ประเทศไทยกับการจัดอันดับโลกในด้านต่าง ๆ
หากพูดถึงศักยภาพของประเทศไทยที่ผ่านมา หลายคนคงนึกถึงด้านการท่องเที่ยวเพราะเป็นรายได้หลักของประเทศไทยและจากการจัดอันดับเมืองท่องเที่ยวของโลกที่มีผู้คนเดินทางมามากที่สุดกรุงเทพฯ ของเราได้อันดับ 1 ถึง 4 ปีซ้อน แต่ปัจจุบันที่มีการระบาดของโควิด-19 ภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างหนักทั้งในไทยและทั่วโลกซึ่งททท.คาดว่าต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปีจะกลับมาเป็นปกติ
แม้การท่องเที่ยวจะซบเซาไปแต่ประเทศไทยยังมีศักยภาพอีกหลายด้านจนติดอันดับต้นๆ ของโลก แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้อาจจะช่วยดึงดูดชาวต่างชาติให้เข้ามาท่องเที่ยวหรือลงทุนในประเทศของเรา ว่าแต่ไทยติดอันดับโลกอะไรบ้าง TerraBKK ขอรวบรวมข้อมูลไว้ดังนี้
จะเห็นได้ว่าเมื่อต้นปีที่ผ่านมาที่มีการระบาดของโควิด-19 ไทยเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงต่อโควิด-19 เป็นอันดับ 2 ของโลก ด้วยประสิทธิภาพในการรับมือกับโควิด-19 ความร่วมมือจากรัฐ เอกชนและประชาชนในระยะเวลาเพียง 2 เดือน อันดับประเทศที่มีความเสี่ยงต่อโควิด 19 สูง ลงมาสู่ลำดับที่ 59 และก็สามารถควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อไม่มานานมานี้องค์การอนามัยโลกหรือ WHO ได้เลือกประเทศไทยและนิวซีแลนด์ (ซึ่งมีเพียง 2 ประเทศทั่วโลกที่ได้รับเลือก) เพื่อถ่ายทำสารคดีความสำเร็จในการควบคุมโควิด ซึ่งบ่งบอกว่าประเทศไทยมีประสิทธิภาพในการับมือกับโควิด-19 ได้ดีมากๆ
ปัจจุบันจากข้อมูลการจัดอันดับดัชนี Global COVID-19 Index (GCI) ไทยเป็นประเทศที่ฟื้นตัวจากโควิดเป็นอันดับ 9 ของโลกจาก 184 ประเทศทั่วโลก โดยมีระบบการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ที่ดูภาพรวมในด้านการฟื้นตัว จำนวนผู้ติดเชื้อ(Active case) และด้านความรุนแรงของการระบาด หากการท่องเที่ยวเริ่มกลับมาหลังจากสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลายและมีหลายประเทศที่เปิดให้คนเข้ามาท่องเที่ยว แน่นอนไทยก็เป็นหนึ่งในนั้นเสมอเพราะทั่วโลกต่างก็เชื่อมั่นว่าประเทศไทยค่อนข้างปลอยภัยจากโควิด
Source : Global COVID-19 Index (GCI)
ซึ่งสอดคล้องกับระบบสาธารณสุขของไทยที่ได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีความเข้มแข็งด้านความมั่นคงด้านสุขภาพ (Global Health Security Index 2019) เป็นอันดับที่ 6 จากทั้งหมด 195 ประเทศ ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศเดียวติด Top 10 ของโลกและเป็นอันดับ 1 ในเอเชียด้วยคะแนน 73.2 เต็ม 100 รองจาก สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, เนเธอร์แลนด์, ออสเตรเลีย และแคนาดา ซึ่งพิจารณาจากตัวชี้วัดในด้านต่างๆ ได้แก่ การป้องกันโรค ความสามารถในการตรวจจับโรคและการรายงานที่รวดเร็ว การบรรเทาผลกระทบของโรคระบาดที่รวดเร็ว ระบบสุขภาพที่มั่นคงและความมุ่งมั่นในการพัฒนาศักยภาพของประเทศในการป้องกันควบคุมโรค เป็นต้น
Source : Global Health Security Index
ในแง่ของความปลอดภัยประเทศไทยมี Safety Index สูงเป็นอันดับ 3 และอัตราอาชญากรรม (Crime Index) อยู่ในอันดับ 81 จากการจัดอันดับของ 133 ประเทศในโลก ซึ่งค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ซึ่งนอกจากความพยายามของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการป้องกันอาชญากรรมแล้ว ประเทศไทยยังมีบริษัทรักษาความปลอดภัยประมาณ 3,000-4,000 บริษัท และมีพนักงานรักษาความปลอดภัย 4-5 แสนคนทั่วประเทศเลยทีเดียว
Source : www.numbeo.com
