ในไตรมาส 1/2563 ที่ผ่านมาตลาดอสังหาฯชะลอตัวลงอย่างเห็นชัดเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด ผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจซื้ออสังหา ทำให้ในไตรมาสที่ 2/2563 Developer ต่างก็ออกแคมเปญหรือโปรโมชั่นต่างๆ เพื่อกระตุ้นยอดขายและยอดโอน มีการปรับกลยุทธ์ในการขายเพื่อประคองผลประกอบการและรับมือกับเศรษฐกิจในยุคโควิด

               TerraBKK ขอสรุปผลประกอบการในไตรมาสที่ 2/2563 เพื่อดูผลการดำเนินงานของบริษัทอสังหาฯที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ จากข้อมูลในตลาดหลักทรัพย์และการประกาศของแต่ละบริษัท ดังนี้

รายได้รวม

               ผู้ประกอบการที่มีรายได้มากที่สุดในไตรมาสนี้ ได้แก่

               แสนสิริ มีรายได้เท่ากับ 11,306 ล้านบาท รายได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้วและไตรมาสแรกของปีนี้ จากกลยุทธ์ “Cash is King” ที่ทำแคมเปญและโปรโมชั่นส่งเสริมการขายระบายของเก่าออกจากสต๊อก ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยเฉพาะโครงการแนวราบที่มียอดขายและโอนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มทาวน์โฮมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 242%(QoQ) ในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าแสนสิริ ประกาศ Soldout ไปหลายโครงการแล้ว

               Land and Houses มีรายได้ 8,299 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วและไตรมาสแรกของปีนี้ จากยอดขายโครงการแนวราบเป็นหลักโดยเฉพาะกลุ่มบ้านเดี่ยว และมี Backlog ของแนวราบรอโอนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการเปิดตัวโครงการแนวราบเพิ่มมากขึ้นเพื่อเน้นกลุ่มลูกค้า Real Demand

               Ap Thailand รายได้เท่ากับ 7,809 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่นจากการทำสถิติยอดขายโครงการแนวราบได้สูงที่สุดในประวัติการณ์ของบริษัท เน้นเปิดตัวโครงการแนวราบจับกลุ่ม Real Demand และมีคอนโดที่ soldout ไปหลายโครงการเช่น Life ปิ่นเกล้า, Life Sukhumvit 62, Aspire งามวงศ์วาน ฯ เป็นต้น

               พฤกษา รายได้รวมเท่ากับ 6,224 ล้านบาท ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส2 ของปีที่แล้วและไตรมาสก่อนหน้า เกิดจากโครงการแนวราบที่เน้นลูกค้ากลุ่มกลาง-ล่าง มีกำลังซื้อลดลง อีกทั้งยังมีผู้ประกอบการเจ้าอื่นก็หันมาทำตลาดแนวราบมากขึ้นเพราะพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้พฤกษาเสียส่วนแบ่งการตลาดไป รายได้จากการโอนลดลงเนื่องจากไม่มีโครงการคอนโดที่สร้างเสร็จพร้อมโอนในช่วงนี้ มีการยกเลิกขายโครงการและมีการประกาศขายที่ดินในการพัฒนาไปหลายแปลง

               SC asset รายได้อยู่ที่ 4,569 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นทั้ง YoY และ QoQ จากการโอนโครงการแนวราบและ Backlog ของคอนโดฯที่รับรู้รายได้ภายในปีนี้ และล่าสุด Sc asset ได้มีการปรับเพิ่มเป้าหมายยอดขายและรายได้เป็น 1.7 หมื่นลบ. (จากเดิม 1.6 หมื่นลบ.)

               หากมองเรื่องการเติบโตของรายได้ จะเห็นได้ว่า Noble รายได้เติบโตอย่างก้าวกระโดด เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว มาจากการเร่งยอดขายและยอดโอนโครงการที่สร้างเสร็จพร้อมโอน นอกจากนี้ยังเปิดตัวโครงการที่ราคาต่ำกว่า 5 ล้านบาท (ก่อนหน้านี้เน้นคอนโดระดับ Middle to high) และถึงแม้จะอยู่ในช่วงโควิดแต่ก็สามารถสร้างยอดขายจากตลาดต่างชาติได้ ประมาณ 27% จากยอดขายทั้งหมด

กำไรสุทธิ และ Net Profit Margin

               บริษัทที่มีกำไรสุทธิมากที่สุด อันดับ 1 ยังคงเป็น Land and houses เรียกได้ว่ากำไรสูงกว่าที่ตลาดคาดแต่หากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วกำไรลดลง -25.2% เป็นผลมาจากธุรกิจโรงแรมและส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมทุนที่ลดลง

