หลังมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 เห็นชอบการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ด้วยการผลักดัน การพัฒนาเมืองต้นแบบที่ 4 อ.จะนะ จ.สงขลา เพื่อทำเป็น “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” โดยรัฐบาลมอบหมายให้ “ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)” เป็นแม่งานหลัก และยังมี 2 บริษัทใหญ่ คือ นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ อดีตผู้บริหาร บมจ.อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลป์ไทย หรือทีพีไอกรุ๊ป มีแผนร่วมลงทุนกับนักลงทุนจีนจะตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนระบบขนส่งทางราง มูลค่า 4 แสนล้านบาท บนพื้นที่ 7,000 ไร่ และ บมจ.ปตท. โดย บมจ.ไออาร์พีซี ซึ่งถือครองที่ดิน 3,000 กว่าไร่ อยู่ระหว่างเจรจากับนักลงทุนในประเทศเกาหลี เพื่อลงทุนโครงการพลังงานทางเลือก (energy complex) มูลค่าลงทุน 2.9 แสนล้าน ตามนโยบายที่ภาครัฐวางเป้าหมายกำหนดให้จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็น “แบตเตอรี่โซน” โดยให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการปลูกพืชพลังงานป้อน ภายในเวลา 5 ปี หรือปี 2565

ล่าสุดได้เปิดประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไปเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2563 ซึ่งปรากฏว่ามีทั้งฝ่ายสนับสนุน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ และฝ่ายคัดค้านการทำโครงการ ซึ่งเป็นคนนอกพื้นที่นั้น

เขตเศรษฐกิจใหม่ดันราคาที่ดินพุ่ง

       แม้ว่าจะเกิดเสียงคัดค้านบางส่วน แต่ในด้านการลงทุนปัจจุบันพบว่ากลุ่มธุรกิจการค้าที่ดินใน อ.จะนะ จ.สงขลา อย่างขนาดใหญ่ โดยเฉพาะพื้นที่ชายทะเลฝั่งอ่าวไทยตั้งแต่ ต.ตลิ่งชัน ต.สะกอม ต.นาทับ อ.จะนะ ไปถึงเทศบาลตำบลจะนะ ซึ่งเป็นชุมชนเขตเมืองการค้า การเงิน ระยะทางประมาณ 5-10 กิโลเมตร ราคาที่ดินมีความเคลื่อนไหวรับการขยายพื้นที่เศรษฐกิจใหม่  โดยแหล่งข่าวระบุว่า ราคาที่ดินบริเวณดังกล่าวขยับขึ้นมาเป็น 1.5-2 ล้านบาทต่อไร่ จากปี 62 ที่ราคาที่ดินอยู่ที่ราว 70,000-150,000 ล้านบาทต่อไร่ และพื้นที่ริมถนนใหญ่ตั้งแต่รอยต่อ อ.นาหม่อม กับ อ.จะนะ มีราคาตั้งแต่ 3 แสนบาทถึง 1 ล้านบาทต่อไร่ สำหรับเป็นพื้นที่เป็นสวนยางพารา จะมีการจัดสรรเป็นแปลงตั้งแต่ขนาด 5-10 ไร่ แบ่งขายกันจำนวนมาก

       ส่วนที่ดินในเขตรอบนอก ซึ่งเป็นที่ดินกึ่งเมืองกึ่งชนบท ค่อนข้างมีความเคลื่อนไหวที่ดี หลายคนนำที่ดินมาจัดสรรขายรายย่อยในลักษณะผ่อนชำระ ยกตัวอย่างที่ดิน 1 ไร่จะซอยจัดสรรเป็นขนาด 12-16 แปลง ราคาเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับกว่า 100,000-120,000 บาทต่อแปลง ผ่อนชำระตามตกลง เป็นราคาระดับที่มีกำลังซื้อของคนในพื้นที่

รู้จัก “จะนะ เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” 

      สำหรับ “จะนะ เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” เป็นโครงการที่จะเกิดขึ้นเพื่อขยายผลสร้างกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ได้รายงาน อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจังหวัดชายแดนใต้ อยู่ที่ 1.6% ซึ่งตํ่ากว่าค่าเฉลี่ยของภาคใต้และของประเทศไทย มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน จากสินค้าเกษตรมีแนวโน้มราคาตกตํ่าลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

