เมื่ออสังหาฯ ต้องพลิกวิกฤตสร้างโอกาสสู่ธุรกิจ Recurring Income เรียนรู้ ปรับเปลี่ยน สร้างแบรนด์ ก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 4 คุยกับ ดร.วรพจน์ กันตพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มที แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด
จากธุรกิจร้านวัสดุก่อสร้างของครอบครัว สู่การต่อยอดธุรกิจแบบอสังหาฯ ครบวงจร บนทำเล นนทบุรี-ปทุมธานี และ กรุงเทพ ตอนเหนือ ที่ปัจจุบันมีมูลค่าโครงการรวมกว่า 3,500 ล้านบาท ธุรกิจนี้เติบโตมาได้อย่างไร ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่ถาโถม ?
ย้อนกลับไปเมื่อ 38 ปีก่อน จุดเริ่มต้นของ MT Asset บริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์หน้าใหม่ในตลาดอสังหาฯยุคนั้น ดร.วรพจน์ กันตพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มที แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด ทายาทรุ่นที่ 2 ของ MT Asset เล่าว่า MT Asset ก่อตั้งในปี 2525 เป็นบริษัทพัฒนาอสังหาฯเพื่อการขาย เป็นการต่อยอดจากร้านขายวัสดุก่อสร้างในย่านจุฬา ซอย 9 ธุรกิจเดิมของครอบครัว
“MT มาจากคำว่า “Mountain” ภูเขาที่เปรียบกับความแข็งแรงให้กับสินค้า-บริษัทที่เราทำ ซึ่งในยุคนั้นการพัฒนาโครงการบ้านจัดสรรถือว่าน้อยมาก คุณพ่อจึงเริ่มพัฒนาอาคารพาณิชย์ขายไม่กี่ยูนิต เน้นทำเลแหล่งธุรกิจ ใกล้ตลาด ติดถนนใหญ่ จนมาถึงปี 2528 จึงได้พัฒนา “MT บางบัวทอง ที่มีอาคารพาณิชย์ 50 ห้อง - คอนโดฯสูง 8 ชั้น 200 ยูนิต ถือเป็นโครงการแรกที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และขายหมดอย่างรวดเร็ว จึงกลายเป็นจุดเปลี่ยนให้ MT Asset หันมาทำโครงการ Mix Use ต่อเนื่อง”
เริ่มทำงานในวงการอสังหาฯตั้งแต่ อายุ 16 ปี
ต้องบอกก่อนว่า MT Asset เป็นหนึ่งในธุรกิจของครอบครัว ผมเติบโตมาพร้อมๆ กับบริษัทนี้ ช่วงปี 2536 ตอนนั้นผมอายุ 16 ปี ได้เริ่มต้นการทำงานในช่วงวันหยุด ส่วนใหญ่ จะอยู่ตามโครงการที่กำลังก่อสร้างกับคุณพ่อ โดยเรียนรู้เรื่องงานก่อสร้าง งานการขาย งานเอกสาร งานเตรียมสัญญา และ การขอสินเชื่อเพื่อโอนกรรมสิทธิ์ นับเป็นจุดเริ่มต้นเรียนรู้การทำธุรกิจจากคุณพ่อมาตั้งแต่ตอนนั้น และด้วยการที่ MT Asset มีบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างได้เอง ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องงานก่อสร้างเพิ่มขึ้นด้วย และนี่ถือเป็นอีกหนึ่งจุดแข็งของบริษัทเรามาจนถึงทุกวันนี้ ที่เราสามารถคุมต้นทุนงานก่อสร้าง เพื่อนำมาเพิ่มคุณภาพวัสดุที่ดีขึ้น ส่งมอบให้กับลูกค้า
“วิกฤตต้มยำกุ้ง” จุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของธุรกิจ
ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 เป็นโชคดีของเราที่ช่วงนั้นสร้างตึกเสร็จแล้ว ไม่ได้ก่อหนี้ใหม่ มีแค่คอนโดฯเหลือขาย 50 ห้อง ตอนนั้นเลยตัดสินใจลดราคา 40% เพื่อเร่งระบายของออกให้หมด สร้างกระแสเงินสดกลับมาให้ได้มากที่สุด ซึ่งเราก็ขายห้องหมดได้ในปี 2541
“ถ้าจะเปรียบกับปีนี้ก็คงไม่ต่างกันมากนักที่เหล่าผู้พัฒนา ต่างหันมาทำแคมเปญโปรโมชั่นต่างๆ หวังดึงกำลังซื้อของลูกค้า พร้อมเร่งระบายสต๊อก เพื่อสร้างกระแสเงินสดให้เข้าบริษัทมากที่สุด”
นับตั้งแต่ปี 2540 - ปี 2544 บริษัทเราไม่ได้ลงทุนสร้างโครงการใหม่ๆ เลย จากภาพรวมเศรษฐกิจในตอนนั้นที่ไม่ดีนัก แต่การทำธุรกิจก็คงจะหยุดนิ่งได้ไม่นาน เมื่อคุณอนันต์ อัศวโภคิน ผู้นำทัพแลนด์แอนด์เฮ้าส์ ในยุคนั้น พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสด้วยการทำบ้านสร้างเสร็จก่อนขาย นับเป็นบริษัทแรกที่เริ่มลงทุนหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง
ธุรกิจไม่ล้ม...แต่ต้องปรับแผนไปต่อ ด้วยธุรกิจ Recurring Income
อย่างที่บอกไปว่า MT Asset เป็นบริษัทพัฒนาอสังหาฯ เพื่อการขายเพียงอย่างเดียว แม้ว่าจะพัฒนาโครงการในรูปแบบ Mixed-Use ที่มีทั้งอาคารพาณิชย์และที่อยู่อาศัย แต่ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง บริษัทก็ไม่มีรายได้จากช่องทางอื่นๆ ซึ่งเราได้หยุดการทำงานไปถึง 4 ปี
ในปี 2544 จึงได้กลับมาเปิดโครงการใหม่อีกครั้งในโซนบางบัวทองเช่นเดิม เพราะเป็นโซนที่มีความเชี่ยวชาญ โดยครั้งนี้เลือกทำเป็นโครงการที่มีอาคารพาณิชย์ และบ้านเดี่ยว 2 ชั้น
หลังจากเริ่มกลับมาทำธุรกิจ ผมและคุณพ่อจึงต้องกลับมาคุยกันว่า เราจำเป็นต้องมีการปรับแผนการทำธุรกิจใหม่ เพื่อกระจายความเสี่ยงรองรับวิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตอีก ซึ่งในช่วงนั้น ราวๆ ปี 2549 ในโซนทองหล่อ, รัชโยธิน ก็เริ่มมีคอมมูนิตี้มอลล์เกิดขึ้นบ้างแล้ว จึงเป็นที่มาของการเริ่มธุรกิจคอมมูนิตี้ มอลล์ ให้เช่า เพื่อสร้างรายได้ประจำสม่ำเสมอ หรือที่เรียกว่า Recurring Income
“MT Arena Sport & lifestyle Mall” โครงการ Mixed-Use สร้างชื่อในย่านลำลูกกา
แผนธุรกิจ Recurring Income ของ MT Asset เกิดขึ้นจริงตั้งแต่ปี 2551 โดยนำพื้นที่กว่า 20 ไร่ ในโซนลำลูกกา มาแบ่งการพัฒนาเป็น Home Office ดีไซน์ใหม่ จำนวน 108 ยูนิต บนพื้นที่ 10 ไร่ โดยใช้ชื่อ หมู่บ้าน เอ็มที ลำลูกกา และใช้พื้นที่อีก 10 ไร่ มาก่อสร้างโครงการ MT Arena Sport & Lifestyle Mall ในปี 2553 ซึ่งทำให้ Home Office ได้รับการตอบรับอย่างดี และยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินทรัพย์อีกด้วย
เหตุผลที่เลือกเปิด MT Arena ในโซนนี้เพราะอยู่ใกล้กับสนามธูปะเตมีย์ ซึ่งเป็นโซนที่กิจกรรมด้านกีฬาฟุตบอลได้รับความนิยมสูง และมองการณ์ไกลถึงแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่จะเข้ามาถึงโซนคูคต ทำให้ปัจจุบัน MT Arena อยู่ห่างจาก BTS สถานีคูคต เพียง 400 เมตรเท่านั้น
โดย MT Arena มีคอนเซปต์ออกแบบที่แตกต่าง เพื่อให้เป็นคอมมูนิตี้มอลล์ ที่รองรับกลุ่มครอบครัว และเป็น Academy ฝึกซ้อมฟุตบอล โดยได้ร่วมกับอดีตนักกีฬาฟุตบอลทีมชาติเพื่อสอนนักเรียน ปัจจุบันมีสนามกีฬาในร่ม 4 สนาม, สนามแบตมินตัน 8 คอร์ท, และมีร้านค้าในโครงการ 24 ร้านค้า
Community Mall, ตลาด, และอพาร์ทเมนท์ 3 ธุรกิจหลัก สร้าง Recurring Income
ปัจจุบัน MT Asset มีสัดส่วนรายได้จากการขายอสังหาฯ 80% และ ธุรกิจ Recurring Income 20% โดยมาจาก 3 ธุรกิจหลักคือ MT Arena เป็น Sport Lifestyle Community Mall ใกล้สถานี BTS คูคต ลำลูกกา , ตลาดบุญอนันต์ ถนนสรงประภา ดอนเมือง และ ธุรกิจอพาร์ทเมนต์ ตรงข้ามนิคมอุตสาหกรรมนวนคร
สร้างแบรนด์ พร้อมนำ MT Asset ก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 4
มาถึงวันนี้ MT Asset กำลังจะก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 4 ผมจึงเพิ่มวิสัยทัศน์ในการพัฒนาโครงการใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นให้ทั้งลูกค้าและชุมชนรอบโครงการ ให้มีความเป็น Green Community และหันมาเน้นการสร้างแบรนด์ให้มากขึ้น เพราะต้องยอมรับว่า กว่า 38 ปีที่ที่ผ่านมา เราเน้นการพัฒนาอาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่จำเป็นต้องมีชื่อโครงการ หรือลูกค้าไม่ต้องรู้จักแบรนด์ผู้พัฒนาก็ได้ ทำให้กลายมาเป็นจุดอ่อนของ MT Asset จนถึงปัจจุบันนี้ ที่ลูกค้าทั่วไปจะไม่ค่อยรู้จักแบรนด์ MT Asset และยิ่งในยุคนี้ที่เทคโนโลยี ข้อมูลข่าวสารออนไลน์ มีผลต่อการตัดสินใจซื้อมากขึ้น
เราจึงต้องเร่งปรับตัวเพื่อสร้างให้ MT Asset สามารถสร้างการรับรู้ไปถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ใช้หลัก Customer Centric ศึกษา และพัฒนารูปแบบโครงการที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นตอบสนองความต้องการของลูกบ้าน และลูกค้าที่จะมาเป็นลูกบ้าน MT ในอนาคต ซึ่งเราคิดเสมอว่าเราต้องดูแลลูกบ้านตลอดไป เพื่อสร้างให้แบรนด์ MT Asset เติบโตต่อไปได้ก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 4 อย่างแข็งแกร่ง
ถ้าถามถึงนิยามตัวตนของ MT Asset ผมจะนึกถึงคำพูดของคุณพ่อเสมอครับ เพราะท่านมักจะบอกว่า
“ทำให้ดีที่สุด...ทั้งการออกแบบโครงการและเลือกวัสดุ
เพื่อส่งผ่านความสุขและประสบการณ์การอยู่อาศัยที่สุดประทับใจ
ให้ลูกบ้าน MT ASSET ”
ชมโครงการ MT ได้ที่ www.mtasset.com