สะท้อนพฤติรรมผู้บริโภคไทยผ่านการเสิร์ช
ในยุคดิจิทัลพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ลูกค้าอยู่ที่ไหน กำลังมองหาอะไร เปรียบเหมือนขุมทรัพย์ที่คนทำธุรกิจอยากได้มาครอบครอง เพราะนั่นหมายถึงโอกาสขายสินค้าได้ตรงความต้องการ เพิ่มโอกาสการเห็นและช่วยกระตุ้นยอดขายได้ตรงเป้าหากเลือกถูกช่องทางถูกที่ถูกเวลา จากสถิติและพฤติกรรมผู้ใช้งาน Internet ทั่วโลก โดย WeAreSocial และ Hootsuite ประจำไตรมาสหนึ่งของปี 2020 พบว่าคนไทยใช้ Internet 75% ต่อจำนวนประชากรทั้งหมดของประเทศ ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 59% คนไทยใช้เวลาอยู่ใน Internet โดยเฉลี่ยประมาณ 9.01 ชั่วโมงต่อวัน มากสุดเป็นอันดับ 4 ของโลก เป็นรอง ฟิลิปปินส์ แอฟริกาใต้ บราซิล และโคลัมเบีย รวมถึงคนไทยใช้เวลาอยู่ใน Internet ผ่านมือถือ เฉลี่ยประมาณ 4 ชั่วโมง 57 นาที ต่อวัน แสดงให้เห็นว่าเมื่อคนใช้เวลาอยู่บนออนไลน์คนทำธุรกิจก็ต้องอยู่ออนไลน์เช่นเดียวกัน ลองมาดูว่าเทรนด์ผู้บริโภคไทยปี 2020 : จากการวิเคราะห์ข้อมูลบน Google และ Youtube สะท้อนพฤติกรรมคนไทยจากการเสิร์ชหาข้อมูลอย่างไรบ้าง
เศรษฐกิจดิจิทัล ไม่ได้อยู่แค่หัวเมืองอีกต่อไป
จากสถิติพฤติกรรมการซื้อของออนไลน์ในตอนนี้ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เมืองหลวงหรือหัวเมืองใหญ่อีกแล้ว เนื่องจากคนนอกเขตเมืองสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้น ทำให้ปริมาณการซื้อของออนไลน์นอกเขตกรุงเทพเพิ่มมากขึ้น และมียอดการเสิร์ชนอกเขตเมืองหลวงมากกว่า 70 % เช่น คำว่า อาหาร ของใช้ ยานยนต์ สูงถึง 80% ความงาม, การดูแลตัวเอง 75% ทำให้เห็นว่าผู้ประกอบธุรกิจ นักการตลาดยังสามารถมองหาช่องในการทำการตลาดออนไลน์นอกเขตเมืองหลวงได้อีก
ธุรกิจ On Demand โตขึ้น
พฤติกรรมการเสิร์ชของผู้บริโภคไทยทำให้เห็นว่ามีความต้องการสิ่งต่างๆ ที่เร็วขึ้น คาดหวังสูงขึ้น ต้องการสิ่งเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ต้องการประหยัดเวลา ยอมจ่ายแพงกว่าเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการในทันที จากสถิติมีการเสิร์ชบริการเรียกรถออนไลน์สูงถึง 127% และบริการเดลิเวอรรี่ ซึ่งในช่วงเกิดโควิดคาดว่าจะเติบโตสูงขึ้นมากกว่าช่วงปกติหลายเท่าตัว สิ่งนี้ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องคิดหาทางในการให้บริการแบบทันทีและตรงกับความคาดหวังที่สูงขึ้นของผู้บริโภค เช่น บริการ Same Day Delivery , ขาย-ส่ง สินค้าออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง เป็นต้น
ใช้ Omni-Channel หาออนไลน์ ซื้อออฟไลน์
การเสิร์ชของผู้บริโภคมีความซับซ้อนมากขึ้น เช่น อยู่หน้าร้านแต่ก็ยังเปิดมือถือเพื่อเสิร์ชหาข้อมูลอ่านรีวิวที่หน้าร้าน มีการระบุการค้นหาที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น โดยใช้คำว่า “ใกล้ฉัน” มากขึ้น โดยคำว่า “ใกล้ฉัน” ที่ค้นหามากที่สุด คือ ที่เที่ยวใกล้ฉัน โตขึ้น 733% วัดใกล้ฉัน 400% ร้านทำผมใกล้ฉัน 376% หมอฟันใกล้ฉัน 355% หมูกระทะใกล้ฉัน 203% ดังนั้นการปักหมุดร้านค้าของคนทำธุรกิจบนออนไลน์ให้มีตัวตน เป็นสิ่งสำคัญที่ให้ผู้บริโภคสามารถค้นหาร้านหรือธุรกิจเจอได้ทันที นอกจากนี้มีการเสิร์ชในลักษณะ Longtail มากขึ้น เช่น รองเท้าผ้าใบสีเขียวสำหรับผู้ชาย ดังนั้นคนทำธุรกิจหรือการตลาดต้องคิดหาทางในการสร้างคอนเท็นต์ในสื่อออนไลน์เพื่อเสริม การเสิร์ชในลักษณะ Longtail มากขึ้น
สังคมไร้เงินสดเริ่มปรากฎชัดเจน
จากวิกฤตโควิดได้เร่งให้สังคมไทยเข้าสู่สังคมไร้เงินสดเร็วขึ้น และจากการเสิร์ชพบว่า กลุ่มคำอย่าง บัตรเครดิต กระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิกส์ เงินดิจิทัล การใช้โมบายแบงก์กิ้ง เช่น วิธีการสมัคร การโอนเงิน เป็นคำเสิร์ชที่มีปริมาณเพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าคนให้ความสนใจกับสังคมไร้เงินสดมากขึ้น เจ้าของธุรกิจควรมีทางเลือกในการชำระเงินผ่านช่องทางออนไลน์ที่หลากหลาย
มีการตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม
คนไทยเริ่มตื่นตัวเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและการประหยัดพลังงานเพิ่มมากขึ้น โดยมีการค้นหาคำว่า เช่น PM2.5 หน้ากากอนามัย รถยนต์ไฟฟ้า มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ประหยัดไฟ สูงขึ้น 163% ซึ่งสะท้อนปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ไทยเผชิญฝุ่น PM2.5 ทำให้คนสนใจการรักษาสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยมลภาวะและการประหยัดพลังงานมากขึ้น และคาดว่าในช่วงโควิดการค้นหาคำเกี่ยวกับโควิด การดูแลสุขภาพก็จะเพิ่มมากขึ้นตามบริบทสังคมในตอนนั้น
การเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคนี้จึงเป็นสิ่งที่คนทำธุรกิจต้องก้าวตามให้ทัน แม้ว่าจะมีทุนน้อยก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ถ้าหากรู้ใจ เข้าใจ พฤติกรรมผู้บริโภคไม่ว่าจะทำธุรกิจประเภทไหนก็สามารถประสบความสำเร็จเพิ่มยอดขาย สร้างรายได้ให้ธุรกิจได้อย่างแน่นอน
ข้อมูล
https://www.twfdigital.com/blog/2020/02/global-digital-usage-stat-q1-2020/
https://www.youtube.com/watch?v=OZ6oL5gpUw8
SOURCE : www.scb.co.th