‘อสังหาฯ’ แห่กู้เงินแบงก์ พิษตลาดหุ้นกู้ ‘ฝืด’ ระดมทุนยาก
นายสมะนันท์ ผลสมบูรณ์โชค นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)โนมูระ พัฒนสิน เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาส 2 พบว่า กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ 6 บริษัท ได้แก่ บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ (ANAN) บมจ.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ (LH) บมจ.พฤกษา โฮลดิ้ง (PSH) บมจ.ควอลิตี้เฮ้าส์ (QH) บมจ.แสนสิริ (SIRI) และ บมจ.ศุภาลัย (SPALI) มีหุ้นกู้ระยะยาวที่ครบกำหนด รวมกัน 2.3 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้พบว่ามีการออกหุ้นกู้ชุดใหม่เพื่อต่อทดแทนหุ้นกู้ชุดเดิมไปเพียง 8.6 พันล้านบาท ส่วนที่เหลือใช้วงเงินกู้กับธนาคารเพื่อชำระคืนแทน ซึ่งสะท้อนสถานการณ์ในตลาดหุ้นกู้ที่ยังไม่ดีนัก
“โดยทั่วไปแล้วการใช้เครดิตจากแบงก์จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่ด้วยเทรนด์ดอกเบี้ยขาลง ทำให้ต้นทุนโดยรวมไม่น่าจะเพิ่มขึ้นมากนัก เต็มที่อาจจะแค่ 0.25 – 0.50% เว้นแต่ว่าบางบริษัทที่จำเป็นจะต้องขายเงินลงทุนบางส่วนเพื่อเติมสภาพคล่อง อาจจะทำให้ต้นทุนเปลี่ยนแปลงไปได้”
ส่วนอีก 3 บริษัท คือ บมจ.เอพี (ไทยแลนด์) หรือ AP บมจ.แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ (LPN) และบมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น (SC) มีหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระคืนปีนี้ทั้งสิ้น 6.67 หมื่นล้านบาท ซึ่งสถานะการเงินของกลุ่ม ณ ไตรมาส 1/2563 มีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อทุน (Net IBD/E) อยู่ที่ประมาณ 0.97 เท่า
โดยหากพิจารณาเฉพาะหุ้นกู้ระยะยาวที่จะครบกำหนด ซึ่งคิดเป็น 77% หรือราว 5.12 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่ต้องชำระคืนในครึ่งปีหลังเป็นสัดส่วนสูงถึง 2.25 หมื่นล้านบาท ทำให้ช่วงครึ่งปีหลังนี้จะต้องพิจารณาสถานะการเงินของแต่ละบริษัทมากเป็นพิเศษ
“ไตรมาส 4 นี้ เป็นช่วงที่น่าห่วงมากที่สุด เพราะแรงช่วยจากแบงก์จะลดลงไป หลังจากที่หลายบริษัทดึงเครดิตมาใช้แล้ว แต่สิ่งที่จะเข้ามาช่วยได้คือภาครัฐที่จะช่วยซื้อหุ้นกู้เอกชนที่อยู่ในระดับลงทุนได้ (Investment grade) ซึ่งบริษัทอสังหาฯ รายใหญ่อย่าง 9 บริษัทข้างต้น ก็มีเครดิตในระดับนี้ทั้งหมด”
ในแง่ของแนวโน้มธุรกิจ แม้ว่าตัวเลขยอดขาย ยอดโอน ในไตรมาส 2 จะดีกว่าคาด แต่ก็เป็นผลจากการใช้กลยุทธ์ราคาเข้าช่วย ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นของบางบริษัทลดลงมาเหลือเพียง 15 – 20% จากระดับปกติที่ทำได้ถึง 30% ซึ่งส่วนนี้น่าจะเป็นเพียงดีมานด์ในระยะสั้น
“การใช้กลยุทธ์ราคาระดับนี้ ส่วนหนึ่งเพราะบริษัทต้องการเสริมสภาพคล่องเข้ามาให้มากที่สุด ส่วนหนึ่งก็จะเห็นได้จากการยอมออกหุ้นกู้แบบ Perpetual ที่มีต้นทุนสูงขึ้นด้วย โดยภาพรวมทำให้บริษัทน่าจะอยู่รอดได้ แต่การเติบโตคงยากมากขึ้น ”
โดยรวมแล้วหุ้นในกลุ่มอสังหาฯ น่าจะเริ่มฟื้นตัวได้ อาจจะต้องรอไปจนถึงไตรมาส 1 ปี 2564 โดยความหวังของอุตสาหกรรมในตอนนี้น่าจะเป็นเรื่องของนโยบายภาครัฐ ทั้งการช่วยซื้อหุ้นกู้เอกชน การเปิดให้นักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามา หรือโอกาสในการผ่อนปรนนโยบาย LTV แต่สถานการณ์น่าจะไม่เลวร้ายแบบวิกฤติ ปี 2540 เพราะปัจจุบันต้นทุนดอกเบี้ยค่อนข้างต่ำ และหลายบริษัทก็มีการร่วมทุนกับบริษัทต่างประเทศ ซึ่งเป็นการกระจายความเสี่ยง แต่สำหรับบริษัทขนาดกลางและเล็ก เป็นกลุ่มที่น่าห่วงที่สุด เพราะไม่มีข้อได้เปรียบเหล่านี้แบบรายใหญ่ ซึ่งอาจเป็นจุดที่ทำให้สถานการณ์ลุกลามได้ หากกระทบไปถึงซัพพลายเออร์อื่นๆ ในอุตสาหกรรม
สำหรับผู้เล่นรายใหญ่ ANAN และ SIRI เป็น 2 บริษัทที่น่าห่วงมากที่สุด เนื่องจากมี Net IBD/E สูง 1.1 เท่า และแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่รายได้หลักยังเป็นคอนโดมิเนียม และมีสัดส่วนลูกค้าต่างชาติสูง ทำให้มีความไม่แน่นอนสูง
SOURCE : www.bangkokbiznews.com/news/detail/886729?anf=