จากกรณีครูชั้นอนุบาลทำร้ายเด็กที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ สร้างความกังวลใจให้ผู้ปกครอง ที่ต้องส่งลูกหลานไปโรงเรียน หลายคนยอมเสียเงินค่าเทอมสูงเพื่อซื้อสังคมที่ดีให้กับลูก แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเด็กจะปลอดภัยจากการถูกทำร้าย

วันนี้ (1 ตุลาคม) มูลนิธิเด็กและเยาวชนและครอบครัว มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว และเครือข่ายผู้ปกครองในสถานศึกษา ร่วมกับกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดเวทีเสวนาหัวข้อ “ทางออก...เมื่อโรงเรียนไม่ปลอดภัยและเด็กถูกทำร้าย” ณ โรงแรมแมนดาริน สามย่าน

ทั้งนี้ ภายในงาน ได้มีตัวแทนผู้ปกครอง “นายอัครพงษ์ บุญมี” ซึ่งมีลูกชายเรียนในโรงเรียนดังกล่าว ร่วมพูดคุยแชร์ประสบการณ์ ในฐานะผู้เป็นพ่อ โดยเล่าย้อนกลับไปว่า สาเหตุที่ให้ลูกเรียนโรงเรียนดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าสิ่งแวดล้อมดี ในย่านนั้นถือเป็นโรงเรียนลำดับต้น ปีแรกที่ส่งลูกไปเรียน ซึ่งต้องเรียนซัมเมอร์ก่อนหนึ่งเดือนกับครูในข่าว เรียนได้ประมาณอาทิตย์กว่า พบว่าลูกชายมีรอยเขียวที่แก้ม จึงไปหาครูตอนเช้า และถามสาเหตุ แต่ครูบอกว่าน่าจะเล่นกับเพื่อนและได้ขอโทษมา หลังจากนั้นก็ไม่มีร่องรอยกลับมาอีก ตอนนั้นจึงคิดว่าลูกซนจริง เพราะระบบโรงเรียนขนาดนั้น ค่าเทอมไม่ใช่ถูกๆ ไม่มีอะไรน่าสงสัย  

“แต่หลังจาก ที่ได้เห็นคลิปในข่าวเป็นครูคนดังกล่าว จึงรู้สึกว่าอยู่เฉยไม่ได้ รู้สึกว่ามาตรการโรงเรียนอยู่ตรงไหน และรับประกันได้อย่างไรว่าลูกเราจะปลอดภัย และไม่ใช่แค่ห้องเดียว ผู้ปกครองทุกห้องก็มีความห่วงใย ดังนั้น โรงเรียนต้องมองที่ระบบที่มีปัญหา แม้จะมีครูที่ดีๆ ในชั้นเรียนอื่นๆ แต่ประเด็นมีอยู่ว่าอะไรที่จะทำให้เราแน่ใจได้ว่า หากลูกเราเรียนต่อไปจะไม่โดน”

ดังนั้น จึงอยากเสนอโรงเรียน จัดทำข้อมูลใบประกอบวิชาชีพครู ที่สามารถตรวจสอบได้ กล้องวงจรปิด และการประชุมผู้ปกครองซึ่งโรงเรียนไม่มี ผู้ปกครองต้องการมองเห็นแนวทางและมาตรการของโรงเรียนที่ชัดเจน ในการสร้างความปลอดภัยให้ลูก

อย่าเกรงใจใครมากกว่าลูกของเรา

“พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร (หมอโอ๋)” กุมารเวชศาสตร์วัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ความเห็นว่า เวลาที่เราสงสัยว่าเด็กโดนทำร้าย ต้องไม่ใช่แค่สงสัย พ่อแม่บางคนไม่ทำอะไรเพราะเกรงใจครู อาจด้วยเหตุผลว่ากลัวลูกจะโดนกระทำมากขึ้น ครูจะไม่ใส่ใจลูก เป็นเรื่องของโครงสร้างเชิงอำนาจ พ่อแม่หลายคนตกอยู่ในอำนาจของครู เป็นจุดที่สำคัญมาก เพราะเมื่อเราเห็นสัญญานว่าลูกถูกกระทำ พ่อแม่ไม่ควรปล่อยผ่าน ต้องหาคำตอบ เพราะหลายครั้งเราเห็นว่าไม่เป็นอะไร ทำให้ผู้กระทำรู้สึกว่าสามารถกระทำได้โดยชอบธรรม และเด็กคิดว่าตนเองสมควรถูกกระทำ ดังนั้น อย่าเกรงใจใครมากกว่าลูกของเรา เพราะเขาคือคนที่เราควรจะปกป้องมากกว่าคนอื่น

