เปลี่ยนแปลง ไม่ใช่เปลี่ยนไป
ผมเป็นคนที่เชื่อมั่นในตัวเองสูงมาก ตั้งแต่ เริ่มมีความคิดความอ่าน นึกเอาว่าเริ่มเป็นผู้ใหญ่แล้วเพียงหลังจากวันทำบัตรประชาชน คือ 15 ปี (ยุคนั้น) ช่วงผมเข้าเรียน ม.ปลาย ผมมีเพื่อนรุ่นเดียวกันก็จริง แต่ก็มีอีกกลุ่มที่เป็นรุ่นพี่ และชอบพูดคุยกับคนเหล่านี้ประจำ (แก่แดด)
มันก็มีส่วนอยู่บ้างในการมีเพื่อนที่โตกว่า ทำให้รู้อะไรกว้างขึ้น (ในมุมเด็ก ๆ) ประกอบกับการที่บางมุมคิด เราพูดแล้วเพื่อนที่อายุมากกว่าเรายอมรับ ทำให้หลงไปว่า เก่ง คิดว่าตนรู้จริง ร่วมกับองค์ประกอบอีกบางอย่างที่เคยบอกเล่าในบทความอื่น สร้างให้ผมกลายเป็นคนเชื่อมั่นความคิดตัวเองสูง จะบอกว่า “ดื้อ” ก็ว่าได้
ดื้อ เป็นคำที่หมิ่นเหม่ บางทีเราอาจมองว่าดี บางทีก็ไม่ดี สิ่งที่จะเล่า คือ ผมจึงเป็นคนที่ไม่มีใครมาเปลี่ยนอะไรได้ง่าย ๆ ด้วยความยึดมั่นในความคิดตัวเองเป็นหลัก ชีวิตจะเปลี่ยนแปลงอะไรก็จากความคิด ความเชื่อ ของตัวเองเท่านั้น
การไม่ยอม “เปลี่ยนแปลง” อะไรง่ายนี้เอง ทำให้ชีวิตผมค่อนข้างวนช้ำ ทั้งที่ใคร ๆ ต่างบอกว่ามีความรู้ ความสามารถ แต่มันก็คล้ายกับว่า ไร้ประโยชน์ คิดว่าตัวเองเก่งแต่ใช้อะไรไม่ได้ มันก็คงเรียกได้ว่า เก่งไม่จริง..
การตั้งมั่น มุ่งมั่นในสิ่งใด ย่อมเป็นสิ่งดี และเป็นคุณสมบัติที่ความสำเร็จต้องการ เพราะหากคุณโลเล เปลี่ยนไปมา คงยาก และช้ากว่าจะถึงฝัน ถึงเป้าหมาย เพราะเมื่อใดที่คนเรา “เปลี่ยนไป” แล้ว ย่อมหมายถึงมุ่งหน้าไปเส้นทางอื่น หาก “เปลี่ยนไป” บ่อย ๆ ก็คงทำให้ไม่รู้ว่าชีวิตเขาคนนั้น มันจะไปทางไหน
“เปลี่ยนแปลง” ตัวเองไม่ได้ ก็เลย “เปลี่ยนไป” เอาแทน
ชีวิตผมที่ไม่ค่อยจะยอม “เปลี่ยนแปลง” อะไร เมื่อวันหนึ่งคิดว่าชีวิตไม่ไปไหน หรือมองว่าไปต่อไม่ได้ จึงเลือกใช้วิธี “เปลี่ยนไป” แทน หลายคนก็เป็นเช่นผม แต่เราคิดว่าการ “เปลี่ยนไป” ของเรา คือการ “เปลี่ยนแปลง” ตัวเอง ในที่นี้มันไม่ใช่เลย สิ่งทีแตกต่างกันคือ..
- การเปลี่ยนแปลง = เป้าหมายเดิม, เส้นทางเดิม
- การเปลี่ยนไป = เป้าหมายใหม่, เส้นทางใหม่
นี่คือความหมายหนึ่ง ซึ่งน่าจะทำให้พอนึกออก และมันไม่ผิดอะไร แต่ถ้ามองให้ลึกซึ้งอีกหน่อย เรื่องนี้หลายครั้งดูจะย้อนแย้งในตัวเอง ซึ่งภายใต้ภาวะนั้น เราอาจบอกได้ว่า เราก็เปลี่ยนแปลง ลองทำอะไรหลาย ๆ อย่างแล้ว ไม่ใช่ จู่ ๆ เปลี่ยนไปง่าย ๆ บางทีก็ถูกต้อง แต่หลายทีไม่ใช่.. ตัวอย่าง..
การที่เรา “เปลี่ยนไป” จากใครคนหนึ่ง นั่นหมายความว่า เราจะไปสนใจคนอื่นแล้ว หรือเลิกสนใจคนนั้นแล้ว และเราอาจบอกว่า ลองปรับหากัน ลองเปลี่ยนแล้วไม่ดีขึ้น สุดท้ายคือ เพราะเขาเปลี่ยนไม่ได้ เราจึงหมดใจ หมดความความอดทน หรืออะไรก็ตาม..
