ตราบใดที่ยังไร้วี่แววความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีน หรือยาต้านไวรัสมาเผด็จศึกโควิด-19 กลุ่มธุรกิจภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะโรงแรม ก็ยังโผล่ไม่พ้นน้ำอย่างเสนิทใจ

นี่คือจุดเสี่ยงที่ทำให้ธุรกิจโรงแรมที่ถูกปิดกิจการ ไม่กลับมาฟื้นตัวเต็มร้อย เพราะอัตราการติดเชื้อในหลายประเทศยังคงคุกรุ่นเป็นระลอก

เจมส์ แคพแลน ประธานกรรมการบริหารบริษัท เดซติเนชั่น แคปปิตอล (Destination Capital) ธุรกิจในเครือเดซติเนชั่น กรุ๊ป ทุนแคนาดาที่สยายปีกธุรกิจโรงแรมรีสอร์ท ร้านอาหารและเครื่องดื่มในภูมิภาคเอเชีย ภายใต้แบรนด์ ฮูเตอร์ส, ฮาร์ดร็อค คาเฟ่ และ เดอะดรังก์เคนเลปเพอร์คอน ประเมินภาพรวมธุรกิจโรงแรมในไทยว่า โรงแรมที่ไม่มีสายป่านยาวพอ ยังคงเผชิญความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจเมื่อขาดรายได้มาเสริมสภาพคล่อง อาจต้องโบกมือยอมขายกิจการ ซึ่งเขาคาดการณ์ว่าจะต้องใช้เวลา 4 ปีกว่าการท่องเที่ยวไทยจะกลับมายืนที่เดิม

เจมส์ ยังระบุว่า ภายใต้ความเสี่ยงรอบด้านของผู้ดำเนินธุรกิจโรงแรม เปิดโอกาสให้เดซติเนชั่น กรุ๊ป ดำเนินธุรกิจในไทยมากกว่า 24 ปี ใช้ประสบการณ์ในการบริหารธุรกิจโรงแรม ที่ซื้อมาบริหาร ตั้งแต่การอัดฉีดเงินทุนเสริมสภาพคล่อง, ปรับปรุงตกแต่ง (Renovate),ปรับตำแหน่งสินค้า(Repositioning) ,การปรับภาพลักษณ์แบรนด์ (Rebrand) และจ้างงานบุคลากรสาขาท่องเที่ยว เพื่อให้เปิดธุรกิจดำเนินกิจการอีกครั้ง เมื่อทำกำไรในระดับที่พึงพอใจก็ขายต่อ โดยปัจจุบันมี4แห่งภายใต้เชนดัง อาทิ โนโวเทล กระจายในภูเก็ต หัวหิน  กรุงเทพฯ และพัทยา เป็นต้น

ในยุคโควิด จึงถือเป็นความเสี่ยงพิเศษที่ไม่เคยมีมาก่อน ดึงให้เดซติเนชั่นกรุ๊ปช้อนซื้อโรงแรมมาบริหาร ทำกำไรเมื่อธุรกิจกลับมาฟื้นตัว ราคาก็เพิ่มขึ้น สามารถขายต่อเพื่อทำกำไร

 

“วิกฤติในครั้งนี้ทำให้คนตกงานเพิ่มขึ้นนับล้านคน และโรงแรมจำนวนหลายพันห้องต้องปิดกิจการ ในช่วงที่ไม่มีลูกค้าต่างชาติเข้ามา”

อย่างไรก็ตาม ในสายตาของนักลงทุน เขายังมองศักยภาพเศรษฐกิจไทยในระยะยาวว่า ไทยถือเป็นประเทศจุดหมายปลายทางระดับโลก และมีโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการรองรับนักท่องเที่ยว ประกอบกับ โรงแรมมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสม ซึ่งถือเป็นจุดแข็ง

“แม้ว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยจะอยู่ในสภาพซบเซาและใช้เวลาในการฟื้นตัว แต่จากวิกฤตการณ์ในอดีต เช่น ต้มยำกุ้ง วิกฤติการเมือง วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ และน้ำท่วมใหญ่ปี2554 สะท้อนให้เห็นว่าเมืองไทยและภาคการท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัวได้เช่นเดิมทุกครั้ง สะท้อนถึงความแข็งแกร่งต้านแรงเสียดทานจากวิกฤติต่างๆได้ดี”

จากปัจจัยดังกล่าว จึงถือเป็นโอกาสในการพัฒนาโมเดลธุรกิจ เข้าไปรับซื้อกิจการโรงแรมให้พลิกกลับมาทำกำไรที่สูงขึ้นเมื่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการฟื้นตัว ผ่านการจัดตั้งกองทุนเดซติเนชั่น แคปปิตอล”(Destination Capital)ในช่วง1-2เดือนที่ผ่านมา เพื่อทำหน้าที่ระดมทุน ดึงกองทุนเพื่อการลงทุน และเงินทุนจากมหาเศรษฐี รวมถึงผู้ที่สนใจลงทุนเข้ามาร่วมลงทุนในการซื้อโรงแรมระดับ4ดาวในไทย และภูมิภาคเอเชีย เช่น อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ โดยตั้งเป้าหมายจะซื้อโรงแรมประมาณ ​12-15แห่ง มูลค่าแห่งละไม่เกิน 1,500 ล้านบาท โดยรวมใช้เงินลงทุนทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 10,000-15,000 ล้านบาทภายใน18เดือน หรือ1ปีครึ่งจากนี้ 

โดยดีลแรกน่าจะลงนามสัญญาซื้อขายอย่างเป็นทางการภายใน1เดือนข้างหน้า

 “เดซติเนชั่น แคปปิตอล กำลังมองหาสินทรัพย์โรงแรมและรีสอร์ทขนาด200ห้อง ในเมืองท่องเที่ยว4แห่งที่เป็นเป้าหมายแรก เป็นจังหวัดเมืองท่องเที่ยว คือ กรุงเทพฯ พัทยา ภูเก็ต และหัวหิน ซึ่งมีหลายโรงแรมยังมีศักยภาพในการพัฒนา ที่จะมีโอกาสใช้ความเสี่ยงจากวิกฤติสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้นในอนาคต

เขายังกล่าวว่า แนวทางการบริการธุรกิจโรงแรมในเครือจะต้องปรับกลยุทธ์รองรับเทรนด์ในธุรกิจท่องเที่ยวยุคหลังโควิด ที่จะเกิดการเดินทางและความต้องการพักโรงแรมในรูปแบบใหม่ โดยมุ่งเน้นจับตลาดจีน และอินเดีย จึงวางแผนเจรจานำเชนโรงแรมชื่อดังในจีน และอินเดีย มารองรับความต้องการของนักท่องเที่ยวจีน และอินเดีย ที่เดินทางเข้ามาเที่ยวในไทย

เชนโรงแรมอินเดีย และจีน ในประเทศไทยยังไม่มี ซึ่งนักท่องเที่ยวบางกลุ่มจะอุ่นใจและรู้สึกดีที่มีเชนโรงแรมแบรนด์ชาติเดียวกัน มาตั้งอยู่ในในประเทศไทย”

SOURCE : www.bangkokbiznews.com/news/detail/889366?utm_source=category&utm_medium=internal_referral&utm_campaign=business