ทั้งนี้ เวลาที่เด็กอยู่ในสถานการณ์ไม่ปลอดภัยเด็กจะมีการตอบสนอง 3 รูปแบบ คือ “สู้” เช่น เด็กที่โดนตี แล้วตีกลับ ก้าวร้าว ถัดมา คือ “หนี” ตามสัญชาติญาณการเอาตัวรอด ไม่อยากไปโรงเรียน เห็นครูแล้วร้องไห้ กลัว และ “ยอม” ครูอาจจะตีและยอมทำตาม เด็กเหล่านี้จะคิดว่าตัวเองไม่มีอำนาจ สู้ไม่ได้ ยอม รู้สึกแย่กับตัวเอง ทำให้ซึม แยกตัว คิดว่าตัวเองไม่มีศักยภาพ ไม่มีความสุข นับถือตัวเองต่ำ เป็นสาเหตุหลักในการเกิดโรคซึมเศร้าพบในวัยรุ่น 15-25% ซึ่งมาจากการสั่นคลอนในวัยเด็ก   

“สิ่งเหล่านี้เป็นสัญญานในการสังเกตลูก ว่าสิ่งรอบตัวเด็กมีอะไรทำให้เด็กไม่ปลอดภัยหรือไม่ ควรพูดคุยกับลูกในเรื่องชีวิตประจำวัน เหตุการณ์นี้สอนว่า แม้เราเสียเงินมาก ก็ไม่สามารถซื้อสังคมที่ดีได้จริงๆ แม้จะมีกล้องวงจรปิด ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าลูกจะปลอดภัย ดังนั้น ควรพูดคุยเรื่องชีวิตประจำวัน เช่น วันนี้อะไรคือสิ่งที่ทำให้เขามีความสุข หรือทำให้รู้สึกแย่ พยายามชวนคุยเพื่อให้เด็กมีพื้นที่ในการเล่า แต่พ่อแม่ก็ต้องตั้งใจฟังจริง โดยไม่ขัด ไม่ตัดสิน เมื่อไหร่ที่มีอะไรน่าสงสัย อย่าปล่อยผ่าน ด้วยความที่คิดว่าไม่เป็นอะไร หรือเกรงใจโรงเรียน พ่อแม่ที่ลุกขึ้นมาปกป้องเขา จะทำให้เขารู้สึกปลอดภัย รู้สึกว่าไม่มีใครมีสิทธิมาล่วงละเมิดได้

“เลี้ยงลูก” ใช้อำนาจในทางบวก

หมอโอ๋ กล่าวต่อไปว่า สำหรับเรื่องระบบอำนาจนิยม มีทุกที่ในสังคมไทย ไม่ว่าจะครอบครัว โรงเรียน สื่อ ระบบรัฐ ประชาชน หมู่บ้าน การทำงาน ฯลฯ ซึ่งเป็นปัญหา เพราะอำนาจที่กดทับหรือเหนือกว่าทำให้เกิดแรงต้าน แรงสู้ ทำให้พ่อแม่มีปัญหากับลูก วันหนึ่งลูกก็ลุกขึ้นมาสู้ด้วยวิธีการของเขา เช่น การดื้อคือการเอาคืน เพราะเขารู้สึกว่าพ่อแม่เจ็บปวด ดังนั้น เป็นสาเหตุที่ทำไมเราต้องเลี้ยงดูลูกเชิงบวก เพราะพ่อแม่สามารถใช้อำนาจในมือ คือ ความรักและสายสัมพันธ์ ในการเลี้ยงดูลูกได้  ครูก็เช่นกัน ครูที่ใจดี ดูแลด้วยอำนาจร่วม เด็กจะเชื่อฟังง่าย

“มีเด็กจำนวนมากที่อยู่ในภาวะที่ไม่มีทางเลือก โรงเรียนไม่มีกล้องวงจรปิด ทำให้เด็กจำนวนมากตกเป็นเหยื่อความรุนแรง เราทุกคนตอนนี้มีสิทธิ์ มีเสียง และเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนสังคม เมื่อสังคมให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง นี่ไม่ใช่แค่ปัญหาของครูคนหนึ่ง แต่เป็นปัญหาเชิงระบบ มีปัญหาที่ฐานพีระมิดใต้ภูเขาน้ำแข็งอีกมาก เป็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สิทธิในการเข้าไปเรียนในโรงเรียนที่มีความปลอดภัยเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เป็นการพัฒนาคน พัฒนาชาติ” หมอโอ๋ กล่าว

  • แม่ควรมีบทบาทร่วมกับโรงเรียน

ด้าน ฐาณิชชา ลิ้มพานิช ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว เสนอแนะ 3 ประเด็นหลัก คือ 1. บทบาทของผู้ปกครองในสถานศึกษา พ่อแม่มีพลังมาก เครือข่ายพ่อแม่มีบทบาทต่อโรงเรียนอย่างมาก อย่าปล่อยให้โรงเรียนดูแลลูกเพียงลำพัง เพราะพ่อแม่เชื่อมั่นว่าครูดูแลลูกเขาได้ พ่อแม่บางคนทางเลือกไม่มาก หรือบางคนยินยอมที่จะให้ครูทำโทษลูก เราอยากให้พ่อแม่ผู้ปกครอง มีบทบาทกับโรงเรียน มีบทบาทร่วมกัน คือ เฝ้าระวังเด็กร่วมกัน จัดการห้องเรียน ช่วยเป็นครู และสร้างเครือข่ายในโรงเรียน 2. บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับเด็ก สถานที่ที่มีเด็กอยู่ทั้งหมดควรคัดกรองบุคลากร ตรวจสุขภาพจิตอย่างเดียวไม่พอ ควรจะรู้ประวัติทั้งหมดที่ตรวจสอบได้เพื่อให้แน่ใจว่าเด็กปลอดภัย และ 3. นโยบาย กระทรวงศึกษาธิการ ควรมีนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากเรื่องการละเมิดเด็กมีทุกรูปแบบ

  • ขับเคลื่อนนโยบายคุ้มครองเด็ก

จากเห็นการณ์ที่เกิดขึ้น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดย กรมกิจการเด็กและเยาวชน ซึ่งมีภารกิจหลัก คือ มุ่งเน้นในการทำงานด้านเด็กเป็นสำคัญ ได้ส่งทีม พม. นนทบุรี รวมถึงเครือข่ายในพื้นที่ ได้แก่ เขตพื้นที่การศึกษา และหน่วยงานด้านสาธารณสุขลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง ในวันที่ 25 กันยายน พร้อมตั้งกลุ่มไลน์เฉพาะกิจให้คำปรึกษาเบื้องต้นแก่ผู้ปกครอง รวมถึง นัดผู้ปกครองและเด็กมาประเมินสภาพจิตใจ เนื่องจากมีหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีความแตกต่างในกลุ่มเด็ก ในวันที่ 29 กันยายน ตามความสมัครใจ จากการประเมินเบื้องต้นพบว่า มีกรณีของเด็กที่ถูกผลกระทบโดยตรง บางคนมีพฤติกรรมที่รุนแรง

อรพินท์ ศักดิ์เอี่ยม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเด็ก กรมกิจการเด็กและเยาวชน กล่าวว่า ได้มีการประชุมทีมสหวิชาชีพ เพื่อดูการทำแผนช่วยเหลือเด็กรายกรณี โดยแบ่งเด็กเป็น 4 กลุ่ม คือ 1. เด็กได้รับผลกระทบโดยตรง ผู้ปกครองมีการแจ้งความดำเนินคดี 2. กลุ่มที่อยู่ในห้องเดียวกัน ราว 34 คน 3. กลุ่มในสายชั้นอนุบาลด้วยกัน และ 4. เด็กและผู้ปกครองในชั้นเรียนอื่นๆ

สำหรับการดำเนินงาน เน้นในกลุ่มที่ 1 และ 2 ซึ่งจะมีการประเมินอีกครั้งในต้นเดือนตุลาคมนี้ และทางกรมสุขภาพจิตจะเข้าสู่กระบวนการบำบัดต่อไป เนื่องจากส่งผลทางด้านจิตใจซึ่งอยู่ในระยะยาว ดังนั้น กระบวนการบำบัดจึงต้องอยู่ในระยะยาว  ทั้งนี้ ในเรื่องคดีความ พม. ได้เข้าช่วยในเรื่องประสาน และร่วมในการสอบปากคำ เนื่องจากต้องมีนักสังคมร่วมด้วย

นอกจากนี้ ในแผนที่จะทำต่อไปในเชิงนโยบาย ทางพม. ได้หารือกับ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทย และเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง กำหนด แนวทางพัฒนาขับเคลื่อนนโยบาย การคุ้มครองเด็ก นอกจากนี้ ยังได้เตรียมทำ MOU กับ ศธ. ในประเด็นการคุ้มครองเด็กในสถานศึกษา ประกอบด้วย 1. การรับบุคลากรเข้าปฏิบัติหน้าที่ต้องตรวจสอบข้อมูล ประเมินสภาพจิตก่อนเข้าทำงาน 2. ให้ความรู้เรื่องการคุ้มครองเด็กกับบุคลากร 3. จัดให้มีโครงสร้างภายใน มีตัวชี้วัดในการประเมิน จัดจเหน้าที่คุ้มครองเด็กเป็นการเฉพาะ 4. มีข้อปฏิบัติที่เหมาะสมกับเด็ก 5. การสื่อสารจากภายนอก 6. ต้องมีการรายงานการดำเนินงาน และ 7. เมื่อพบการกระทำความผิดต้องรายงานทันที

“นโยบายทั้งหมด จะมีการผลักดันให้เกิดขึ้นในสถานที่ที่ทำงานเกี่ยวกับเด็ก อย่างไรก็ตาม ทางกรมกิจการเด็กฯ และกรมกิจการสตรีและครอบครัว ได้ทำงานตาม พ.ร.บ. คุ้มครองเด็กฯ หากท่านใดพบเจอหรือสงสัยว่าเด็กจะไม่ได้รับความปลอดภัย ให้แจ้งมาที่สายด่วน 1300” อรพินท์ กล่าว

SOURCE : www.bangkokbiznews.com