เมื่อ ‘โรค’ เปลี่ยนไป วิจัยอย่างไรให้ทันโลก
วิกฤติสุขภาพไม่ได้หยุดแค่ "โควิด-19" การวางแผนงานวิจัยเพื่อพัฒนาระบบสาธารณสุขรองรับการเปลี่ยนแปลงของ "โลก" และ "โรค" จึงต้องเท่าทันทุกสถานการณ์
การแพทย์และสาธารณสุข นับเป็นเรื่องสำคัญลำดับต้นๆ ในการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากร ไม่ว่าจะเป็นการกระจายการเข้าถึงระบบสาธารณสุข การมีหลักประกันสุขภาพในทุกกลุ่มประชากร การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรักษาโรคต่างๆ หรือการมีระบบการป้องกันโรคที่เข้มแข็ง ยิ่งเมื่อมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ'โควิด-19' ก็ยิ่งทำให้เห็นความจำเป็นในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านนี้ การขาดข้อมูลที่จำเป็นต่อการรับมือแสดงให้เห็นแล้วว่าเป็นผลร้ายต่อวิถีชีวิตและสุขภาพตลอดจนเศรษฐกิจอย่างมหาศาล การวิจัยวัคซีนเพื่อรักษาโรคได้กลายเป็นตัวแปรสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้สถานการณ์การแพร่ระบาดนี้บรรเทาลงได้
ดังนั้น งานวิจัยด้านสาธารณสุขและสุขภาพคือเครื่องบ่งชี้ขีดความสามารถของประเทศในการรับมือกับสถานการณ์อันเกี่ยวเนื่องกับระบบสุขภาพที่ดี ซึ่งโดยทั่วไปแล้วการวิจัยในด้านนี้จะมีด้วยกัน 2 รูปแบบ คือ การวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการบริการและการวิจัยเพื่อความก้าวหน้าทางการแพทย์ โดยที่ผ่านมาประเทศไทยได้ทำการวิจัยทั้ง 2 รูปแบบควบคู่กันมาตลอด
นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ยกตัวอย่างให้เห็นว่า สิ่งหนึ่งที่ทำให้ไทยรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้ดีเพราะมีการวิจัยด้านระบบการบริการที่เข้มแข็งเป็นพื้นฐาน เช่น การเกิดขึ้นของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) ซึ่งยังรวมไปถึงการพัฒนาระบบสาธารณสุขในระดับท้องถิ่นด้วย
“ทุกวันนี้ปัญหาวัณโรคยังเป็นปัญหากับประเทศไทย แสดงว่าความก้าวหน้าทางการแพทย์อย่างเดียวไม่ได้แก้ปัญหา มันต้องมีการจัดการทางระบบสาธารณสุขด้วย กรณีโควิด-19 เรามีหมอที่รักษาคนไข้เก่งๆ ได้ แต่ถ้าเราไม่มีระบบการค้นหาผู้ป่วยที่ดี ถ้าเราไม่มีระบบการเฝ้าระวังที่ดี ไม่มีระบบการจัดการที่ดี เราก็จะไม่มีตัวเลขแบบนี้ในวันนี้ มันคือขาซ้ายกับขาขวาเลย” นพ.นพพรกล่าว
ระบบสาธารณสุขที่ผ่านการวิจัยลองผิดลองถูกได้ทำให้ไทยมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล มีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาดูแลเรื่องสุขภาพ ซึ่งช่วยเกื้อหนุนให้การทำงานของระบบสาธารณสุขโดยรวมดำเนินไปได้เป็นอย่างดี นพ.นพพร ยอมรับว่า การวิจัยด้านความก้าวหน้าทางการแพทย์ของไทยอาจจะยังไม่เทียบเท่าประเทศอย่าง สหรัฐอเมริกา หรือสหราชอาณาจักร ที่เป็นผู้นำในการวิจัยด้านนี้ แต่อย่างไรก็ตาม หากมีการค้นพบหรือผลิตยาชนิดใดขึ้นแล้ว หลังจากนั้นไม่นาน นักวิจัยของไทยก็สามารถผลิตยาตัวนั้นตามได้ ซึ่งนับว่า ประเทศไทยก็ไม่ได้ล้าหลังทางการแพทย์เลย
- ปรับการวิจัยให้ทันการวิวัฒน์
