ดร.ประเสริฐ ปิ่นงาม (Ph.D., TREES-A NC)

วท.บ. สาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล

ข่าวการเสียชีวิตของคุณปทุมวดี เค้ามูลคดี ด้วยโรคไทรอยด์และเอแอลเอส (ALS) เมื่อวันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา ในฐานะที่ได้เห็นผลงานของคุณรองและคุณปทุมวดี มาตั้งแต่เด็ก ๆ และก็ชื่นชมทั้งสองท่านเป็นการส่วนตัว จึงขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของเค้ามูลคดีไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะครับ โดยที่ก่อนหน้านี้แทบจะไม่รู้จักกับโรคเอแอลเอสเลย จึงได้ทำการสืบค้นสาเหตุที่มาของโรคนี้ด้วยความตั้งใจ โดยสิ่งที่ค้นพบทำให้รู้สึกว่าต้องนำมาเผยแพร่ให้ทราบกันโดยทั่วไปเพราะมีสาเหตุบางประการของโรคเอแอลเอสที่พวกเราสามารถที่จะวางแผนป้องกันด้วยวิธีง่ายๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ โรคเอแอลเอส (ALS, Amyotrophic Lateral Sclerosis) หรือที่เรียกกันว่าโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง  ไม่ใช่โรคของกล้ามเนื้อโดยตรง แต่เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ประสาทนำคำสั่ง แล้วส่งผลทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงเนื่องจากขาดเซลล์ประสาทนำคำสั่งมาควบคุม ซึ่งเซลล์เหล่านี้มีอยู่ในไขสันหลังและสมอง โดยที่เซลล์ประสาทนำคำสั่งเหล่านี้ค่อยๆเกิดการเสื่อมและตายไปในที่สุด และเนื่องจาก ALS เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ประสาทนำคำสั่ง จึงมีอีกชื่อเรียกว่า “โรคของเซลล์ประสาทนำคำสั่ง (motor neuron disease; MND) หรือ โรคเซลล์ประสาทนำคำสั่งเสื่อม” โดยที่ในปัจจุบันสาเหตุของโรคยังไม่ทราบแน่ชัดว่าว่าเกิดจากสาเหตุใด ได้แต่สมมติฐานกันว่าเกิดจากหลายเหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคร่วมกัน เช่นปัจจัยทางพันธุกรรมปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมที่มีการปนเปื้อนของสารพิษ ร่วมกับอายุที่สูงขึ้นตามกาลเวลาทำให้เกิดการเสื่อมสลายของเซลล์ โดยเฉพาะการเสื่อมของหรือมีความผิดปกติของไมโทคอนเดรีย (mitochondria) เป็นต้น แต่สมมติฐานเหล่านี้ก็ยังไม่ได้รับการพิสูจน์แน่ชัด (https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel)

อย่างไรก็แล้วแต่มีข้อมูลที่เผยแพร่โดย ALS THERAPY DEVELOPMENT INSTITUTE ออกมาระบุว่าความบกพร่องของไมโทคอนเดรียคือสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรค ALS โดยได้พบว่าไมโทคอนเดรียของคนที่เป็นโรคจะแตกต่างจากคนที่สุขภาพแข็งแรงโดยทั่วไป โดยคนที่เป็นโรค ALS ไมโทคอนเดรียจะมีลักษณะของการบวมโตและขยายตัวจนกระทั่งแตกได้ในที่สุด ดังรูป

รูปเปรียบเทียบไมโทคอนเดรียของคนที่เป็นโรค ALS กับคนที่สุขภาพแข็งแรง (https://www.als.net/news/als-more-than-a-power-play)

ด้วยความเจริญก้าวหน้าของการวินิจฉัยโรคในระดับของโมเลกุลหรือภายในเซลล์ (Intercellular treatment)ทำให้พบว่าความผิดปกติของไมโทคอนเดรีย นอกจากเกี่ยวข้องโรค ALS แล้ว ยังพบว่าโรคที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันล้วนเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของไมโทคอนเดรียร่วมด้วยทั้งสิ้น อาทิเช่นโรคเกี่ยวกับระบบประสาท อัลไซเมอร์ พาร์คินสัน โรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ โรคอ้วน โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและมะเร็งเป็นต้น ถึงแม้ว่าในบ้างกรณีความรู้ความเข้าใจที่ชัดเจนยังไม่แจ่มแจ้งมากนัก ระหว่างความผิดปกติของไมโทคอนเดรียกับการเกิดโรคว่าสิ่งใดเป็นสาเหตุสิ่งใดเป็นผลกันแน่ ซึ่งเรื่องนี้ยังคงต้องทำการศึกษาวิจัยกันต่อไป อย่างไรก็แล้วแต่ สิ่งนี้จึงกลายเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่พวกเราควรที่จะรู้จักไมโทคอนเดรียกันให้มากกว่าเดิมเพราะว่าไมโทคอนเดรียที่ถือว่าเป็นอวัยวะที่อยู่ภายในเซลล์ของพวกเรานี้ โดยแท้จริงแล้วมีหน้าที่และมีกลไกการดำรงอยู่ที่เป็นวิวัฒนาการของตนเอง ซึ่งถ้าเรารู้จักและเข้าใจวงจรการทำหน้าที่ของไมโทคอนเดรียเป็นอย่างดี เราก็จะรู้วิธีที่ทำให้สุขภาพโดยรวมของเราแข็งแรงและมีอายุยืนยาวมากขึ้น และที่สำคัญที่สุดวิธีการที่จะทำให้ไมโทคอนเดรียแข็งแรงและสามารถทำหน้าที่ของตัวเองให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ก็เป็นวิธีการที่ง่าย ไม่มีค่าใช้จ่ายใดทั้งสิ้น เพียงแค่ว่าต้องตัดสินใจเริ่มต้นในวันที่เรายังสามารถ คิด จดจำ เดิน วิ่ง นอน หายใจและกินได้ตามปกติแค่นั้นเองเพราะถ้าตัดสินใจช้ากว่านั้นกระบวนการต่าง ๆอาจจะยากกว่าเดิมหลายเท่าตัว จึงขอแนะนำว่าให้มาเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ หลังจากที่ได้อ่านบทความนี้จบกันเลยนะครับ

กำเนิดไมโทคอนเดรีย ต้นตระกูลที่แท้จริงของมนุษย์ สัตว์และพืช

ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์จำแนกสิ่งมีชีวิตเป็น 3 โดเมน คือ แบคทีเรีย อาร์เคีย(Archaea)และยูคาเรีย(Eukarya) โดยที่แบคทีเรียและอาร์เคียเป็นสิ่งมีชีวิตพวกโปรคาริโอต (Prokaryote) คือเป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวและไม่มีเยื่อหุ้มนิวเคลียส โดยชาร์ล ดาร์วินและอัลเฟรด วอลเลซ ได้พยายามที่จะอธิบายกระบวนการวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตต่างๆว่ามีกระบวนการอย่างไร ว่าทำไมสิ่งมีชีวิตต่างๆจึงแตกต่างกัน ซึ่งก็สามารถทำให้เกิดเป็นองค์ความรู้ที่ต่อยอดมาจนถึงปัจจุบันมากมาย แต่ที่ผ่านมาดาร์วินก็ยังไม่รู้ว่าความแปรผันของสิ่งต่างๆเหล่านั้นถูกสร้างขึ้นมาได้อย่างไร หรือความผันแปรเหล่านั้นถูกถ่ายทอดจากรุ่นพ่อแม่ไปยังลูกหลานได้อย่างไร แต่ก็ถือได้ว่าทฤษฎีของชาร์ล ดาร์วินประสบความสำเร็จในการอธิบายกระบวนการวิวัฒนาการที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงจากภายนอกเซล สิ่งที่ยังไม่สามารถอธิบายได้อย่างชัดเจนคือเรื่องของการเกิดขึ้นของสปีชีส์ใหม่ โดยชาร์ล ดาร์วินอธิบายไว้ว่าการเกิดขึ้นของสปีชีส์ใหม่เกิดขึ้นจากการกลายพันธ์ทางพันธุกรรมแบบสุ่มอย่างค่อยๆเป็นค่อยๆไป โดยที่แนวคิดนี้ไม่สามารถหาหลักฐานประกอบได้อย่างเป็นทางการจึงทำให้เรื่องนี้ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่ง Dr. Lynn Margulis ได้สร้างทฤษฎี Endosymbiosis  ของสิ่งมีชีวิตขึ้นมาใหม่ซึ่งสามารถให้คำตอบเรื่องนี้ไว้ได้อย่างชัดเจนและในวันนี้วันที่เทคโนโลยี่การหาลำดับดีเอ็นเอในพืช สัตว์และจุลินทรีย์เจริญก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดด การเข้าใจกลไกของวิวัฒนาการ การทำหน้าที่วงจรการถ่ายทอดสสารและพลังงานในระดับจุลภาคหรือระดับภายในเซลล์ก็ชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยสิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือความหลากหลาย ความผันแปรหรือวิวัฒนาการที่เกิดขึ้นในสิ่งมีชีวิตจากรุ่นสู่รุ่น ไม่ได้เกิดขึ้นจากปัจจัยของการส่งต่อสารพันธุกรรม(Gene)จากกระบวนการสืบพันธ์แบบอาศัยเพศเท่านั้น แต่วิวัฒนาการในระดับจุลภาคจะเกิดขึ้นได้จากปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ(Epigenetics)ที่หลากหลายร่วมด้วย โดยปัจจัยแวดล้อมหรือ Epigenetics หมายรวมถึงสภาพแวดล้อม สารเคมี สารพิษ ควันบุหรี่ อาหาร และความเครียดเป็นต้น โดยความรู้ความเข้าในระดับเซลล์เหล่านี้ ล้วนเกิดจากทฤษฎี Endosymbiosis ของ Dr.Lynn Margulis ที่อธิบายกลไกการกำเนิดของไมโทคอนเดรียและคลอโรพลาสไว้อย่างน่าสนใจดังนี้

จากรูปแสดงเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิตตั้งแต่แรกเริ่ม สามารถแบ่งเป็นช่วงเวลาตามหลักฐานของซากฟอสซิลที่ค้นพบได้ดังนี้

หลังจากกำเนิดโลกเมื่อ 4600 ล้านปีที่ผ่านมา ยุคแบคทีเรียที่ไม่ใช้ออกซิเจนก็เกิดขึ้นเมื่อ 3500 ล้านปี โดยที่ในช่วงนั้นชั้นบรรยากาศของโลกยังไม่มีออกซิเจนจึงทำให้สิ่งมีชีวิตในช่วงแรกนั้นมีแต่แบคทีเรียที่ไม่ใช้ออกซิเจนเกิดขึ้น แต่เมื่อเกิดมีแบคทีเรียสังเคราะห์แสงกำเนิดขึ้น แบคทีเรียกลุ่มนี้จะใช้แหล่งพลังงานจากแสงแดดมาผลิตเป็นน้ำตาลและได้ผลผลิตข้างเคียงออกมาเป็นออกซิเจนด้วย ซึ่งมีผลทำให้เกิดการสะสมของออกซิเจนในชั้นบรรยากาศมากขึ้นตามลำดับ ซึ่งออกซิเจนกลุ่มนี้เป็นพิษโดยตรงกับแบคทีเรียที่ไม่ใช้ออกซิเจน จึงทำให้แบคทีเรียกลุ่มที่ไม่ใช้ออกซิเจนตายลงอย่างมาก ซึ่งนำไปสู่กระบวนการปรับตัวครั้งยิ่งใหญ่ โดยหลังจากนั้นก็เป็นยุคแบคทีเรียที่ใช้ออกซิเจน ตามหลักฐานคาดกันว่าน่าจะมีอายุในช่วง 2,500 ล้านปีที่ผ่านมา ซึ่งเชื่อกันว่าหลังจากที่บรรยากาศเต็มไปด้วยออกซิเจนก็เกิดมีการปรับตัวทำให้แบคทีเรียกลุ่มที่สามารถใช้ออกซิเจนเกิดขึ้นและกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีการดำรงอยู่ได้จนถึงปัจจุบัน ซึ่งในการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นเรียกกันว่า Endosymbiosis ซึ่งก็คือกระบวนการที่สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ด้วยกัน โดยสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งเข้าไปอยู่อาศัยภายในอีกสิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่ง โดยแบคทีเรียสังเคราะห์แสงหรือกลุ่มของไซยาโนแบคทีเรีย เข้าไปอยู่ในแบคทีเรียตัวที่ใหญ่กว่าแล้วเปลี่ยนตัวเองจนกลายเป็นคลอโรพลาสในเซลล์ของพืช ส่วนแบคทีเรียที่ใช้ออกซิเจนเข้าไปอยู่ในแบคทีเรียตัวที่ใหญ่กว่าแล้วกลายเป็นไมโทคอนเดรียในเซลล์ของพืชและสัตว์ดังเช่นปัจจุบัน

รูปแสดงการกำเนิดของคลอโรพลาสและไมโทคอนเดรีย

ปัจจุบันความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวงจรชีวิตและกลไกการทำงานของไมโทคอนเดรียอยู่ในขั้นที่กำลังพัฒนาและเติบโตเพิ่มขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะความรู้เกี่ยวกับการทำหน้าที่ของไมโทคอนเดรียกับสุขภาพของพวกเรา ซึ่งถ้าเราเข้าใจเรื่องราวการกำเนิดขึ้นของไมโทคอนเดรียอย่างถ่องแท้ แล้วยอมรับว่าไมโทคอนเดรียก็คือสิ่งมีชีวิตอีกหนึ่งชีวิต ที่อาศัยอยู่ในเซลล์ของพวกเราทุก ๆเซลล์ การนิยามความหมายของคำว่าการดูแลสุขภาพนับต่อจากนี้เป็นต้นไปก็จะไม่เหมือนเดิมเพราะเราต้องรวมการดูแลสุขภาพ ชีวิตตัวน้อย ๆของไมโทคอนเดรีย ที่อาศัยอยู่กับเผ่าพันธ์มานานแสนนานควบคู่ไปด้วย

กลไกการทำหน้าที่ของไมโทคอนเดรียกับสุขภาพของมนุษย์

จากการกำเนิดของไมโทคอนเดรียที่อธิบายกระบวนการเปลี่ยนผ่านจากแบคทีเรียที่ใช้ออกซิเจนเข้าไปอาศัยอยู่ในเซลล์แบคทีเรียที่ใหญ่กว่าเมื่อหลายล้านปีที่ผ่านมา และด้วยวิวัฒนาการของกระบวนการอยู่อาศัยร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัย เจ้าตัวจิ๋ว (แบคทีเรียที่ใช้ออกซิเจน)ก็กลายเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของเซลล์ที่มีชื่อใหม่ที่เรียกกันว่าไมโทคอนเดรีย โดยไมโทคอนเดรียจะมี DNA ของตัวเองที่แตกต่างจาก DNA ของมนุษย์ และเนื่องจากไมโทคอนเดรียจะมีการถ่ายทอดมาจากแม่เท่านั้นปัจจุบัน จึงมีการใช้เรื่องนี้ในการศึกษาเรื่องการย้ายถิ่นฐาน ซึ่งจะได้ข้อมูลที่แม่นยำกว่าเดิม ส่วนประเด็นเรื่องของจำนวนไมโทคอนเดรียที่อยู่ในเซลล์ของมนุษย์นั้นก็น่าสนใจ มนุษย์โดยทั่วไปจะมีเซลล์ในร่างกายทั้งหมด 100 ล้านๆเซลล์นั้น แบ่งเป็นเซลล์ที่เป็นของมนุษย์จริง ๆ 10 ล้านๆเซลล์ ส่วนที่เหลือเป็นเซลล์ของจุลินทรีย์ โดยเซลล์ที่เป็นของมนุษย์นั้นก็จะมีจำนวนไมโทคอนเดรียที่อาศัยอยู่ในแต่ละชนิดของเซลล์ที่แตกต่างกันไป โดยทั่วไปสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวจะมีไมโทคอนเดรียเพียง 1 ตัวเท่านั้น ส่วนที่มีอยู่ในคนทั่วไปจะมีจำนวนไมโทคอนเดรียเฉลี่ยอยู่ที่ 1000-2000 ตัวต่อเซลล์ ยกเว้นเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ไม่มีไมโทคอนเดรีย ในขณะที่เซลล์ตับจะมีไมโทคอนเดรียมากกว่า 2000 ตัวต่อเซลล์เป็นต้น โดยวงจรชีวิตของไมโทคอนเดรียมีการเกิด แก่ เจ็บตาย เหมือนกับสิ่งมีชีวิตทั่วไป โดยกระบวนการเกิดขึ้นใหม่ที่เรียกว่า Fission เป็นการแบ่งตัวระหว่างส่วนของสารพันธุกรรมที่ดีและแข็งแรงกับส่วนที่มีการปนเปื้อนและมีของเสีย โดยไมโทคอนเดรียที่เป็นของเสียจะเข้าสู่กระบวนการ Mitophagy ซึ่งจะมีการกำจัดของเสียและนำชิ้นส่วนที่ยังใช้งานได้นำกลับมาใช้ใหม่ต่อไป เหมือนกับกระบวนการ Autophagy ในเซลล์ทั่วไป และส่วนไมโทคอนเดรียที่มีสุขภาพดีก็จะเข้าสู่กระบวนการ Fusion ในกรณีที่ต้องการใช้พลังงานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้พลังงาน โดยไมโทคอนเดรียที่แข็งแรงจะทำหน้าที่ที่เรียกว่า Biogenesis ในการผลิตพลังงาน ATP, เอนไซด์ในกระบวนย่อยอาหารและเปลี่ยนรูปของพลังงาน, สารต้านอนุมูลอิสระหรือแม้กระทั่งการส่งสัญญาณสื่อสารระหว่างไมโทคอนเดรียด้วยกันเองหรือส่งสัญญาณสื่อสารกับเซลล์อื่น ๆได้ด้วย และเมื่อครบอายุขัยไมโทคอนเดรียก็จะเข้าสู่กระบวนการที่เรียกว่า Apoptosis ซึ่งก็คือโปรแกรมการตายตามที่มีการกำหนดไว้แล้ว โดยสามารถสรุปเป็นหน้าที่และการทำงานของไมโทคอนเดรียได้ดังนี้

  • มีวงจรเกิด แก่ เจ็บ ตาย เหมือนสิ่งมีชีวิตทั่วไป
  • มีสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ (mtDNA) ของตัวเอง โดยมีการถ่ายทอดจากผู้เป็นแม่เท่านั้น
  • เป็นโรงงานผลิตพลังงาน ATP ให้กับร่างกาย
  • เป็นโรงงานแปรรูปอาหารที่ให้ร่างกายเอามาใช้งานได้ทันที
  • เป็นแหล่งผลิตเอนไซด์ สารเคมี สารต้านอนุมูลอิสระและภูมิต้านทานโรค
  • สังเคราะห์อาหารให้ได้ DNA อันใหม่เพื่อไปทดแทนชิ้นส่วนที่สึกหรอ
  • มีกระบวนการส่งสัญญาณและสื่อสารระหว่างกันเองและกับนิวเคลียสด้วย ซึ่งถือว่าอยู่ในกลไกการทำงานของ Epigenetics คือเป็นการทำงานที่อยู่เหนือกว่ายีนส์ เสมือนหนึ่งทำหน้าที่เป็นสวิทซ์ปิดและเปิดการแสดงออกของยีนส์อีกทอดหนึ่ง

รูปแสดงไมโทคอนเดรียที่เป็นอวัยวะส่วนหนึ่งภายในเซลล์โดยเฉลี่ยจะมี 1000-2000 ตัวต่อเซลล์

รูปแสดงกระบวนการ Fusion และ Fission ของไมโทคอนเดรียที่เป็นการเกิดขึ้นใหม่และกำจัดของเสีย

รูปแสดงวงจรการดำรงชีวิตของไมโทคอนเดรียที่มีการเกิดใหม่และตาย

บุคคลที่บุกเบิกการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับไมโทคอนเดรียระดับโลกก็คือ Prof.Douglas Wallace โดยมีการนำเสนอผลงานออกมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1980 ซึ่งผลงานวิจัยชิ้นแรกคือการแสดงให้เห็นว่า การกลายพันธุ์ของดีเอ็นเอในไมโทคอนเดรีย ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคต่างๆในมนุษย์ จากนั้นก็มีการศึกษาความเกี่ยวข้องระหว่างความผิดปกติของไมโตคอนเดรียกับโรคต่างๆ อีกมากมาย ทำให้วงการแพทย์เริ่มเข้าใจกลไกการทำงานในระดับเซลล์อย่างเป็นระเบียนแบบแผน โดยสามารถกล่าวได้ว่าไมโทคอนเดรียจะเกี่ยวข้องกับโรคแทบจะทุกส่วนของร่างกาย ทั้งระบบประสาท ตา ตับ กล้ามเนื้อ ไต หัวใจและถุงน้ำดีเป็นต้น

รูปแสดงความเกี่ยวข้องระหว่างไมโทคอนเดรียกับโรคที่เกิดขึ้นกับอวัยวะต่างๆของร่างกาย

รูปแสดงโรคของระบบประสาทที่เกิดจากความบกพร่องการทำหน้าของไมโทคอนเดรีย

นอกจากโรคที่เกิดขึ้นกับอวัยวะส่วนต่างๆของร่างกายแล้ว ยังมีในเรื่องของการชะลอความแก่ที่มีการศึกษาเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจัง โดยเป็นการศึกษากระบวนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเทโลเมียร์ (Telomeres)หรือปลอกหุ้มปลายโครโมโซม ซึ่งโดยปกติเทโลเมียร์จะสั้นลงเมื่อเซลล์มีการแบ่งตัวในแต่ละครั้ง หมายความว่าเมื่อเทโลเมียร์มีความยาวที่สั้นลงแสดงว่าความชราก็จะเพิ่มขึ้น แต่ด้วยความเข้าใจระหว่างไมโทคอนเดรียและเทโลเมียร์ที่มีมากขึ้นก็ทำให้เกิดเป็นศาสตร์แห่งการชะลอวัยโดยตั้งเป้าหมายที่จะทำให้ไมโทคอนเดรียทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อช่วยชะลอการสั้นลงของเทโลเมียร์เป็นต้น แต่เนื่องจากอุปกรณ์และเครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ในระดับของไมโทคอนเดรียยังไม่แพร่หลายมากนัก จึงทำให้ข้อเท็จจริงบ้างประการเกี่ยวกับการเป็นเหตุและผลระหว่างการเกิดโรคกับความบกพร่องการทำหน้าที่ของไมโทคอนเดรีย ยังเป็นปริศนาเหมือนกับไก่กับไข่ ว่าสิ่งใดเกิดขึ้นก่อนกัน ซึ่งคาดว่าเรื่องนี้จะมีความชัดเจนเพิ่มมากขึ้นในเร็วๆนี้อย่างแน่นอน ซึ่งไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก่อนและหลังระหว่างการทำหน้าที่ของไมโทคอนเดรียที่ผิดปกติแล้วทำให้เกิดโรค หรือเมื่อเกิดโรคขึ้นแล้วจึงทำให้ไมโทคอนเดรียทำงานผิดปกติ ปัจจุบันมีงานวิจัยที่สามารถยืนยันถึงหลักการดูแลสุขภาพแนวธรรมชาติ ว่าสามารถช่วยทำให้สุขภาพของไมโทคอนเดรียดีขึ้นหรือสามารถทำหน้าที่ได้ดีเป็นปกติให้นานยิ่งขึ้น ด้วยการใช้ชีวิตหรือการปรับพฤติกรรมด้วยกิจกรรมง่ายๆ ซึ่งผลที่ได้ทำให้เกิดเป็นบรรทัดฐานใหม่ในวงการแพทย์ สาธารณสุขและสุขภาพ ผู้ที่รักสุขภาพและชอบแนวธรรมชาติห้ามพลาดนะครับ

5 วิธีกับศาสตร์ชะลอวัยเพื่อสุขภาพที่แข็งแรงจากระดับเซลล์

ในทางวิทยาศาสตร์มนุษย์โดยทั่วไปจะมีการเจริญเติบโตตั้งแต่แรกเกิดจนเต็มที่เมื่ออายุประมาณ 22 ปี และหลังจากนั้นอวัยวะและการทำงานในระดับของเซลล์ก็จะค่อย ๆ ลดประสิทธิภาพลง ซึ่งอวัยวะแต่ละชนิดจะลดประสิทธิภาพการทำงานที่ไม่เหมือนกัน จึงมีเกณฑ์การนับอายุแบบที่เรียกว่าอายุชีวภาพ (Biological age) ซึ่งถือว่าเป็นการประเมินอายุในระดับเซลล์ โดยหมายรวมถึงอายุชีวภาพ ในแต่ละอวัยวะ ตา หู กระดูกและกล้ามเนื้อเป็นต้น และยังรวมถึงอายุชีวภาพของจิตใจด้วย ดังนั้นอายุตามปฏิทินที่นับกันในปัจจุบันจึงถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ทันสมัยสำหรับผู้ที่รักสุขภาพแนวธรรมชาติอีกต่อไป โดยเกณฑ์การประเมินอายุและความชราในระดับเซลล์ที่เรียกว่า Hallmarks of aging (วช. และ López-Otín, Blasco et al., 2015) มีการพิจารณาการเปลี่ยนแปลงระบบการทำงานของสิ่งต่างๆ 9 ประการด้วยกันดังนี้

1. การสูญเสียเสถียรภาพของจีโนม
2. การสึกกร่อนหรือการหดสั้นลงของเทโลเมียร์
3. การเปลี่ยนแปลงของภาวะเหนือพันธุกรรม (epigenetic)
4. การขาดภาวะสมดุลของโปรตีน
5. การลดลงหรือความผิดปกติจากเดิมของ nutrient-sensing
6. การเสื่อมสภาพการทำงานของไมโทคอนเดรีย
7. การเกิดเซลล์ชราภาพ (cellular senescence)
8. การเกิดการลดการทำงานของสเต็มเซลล์
9. การเกิดการเปลี่ยนแปลงของการติดต่อสื่อสารระหว่างเซลล์

โดยที่การฟื้นฟูการเสื่อมสภาพการทำงานของไมโทคอนเดรียและการหดสั้นลงของเทโลเมียร์ มีงานวิจัยที่เผยแพร่ถึงผลลัพธ์ที่เกิดจากกิจกรรมตามธรรมชาติมากที่สุด และเนื่องจากทั้งสองเรื่องมีความเกี่ยวข้องกัน โดยปกติการทำงานในการผลิตพลังงาน ATP ของไมโทคอนเดรียจะมีอนุมูลอิสระ (ROS, radical oxygen species) ทำมาด้วย ซึ่ง ROS ตัวนี้แหละที่ทำให้เทโลเมียร์มีขนาดที่สั้นลง ซึ่งเทโลเมียร์ที่สั้นลงก็จะมีการปลดปล่อยสารที่ทำให้เกิดการแสดงอาการชรามากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นถ้าสุขภาพของไมโทคอนเดรียแข็งแรงและเป็นปกติดี การปลดปล่อยอนุมูลอิสระก็จะน้อยลงไปด้วยเพราะไมโทคอนเดรียสามารถสร้างสารต้านอนุมูลอิสระมาหักล้างกับอนุมูลอิสระ

รูปแสดงความสัมพันธ์ระหว่างการทำงานของไมโทคอนเดรียกับเทโลเมียร์ที่มีผลต่อความชรา

สังคมของประเทศไทย ณ ปัจจุบันถือว่าเริ่มก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวแล้ว ปัจจุบันก็มีวิธีการแบบง่ายๆ ในการดูแลกลุ่มผู้สูงอายุเหล่านี้ สิ่งสำคัญก็คือเมื่อเริ่มทำกิจกรรมสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปแล้วก็ต้องคอยสังเกตการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเราอย่างต่อเนื่อง เพื่อประเมินความหนักเบาที่เหมาะสมกับเราเพราะร่างกายของแต่ละคนมีระดับของความแข็งแรงและภูมิต้านทานที่ไม่เหมือนกัน จึงต้องเฝ้าระวังด้วยตนเองจึงจะดีที่สุด โดย 5 วิธีศาสตร์ชะลอวัยเพื่อความแข็งแรงในระดับเซลล์ที่เลือกมาเผยแพร่ให้เข้าใจและนำไปปฏิบัติครั้งนี้ก็มีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้สุขภาพของไมโตคอนเดรียแข็งแรงและชะลอการสั้นลงของเทโลเมียร์ โดยวิธีการทั้ง 5 ข้อมีดังต่อไปนี้

  1. การออกกำลังกาย โดยเฉพาะการออกกำลังกายแบบช่วงเวลาแบบเข้มข้นหรือ High Intensity Interval Training (HIIT)

เรื่องยาสองเม็ดจากหนังสือเทโลเมียร์ถอดรหัสความอ่อนเยาว์สร้างอายุยืนยาว

“ลองสมมุติถ้ามียาอยู่สองเม็ด โดยประโยชน์ของยาเม็ดที่หนึ่งเป็นยาที่ช่วยลดความดันโลหิต ทำให้ระดับอินซูลินคงที่ ทำให้อารมณ์ดีขึ้น เพิ่มการเผาผลาญแคลอรี ต้านทานโรคกระดูกพรุนและลดความเสี่ยงที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ แต่อาจจะมีผลข้างเคียงจากการกินยาก็คือนอนไม่หลับ ผดผื่นบนผิว คลื่นไส้ ท้องร่วง น้ำหนักขึ้นและอื่น ๆ