ลองตรองอีกหน่อย สำหรับมุมคนที่ “เปลี่ยนไป” ไม่ได้จะบอกว่าคุณไม่ได้เปลี่ยนแปลง แต่แท้จริงแล้วคุณก็อยาก “เปลี่ยนเขา” ด้วย และมันคือเหตุผลหลักกว่าที่ทำให้เปลี่ยนไป แม้คุณจะเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนตัวเองในมุมที่คุณอ้างหรือไม่ก็ตาม คนที่เป็นฝ่ายไปก็เพราะไม่พอใจที่อีกฝ่าย “ไม่เปลี่ยนแปลง” เป็นดังใจ และจริง ๆ แล้วอีกฝ่ายก็อยากให้คุณ เปลี่ยนบางอย่างเช่นกัน เพียงแต่ว่า ฝ่ายจะไปอ้างว่า ทนไม่ได้ ก่อน ก็เท่านั้น สรุปก็คือ คนที่เปลี่ยนไป ไม่จำเป็นหรอกว่าจะเปลี่ยนตัวเองหรือไม่ เพราะแท้จริงแล้ว อยากให้อีกฝ่ายเปลี่ยนให้ได้ดังที่ตนต้องการต่างหาก ไม่ว่านิสัย การกระทำ เชื่อหรือไม่ หน้าตาก็เป็นไปได้ เมื่อวันหนึ่งไม่พอใจแล้ว สเปคสูงขึ้นมา (ใครจะเปลี่ยนหน้าตาได้) แต่มันก็คือความจริงในใจที่ไม่แสดงออกมา
หากยอมรับกันจริงจัง เชื่อได้ว่า ถ้าคุณเคยเป็นฝ่ายเปลี่ยนไป คุณรู้แก่ใจว่าอีกฝ่ายอยากให้คุณเปลี่ยนอะไร แต่คุณไม่ทำ เลือกให้เขาเปลี่ยนก่อนมาเป็นข้อบังคับ เพราะคุณ “เปลี่ยนไป” แล้ว หากยังไม่เปลี่ยนไปจริง ๆ คุณคงพร้อมที่จะยอม “เปลี่ยนแปลง” ต่อ แม้จะเคยเปลียนแปลงมาแล้วก็ตาม มันจึงเหตุผลว่า เราส่วนใหญ่เปลี่ยนตัวเองจริง ๆ เมื่อคบคนใหม่
ที่จริงอาจเปรียบเทียบได้ยากในเรื่องความสัมพันธ์ การไม่เปลี่ยนเลยนั้นจะเรียกว่ามั่นคงนั้น น่าจะไม่ถูก เพราะแง่นิสัยและการร่วมชีวิต ยังไงก็ต้องเปลี่ยนหรือที่เรียกว่า ปรับเข้าหากัน มันจึงจะไม่มีใครเปลี่ยนไป ทว่า การเอาชนะว่าใคร “ต้องเปลี่่ยนแปลงก่อน” นั้นมันคือความคิดที่นำไปสู่การจบสัมพันธ์และมีอันต้องเปลี่ยนไป นี่คือภาวะของคน สองคน แต่ก็ไม่ต่างอะไรกับเรื่องอื่น ๆ ที่เกิดกับเราคนเดียว
ดังที่ผมเกริ่นไว้ในตอนต้น ช่วงหนึ่งความคิดตัวเองเป็นใหญ่มาก ในตอนนั้นหากมีเหตุการณ์อะไรที่ส่งผล แต่ผมไม่ยอมรับ คิดไม่เชื่ออยู่ในหัว ในห้วงความคิดคนเรา ก็ย่อมมีอีกเสียง หรืออีกคน มาแย้ง หาเหตุผลต่อเรื่องนั้น ๆ
หากความมุมานะ หรือส่วนใหญ่เรียกว่า ทิฐิ เป็นฝ่ายชนะ เราก็จะสรุปว่า “เราไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไร” และจะปล่อยให้สิ่งแวดล้อมเหล่านั้นเปลี่ยนแปลง..
ห้วงความคิดนี้เอง หากความมุมานะ หรือส่วนใหญ่เรียกว่า ทิฐิ เป็นฝ่ายชนะ เราก็จะสรุปว่า “เราไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไร” และจะปล่อยให้สิ่งแวดล้อมเหล่านั้นเปลี่ยนแปลง.. หลายครั้งมันเป็นไปไม่ได้ และดังที่บอกไปเมื่อผลลัพธ์ท้ายที่สุดออกมา เราก็จะโทษเอาว่า สิ่งแวดล้อม ปัจจัย รวมถึง โชค ไม่เอื้ออำนวย เราคงอยู่บนเส้นทางนี้ไม่ได้ เราไม่เหมาะ เราไม่มีโชค เราขาดโอกาส สารพัดข้ออ้างดังกล่าว จึงเลือก เปลี่ยนไปในทางอื่น
ตัวอย่าง เช่น อยากรวย ใครทุกคนย่อมคิด เพราะเป็นปัจจัยสำคัญ แต่เมื่อทำงานได้เงินไม่เยอะ เก็บไม่ได้ เราจะปรับสภาพไปในทางอื่น เช่น พอเพียง แค่นี้ก็ดีแล้ว ไม่ผิดอะไร และโทษสิ่งแวดล้อมในทางอื่น เช่นว่า ไม่มีโชค ไม่ได้เกิดมามีทุน.. ไม่ได้เกิดมาเรียนเก่ง.. ปิดโอกาสที่ตัวเองจะรวย เพราะเลิกดิ้นรน เลิกมองหนทาง แน่นอนว่าไม่เปลี่ยนแปลงอะไรในการกระทำ เพราะเปลี่ยนไปทางความคิดแล้ว..
บนเป้าหมายหรือเส้นทางที่เราต้องการนั้น มันก็คงไม่ต่างจากคนอื่น เช่น อยากมีบ้าน มีรถ มีเงินมาก มีครอบครัวสมบูรณ์ มีความสุข ต่าง ๆ แต่การถึงจุดนั้น ถ้าคิดกันจริง ๆ เราก็พอรู้ว่าจะได้มาอย่างไร แต่จะเป็นไปในรูปเดียวกับคนอื่นนั้นไม่ได้ หมายความว่า คนมีพื้นฐานและการดำเนินชีวิตที่ต่างกัน จะเรียกว่าต้นทุนต่างกันก็ไม่ผิด
ครั้นแล้วในพื้นฐานปัจจัยที่ต่างกันนี้เอง ที่จริงไม่ใช่ตัวชี้หรอกว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ได้ แต่เรามักเอาสิ่งเหล่านี้มาทำให้เราเปลี่ยนไป ว่าเราคงทำไม่ได้ พื้นฐานต่างกัน แต่อีกคนก็บอกว่า ทำเหมือนเขาแล้วไม่เห็นได้ผล เอ้า ก็พื้นฐานมันต่างกัน
ย้อนแย้งทั้งสองฝ่าย มันต้องลองเปลี่ยนวิธีการ เปลี่ยนสภาพแวดล้อม แม้แต่เปลี่ยนนิสัย เพราะที่สุดแล้ว มีหลายคนที่สำเร็จในแบบที่เราอยากเป็น บนพื้นฐานปัจจัยไม่ต่างกับเราหรือแย่กว่าเราด้วยซ้ำ ตรงนี้คงรู้ดี และเคยเห็น แต่เขาเหล่านั้นแค่ไม่หยุด และยังอยู่บนเป้าหมาย ไม่ว่าจะชีวิตคนประสบความสำเร็จคนไหน ก็ผ่านในจุดที่แย่ ๆ เพียงแค่เขายังคงเดิม.. ไม่เปลี่ยนไป
อย่างไรก็ตาม จะเปลี่ยนแปลง หรือเปลี่ยนไป ถ้าอ่านไป อ่านมาแล้วเริ่มสับสน ผมก็จะขอสรุปให้ครับว่า หากคุณมีเป้าหมาย จุดมุ่งหมายใด ก็ตาม อย่าปฏิเสธการเปลี่ยนแปลง ถ้าเห็นว่ามันไม่ได้ผล จงยอมรับว่าที่ผ่านมา วิธีคิด กระบวนการ หรือวิธีการ ที่ทำมาไม่ได้ผล ความเชื่อ ความเป็นตัวตนเรานั้นมันคงยังไม่เหมาะสม กล้าที่จะเปิดรับ ทดลอง พัฒนา และระวังหลอกตัวเองด้วยว่า เปลี่ยนแล้ว..
ซึ่ง ก็ใช่ว่าชีวิตจะ “เปลี่ยนไป” ไม่ได้เลย เป้าหมาย ความพึงพอใจ ใด ๆ ก็ตาม เราย่อมมีสิทธิเลือก เพียงแต่ส่วนใหญ่ไม่เช่นนั้น เปลี่ยนไป ในสิ่งที่ลึก ๆ ยังต้องการ ชีวิต จึงวนซ้ำในเชิงว่า เปลี่ยนแปลงอะไรก็ไม่ดีขึ้น เพราะถ้าเปลี่ยนแปลงบนเป้าหมายเดิมต่อไปจนเจอหนทางที่ดี ที่ถูก มันก็จะเข้าใจได้ว่า การเปลี่ยนแปลงนี้เอง ทำให้เรา ไม่ต้องเปลี่ยนไป..
บทความฉบับปรับปรุง เผยแพร่ครั้งแรก Facebook Sirichaiwatt เมื่อ 11/6/2019
SOURCE :www.sirichaiwatt.com