      ดังนั้นจึงจำเป็นต้องพัฒนากลไกเศรษฐกิจใหม่ที่สำคัญ (New Engine of Growth) ให้กับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อสร้างความเจริญเติบโตอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง ซึ่งต้องมองไปในอนาคตตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีข้างหน้า ว่าลูกหลานคนในพื้นที่จะอยู่อย่างไร เพราะข้อเท็จจริงในวันนี้ เรามีตัวเลขนักศึกษาที่ว่างงานปีละหลายหมื่นคน และหลายคนต้องเดินทางออกไปทำงานยังต่างพื้นที่ รวมทั้งประเทศมาเลเซียหลายแสนคน

“อุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” มีนัยการพัฒนาที่สำคัญ 2 ประการ คือ เป็นการกำหนดทิศทางการพัฒนาของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยอุตสาหกรรมที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในอนาคตให้สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี

อีกนัยหนึ่ง คือ การวางรากฐานการสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชนในระดับพื้นที่อนุภูมิภาคไม่ต้องเคลื่อนย้ายการทำงานไปยังภูมิภาคอื่น ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการกำหนดอนาคตของลูกหลานในพื้นที่ ที่ต้องอยู่อย่างมีคุณค่าและศักดิ์ศรี มีการศึกษาที่ดี และเมื่อจบการศึกษาแล้วต้องมีแหล่งงานรองรับในบ้านเกิด เพื่อให้สามารถดูแลพ่อแม่และครอบครัวได้อย่างใกล้ชิด ไม่ต้องเร่ร่อนไปทำงานยังต่างพื้นที่ สามารถยืนหยัดช่วยเหลือตนเองได้อย่างมีคุณค่า”

เป็นการใช้มิติทางเศรษฐกิจเพื่อเชื่อมโยงเกาะเกี่ยวการพัฒนามิติอื่นๆ ให้เกิดการพัฒนาไปพร้อมกัน ซึ่งมีกรอบแผนและการดำเนินการที่เกี่ยวข้องเพื่อการพัฒนาเมืองต้นแบบ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา คือ

1.กรอบแผนงานภาคประชาชน

หัวใจสำคัญที่สุดของการขับเคลื่อน แผนงานจะต้องมีการริเริ่ม เสนอแนะ เพื่อให้ภาคีรัฐและเอกชนนำไปขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนโดยสูงสุด และวัดผลได้ในทางปฏิบัติแต่ละปี ในฐานะที่ภาคประชาชนเป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” โดยข้อกังวลหรือความห่วงใยของประชาชน จะต้องได้รับตอบสนองทุกประเด็น 

2.กรอบแผนเอกชน

นิคมอุตสาหกรรมจะนะ - เพื่อผลิตสินค้าจากทรัพยากรในท้องถิ่น เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ รวมทั้งเป็นแหล่งผลิตสินค้าที่นำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ซึ่งนำเข้าและส่งออกผ่านทางท่าเรือเพื่อการขนส่งและการท่องเที่ยว 

ส่วนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ประกอบด้วย อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร กิจการคมนาคมขนส่งเชิงพาณิชย์แบบครบวงจร การท่องเที่ยวและบริการ อุตสาหกรรมผลิตกังหันลมและเครื่องกำเนิดไฟฟ้า การผลิตหัวรถจักรและแคร่ขนตู้สินค้า และอุตสาหกรรมผลิตรถไฟฟ้า (EV Car) เป็นต้น

พลังงานไฟฟ้าทางเลือก (Energy Complex) - สร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มอย่างน้อย 2,813 เมกะวัตต์ รองรับการเจริญเติบโตและความต้องการใช้ไฟฟ้าของภาคใต้ในอนาคตอย่างเพียงพอ โดยเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานธรรมชาติ หรือ โรงไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเท่านั้น 

ท่าเรือเพื่อการพาณิชย์และการท่องเที่ยว - พร้อมระบบคมนาคมขนส่งแบบครบวงจร การสร้างรางรถไฟเชื่อมโยงระหว่างท่าเรือเขตพื้นที่เศรษฐกิจ และเขตการค้าชายแดน เพื่อเพิ่มทางเลือกการเดินทาง และการขนส่งสินค้า ทั้งภายในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน

การบริหารจัดการ ด้านนํ้า และสิ่งแวดล้อม - เพื่อป้องกันปัญหานํ้าเสีย และผล กระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล และการพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

กองทุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้

3.แผนดำเนินการของรัฐ

      แผนงานบูรณาการทุกด้าน เพื่อสนับสนุนโครงการ เบื้องต้นจะเป็นการให้สิทธิประโยชน์ ตามที่มีการใช้ในพื้นที่เมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” แล้ว เช่น การรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ การอุดหนุนเบี้ยประกันภัยครึ่งหนึ่งให้เอกชน สิทธิประโยชน์ภาษีและการเงิน การลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธินิติกรรม เป็นต้น