ส่วนยาเม็ดที่สอง มันให้ประโยชน์เหมือนกันเลยและไม่มีผลข้างเคียงเลย

โดยยาเม็ดที่หนึ่งคือยาที่เป็นส่วนผสมของยาที่ใช้ควบคุมความดัน ยาลดคอเลสเตอรอล ยาเบาหวาน ยาแก้ซึมเศร้าและยารักษากระดูกพรุน

ส่วนยาเม็ดที่สองนั้นมีอยู่จริงมันมีชื่อว่า “การออกกำลังกาย” โดยคนที่ออกกำลังกายจะมีชีวิตที่ยืนยาวกว่า มีความเสี่ยงต่ำที่จะเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดในสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคซึมเศร้า โรคเบาหวาน อาการอ้วนลงพุงและยังห่างจากโรคสมองเสื่อมอีกด้วย”

คงไม่ต้องถามนะครับว่าควรจะเลือกยาเม็ดที่ 1 หรือเม็ดที่ 2 โดยปัจจุบันวิทยาศาสตร์ทางการกีฬาเจริญก้าวหน้าอย่างมาก มีผลงานวิจัยรองรับถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการออกกำลังกาย โดยประโยชน์ที่เกิดขึ้นสามารถเห็นผลได้ในระดับเซลล์ โดยจะช่วยลดการทำให้เทโลเมียร์สั้นลง ช่วยทำให้ไมโทคอนเดรียผลิตเอนไซด์ PGC-1 เพื่อไปช่วยต้านการเกิด ROS ช่วยป้องกันไปผลิตสารที่ทำให้เซลล์แก่ตัวและลดการสูญเสียกล้ามเนื้อหัวใจเป็นต้น ตามที่แสดงดังรูปต่อไป

  

รูปแสดงประโยชน์ในระดับเซลล์ของการออกกำลัง

สำหรับผู้ที่กำลังจะเริ่มออกกำลังกาย มีวิธีการออกกำลังกายแบบเบาๆมาแนะนำ โดยใช้เวลาไม่มากด้วย ที่สำคัญก็คือให้ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ไม่ได้ด้อยไปกว่าการออกกำลังกายแบบหนักๆเลย วิธีที่จะขอแนะนำชื่อว่า High intensity interval training HIIT ซึ่งเป็นการออกกำลังกายแบบเป็นช่วงๆ ยกตัวอย่างเช่นการออกกำลังหนัก 20 วินาทีและพัก 10 วินาที และทำทั้งหมด 8 ชุด ซึ่งการออกกำลังกายหนักนั้นอาจจะเป็นการวิ่งด้วยความเร็วแล้วพักด้วยการเดินเป็นต้น ซึ่งสามารถเพิ่มจำนวนชุดของการออกกำลังกายได้ตามศักยภาพของแต่ละบุคคล และก็ยังมีการออกกำลังกายที่เรียกว่า Tabata workout ที่เป็นเต้นแอโรบิคแบบเป็นช่วงๆก็ใช้ได้ผลเหมือนกัน และยังมีวิธีการออกกำลังกายอีกมากมายหลายรูปแบบ พวกเราสามารถเลือกวิธีการออกกำลังกายได้ตามเหมาะสม เพียงแค่ว่าต้องที่ความสม่ำเสมอและเหมาะสม ไม่หนักหรือเบาเกินไป แค่นี้ก็พอแล้ว

  1. การทานอาหารแบบคีโตจีนิค (Ketogenic diet)

เนื่องจากสารคีโตนที่เกิดจากการย่อยสารอาหารที่มาจากอาหารคีโตจีนิคจะสามารถเข้าสู่ไมโตคอนเดรียได้ง่ายกว่ากลูโคส และนอกจากนั้นสารคีโตนยังทำให้เกิดการเพิ่มปริมาณของไมโทคอนเดรียในเซลล์ของตับและเซลล์ของกล้ามเนื้อ ดังนั้นการทานอาหารแบบคีโตจีนิคจึงเป็นการเพิ่มจำนวนและเพิ่มความแข็งแรงให้กับไมโทคอนเดรียได้โดยตรง ซึ่งโดยทั่วไปอาหารคีโตจินิคคืออาหารที่เน้นไขมันสูง รองมาด้วยโปรตีน โดยลดคาร์โบไฮเดรตให้เหลือในปริมาณที่น้อยมาก ๆ เพื่อให้ร่างกายนำไขมันสะสมมาเผาผลาญเป็นพลังงาน โดยสัดส่วนของประเภทอาหารคือ ไขมันที่ดี 70% โปรตีนทุกประเภท 25% และคาร์โบไฮเดรต 5% ของปริมาณแคลอรี่ต่อวัน

อย่างไรก็แล้วแต่การทานอาหารแบบคีโตจินิค เป็นหลักการทานอาหารที่ต้องการให้มีการใช้พลังงานจากไขมันและโปรตีนเป็นหลัก ซึ่งเรื่องนี้ยังต้องเพิ่มเติมหลักการทานอาหารเพื่อดูแล Microbiome เข้าไปด้วย จึงควรทานอาหารกลุ่มพรีไบโอติกกับโปรไบโอติก ในสัดส่วนสัก 30% ของทั้งหมด เพื่อเป็นการรักษาสมดุลระหว่าง อาหารเพื่อตัวเราเอง : อาหารเพื่อไมโทคอนเดรีย : อาหารเพื่อจุลินทรีย์ ให้มีสัดส่วนที่เหมาะสมตามสภาพความเป็นจริงของร่างกาย

  1. การอดอาหารเป็นช่วงเวลา

เมื่ออยู่ในภาวะอดอาหาร ร่างกายจะหันไปใช้กรดไขมันเป็นแหล่งพลังงานแทนกลูโคส ซึ่งผลผลิตที่เกิดจากการใช้ไขมันเป็นอาหารก็คือสารคีโตน ซึ่งเป็นประโยชน์กับสมองและไมโทคอนเดรียโดยตรง การอดอาหารหรือหยุดกินอาหาร (Fasting) ซึ่งสามารถทำการหยุดเป็นช่วงในแต่ละวันหรือหยุดเป็นวันก็ได้ แต่ต้องทำให้เหมือนกัน โดยต้องประเมินสภาพร่างกายของเราร่วมด้วย โดยการหยุดอาหารที่ง่ายที่สุดคือหยุดอาหารในช่วงเวลา 18.00-7.00 น.เป็นต้น โดยการหยุดอาหารมีส่วนช่วยทำให้การทำงานของไมโทคอนเดรีย สมอง ภูมิคุ้มกันและระบบการย่อยอาหารทำงานได้ดียิ่งขึ้น และการหยุดอาหารทำให้ร่างกายมีกลไกในการดึงไขมันที่สะสมไว้ไปใช้งานได้มากยิ่งขึ้น จึงถือว่าเป็นการขจัดไขมันได้ด้วยอีกทางหนึ่ง

       

  1. การนอนหลับที่มีคุณภาพ

ช่วงเวลาของการนอนหลับคือช่วงเวลาที่ไมโทคอนเดรียในตัวเราได้พักผ่อน แต่ก็ยังมีการทำหน้าที่ในการซ่อมแซมส่วนต่างๆของร่างกาย ซึ่งมีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำให้ร่างกายได้มีช่วงเวลาแบบนี้ โดยปกติอนุมูลอิสระหรือชิ้นส่วนของอวัยวะภายในเซลล์จะถูกกำจัดภายในช่วงเวลาของการนอนหลับ โดยเฉพาะช่วง 22.00 น. ถึง 2.00 น. (Golden time) ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมหรือหลีกเลี่ยงอาหารที่จะทำให้นอนไม่หลับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือเรื่องของความเครียดก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้นอนไม่หลับได้เช่นกัน ส่วนวิธีการที่จะทำให้นอนหลับง่ายก็คือการงดชากาแฟในตั้งแต่บ่ายถึงเย็น การออกกำลังที่พอดีกับทานอาหารไม่อิ่มมากเกินไป ก็จะทำให้นอนหลับได้ง่าย โดยมีงานวิจัยยืนยันถึงความสำคัญของการนอนหลับในช่วง 4 ทุ่มถึง 2 นาฬิกาด้วยว่า เป็นช่วงเวลาที่ร่างกายสามารถผลิตเมลาโทนินได้สูงสุดเพราะเมลาโทนินมีประโยชน์ในเรื่องของการช่วยลดความเครียด ช่วยชะลอวัยและช่วยฟื้นฟูเกี่ยวกับโรคเรื้อรังอีกมากมาย จึงไม่ควรที่จะละเลยช่วงเวลาที่สำคัญแบบนี้นะครับ

รูปแสดงการผลิตเมลาโทนินของร่างกายตามธรรมชาติในช่วงเวลานอนหลับ

(https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6057895/)

ผลของเมลาโทนินต่อไมโทคอนเดรียและสุขภาพจากการนอนหลับ

(https://www.theenergyblueprint.com/the-secret-of-melatonin/)

  1. การสัมผัสธรรมชาติ ดิน น้ำ ลม ไฟ

สิ่งมีชีวิตทั้งมวลล้วนมีจุดกำเนิดมาจากของธาตุทั้งสี่ ดินน้ำลมไฟตามธรรมชาติด้วยกันทั้งสิ้น ความเป็นจริงของธรรมชาติยังคงเป็นความลึกลับที่มวลมนุษยชาติจะต้องทำการค้นหากันต่อไปอย่างไม่จบสิ้น ถึงแม้ว่าเราจะสามารถสร้างสรรค์เทคโนโลยี่หรือวิทยาการต่างๆได้มากมาย สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นก็เป็นเพียงแค่เศษเสี้ยวของความเป็นจริงตามธรรมชาติ ซึ่งในเรื่องนี้นักค้นคว้าและวิจัยเกี่ยวกับศาสตร์ของธรรมชาติตระหนักถึงความเป็นจริงข้อนี้เป็นอย่างดี จึงได้ทำงานกันอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย และในฐานะที่มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งและเป็นผลผลิตของธรรมชาติโดยตรง เมื่อเกิดมีความผิดปกติอะไรเกิดขึ้นกับมนุษย์ การบำบัดด้วยธรรมชาติก็เป็นหนทางที่ง่ายและไม่มีความเสี่ยงใด ๆทั้งสิ้น ซึ่งปัจจุบันมีวิธีการมากมายหลายชนิด แต่ในครั้งนี้จะขอยกตัวอย่างให้นำไปปฏิบัติ 3 วิธีดังนี้

  1. การสัมผัสดินด้วยเท้าเปล่า (Grounding or Earthing)

มีงานวิจัยของ James Oschman และทีมงานเรื่อง The effects of grounding (earthing) on inflammation and autoimmune diseases., 2015. โดยมีการศึกษาเปรียบเทียบผลที่เกิดขึ้นจากการรักษาการอักเสบของแผล ด้วยวิธีการให้ผู้ป่วยสัมผัสดินด้วยเท้าเปล่าเปรียบเทียบกับการใส่รองเท้า ผลปรากฏว่าผู้ที่สัมผัสดินด้วยเท้าเปล่าแผลหายเร็วและระดับของความเจ็บปวดต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเรื่องนี้อธิบายได้ว่า เนื่องจากในดินตามธรรมชาติที่ได้รับแสงแดด จะมีการสะสมประจุลบ และเมื่อเราได้เดินบนดินด้วยเท้าเปล่าก็จะทำให้ประจุลบไหลเวียนเข้ามาในตัวเราโดยธรรมชาติ โดยประจุลบจะไปกระตุ้นการทำงานของเม็ดเลือดขาวและช่วยการทำงานของคลอลาเจนในการสมานแผล จึงถือได้ว่าวิธีการนี้ได้ประโยชน์โดยที่ไม่ต้องลงทุนอะไรเพิ่มเติมแต่อย่างใด

การสัมผัสดินด้วยเท้าเปล่าช่วยทำให้ประจุลบหมุนเวียนจากธรรมชาติสู่ร่างกาย

รูปแสดงระดับความเจ็บปวดและปริมาณเม็ดเลือดขาวที่ลดลงจากการสัมผัสดิน

  1. การรับพลังงานจากแสงแดดเพื่อสะสมพลังงานในรูปของ EZ water

Dr. Gerald H. Pollack ผู้แต่งหนังสือ “The fourth phase of water” หรือสถานะที่ 4 ของน้ำ โดย Dr. Pollack ได้นำเสนอว่ามีการค้นพบน้ำที่อยู่ในสถานะที่ 4 ที่เรียกว่า Exclusion Zone water หรือ EZ water ซึ่งก็คือเป็นน้ำที่เกิดจากการได้รับพลังงานจากแสงแล้วเปลี่ยนสถานะจากของเหลวเป็นของเหลวกึ่งของแข็ง (Liquid crystalline water) โดยที่ EZ water นี้มีคุณสมบัติของความเป็นประจุลบและมีพลังงานในการเคลื่อนที่ ซึ่งมีการทดลองการทำให้เกิด EZ water โดยการให้แสงกับหลอดเลือดที่อุดตัน ปรากฏว่าเกิดการหมุนเวียนของเลือดได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งหมายความว่าเมื่อเกิดมี EZ water ขึ้นแล้ว น้ำกลุ่มนี้จะมีพลังงานในการเคลื่อนที่เพื่อส่งต่อพลังงานและสสารภายในร่างกายให้ทั่วถึงและครอบคลุมมากขึ้นกว่าเดิม โดยแสงที่ทำให้เกิด EZ water ง่ายที่สุดคือแสงอินฟราเรด ที่ส่วนใหญ่เราจะพบเห็นในช่วงเวลาเช้าและเวลาเย็น ดังนั้นวิธีการรับแสงแดดในช่วงเวลาเช้าและเย็นก็จะเป็นการรับพลังงานที่ง่ายและประหยัดอีกวิธีหนึ่ง นอกจากการรับแสงแดดในช่วงเวลาเช้าเย็นแล้วในการสร้าง EZ water ให้เกิดขึ้นในร่างกายก็ยังรวมถึง การดื่มน้ำมะพร้าว การดื่มน้ำขิง การกินพืชสีเขียว การอบซาวน่า รวมถึงการสัมผัสดินด้วยเท้าเปล่า ก็ได้ผลเช่นกัน

รูปแสดงการรับพลังงานจากแสงแดดเพื่อสร้าง EZ water (น้ำที่มีพลัง)

  1. การอาบป่า

การอาบป่าคือการใช้เวลาในป่าด้วยความผ่อนคลาย ซึ่งผลจากการอาบป่าทำให้เกิดการได้รับสิ่งดี ๆ และเกิดประโยชน์ด้วยกันดังนี้

  • ได้รับจุลินทรีย์ที่ดี ๆกับร่างกายมนุษย์ ที่สามารถช่วยในเรื่องระบบการหายใจและระบบย่อยอาหาร
  • ได้รับสารอินทรีย์ระเหยง่ายที่ช่วยทำให้ผ่อนคลายและปรับสมดุลของฮอร์โมน
  • ได้รับประจุลบจากธรรมชาติหรือออกซิเจนบริสุทธิ์ซึ่งจะเป็นตัวต้านอนุมูลอิสระ

จากทั้งหมดสามารถสรุปได้ว่า ศาสตร์ชะลอวัยและการสร้างความแข็งแรงสุขภาพจากระดับเซลล์ทั้ง 5 วิธี ที่ได้นำมาเสนอในครั้งนี้ก็เพื่อต้องการให้ผู้ที่รักสุขภาพหันกลับมาสนใจความเป็นจริงในมุมมองที่เราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เนื่องจากเผ่าพันธุ์มนุษย์ของเราไม่ได้ชาญฉลาดพอที่จะคิดและดำเนินการสิ่งต่างๆตามที่เราต้องการได้ทั้งหมด วิทยาการหรือเทคโนโลยี่ที่เราคิดค้นขึ้นมายังเป็นเพียงแค่เม็ดทรายในกำมือ ยังมีเม็ดทรายอีกมากมายมหาศาลที่เรายังไม่ได้ค้นพบ การยอมรับความจริงข้อนี้คือจุดเริ่มต้นที่จะเชิญชวนพวกเราหันกลับมาช่วยกัน เรียนรู้และเผยแพร่ความเป็นจริงของธรรมชาติในรูปแบบที่ทำให้เกิดการสร้างระบบการอยู่ร่วมกันแบบยั่งยืน เหมือนกับที่แบคทีเรียตัวเล็ก ๆมาอาศัยอยู่ในเซลล์ของเราเป็นระยะเวลานาน จนกระทั่งหล่อหลอมรวมกับเซลล์ของเราจนกลายเป็นสิ่งที่เราเรียกมันว่า ไมโทคอนเดรีย ซึ่งพวกเราก็เพิ่งมาค้นพบความจริงเกี่ยวกับกัลยามิตรตัวน้อย ๆ ตัวนี้เมื่อไม่นานมานี้เอง การเดินทางของเผ่าพันธุ์โฮโมซาเปียนที่ว่านานมากแล้ว ยังเทียบไม่ได้กับการเดินทางของไมโทคอนเดรีย ซึ่งมหัศจรรย์อย่างยิ่งจริง ๆ และต้องถือว่าเป็นพรหมลิขิตที่มิอาจเลี่ยงได้ พวกเราคงต้องอยู่ร่วมกันแบบนี้จนกระทั่งสูญสิ้นสิ่งมีชีวิตบนจักรวาลดวงนี้

จึงหวังว่าบทความตอนนี้จะทำให้พวกเราได้หันกลับมาดูแลสุขภาพด้วยมิติใหม่แห่งความรู้และเข้าใจ ในฐานะที่เราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติเพื่อความยั่งยืนของเผ่าพันธ์พวกเราไปอีกนานแสนนาน...

“เนื่องจากธรรมชาติสร้างเรา ดังนั้นการดำรงอยู่อย่างเข้าอกเข้าใจในความเป็นจริงของธรรมชาติ คือหนทางในการหาคำตอบว่าแท้ที่จริงแล้ว เราคือใครและเกิดมาเพื่อสิ่งใด”