Office (SFAO) เป็นหน่วยงานหลักในการรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตในหน่วยงานของรัฐเพื่อรับ “ไม้ต่อ” ไปทำการตรวจสอบเพิ่มเติมและดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป โดยรัฐบัญญัติว่าด้วยบุคลากรของสมาพันธ์ (Federal Personnel Act 2011) บัญญัติไว้ชัดแจ้งว่า ผู้ใดที่พบการกระทำผิดทุจริตในหน่วยงานของรัฐสามารถร้องเรียน SFAO ได้เสมอ โดยอาจให้ข้อมูลโดยไม่เปิดเผยชื่อหรือเป็นบัตรสนเท่ห์และแม้จะมีหรือไม่มีหลักฐานก็ย่อมกระทำได้ เพราะหน้าที่ในการหาหลักฐานเป็นของ SFAO ที่จะทำต่อไป ในกฎหมายยังกำหนดชัดเจนว่าสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐแล้วถือเป็น“ไฟท์บังคับ” ที่จะต้องแจ้งเบาะแสการกระทำความผิดที่ตนพบเห็นเพราะถือว่าเป็นหน้าที่ จะเลือกที่จะไม่แจ้งเบาะแสไม่ได้ ซึ่งหลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ตรวจสอบหรือ auditor ของ SFAO จะเป็นผู้ดำเนินการต่อโดยที่จะปกปิดแหล่งที่มาของข้อมูล โดยกฎหมายยังกำหนดไว้ชัดเจนว่าบุคคลผู้ให้เบาะแสจะถูกผลกระทบในทางลบต่อหน้าที่การงานไม่ได้ ถือเป็นหลักประกันสำคัญที่จะคุ้มครองผู้ให้เบาะแส ทำให้มีความมั่นใจในการทำในสิ่งที่ถูกต้องมากขึ้น
มาตรการทางกฎหมายทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนมีความเชื่อมั่นมากขึ้นตามลำดับ ดังสะท้อนในเห็นจากจำนวนเรื่องร้องเรียนที่ SFAO ได้รับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2014-2018 ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ที่มาภาพ : Swiss Federal Audit Office (SFAO)
ส่วนในประเทศไทยนั้น มีทั้งมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยและจูงใจโดยการให้รางวัลเช่นกัน อาทิ การรับเรื่องร้องเรียนของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินก็มีหลายช่องทางเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน และจะรักษาความลับของผู้แจ้งเบาะแสเป็นความลับ เจ้าหน้าที่คนใดไม่ปฏิบัติย่อมเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561 มาตรา 104 นอกจากนี้ยังปรากฏใน ระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติว่าด้วยคณะกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ที่มุ่งส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกันเพื่อมีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้ความรู้ ต่อต้าน หรือชี้เบาะแส โดยได้รับความคุ้มครอง รวมทั้งจัดให้มีช่องทางการแจ้งข้อมูล เบาะแส โดยวิธีการที่ง่าย สะดวก ไม่มีขั้นตอนยุ่งยาก และไม่ก่อผลร้ายกับผู้แจ้งเบาะแส
อีกทั้งยังมี ระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าด้วยการคุ้มครองช่วยเหลือพยาน พ.ศ. 2562 ซึ่งกำหนดวิธีการไว้หลายวิธีเช่น การจัดพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ความคุ้มครอง ณ ที่พักอาศัย การจัดให้มีมาตรการปกปิดมิให้มีการเปิดเผยชื่อตัว ชื่อสกุล ที่อยู่ ภาพ หรือข้อมูลอย่างอื่นที่สามารถระบุตัวพยานได้ เป็นต้น ในส่วนของการให้รางวัลนั้น ระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติว่าด้วยการจ่ายเงินสินบน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 ให้จ่ายในกรณีทรัพย์สินที่เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติ หรือที่เพิ่มขึ้นผิดปกติ หรือทรัพย์สินอื่นของผู้ถูกกล่าวหากรณีบังคับเอากับทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน อันเป็นผลมาจากศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่งถึงที่สุดให้ตกเป็นของแผ่นดิน โดยให้จ่ายในอัตราร้อยละ 15 ของมูลค่าทรัพย์สินที่นําส่งกระทรวงการคลัง แต่ไม่เกิน 100 ล้านบาท
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่าในทุกประเทศต่างก็พยายามที่จะวางมาตรการที่เป็นรูปธรรมโดยการสร้างเครื่องมือทางกฎหมายขึ้นมาปกป้องคุ้มครองและจูงใจให้รางวัลแก่ผู้แจ้งเบาะแสทั้งสิ้น อย่างไรก็ดีความสำเร็จในเรื่องนี้อยู่ที่การบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงความจริงใจของผู้บริหารในภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง (tone at the top) ตลอดจนความแข็งขันในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่และความตระหนักของประชาชนในการรักษาประโยชน์สาธารณร่วมกัน ที่จะทำให้เจตนารมณ์ของกฎหมายสัมฤทธิ์ผลลงได้ หากไม่มีสิ่งต่างๆเช่นว่านี้แล้ว กฎหมายคงเป็นเพียงแค่กระดาษที่เปื้อนนำหมึกเท่านั้นเอง
แหล่งข้อมูลอ้างอิง