อสังหาฯ ฝ่าวิกฤติโควิด
“อสังหาริมทรัพย์” ถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักจากวิกฤติโควิด-19 ไม่ต่างกับอีกหลายธุรกิจหลายราย เดินสู่การกำหนดนโยบาย “ลดขนาดองค์กร - เลิกจ้างพนักงาน” หวังลดต้นทุนเพื่อความอยู่รอด พร้อมกับการรับความเสี่ยงในการถูก“ดิสรัป” หลังวิกฤติโควิด
“อสังหาริมทรัพย์” ถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักจากวิกฤติโควิด-19 ไม่ต่างกับอีกหลายธุรกิจ โดยภาพรวมตลาดอสังหาฯในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในช่วงครึ่งปีแรก พบว่ามีมูลค่ารวม 128,457 ล้านบาท ลดลง 36% ขณะที่ยอดโอนกรรมสิทธิ์ในช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) อยู่ที่ 145,969 ล้านบาท ลดลง 8% ยังมีการคาดการณ์ว่าภาพรวมยอดขายคอนโดมิเนียมปีนี้ จะลดลง 50% ส่วนแนวราบ ลดลง 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
สถานการณ์ยอดขายที่ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ ส่งผลให้บริษัทพัฒนาอสังหาฯหลายราย เดินสู่การกำหนดนโยบาย “ลดขนาดองค์กร - เลิกจ้างพนักงาน” เพื่อลดต้นทุนการดำเนินการเพื่อความอยู่รอด พร้อมไปกับการรับมือกระแสความเปลี่ยนแปลง และความเสี่ยงในการถูก“ดิสรัป” หลังวิกฤติโควิด
ปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทได้ปรับทิศทางจากบริษัทจาก “โอเปอเรชั่น คอมปะนี” (Operation Company) เป็น ธิงค์กิ้ง คอมปะนี (Thinking Company )โดยต่อให้‘ไม่มี’วิกฤติโควิด-19 พฤกษามีแผนที่เปลี่ยนโมเดลธุรกิจอยู่แล้ว แต่ยอมรับว่าโควิด เป็น ‘ตัวเร่ง’ ที่ทำให้ต้องทำเร็วขึ้นเพราะต้องการให้องค์กรสามารถทำงานได้คล่องตัวขึ้น สามารถหันไปโฟกัสกับการพัฒนาธุรกิจใหม่ๆได้มากขึ้นแทนที่ต้องดูแลงานโอเปอเรชั่น ขณะเดียวกันเป็นการลดค่าใช้จ่ายอีกทางหนึ่ง
"แนวคิดนี้เหมือนกับธุรกิจในต่างประเทศที่โตได้อย่างรวดเร็วใน 5 อันดับแรกของโลกจะเป็นบริษัท ธิงค์กิ้ง คอมปะนี เพราะเป็นองค์กรที่ใช้คนจำนวนไม่มากแต่สามารถแก้ไขปัญหา สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ตลอดจนสร้างนวัตกรรมตอบโจทย์ผู้บริโภคได้เยอะที่ได้มูลค่า และคุณค่ามาจากกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking)"
โดยโมเดลนี้บริษัทได้ทยอยดำเนินการตั้งแต่ปี 2562 ก่อนเกิดโควิด-19 เนื่องจากมองเห็นถึง “จุดอ่อน” ขององค์กรหากไม่เร่งปรับตัวให้มีขนาดเล็กลง จะทำงานไม่คล่องตัว จึงลดจำนวนคนจากส่วนก่อสร้างและงานโอเปอเรชั่นบางส่วนเหลือ2,000 คนจากเดิมมีจำนวนพนักงานทั้งหมด 3,000 คน
อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่ได้เรียกแนวทางนี้ว่าเป็นการลดขนาดองค์กรเสียทีเดียว แต่เป็นการ "ปรับโมเดล"องค์กรจากสมัยก่อนที่บริษัทลงทำทุกอย่างเองหมดไม่ว่าบริษัทก่อสร้าง โรงงานผลิต บริษัทขายอสังหาฯ เปลี่ยนมาเป็นโมเดลจ้างผู้รับเหมารายใหญ่ในส่วนที่เป็นโครงการคอนโดมิเนียม เช่น กระบวนการก่อสร้างจะใช้พันธมิตรแต่ถ้าเป็นโครงการแนวราบจะมีทีมสร้างเอง เพราะใช้พนักงานจำนวนไม่มาก การปรับโมเดลธุรกิจนี้จะทำให้บริษัทสามารถรับมือกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่มีความผันผวน ยิ่งเมื่อเกิดวิกฤติโควิด -19 ถือเป็นจังหวะที่ดีในการปรับตัวให้เข้าสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง
"ถือเป็นการปรับตัวครั้งใหญ่ในรอบ27ปีนับตั้งแต่ก่อตั้งพฤกษา เพื่อให้โครงสร้างภายในองค์กรไม่มีไขมันส่วนเกินเพื่อให้มีความคล่องตัว ยืดหยุ่น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น"
ปิยะ ยังประเมินว่า ต่อจากนี้ไปตลาดอสังหาฯ จะต้องเผชิญกับความผันผวนมากยิ่งขึ้น ฉะนั้นการปรับโครงสร้างองค์กรจึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นต้องทำ เพื่อให้องค์กรมีความแข็งแกร่งทนทานต่อการเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกันยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันท่ามกลางภาวะตลาดหดตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อรายได้ของบริษัท คาดว่า แนวทางการปรับตัวในครั้งนี้จะทำให้องค์กรสามารถดำเนินธุรกิจได้คล่องตัว สามารถกลับมาทำกำไรและเติบโตอย่างยั่งยืนได้ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ได้มีประเด็นร้อน มีข่าวในโลกโซเซียลว่า บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด บริษัทในเครือ “แสนสิริ” บอกเลิกจ้างพนักงาน จำนวน 600 คนนั้น ในเรื่องดังกล่าว เศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ทวีตข้อความผ่าน @Thavisin ชี้แจงว่า มีการเลิกจ้าง5%ของจำนวนพนักงานแสนสิริและพลัสฯทั้งหมด ตัวเลขน้อยกว่า600 คน โดยมองว่าเป็นเรื่องปกติของภาคธุรกิจที่ปรับการดำเนินงานให้เหมาะสมกับสถานการณ์และกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจมากกว่า ซึ่งก็ทำทุกปี
ปัจจุบันนอกเหนือจากนโยบายการลดขนาดองค์กรองค์กรแล้ว ‘การขายโครงการ’ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องเป็นอีกแนวทางหนึ่งสำหรับผู้ประกอบการอสังหาฯ ที่ต้องการเงินสดไปเพิ่มสภาพคล่องในองค์กร โดยล่าสุดทางอารียา พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ได้ขายโครงการ เมกา สเปซ 1 และโครงการเมกา 2 บนถนนบางนา-ตราด ซึ่งเป็นโครงการอาคารชุดอยู่อาศัยและพาณิชยกรรม ให้แก่ เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ มูลค่ารวม 1,100 ล้านบาท เพื่อนำไปขายต่อ
โดยก่อนหน้านี้ บดินทร์ธร จึงรุ่งเรืองกิจ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ระบุว่า อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อซื้อโครงการคอนโดมิเนียมเพื่อมาเติมในพอร์ตของบริษัทเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าอย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์การเลิกจ้างพนักงาน เริ่มขึ้นมาระยะหนึ่งแล้วจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ภาคการผลิต และเริ่มขยับมาสู่ธุรกิจอสังหาฯ เมื่อหลายบริษัทประสบเริ่มเผชิญภาวะขาดสภาพคล่องทางการเงิน จากรายได้ ที่‘ลดลง’ ขณะที่ต้นทุนการดำเนินงานยังคงที่หรือมีแต่จะเพิ่มขึ้น
SOURCE : www.bangkokbiznews.com/news/detail/898897