เปิดผลการศึกษามุมมองทางสังคมและ "การเมือง" ของวัยรุ่น ที่แสดงให้เห็นว่าต่าง "Gen" ก็ต่างความคิด วัยรุ่นยุคนี้ไม่ได้ก็อปปี้ความคิดจากพ่อแม่อีกแล้ว และไม่มีทางที่จะเป็นเช่นนั้น

เราไม่ควรวาดหวังด้วยพู่กันเบอร์เดียว 

...............................................

เชื่อว่าคนวัยผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อยที่มีอารมณ์ร่วมกับเหตุการณ์บ้านเมืองในช่วงนี้ ไม่พอใจการเคลื่อนไหวของนักเรียนนักศึกษาเอามากๆ ทำให้เราได้เห็น การด่าทอ ตำหนิติเตียน บางคนลุกลามไปถึงการข่มขู่ อาฆาต อยู่เกลื่อนโซเชียลมีเดีย

ความขัดแย้งทางความคิดและการแสดงออกทางการเมืองในวันนี้ ทำให้สังคมไทยได้เห็นภาพของการแบ่งรุ่น แยกวัย แตกความคิด อย่างชัดเจน ฝ่ายหนึ่งยืนยันสถานะของตัวเองที่มีมาแต่ดั้งเดิม ขณะที่อีกฝ่ายยึดมั่นในสิทธิของการเป็นมนุษย์ที่สามารถกำหนดอนาคตของตัวเองได้

ไม่ต้องสงสัย ฝ่ายแรกคือคนวัยผู้ใหญ่ รุ่นพ่อรุ่นแม่ เรามักจะอ้างเสมอว่าการได้รับบทบาทหน้าที่ของการเป็นพ่อเป็นแม่นั้น คือการเป็นผู้ให้หรือผู้หยิบยื่นสิ่งดีๆ ให้กับลูก ไม่เว้นแม้คำสั่งสอน ลูกจะต้องเชื่อฟังโดยดี เพราะทุกๆ คำสอนมีแต่เรื่องดีๆ ที่ได้มาจากความรู้และประสบการณ์มานับไม่ถ้วน ดังนั้นจงอย่าปฏิเสธในสิ่งที่พ่อแม่สอน

ขณะเดียวกันผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อย มักอ้างสิทธิของความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ ใครหรือผู้ใดมาแตะต้อง เปลี่ยนแปลงหรือรื้อสร้างสิ่งที่ตัวเองเชื่อมาแต่เดิม ก็จะแสดงออกดังปีศาจร้ายขึ้นมาทันที

ฝ่ายคนรุ่นใหม่นั้น ดังที่เราเห็นกัน คือแรงดี มีอารมณ์ร่วมสูง เสียงดัง พูดชัด ข้อเสนอง่ายๆ ตรงๆ ไม่ต้องตีความให้เยิ่นเย้อเสียเวลา ซึ่งความแรงเหล่านี้เองที่ชวนให้เกิดอาการหมั่นไส้ในหมู่คนรุ่นเก่าๆ ทั้งหลาย ที่ไม่เข้าใจว่าจะออกมาเรียกร้องทำไมกัน

การด่าทอว่า “ไอ้ลูกพ่อแม่ไม่สั่งสอน” หรือ “ถ้าพวกแกคิดได้แค่เสี้ยวหนึ่งอย่างพ่ออย่างแม่ ก็คงไม่เป็นแบบนี้” ซึ่งคำพูดเหล่านี้มาจากข้อสันนิษฐานที่เราเชื่อต่อๆ กันมาว่า ลูกไม้ย่อมหล่นไม่ไกลต้น รวมถึงความคิดอ่าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสังคมหรือการเมือง มักได้รับการถ่ายทอดจากพ่อแม่ของตัวเอง

ถ้าเป็นเมื่อก่อน หรือกับคนรุ่นพ่อสมัยยังเป็นวัยรุ่นนั้น ข้อสันนิษฐานนี้ยังใช้ได้ หรือถ้าย้อนไปซัก 10 ก่อนก็ยังคงใช้ได้อยู่ ดังเช่นการสำรวจมุมมองทางสังคมและการเมืองของวัยรุ่นอเมริกัน โดย Gallup เมื่อปี 2005 พบว่า 1 ใน 5 (21 เปอร์เซ็นต์) บอกว่าพวกเขาเป็นลิเบอรัลมากกว่าพ่อแม่ และอีก 7 เปอร์เซ็นต์ บอกว่าเป็นพวกอนุรักษ์นิยม ขณะที่วัยรุ่น 7 ใน 10 คน (71 เปอร์เซ็นต์) กล่าวว่า อุดมการณ์ทางสังคมและการเมืองของพวกเขาเหมือนกับพ่อแม่

แต่เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี อะไรๆ ก็เกิดการเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเทคโนโลยีการสื่อสาร ทำให้องค์ความรู้ต่างๆ หาได้ง่ายๆ

American Sociological Review จึงนำเสนอรายงานการสำรวจเมื่อปี 2015 พบว่าวัยรุ่นมากกว่าครึ่ง ไม่รับรู้หรือสัมผัสถึงอุดมการณ์ทางการเมืองของผู้เป็นพ่อแม่ได้เลย หรือพูดง่ายๆ วัยรุ่นยุคปัจจุบัน ไม่สนใจอีกต่อไปว่าพ่อแม่ของตัวเองจะมีอุดมการณ์แบบไหน

การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าวัยรุ่นไม่ได้ก็อปปี้ความคิดจากพ่อแม่อีกแล้ว เพราะพวกเขาเข้าถึงแหล่งข้อมูลต่างๆ ได้หลากหลายช่องทาง พวกเขาจึงมีความเป็นตัวของตัวเองสูง สามารถติดตั้งกรอบคิดของตัวเอง และเมื่อถึงจังหวะจึงแยกตัวออกจากพ่อแม่ด้วยวิธีการที่พวกเขาเลือกเอง

อย่างไรก็ตามในรายงานฉบับดังกล่าว ได้ให้ข้อเสนอแนะว่า การปฏิเสธที่จะเป็นอย่างพ่ออย่างแม่ หรือการค้นหาตัวตน ล้วนเป็นเรื่องธรรมชาติของการเจริญเติบโต หากลูกๆ ของคุณ เติบโตมาเป็นแบบนี้ พ่อแม่ต้องภูมิใจในตัวเอง ว่าเลี้ยงลูกมาถูกทางแล้ว

เหตุนี้ “เพียงเพราะพวกเขายังเด็ก จึงไม่ใช่เหตุผลว่าสิ่งที่พวกเขาเชื่อนั้น ผิดโดยอัตโนมัติ ซึ่งการยอมรับฟังในเสียงของคนหนุ่มสาวเป็นสิ่งสำคัญ เราไม่ควรเลือกปฏิบัติต่อพวกเขาเพียงเพราะอายุ

แม้การศึกษานี้ เป็นของคนฝากฝั่งอเมริกา แต่สามารถนำมาอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านเราได้เป็นอย่างดี อย่างน้อยคำว่า “เบ้าหลอม” ที่ใช้กันบ่อยๆ เพื่อให้เด็กๆ และเยาวชนคนรุ่นใหม่อยู่ในรูปในรอยอย่างผู้ใหญ่ต้องการนั้น อาจจะต้องทบทวนกันใหม่ ว่ามีสิ่งใดที่เหมาะกับยุคสมัยบ้าง

ผู้ใหญ่อย่าได้หลอกตัวเองเลยว่าเก่ง เด็กๆ รุ่นใหม่เก่งกว่าเราเยอะมาก หากนึกไม่ออกว่าเก่งอย่างไร ก็ลองนึกถึงวันที่สอนการบ้านลูก เชื่อว่าพ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนไม่น้อย ต้องอยู่ในอาการตะลึง นึกไม่ถึงว่าลูกตัวเองจะเรียนอะไรขนาดนี้ และแน่นอน! เราช่วยลูกแก้โจทย์ยากๆ แบบนี้ ไม่เคยได้

ยังไม่นับรวมการใช้แอพพลิเคชั่นยากๆ บนโทรศัพท์มือถือ หรือการตัดต่อวิดีโอที่ทำได้อย่างน่าทึ่ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้หาได้ยากมากๆ ในคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันแล้ว เรื่องพวกนี้ คือทักษะพื้นฐานมากๆ

ดังนั้นช่วงเวลานับจากนี้ จึงเป็นเวลาของพวกเขา ผู้ใหญ่เป็นเพียงอดีตที่ให้เด็กๆ ได้ก้าวผ่านและเรียนรู้ เราจึงไม่ควรวาดหวังในตัวเด็กๆ หรือลูกๆ ของเราด้วยพู่กันเบอร์เดียว เพราะมันไม่เข้ายุคเข้าสมัย และไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิตในอนาคตของพวกเขา

ต่อไปข้างหน้า เราไม่มีทางรู้ได้ว่าโลกจะเปลี่ยนไปแค่ไหน การโอบกอดโลกใบเก่าที่ผุพังและไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของคนรุ่นต่อไป นับเป็นการเห็นแก่ตัวอยู่ไม่น้อย ทั้งๆ ที่รักษาไว้ก็หาใช่จะได้ประโยชน์อะไร วันๆ ได้แต่นับถอยหลังรอวันจากไป-แค่นั้น

หนทางที่สวยงามและพึงทำ คือการประคับประคองเด็กๆ ของเราให้มีก้าวย่างที่มั่นคง รับฟังพวกเขาอย่างมีวุฒิภาวะ พูดคุยและแลกเปลี่ยนอย่างสร้างสรรค์

อนาคตเป็นของพวกเขา เราคือผู้เฝ้ามอง

SOURCE : www.bangkokbiznews.com