สถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ยังคงมีความน่ากังวลต่อเนื่อง จากผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด 19 ที่หลายฝ่ายคาดว่ากว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวคงใช้เวลานาน

 

       ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า “ในช่วงครึ่งปีหลัง จะต้องลุ้นหรือคอยจับตา 3 เรื่อง คือ 1.สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 เพราะแม้ในไทยจะไม่มีผู้ติดเชื้อต่อเนื่องกว่า 60 วันแล้วแต่อัตราการติดเชื้อในโลกยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง วันละกว่า 200,000 คน ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อรวมแล้วกว่า 17 ล้านคน และมีความเสี่ยงที่บางพื้นที่อาจจะมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก การพัฒนาวัคซีนสำเร็จน่าจะเกิดขึ้นหลังต้นปีหรือกลางปีหน้า ทำให้ยังไม่สามารถวางใจได้ว่าสถานการณ์จบลงเมื่อไร แต่อาจจะคาดได้ว่าเศรษฐกิจโลกโดยรวมน่าจะผ่านช่วงที่เลวร้ายที่สุดไปแล้ว 

         2.เศรษฐกิจไทยอาจจะยังโตต่ำกว่าศักยภาพไปอีกสักระยะหนึ่ง เพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งพิงการท่องเที่ยวจากต่างชาติค่อนข้างมาก และการใช้จ่ายจากนักท่องเที่ยวต่างชาติคิดเป็นถึงร้อยละ 12 ของจีดีพี มาตรการปิดเมืองทั้งในและต่างประเทศ ย่อมจะกระทบถึงธุรกิจและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยว คาดว่าอาจจะมีจำนวนคนว่างงานสูงสุดถึง 5 ล้านคน ซึ่งจะส่งผลไปถึงความสามารถในการจ่ายคืนหนี้ของทั้งธุรกิจและครัวเรือน จนกลายเป็นปัญหาใหญ่ของทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้ได้ ปัจจุบันมีลูกค้าสถาบันการเงินถึง 12.8 ล้านบัญชีหรือมูลค่าหนี้กว่า 6.9 ล้านล้านบาท หรือหนึ่งในสามของหนี้รวมทั้งระบบที่ได้รับความช่วยเหลือผ่านการปรับโครงสร้างหนี้อยู่

      และ 3.การอัดฉีดของภาครัฐ แม้ในระยะเวลาที่ผ่านมา การช่วยเหลือจากธนาคารกลางและรัฐบาล จะช่วยพยุงสถานการณ์ของเศรษฐกิจโลก และตลาดการเงินได้ แต่ปัจจุบันรัฐบาลทั่วโลกอัดฉีดเงินไปแล้วกว่า 11 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทยเองก็อาจจะเพิ่มจากร้อยละ 41 ในปี 2562 ไปถึงร้อยละ 60 ในปีหน้า

        ซึ่งอาจจะเป็นข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายในอนาคต นอกจากนี้ อีกสองปัจจัยเสี่ยงที่ควรต้องระวัง คือความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ทวีความรุนแรงขึ้น และการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่อาจจะนำไปสู่ความไม่แน่นอนด้านนโยบาย และอาจมีผลต่อนโยบายเศรษฐกิจไทย เช่น การตัดสินใจเข้าร่วม CPTPP (Comprehensive and Progressive Trans-pacific Partnership) หรือความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกของไทย”