ในส่วนของภาคอสังหาริมทรัพย์นั้น ครึ่งปีแรกเห็นเจ้าตลาดหลายค่ายปรับตัว ตลอดจนมีการจัดทำโปรโมชั่นและแคมเปญพิเศษเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ ซึ่งกระแสตอบรับดีเกินคาด สะท้อนได้จากยอดขายและยอดโอนตามที่ประกาศกัน และแน่นอนคาดว่าจะส่งผลถึงปัจจุบัน เห็นได้จากจำนวนลูกค้าที่เข้ามาเยี่ยมชมโครงการอย่างต่อเนื่อง
แต่ประเด็นที่หลายฝ่ายยังคงเป็นกังวลนั่นก็คือ การอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงินที่จะอนุมัติให้รายย่อยได้ยากขึ้นหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีมาตรการ LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ยังควบคุมอยู่ ซึ่งล่าสุดก็มีผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายรายเริ่มออกมาแสดงความเห็นให้หน่วยงานกำกับดูแลพิจารณาปรับกฎเกณฑ์เหล่านี้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เพื่อพยุงไม่ให้เกิดการชะงักของกำลังซื้อในภาคอสังหาริมทรัพย์
ถึงแม้ว่าจะเห็นข่าวผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายรายชะลอการเปิดโครงการ หรือต้องแบ่งที่ดินในมือออกมาขายเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ธุรกิจ แต่อย่างไรก็ตาม ภาคอสังหาฯ เองก็ยังไม่ถึงกับหมดหวัง
ล่าสุดก็ได้เห็นข่าวการทำลายสถิติใหม่ของราคาที่ดิน ย่าน CBD บน ถ.สารสิน ที่ตารางวาละ 3.9 ล้านบาท ภายใต้แผนที่จะนำที่ดินไปพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมระดับบน นั่นถือเป็นสัญญาณว่าธุรกิจอสังหาฯยังมีทิศทางให้เดินหน้าต่อได้ หากผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รู้จักกลุ่มเป้าหมายอย่างดี สามารถพัฒนาเจาะไปยังกลุ่มที่มีกำลังซื้อ บนทำเลที่ยังคงเป็นที่ต้องการ ก็ยังมีโอกาสสำหรับให้เดินหน้าต่อเสมอแม้ในยามวิกฤติ
นอกเหนือจากนี้ มองว่ายังเป็นโอกาสของกลุ่ม Real Demand ที่ซื้อเพื่ออยู่เอง และซื้อเพื่อลงทุนระยะยาว เห็นได้จากข้อมูลการสำรวจรอบล่าสุดของพลัสฯ พบว่าผลตอบแทนการลงทุนเพื่อปล่อยเช่าในพื้นที่กรุงเทพฯ และพื้นที่โดยรอบเฉลี่ยอยู่ที่ 4-5% ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบัน ดังนั้นในช่วงที่ผู้ประกอบการเร่งระบายสต็อกเช่นนี้ จึงถือเป็นโอกาสทองสำหรับคนที่มีความพร้อมในการซื้อและการลงทุนเพื่อรอทำกำไรในอนาคต
ทั้งนี้ แม้หลายภาคส่วนจะออกมาให้ความเห็นว่าวิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างและรุนแรงกว่าวิกฤติปี 2540 แต่ในส่วนของภาคอสังหาฯของไทยมองว่าหลายบริษัทมีการปรับตัวได้ทัน โดยเฉพาะบริษัทใหญ่ๆ ที่สามารถรับมือได้ดี ก็น่าจะร่วมกันฝ่าวิกฤติในครั้งนี้ไปได้ เพราะบริษัทอสังหาริมทรัพย์ปัจจุบันส่วนใหญ่ล้วนเคยผ่านวิกฤติปี 2540 และได้รับบทเรียนมาแล้ว
จะเห็นได้จากสัดส่วนหนี้สินต่อทุนของบริษัทต่างๆ ไม่ได้อยู่ในระดับสูงและไม่ใช่หนี้จากการกู้ยืมมาจากต่างประเทศเช่นก่อน จึงประเมินได้ว่าทิศทางตลาดอสังหาฯ จะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากปัจจัยบวกคืออัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำมากเป็นประวัติการณ์ ตลอดจนมาตรการการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์และค่าจดจำนองสำหรับที่อยู่อาศัยไม่เกิน 3 ล้านบาท ที่จะสิ้นสุดปลายปี 63 นี้
อีกทั้งโปรโมชั่นและแคมแปญที่พิเศษสุดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน จะส่งผลให้กำลังซื้อและความเชื่อมั่นผู้บริโภคกลับคืนมา อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่าภาครัฐและสถาบันการเงินอาจจะมีการพิจารณาผ่อนเกณฑ์บางประการเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในปัจจุบันเช่นกันครับ
SOURCE : www.bangkokbiznews.com/news/detail/890591?utm_source=category&utm_medium=internal_referral&utm_campaign=business