การเกิดขึ้นของโควิด-19 แสดงให้เห็นชัดว่า ความท้าทายของวงการการแพทย์และสาธารณสุขคือการเปลี่ยนแปลงของโลกและบริบทในสังคม การวิวัฒน์เช่นนี้มีมาโดยตลอด ในประเทศไทยเห็นได้จากการเปลี่ยนไปของโรคที่คนไทยเป็น เช่น เมื่อ 40 ปีที่แล้ว คนไทยเสียชีวิตด้วยโรคติดเชื้ออย่างวัณโรค อุจจาระร่วง มาลาเรีย ซึ่งปัจจุบันงานวิจัยทางการแพทย์พัฒนาจนสามารถรับมือกับโรคเหล่านี้ได้แล้ว แต่ต้องมาเผชิญกับสาเหตุใหม่ๆ ที่ทำให้คนเสียชีวิตในปัจจุบัน เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคความดัน หรือแม้แต่อุบัติเหตุทางถนน
“เราก็ต้องพัฒนาระบบสาธารณสุขที่จะมารองรับการเปลี่ยนแปลงในเชิงสังคม บริบทภาพรวมทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างประชากร อาชีพของประชากร รายได้ของประชากร อุปนิสัยของประชากร urbanization (การทำให้เป็นเมือง) การที่โลกเปลี่ยนไปทำให้โลกร้อน มีคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้น มีสารพิษมากขึ้น หรือมีการทานฟาสต์ฟู้ดมากขึ้น มีแอลกอฮอล์เป็นสิ่งล่อใจมากขึ้น มันก็ต้องพัฒนาระบบให้มันวิวัฒน์ตาม ถ้าถามว่าเราขาดอะไร เราขาดตลอดเวลาตราบใดที่มนุษย์ยังมีความก้าวหน้าที่ไม่หยุดนิ่ง เราก็ยังต้องพัฒนาระบบไปเรื่อยๆ” นพ.นพพร กล่าว
ทั้งนี้ความต้องการด้านการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขของผู้รับบริการก็จะเปลี่ยนไปด้วย ดังนั้นการตอบสนองความต้องการของคนไข้จึงเป็นเรื่องที่จะละเลยไม่ได้เช่นกัน นพ.นพพร มองว่าความคาดหวังของผู้มารับบริการจะสูงขึ้นไปเรื่อยๆ เช่น จากที่เมื่อก่อนเคยใช้เวลาในการพบแพทย์ที่โรงพยาบาล 1 วัน ปัจจุบันลดลงเหลือครึ่งวัน แต่ในอนาคตผู้รับบริการย่อมคาดหวังให้การบริการสะดวกและรวดเร็วขึ้นอีก หรือแม้กระทั่งความคาดหวังในเรื่องคุณภาพของการรักษาและบริการ เช่น คุณภาพของยา คุณภาพของแพทย์ เพราะฉะนั้นทั้งการวิจัยด้านระบบและด้านความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะต้องเข้ามาเพื่อลดช่องว่างของสิ่งเหล่านี้ให้ได้
- ก้าวต่อไป วิจัยเพื่อ ‘ป้องกัน’
ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อบริบทเปลี่ยนไป ค่ารักษาพยาบาลจะกลายเป็นปัญหามากขึ้น กล่าวคือ ค่ารักษาพยาบาลจะแพงขึ้นเพราะเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น ดังนั้นนอกจากจะหาทางพัฒนาการวิจัยระบบให้ประชากรเข้าถึงการรักษาพยาบาลและการวิจัยทางการแพทย์ให้รักษาโรคได้แล้ว ต่อไปการวิจัยจะต้องเป็นไปเพื่อช่วยลดต้นทุนการรักษาด้วย เช่น การสร้างระบบการป้องกันการเกิดโรค การกระจายการรักษาพยาบาลให้ครอบคลุมในระดับท้องถิ่น
“จากโรคติดเชื้อซึ่งรักษาหายก็หาย ถ้าไม่หายก็ตาย แต่ตอนนี้มันกลายเป็นโรคเรื้อรัง คือ เบาหวาน ความดัน กินยาตลอดชีวิต ฉะนั้นเราจะต้องเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ง่ายขึ้น เราจะต้องคิดแล้วว่า เป็นไปได้ไหมที่จะให้มีการรักษาโรคติดเชื้อ โรคติดต่อเรื้อรังไปรักษาที่โรงพยาบาลตำบล หรือเพิ่มการออกกำลังกายได้ไหม ต้องจัดสถานที่ให้ออกกำลังกายไหม ทำอย่างไรถึงจะจูงใจให้คนออกกำลังกายเพื่อป้องกันโรค” นพ.นพพรให้ความเห็น
เพื่อให้เป็นไปในทิศทางดังกล่าว ทางสวรส.ได้ปรับวิธีการทำงานใหม่ด้วยการตั้งกรอบไว้ว่า ปัจจุบันยังขาดองค์ความรู้ด้านไหนบ้าง แล้วทางสวรส.จะมีหน้าที่ไปหานักวิจัยมาตั้งทีมทำงานเพื่อป้องกันไม่ให้มีปัญหาในอนาคต โดยไม่รอให้นักวิจัยมาเสนอว่าอยากจะทำเรื่องอะไร
“ปัญหามันยังอยู่ การแก้ปัญหาก็คือการพัฒนา การค้นพบสิ่งใหม่ๆ ถ้าเรามีปัญหาเรื่องเครื่องช่วยหายใจ เรามีปัญหาเรื่องหน้ากากอนามัย เรามีปัญหาเรื่องห้องความดันลบ เราก็กระตุ้นนักวิจัยเลยว่าให้มาช่วยกันทำเรื่องนี้”
อย่างไรก็ดี นพ.นพพร ยอมรับว่า โจทย์ท้าทายของวงการวิจัยทั่วโลกตอนนี้ก็คือ การสร้างนักวิจัยหน้าใหม่ เนื่องจากอาจจะยังไม่มีแรงจูงใจมากพอให้คนมาทำงาน เช่น วิธีการทำงานที่เคร่งครัด หรือการที่ต้องมีผลงานการวิจัยมาก่อนเพื่อประเมินความรู้ความสามารถ
- งบวิจัยต้องยืดหยุ่น ไม่ซ้ำซ้อน
เนื่องจากงบการวิจัยในประเทศไทยยังคงอยู่ในสัดส่วนที่ถือว่าน้อย คือไม่ถึง 3 เปอร์เซ็นต์ ของ GDP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ การวิจัยด้านสาธารณสุขและสุขภาพก็ยังได้รับงบประมาณจำนวนไม่มาก ประกอบกับปัญหาที่ผ่านมาของการวิจัยด้านนี้คือ การตั้งงบประมาณเป็นรายปีและต้องตั้งล่วงหน้าถึง 2 ปี ทำให้ นพ.นพพร มองว่าวิธีการการให้งบประมาณที่ผ่านมาไม่เข้ากับบริบทและสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เห็นได้ชัดจากกรณีสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ไม่ได้มีการตั้งงบประมาณไว้เพื่อกรณีเร่งด่วนเช่นนี้ ทำให้ทางสวรส. ต้องปรับงบฯ ปกติจำนวน 10-15 เปอร์เซ็นต์ เพื่อมาทำวิจัยเรื่องนี้
“ตอนนี้อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุของเราสูงมากเป็นอันดับ 2 ของโลก เราก็จะวิจัยว่าจะป้องกันได้อย่างไร แต่ว่าสมมุติปีหน้ารถไฟความเร็วสูงเสร็จ อาจจะเปลี่ยนไปแล้วก็ได้ ปีหน้าอาจจะมีภาวะโลกร้อนแล้วก็มีโรคใหม่ๆ เกิดขึ้นซึ่งเราไม่รู้ เพราะฉะนั้นงบมันต้องยืดหยุ่น แล้วต้องให้เป็นก้อน ให้อำนาจไปตอบโต้กับปัญหาเฉพาะหน้าตอนนั้น อันที่สองก็คือการวิจัยมันไม่จบใน 1 ปี ก็ต้องเป็นงบที่สามารถต่อเนื่องไปได้ 2 ปี 3 ปีข้อที่สาม การวิจัยด้านสุขภาพมันไม่ใช่การจัดซื้อจัดจ้างวัสดุ จะใช้บริบทของสิ้นปีงบประมาณไม่ได้”
ในฐานะผู้บริหารงานวิจัยด้านสาธารณสุข เขาอธิบายต่อว่า ปัจจุบันปัญหาเหล่านี้ได้ถูกแก้โดยการได้รับทุนแบบก้อนระยะยาวจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ซึ่งช่วยตอบโจทย์การทำงานของนักวิจัยมากขึ้น และการทำงานของ สกสว. ยังลดทอนปัญหาการซ้ำซ้อนของการวิจัยได้ด้วย เนื่องจากมีคนกลางที่เข้ามาดูแลและอนุมัติงบประมาณเพื่อการวิจัย
“เดิมสภาวิจัยฯ เขาครอบจักรวาล เขาทำได้ทุกเรื่องในประเทศไทย ไม่ว่าทางการแพทย์เขาก็ทำ สังคมเขาก็ทำ การไปรวมศูนย์จะได้ดูออกว่า เรื่องเกษตรมีคนทำแล้ว เรื่องนี้มีคนทำแล้ว มีคนดูว่า ยอดงบวิจัยในภาครัฐทั้งหมดเป็นเท่าไหร่ มีการใช้ OKR (Objective and Key Results การกำหนดวัตถุประสงค์และผลลัพธ์หลักขององค์กรเพื่อการดำเนินงาน) เข้ามา ซึ่งเป็นเรื่องดี”
นพ.นพพร กล่าวทิ้งท้ายว่า แม้การวิจัยจะไม่ได้มีการรับประกันผลในแง่การนำไปใช้ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ต้องไม่ลืมว่าทรัพยากรมนุษย์คือทรัพยากรหลักในการพัฒนา ดังนั้นการลงทุนด้านการวิจัยเพื่อระบบสุขภาพของประชากรก็คือหัวใจสำคัญของการพัฒนายุทธศาสตร์ของประเทศ
SOURCE : www.bangkokbiznews.com