การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ภาคธุรกิจส่วนใหญ่เริ่มกลับมาเปิดทำการตามปกติ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับงานบริการ ขนส่ง ไอที ที่ส่งสัญญาณความต้องการแรงงานมากขึ้น

         ข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรคนไทย ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม  พบว่า ในเดือนมีนาคม มีคนไทยว่างงานกว่า 3.92 แสนคน และมีการคาดการณ์จาก กกร. 3 สถาบัน (สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย) ว่ามีพนักงาน 7 ล้านคนที่จะออกจากงานภายในเดือนมิถุนายน จากการปิดตัวลงของภาคธุรกิจ และส่งผลกระทบต่อคนทำงานที่มีรายได้น้อยกว่า 20,000 บาทต่อเดือน

        ขณะที่ข้อมูลจาก จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) ระบุว่า ภาพรวมความต้องการงานทั่วประเทศไทย 3 เดือนตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของ โควิด-19 กระทบต่อธุรกิจส่วนใหญ่ จนทำให้เกิดคนว่างงานมากขึ้น แต่ล่าสุดข้อมูล ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม ได้พบ สัญญาณการรับสมัครงานเพิ่มขึ้นใน 5 กลุ่มธุรกิจ คือ

1.ธุรกิจโลจิสติกส์ เพิ่มขึ้น 23%

2.ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพิ่มขึ้น 13%

3.ธุรกิจโฆษณา ธุรกิจการตลาด ธุรกิจประชาสัมพันธ์ เพิ่มขึ้น 6%

4.ธุรกิจประกันภัย เพิ่มขึ้น 5%

5.ธุรกิจขายส่ง ธุรกิจขายปลีก เพิ่มขึ้น 2%

       นางสาวพรลัดดา เดชรัตน์วิบูลย์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า ภาคธุรกิจยังคงมีความต้องการแรงงาน และอัตราการสมัครงานยังเพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับในเดือนเมษายน ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นไปตามกลไกของสถานการณ์ที่เริ่มกลับมาดีขึ้น

       "ภาพรวมความต้องการคนทำงานทั่วประเทศไทยช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม 2563  ในกลุ่มธุรกิจและสายงานไอทีเป็นกลุ่มที่มีความต้องการคนทำงานสูง เพราะหลายองค์กรมีการปรับตัวรับ New Normal รวมถึงการทำงานให้สอดคล้องกับยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ส่วนธุรกิจผลิตและจัดจำหน่าย มีการเตรียมความพร้อมรับคนกลับมาทำงานหลังสัญญาณเริ่มมีทิศทางดีขึ้น"

        ในขณะที่ 5 กลุ่มธุรกิจที่มีจำนวนประกาศงานลดเนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิด 19  คือ ธุรกิจท่องเที่ยว (Tourism/Travel Agency) ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจบริการ ธุรกิจจัดเลี้ยง (Hospitality/Catering) ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจสถาปัตยกรรม (Architecture/Building/Construction) ธุรกิจยานยนต์ (Motor Vehicles) ธุรกิจวิศวกรรมก่อสร้าง-ธุรกิจวิศวกรรมโยธา-ควบคุมอาคาร (Engineering - Building, Civil, Construction/Quantity Survey)

        สำหรับฝั่งคนหางาน พบว่าในเดือนพฤษภาคมผู้สมัครงานมีจำนวนการสมัครงานเพิ่มขึ้น คิดเป็น 20% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน โดยพิจารณาจากใบสมัครเติบโตสูง ใน 4 กลุ่มธุรกิจ คือ

1.ธุรกิจ Trading ธุรกิจจัดจำหน่าย (Trading and Distribution) เพิ่มขึ้น 32% 

2.ธุรกิจสารเคมี พลาสติก กระดาษ ปิโตรเคมี (Chemical / Plastic / Paper / Petrochemical) เพิ่มขึ้นสูงถึง 13%  

3.ธุรกิจไอที (Information Technology) เพิ่มขึ้น 10%

4.ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจจัดเลี้ยง (Food and Beverage / Catering) เพิ่มขึ้น 2%

และ 5 กลุ่มสายงานเป็นที่ต้องการของผู้สมัครงานสูง คือ

1.อีคอมเมิร์ซ (E-commerc) เพิ่มขึ้น 75%

2.งานขาย งานบริการลูกค้า งานพัฒนาธุรกิจ (Sales, CS & Business Development) เพิ่มขึ้น 3%

3.งานบัญชี (Accounting) เพิ่มขึ้น 3%

4.งานไอที (IT) เพิ่มขึ้น 3%

5.งานการตลาด งานประชาสัมพันธ์ (Marketing / Public Relations) เพิ่มขึ้น 2%

          จากข้อมูล จะเห็นว่า สัญญาณความต้องการแรงงาน ในเดือน พฤษภาคม เริ่มกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง หลังคลายล็อคดาวน์เฟส 3 ซึ่งการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นจะเป็นตัวขับเคลื่อนให้ประชาชนมีรายได้ และเกิดกำลังซื้อในประเทศให้เศรษฐกิจไทยค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างช้าๆ เดินหน้าต่อไปได้

ขอบคุณข้อมูล

สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 

และ จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย)