ดร.ประเสริฐ ปิ่นงาม (Ph.D., TREES-A NC)

วท.. สาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล

จากการเป็นประเทศที่มีการระบาดของโควิด 19 อันดับที่หนึ่งของโลกสู่เหตุการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นจากการเรียกร้องความยุติธรรมให้กับจอร์จ ฟลอยด์ที่สหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน ทำให้ย้อนนึกถึงบทความที่เคยเอามาใช้ประกอบในการทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของตัวเองเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว โดยบทความนั้นเป็นคำกล่าวสุนทรพจน์ของ โรเบิร์ต เคนเนดี้ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 1968 ที่มหาวิทยาลัยเคนซัส โดยเนื้อหาถือว่าเป็นการเตือนสติชาวอเมริกันด้วยกันเองในขณะนั้น ที่กำลังหลงระเริงกับระบบวัตถุนิยมหลังจากที่ประเทศตัวเองเป็นผู้ชนะในสงครามโลกครั้งที่ 2 และทุกคำพูดที่โรเบิร์ต เคนเนดี้กล่าวไว้ในวันนั้น กลายเป็นคำพยากรณ์ที่แม่นย่ำอย่างยิ่งในวันนี้ โดยหัวข้อในวันนั้นเป็นการให้ความเห็นเกี่ยวกับ GDP (Gross domestic product) ว่าเป็นดัชนีชี้วัดที่ไม่ถูกต้อง ไม่สามารถเอามาใช้วัดผลของการพัฒนาที่แท้จริงได้ โดยสามารถสรุปใจความสำคัญได้ดังนี้

ตารางแสดงสิ่งที่นับรวมและไม่นับรวมอยู่ในการประเมิน GDP (Human having VS Human being)

จากตารางจะเห็นได้ว่าการนับรวมการเจริญเติบโตจากสิ่งที่ไม่ถูกต้องอาทิเช่นยอดขายปืนไรเฟิลที่เพิ่มขึ้น หรือยอดขายระบบล็อคประตูที่เพิ่มขึ้นเป็นสิ่งที่ไม่ได้แสดงถึงความเจริญที่แท้จริง แต่สิ่งที่แสดงถึงความเจริญของจิตใจเช่นความเมตตากรุณาหรือความซื่อสัตย์ของเจ้าหน้าที่รัฐกลับไม่ถูกรวมเข้าไปด้วย ซึ่งสรุปได้ว่า GDP คือมาตรวัดการเจริญเติบโตของการพัฒนา ที่ประเมินจากสิ่งทำให้ได้สิ่งของต่างๆโดยไม่ได้คำนึงถึงผลเสียหายที่จะตามมากับบุคคลที่สามหรือกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมใดๆทั้งสิ้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นคำกล่าวสุนทรพจน์ที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาเลยทีเดียว โดยสิ่งต่างๆเหล่านั้นมีผลต่อกระบวนการคิดของชาวอเมริกันและมีผลต่อความยิ่งใหญ่ในอีกหลายๆรุ่นต่อมา แต่ไม่ใช้ปัจจุบันแน่นอน

ถ้าโรเบิร์ต เคนเนดี้ยังมีชีวิตอยู่ในวันนี้ คงต้องออกมาตะโกนด่าผู้นำคนปัจจุบันอย่างแน่นอน เพราะว่าทุกสิ่งที่พูดเปรียบเทียบไว้เมื่อกว่า 50 ปีที่แล้วเกิดขึ้นครบทุกอย่าง ทั้งเรื่องโจรกรรม อาวุธปืน การทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การถอนตัวจากการแก้ไขปัญหาโลกร้อน รวมถึงเรื่องสุขภาพและการศึกษาของเด็กๆด้วย ซึ่งสิ่งที่โรเบิร์ต เคนเนดี้พูดเตือนไว้เกี่ยวกับการบิดเบือนของ GDP นั้น ก็ยังมีกลุ่ม นักเศรษฐศาสตร์สีเขียว (Ecological economics) ที่เห็นด้วยและได้พยายามเสนอดัชนีชี้วัดตัวใหม่ที่ชื่อว่า GPI (Genuine Progress Indicator) หรือดัชนีชี้วัดความก้าวหน้าที่แท้จริง โดยนักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้ได้กำหนดไว้ว่า GPI คือดัชนีชี้วัดความเจริญเติบโตที่แท้จริงของประเทศโดยจะนับรวมมูลค่าบ้างอย่างที่เป็นประโยชน์เพิ่มเข้าไป และนับมูลค่าความเสียหายทางด้านอาชญากรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเข้าไปด้วยดังนี้

  • นับรวมมูลค่าจากงานด้านอาสาสมัครหรืองานที่ไม่มีรายได้เช่นอาชีพแม่บ้านเป็นต้น
  • นับรวมมูลค่าจากกิจกรรมสันทนาการเข้าไปด้วย
  • หักมูลค่าที่เกิดจากกิจกรรมที่เกี่ยวข้องที่ทำให้เกิดความเสียหายด้านอาชญากรรม เช่นรายได้จากการขายอาวุธเป็นต้น
  • หักมูลค่างานบริการที่ต้องดูแลงานด้านการจัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อมออกไป
  • หักความเสียหายที่เกิดกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ซึ่งก็คือแนวทางที่โรเบิร์ตเคนเนดี้ได้พูดถึงทั้งหมดนั้นเองและเมื่อเปรียบเทียบระหว่าง GDP แบบเดิมและ GPI แบบใหม่พบว่า สหรัฐอเมริกามีอัตราการเจริญเติบโตที่แท้จริงที่ต่ำกว่าเดิมเมื่อเปรียบเทียบย้อนหลังกลับไปอย่างเห็นได้ชัดเจน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการเพิ่มขึ้นของ GDP ที่เป็นความภาคภูมิใจของผู้นำในหลายๆประเทศนั้น เป็นสิ่งที่ต้องนำกลับมาทบทวนความถูกต้องกันใหม่อีกครั้ง 

รูปเปรียบเทียบ GDP และ GPI ของสหรัฐอเมริกา

เศรษฐศาสตร์ 2 กระแสหลักกับอนาคตของโลก

ปัจจุบันการศึกษาระบบเศรษฐศาสตร์แบ่งออกเป็น 2 สายหลักอย่างชัดเจน โดยกลุ่มเดิมที่นำโดยอดัม สมิทที่ยังมีมุมมองว่าจะใช้วิธีการบริหารอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อที่จะตอบสนองความต้องการที่มีอย่างไม่จำกัด ด้วยทรัพยากรที่มีอย่างจำกัด ซึ่งแนวคิดนี้น่าจะถึงจุดจบอย่างไม่ต้องสงสัย ส่วนเศรษฐศาสตร์สายที่ 2 เป็นกลุ่มที่มีความเชื่อในเรื่องของทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยที่มาของเศรษฐศาสตร์ทั้งสองสายก็มาจากมุมมองต่อระบบนิเวศที่มี 2 กระแสหลักเช่นกัน ( Patten and Odum : 2015)

  • กระแสที่ 1 ระบบนิเวศไม่มีความสามารถในการจัดการตนเองเพื่อสร้างความยั่งยืน มนุษย์จึงต้องควบคุมและจัดการ
  • กระแสที่ 2 ระบบนิเวศเป็นระบบที่มีความสามารถในการจัดการตนเองเพื่อสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้น มนุษย์ต้องรบกวนให้น้อยที่สุดหรือต้องไม่รบกวนเลย

ซึ่งจะเห็นได้ด้วยแนวคิดที่แตกต่างกันมีผลทำให้เกิดหลักการและสร้างผลกระทบที่แตกต่างกันอย่างมากมาย

รูปแสดงระบบเศรษฐศาสตร์สองกระแสหลักของโลกในปัจจุบัน

โดยหลักการของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ของประเทศไทยก็ถือว่าอยู่ในกลุ่มกระแสหลักที่ 2 ซึ่งทำให้ปวงชนชาวไทยได้รับรู้และเริ่มต้นดำรงชีวิตตามแนวทางดังกล่าวกันมากพอสมควรแล้ว นอกจากนั้นแล้วยังมีเศรษฐศาสตร์เชิงพุทธของ อี เอฟ ซูเมอเกอร์ที่น่าจะทำให้เห็นแนวทางที่น่าสนใจอีกแนวทางหนึ่ง โดย อี เอฟ ซูเมอเกอร์ผู้แต่งหนังสือ “Small is beautiful” ในปี ค.. 1974 เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่รัฐบาลอังกฤษส่งให้ไปศึกษาเกี่ยวกับประเทศพม่า โดยที่สมัยนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ โดยที่ทางรัฐบาลอังกฤษอยากให้ไปศึกษาดูว่าประเทศพม่าต้องมีการพัฒนาด้านใดอีกบ้าง ซึ่งทางซูเมอเกอร์ได้ใช้เวลา 6 ปี ในการศึกษาชีวิตความเป็นอยู่ของชาวพม่า และคำตอบที่ได้กลับไปให้รัฐบาลอังกฤษก็คือไม่ใช้ประเทศพม่าที่ต้องพัฒนาเพิ่มเติม แต่เป็นอังกฤษเองที่ควรจะต้องพัฒนาตามแบบอย่างของประเทศพม่าซึ่งสิ่งนี้ทำให้เกิดเป็นประเด็นของมุมมองการพัฒนากันอย่างกว้างขวางเพราะว่าขณะนั้นการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศตะวันตกเจริญรุ่งเรืองถึงจุดสูงสุด จึงมั่นใจว่าประเทศตะวันตกมากันถูกทางแล้ว ในขณะที่ซูเมอเกอร์ เรียกร้องให้เห็นคุณค่าของ วิญญาณแห่งความเป็นมนุษย์โดยมองว่าความสำเร็จทางด้านวัตถุเป็นเพียงเปลือกนอกเท่านั้น การพัฒนาบนพื้นฐานของการทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นการทำลายจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ซึ่งเป็นของจริงแท้ตามหลักพุทธศาสนา จึงถือกันว่า อี เอฟ ซูเมอเกอร์เป็นบิดาแห่งเศรษฐศาสตร์เชิงพุทธอีกท่านหนึ่ง ซึ่งการพัฒนาบนพื้นฐานการทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนี้ Dennis Meadows และทีมงานก็ได้มีการศึกษาวิจัยเพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงปัจจัยต่างๆมากมาย โดยใช้เวลาศึกษาและเก็บข้อมูลกว่า 30 ปีโดยเริ่มต้นตั้งแต่ปี ค.. 1972 แล้วนำข้อมูลทั้งหมดไปวิเคราะห์แนวโน้มเพื่อพยากรณ์ว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าทิศทางการพัฒนาของโลกยังยังเป็นแบบนี้ โดยได้จัดทำออกมาเป็นหนังสือที่ชื่อว่า “Limits to Growth” ซึ่งผลที่ได้จากการศึกษาทำให้ออกมาเป็นแนวโน้มของทรัพยากรธรรมชาติ จำนวนประชากร มลพิษ อาหารและผลผลิตจากอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปได้ตามนี้

กราฟแสดงอนาคตของโลกจาก Limits to Growth ของ Meadows และทีมงาน

ตามการพยากรณ์ของ Limits to growth จะเริ่มต้นจากจำนวนของทรัพยากรธรรมชาติที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจน มีผลทำให้ความสามารถในการผลิตอาหารจะลดลงในปี 2030 ซึ่งตรงกับรายงานของ UN ที่ระบุว่ามาจากปัญหาดินเสื่อมโทรม และประกอบด้วยมลพิษที่สูงขึ้น โดยหลังปี 2030 จะเกิดการขาดแคลนอาหารและโรคระบาดรุกรามไปทั่วโลกและทำให้เกิดการล้มตายของประชากรครั้งยิ่งใหญ่ ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้ถือว่าเป็นการเตือนสติชาวโลกอย่างเป็นทางการด้วยหลักวิชาการจากผู้ที่เชี่ยวชาญอย่างแท้จริง นอกจากการทำนายอนาคตที่จะเกิดขึ้นแล้ว ทาง Meadows และทีมงานก็ได้เสนอทางเลือกในการพัฒนาไว้หลายรูปแบบ ซึ่งแนวทางหลักๆก็คือการพัฒนาที่อยู่บนพื้นฐานของหลักการพอเพียงและใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด ไม่ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เสียหายไปมากกว่าเดิม และยังเสนอแนวคิดที่จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนไว้ 5 ประการดังนี้

โดยเครื่องมือที่ Limits to growth เสนอให้เป็นแนวทางในการพัฒนาที่ยั่งยืนเริ่มต้นด้วยการสร้างวิสัยทัศน์ (Visioning) หรือภาพแห่งอนาคตที่ชัดเจนว่าเราต้องการที่จะเป็นและจะอยู่กันอย่างไรบนโลกใบนี้ ซึ่งภาพที่วาดไว้จำเป็นที่จะต้องผ่านการร่วมมือร่วมแรงร่วมใจ (Networking) ที่จะทำสิ่งต่างๆไปด้วยกัน เราไม่สามารถแบ่งแยกกันต่อไปได้อีกแล้ว ซึ่งการทำงานร่วมกันนี้ต้องอยู่บนพื้นฐานการยอมรับและเปิดเผยความจริง (Truth telling) เพื่อที่จะได้ช่วยกันแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้องและทันกับเวลา โดยที่อาจจะมีการผิดพลาดกันได้บ้างเราก็จะเรียนรู้ (Learning) สิ่งต่างๆเหล่านั้นอย่างมีเป้าหมาย ซึ่งทุกอย่างที่ทำร่วมกันนี้จะอยู่บนพื้นฐานของความเมตตากรุณาและความรัก (Loving) ที่มีให้กันและกัน ทั้งต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ทั้งสัตว์และพืช ที่สำคัญก็คือความรักที่มีต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งถ้าสามารถใช้ทั้ง 5 หัวข้อนี้เป็นแนวทางเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าเราสามารถร่วมกันสร้างสมดุลของโลกใบนี้ได้อย่างแน่นอน

บทเรียนจาก GDP ลวงโลก ดัชนีที่ลืมโลกและมนุษย์

เชื่อว่าตอนที่ อดัม สมิท บิดาของเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ได้ตีพิมพ์หนังสือ The wealth of nations ในปี ค.. 1776 คงคาดไม่ถึงว่า แนวคิดที่ตัวเองได้นำเสนอมานั้นจะเกิดผลกระทบที่ทำให้ประชากรบนโลกใบนี้แบ่งพรรคแบ่งพวกกันอย่างชัดเจนในขณะนี้ โดยดูได้จากการประชุมสุดยอดของโลก ( Earth submit) เมื่อปี 2002 ที่กรุงโจฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนก็คือสังคมโลกไม่ประสบความสำเร็จในการปฏิบัติการสู่ความยั่งยืนเลย เนื่องจากมีความเห็นต่างในการแปลความหมายพื้นฐานของคำว่าการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยกลุ่มหนึ่งให้ความสำคัญของคำว่า ความยั่งยืน บนพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันกับโลกและระบบนิเวศ แต่ในขณะที่อีกกลุ่มให้ความสำคัญกับ การพัฒนา ซึ่งยังคงเน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลัก (จิรากรณ์, นันทนา คชเสนี : 2015) อย่างไรก็แล้วแต่ด้วยคุณสมบัติการปรับตัวและเรียนรู้ของพวกเรา สามารถสรุปสิ่งต่างๆที่เป็นผลกระทบจากการใช้ GDP เพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันได้ดังต่อไปนี้

1. GDP ไม่สามารถวัดคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่แท้จริงได้ จากประวัติศาสตร์ของชนเผ่า Homo sapiens ที่สามารถขึ้นมาครอบครองโลกได้จนถึงปัจจุบัน สิ่งที่เราแตกต่างจากชนเผ่าอื่นๆก็คือการที่เราเป็นสัตว์สังคม อาศัยอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัย พ่อแม่จะอบรมสั่งสอนลูกๆ จากสถาบันครอบครัวสู่สถาบันสังคม ที่มีความเมตตากรุณาหรือเห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์เป็นเสมือนกาวที่เชื่อมเผ่าพันธ์ของพวกเราให้อยู่ด้วยกัน GDP ไม่ได้วัดการพัฒนาพวกนี้เลย