จากรายงานการสำรวจของ U.S.News & World Report เกี่ยวกับประเทศที่เหมาะกับการลงทุนในปี 2563 (Best Countries to Invest In 2020) ประเทศไทยติดอันดับ 2 รองจากประเทศโครเอเชีย จากการสำรวจทั้งหมด 25 ประเทศ โดยวัดจากการให้คะแนนของผู้ลงทุนทางธุรกิจมากกว่า 6,000 ราย และใช้เกณฑ์วัดต่างๆ เช่นความมั่นคงของผู้ประกอบการ ภาษีที่ดิน นวัตกรรมต่างๆ กำลังแรงงานที่มีทักษะ และความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีในประเทศ เป็นต้น อีกทั้งเว็บไซต์ U.S.News & World Report ได้มีการจัดอันดับประเทศที่เหมาะในการเริ่มต้นธุรกิจมากที่สุดในโลก (Best Countries to Start a Business 2020) ซึ่งประเทศไทยได้รับคัดเลือกให้เป็นประเทศที่เหมาะสมในการเริ่มต้นธุรกิจมากที่สุดในโลก ข้อมูลจากการสอบถามผู้บริหารในวงการธุรกิจ 6,000 คนทั่วโลก ซึ่งพิจารณาจากปัจจัยในการเริ่มทำธุรกิจทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ การบริหารจัดการมีค่าใช้จ่ายที่ไม่แพง (Affordable) ระบบราชการที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ (Bureaucratic) ต้นทุนการผลิตต่ำ (Cheap Manufacturing Costs) การติดต่อการค้ากับต่างประเทศที่ดี (Connected to the Rest of the World) และความสามารถการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย (Easy Access to Capital)
และหากพูดถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยทางสถาบัน IMD World Competitiveness Center ได้จัดอันดับให้ไทยอยู่อันดับที่ 29 จาก 63 ประเทศในโลกสำหรับปี 2020 โดยพิจารณาจากปัจจัย 4 อย่างได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพภาครัฐ ประสิทธิภาพภาคธุรกิจและโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งอันดับลดลงจาก 25 เป็น 29 เป็นผลมาจากสภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ถดถอยลงและการขาดความสามารถในการดึงดูดทุนจากต่างประเทศ ซึ่งแม้ว่าไทยจะอยู่ลำดับกลางๆ แต่ก็ยังคงต้องเดินหน้าเพิ่มศักยภาพอย่างต่อเนื่องทั้งในเรื่องการเพิ่มความรู้ความสามารถของแรงงานในประเทศ โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ฯลฯ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ดีขึ้นและยั่งยืน
มุมมองการอยู่อาศัยประเทศไทยติดอันดับเมืองน่าอยู่วัยเกษียณระดับโลกอยู่อันดับที่ 17 จากสถิติ The World’s Best Places to Retire in 2020 จากเว็บไซต์ internationalliving.com โดยการจัดอันดับครั้งนี้มาจากประเมินด้วย 12 ปัจจัยสำคัญในการใช้ชีวิตของวัยเกษียณในแง่มุมต่างๆ เช่น Healthcare, Cost of living, Healthy lifestyle, Buying and investing, Entertainment and amenities เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับการจัดอันดับของ U.S.News & World Report ในเรื่อง Best Countries for a Comfortable Retirement ประเทศไทยได้อยู่ในอันดับ 16 ประเทศที่น่าอยู่ในช่วงวัยเกษียณ
จะเห็นได้ว่าประเทศไทยของเราก็มีศักยภาพในเรื่องต่างๆ มากมาย ซึ่งจากที่เล่ามาก็เป็นศักยภาพในด้านที่โดดเด่นแต่ก็มีเรื่องอื่นๆที่ประเทศไทยสามารถทำได้ดี มีอันดับอยู่ในระดับปานกลางทั้งในเรื่องการส่งออกนำเข้า การผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ฯลฯ นอกจากนี้ในเรื่องของการอยู่อาศัยไทยเป็นเมืองที่มีวัฒนธรรม ผู้คนมีอัธยาศัยดี หากสถานการณ์ของโควิดคลี่คลายลง และเราสามารถพัฒนาศักยภาพในด้านต่างๆ ให้ได้ดีขึ้นจะช่วยดึงดูดชาวต่างชาติให้เข้ามาลงทุนหรือเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น