               AP Thailand กำไรสุทธิเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่นในวิกฤต Covid-19 ในครึ่งปีที่ผ่านมาเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากยอดขายโครงการแนวราบและยอดโอนจากคอนโดร่วมทุน(JV) ที่เติบโตขึ้น กำไรส่วนแบ่งจากโครงการร่วมทุน ส่วนใหญ่มาจากโครงการ Life ลาดพร้าว และ Life one wireless และมีการควบคุมค่าใช้จ่ายในการขายโดยเน้นการทำการตลาดแบบออนไลน์ 

               Origin กำไรสุทธิเพิ่มสูงขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าเป็นผลมาจากการเร่งระบายสต๊อก ทำให้ปิดการขายได้ในหลายโครงการ ล่าสุดก็สามารถปิดการขาย The Origin อ่อนนุช ได้ภายใน 2 วันและมีการควบคุมค่าใช้จ่ายโดยการขายผ่าน Platform Online ที่ช่วยลดต้นทุนในการสร้างสำนักงานขาย

               Sena กำไรสุทธิเติบโตเพิ่มขึ้น 92.8% เมื่อเทียบกับ Q2/2562 ส่วนใหญ่มาจากส่วนแบ่งกำไรจากยอดโอนของโครงการร่วมทุนที่มีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงสิ้นปีที่แล้ว จากโครงการ นิช โมโน สุขุมวิท-แบริ่ง และโครงการ นิช ไพรด์เตาปูน อินเตอร์เชนจ์ 

               สำหรับแสนสิริที่แม้กำไรสุทธิจะลดลงจากไตรมาส 2 ของปีที่แล้ว แต่ก็เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีนี้ หากดูที่ Net profit margin หรือความสามารถในการทำกำไร จะพบว่าอยู่ในอัตราที่ต่ำ การลดราคาเพื่อแลกกับยอดขายทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นส่งผลให้กำไรขั้นต้นลดลง นอกจากนี้ดอกเบี้ยยังเพิ่มสูงขึ้นจากการที่ชะลอเปิดตัวโครงการใหม่ที่ดินบางส่วนจึงไม่ได้ถูกนำมาพัฒนาโครงการ

               Ananda ตัวเลขที่ติดลบถึง 545 ล้านบาท ขาดทุนจากการประเมินต้นทุนที่ต่ำไปสำหรับธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง แต่ในไตรมาสนี้ยอด Presale ทำได้สูงกว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้ เป็นยอดขายจากโครงการแนวราบและคอนโดมิเนียม(โดยเฉพาะทำเลแนวรถไฟฟ้า) 

Revenue Performance and Target (MB)

               ผ่านไปแล้วครึ่งปี เมื่อเปรียบเทียบความสามารถในการสร้างรายได้จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ เพื่อดูว่าในแต่ละบริษัททำรายได้ไปแล้วเท่าไหร่และจะต้องสร้างอีกเท่าใดเพื่อให้ถึงเป้าหมาย จะพบว่าบริษัทที่ทำรายได้จากเป้าหมายมากที่สุดได้แก่ แสนสิริ ทำไปได้ 54 % จากเป้าหมาย รองลงมาก็คือ Land and houses 51%, SC Asset 44%, Property Perfect 41%, Origin 36%, LPN 34% ซึ่งเท่ากับ Noble และ Phuksa, Ap 33%, Lalin 32%, Supalai 29%, Sena 19% และ Ananda 14%  โดยบริษัทที่สามารถทำรายได้ในสัดส่วนที่สูงได้ ทำให้ในอีกครึ่งปีไม่เหนื่อยมากในการสร้างรายได้เพื่อให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องรอติดตามสถานการณ์ว่าจะมีบริษัทไหนปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการดำเนินงานประกาศเพิ่ม-ลดเป้าหมายหรือไม่อย่างไร 

               แม้ผลประกอบการในไตรมาสนี้ จะลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสแรกของปีนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด ก็ถือว่าผลประกอบการมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเพราะ Developer ต่างๆ มีการปรับตัวเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ในวิกฤตโควิดนี้ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็คงต้องติดตามผลประกอบการในครึ่งปีหลังกันต่อไป จับตาดูว่า Developer แต่ละเจ้าจะมีกลยุทธ์และแนวทางในการดำเนินงานอย่างไร เพื่อให้อยู่รอดต่อไปในท่ามกลางเศรษฐกิจในวิกฤตโควิด