2. GDP ไม่ได้วัดต้นทุนทางด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศที่หลากหลายต่างๆเลย โดย GDP ลืมไปว่าสิ่งต่างๆเหล่านั้นเป็นสมบัติของสิ่งมีชีวิตทั้งหมดบนโลกใบนี้ ไม่ใช่ของใครคนหนึ่ง และที่สำคัญ GDP ก็ไม่ได้สนใจว่าโลกใบนี้ก็มีชีวิตเหมือนกัน

3. GDP หรือตัวเม็ดเงินถูกใช้เป็นมาตรวัดเปรียบเทียบแสดงถึงระดับของความเจริญรุ่งเรืองและทันสมัย ทั้งๆที่เป็นต้นเหตุของความแตกแยก แบ่งพรรคแบ่งพวก พ่อแม่ลูกพี่น้องเพื่อนฝูง คนในสังคมต้องเข่นฆ่าและทำร้ายกันก็เพื่อสิ่งต่างๆเหล่านี้ โดยลืมรากเหง้าดั่งเดิมที่แท้จริงของตัวเองเพียงแค่ให้ได้เม็ดเงิน

ซึ่งจะเห็นได้ว่าการพัฒนาที่ไม่อยู่บนพื้นฐานของความไม่สมดุลและไม่สอดคล้องกับธรรมชาติ ผลลัพท์จะออกมาเป็นเช่นไร และถ้าเรายังคงใช้หลักการพัฒนาในแนวทางนี้ต่อไป เหตุการณ์อีกหลายๆอย่างจะรุนแรงมากขึ้นอย่างที่พวกเราคาดการณ์ไม่ถึงอย่างแน่นอน

คืนความเป็นมนุษย์และคืนชีวิตให้กับโลกคือการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่แท้จริง

เหตุการณ์โควิด 19 เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่ามนุษย์เรายังเป็นเพียงแค่สมาชิกเผ่าพันธ์หนึ่งบนโลกใบนี้ เราไม่สามารถกำหนดกติกาเพื่อตอบสนองความต้องการของพวกเรา โดยปราศจากการคำนึงถึงสมาชิกอื่นๆ ดังนั้นในฐานะที่เราเป็นพี่ใหญ่ การออกกฏกติกาต่างๆจึงต้องพิจารณาถึงผลดีผลเสียกับสิ่งต่างๆให้รอบด้านด้วย สิ่งที่เป็นผลพวงจากวิกฤติหลังโควิด 19 ก็คือการดูแลสุขอนามัยของตัวเองและชุมชน การล้างมือ การเว้นระยะห่างในสังคม ซึ่งถือว่าเป็น New normal ในด้านที่ดีที่ทุกคนจะรักษาและปฏิบัติจนเป็นสุขนิสัยในระยะยาวในที่สุดโดยในที่นี้จะขอเสนอแนวทางที่พวกเราสามารถเริ่มและทำได้ด้วยตนเองทันที เพื่อเป็นการเปิดเส้นทางสู่สมดุลของชีวิตหลังวิกฤติโควิด 19

รูปแสดงหลักการพื้นฐาน 4 ประการเพื่อสร้างสมดุลชีวิตหลังโควิด 19

  1. ปรับวิธีคิด ความวุ่นวายที่เกิดกับโลกใบนี้เริ่มต้นมาจากแนวคิดที่ยึดวัตถุนิยมมากเกินไป ดังนั้นจึงต้องเริ่มต้นแก้ไขทุกสิ่งทุกอย่างด้วยการปรับแนวความคิดใหม่ เป็นแนวความคิดที่ยึดถือความเป็นมนุษย์ (Human being) มากกว่าเป็นมนุษย์ที่เอาแต่ได้ (Human having) ซึ่งสามารถเริ่มต้นง่ายๆด้วยการตั้งเป้าหมายให้มีความสุขบนความพอเพียงตามปัจจัยจำเป็นพื้นฐาน ซึ่งถ้าต้องเผชิญกับสิ่งที่เราไม่คาดหวังหรือผิดหวังในสิ่งที่เราได้กระทำลงไป ก็ต้องมีการปรับตัวและเรียนรู้สิ่งต่างๆด้วยความตั้งใจและใส่ความคิดเชิงบวกในการแก้ไขปัญหา เพื่อให้เราสามารถดำรงชีวิตได้ด้วยตนเอง ซึ่งถ้าไปถึงจุดนั้นได้ก็ควรที่จะช่วยเหลือและแบ่งปันสิ่งต่างๆกับผู้อื่นและสังคมต่อไป
  2. ลงมือทำเอง เพื่อให้เกิดความมั่นคงกับชีวิตในระยะยาว เพราะว่าเราไม่มีทางทราบได้ว่าสถานะการณ์โควิด 19 แบบนี้จะเกิดขึ้นได้อีกเมื่อไหร่ การสร้างความมั่นคงทางอาหาร (Food security) ก็กลายเป็นกิจกรรมจำเป็นขั้นพื้นฐานไปเสียแล้ว ซึ่งการปลูกผักหรือผลิตอาหารให้กับตัวเองนี้ถือว่าเป็นการได้อยู่กับธรรมชาติและอยู่กับปัจจุบัน ซึ่งสิ่งนี้เกิดประโยชน์ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ นอกจากนั้นการลงมือทำสิ่งต่างๆเหล่านี้ด้วยตนเองจะเป็นการเพิ่มทักษะในการเข้าใจธรรมชาติที่ละเอียดมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
  3. สร้างเครือข่าย เมื่อเราได้ลงมือทำแล้ว เราก็ควรเข้าร่วมกลุ่มเพื่อสร้างเครือข่ายความมั่นคงทางอาหารและยังเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพราะความเป็นจริงของธรรมชาติ ดิน น้ำลมไฟ พืชและจุลินทรีย์ ในแต่ละท้องถิ่นจะมีคุณลักษณะที่แตกต่างกันไป เรียนรู้ไม่รู้จบ การร่วมแรงร่วมใจแบ่งปันสิ่งต่างๆ จะทำให้เกิดประโยชน์กับกลุ่มในภาพรวมได้เร็วยิ่งขึ้น นอกจากนั้นเมื่อเรามีผลผลิตที่เหลือเราก็สามารถเอาไปขายเพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้อีกทาง
  4. คำนึงถึงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การกระทำบนพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ที่แท้จริงเราจะคำนึงถึงระบบนิเวศและธรรมชาติที่เป็นหนึ่งเดียวกับเรา โดยถือว่าโลกใบนี้เป็นสิ่งมีชีวิตสามารถเรียนรู้และปรับตัวได้ นอกจากนั้นเพื่อให้เกิดการดำเนินการที่ยั่งยืนการเลือกใช้ทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นก็เป็นความจำเป็น เพราะเราสามารถควบคุมและกำกับปริมาณได้อย่างเหมาะสม โดยหลักขั้นต้นสำหรับคนไทยที่ต้องจำไว้ ณ ปัจจุบันสำหรับการทำเกษตรกรรมก็คือการทำให้ดินและน้ำมีชีวิตคือหัวใจที่จำเป็นจะต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้เพื่อจะได้กำหนดวิธีการปฏิบัติการอย่างถูกต้องในระยะยาว

จึงหวังว่าการสร้างสมดุลของชีวิตด้วยหลักพื้นฐาน 4 ประการนี้จะเป็นทวงคืนความเป็นมนุษย์ที่มีจิตใจเมตตากรุณากับมาสู่พวกเราอีกหลัง หลังจากที่เราถูกโลกของวัตถุนิยมหลอกล่อให้พวกเราติดกับดักมานาน เริ่มต้นด้วยการสร้างสมดุลของชีวิต ด้วยการกลับมาอยู่กับปัจจุบัน กลับมาอยู่กับธรรมชาติเพื่อความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เจอกันในครั้งต่อไปนะครับ…