“ความเชื่อ - สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ที่พึ่งทางใจคนไทย สร้างเงินสะพัดกว่าหมื่นล้านบาทต่อปี ...จริงหรือ?
“ศาสนา ความเชื่อ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์”
ที่พึ่งทางใจของคนไทยทุกยุคทุกสมัย ที่เป็นศูนย์กลางยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวพุทธ โดยเฉพาะถ้ามีปัญหาหนักใจ ก็มักจะหันหน้าเข้าหาวัด เพื่อทำบุญ ขอพร สะเดาะเคราะห์ และยังเป็นแหล่งรวมโชคลาภ เลขเด็ด ในแต่ละงวดอีกด้วย
ไม่น่าแปลกใจ...ที่แต่ละปี เงินที่สะพัดเข้าไปหมุนเวียนในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ความเชื่อ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มูลค่าจะสูงถึง หมื่นล้านบาท ....
ตัวเลขนี้เป็นข้อมูลจากโพลล์ของ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ที่ได้สำรวจพฤติกรรมของผู้บริโภคในทุกอำเภอ จำนวน 7,904 คน ในช่วงเดือนตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา พบว่า คนไทยทำบุญไหว้พระ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ความเชื่อทางศาสนา เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ ทำเงินสะพัดทั่วประเทศ 10,800 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็น 0.36 % ต่อมูลค่าการท่องเที่ยวไทย และนี่ยังไม่นับรวมเม็ดเงินที่มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีน ซึ่งที่ผ่านมาก่อนวิกฤตโควิด 19 จะมีนักท่องเที่ยวที่นิยมเดินทางมาไหว้ขอพรพระแก้วมรกต, พระพรหมเอราวัน ในแต่ละวันจำนวนมากเช่นกัน
มูลค่าทางเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับสูงเช่นนี้ มีผลต่อนัยยะสำคัญของเศรษฐกิจ พูดง่ายๆ คือ การเดินทางไปทำบุญของประชาชนจากทั่วภูมิภาค จะช่วยสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวในพื้นที่นั้น ๆ เติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด พร้อมเม็ดเงินที่กระจายลงสู่พ่อค้าแม่ค้าในชุมชน ให้มีรายได้เพิ่มขึ้น
"ถ้าลองยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ปัจจุบันก็มี “ไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์” ที่ อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนจำนวนมาก ศรัทธา และเดินทางเข้าสักการะ ยิ่งในช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมา พบว่าแต่ละวันมีประชาชนกว่าหมื่นคน เข้ามา ขอพร บนบาน และแก้บนอย่างเนืองแน่น และในแต่ละเดือนมีผู้เข้าวัดมากกว่า 1.4 แสนคน ส่งผลให้ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวใน จ.นครศรีธรรมราช เติบโตอย่างมาก โดยเฉพาะเที่ยวบินกรุงเทพฯ-นครศรีธรรมราช ที่ขยายตัวมากกว่า 30 เที่ยวบินต่อวัน"
มาดูข้อมูลจากโพลสำรวจของ สนค. จะเห็นได้ว่าเรื่องขวัญกำลังใจ รายได้และการงาน เป็นวัตถุประสงค์หลักของการทำบุญสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน ซึ่งคนส่วนใหญ่ กว่า 47.58% นิยมบริจาคตู้ทำบุญ และถวายสังฆทาน 39.46%
แม้ว่าตัวเลขมูลค่าทางเศรษฐกิจของ “ความเชื่อ - สิ่งศักดิ์สิทธิ์” จะเติบโตได้ดี แต่ประเด็นด้านศาสนาและความเชื่อเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จึงต้องมีความระมัดระวังในการกำหนดมาตรการนโยบายให้เหมาะสม โดยคำนึงถึงบริบทความเชื่อและวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่น เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งและบิดเบือนข้อเท็จจริงที่อาจเกิดขึ้นได้
ดังนั้นการมุ่งเน้นประชาสัมพันธ์ พร้อมดูแลสถานที่เหล่านี้ให้คงสภาพดี มีความสอดคล้องกับมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว จะสามารถสนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยวไทย และช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจในสาขานี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป