หมดยุค “กุศโลบายหลอกเด็ก” อธิบายให้เข้าใจ ไม่ใช่หลอกให้กลัว
เด็ก ๆ ซึ่งเป็นวัยที่ซุกซน ความคิดความอ่านยังไม่เปิดกว้างและยอมรับในเหตุผลได้มากเท่ากับวัยผู้ใหญ่ หลายการกระทำที่เกิดขึ้นก็มักจะเป็นเพราะความขาดการยั้งคิดหรือ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ อีกทั้งการตักเตือนของผู้ใหญ่มักไม่เป็นผล หนำซ้ำยังตรงกันข้ามเสียอีกเมื่อเด็กถูกตักเตือนมักยิ่งต่อต้านและไม่เชื่อฟัง
จนหลายครั้งผู้ใหญ่ต้องใช้กุศโลบายเข้าช่วยเพื่อเป็นการกระตุ้นให้เด็ก ๆ เชื่อฟังง่ายขึ้น โดยอาศัยความกลัวเข้าช่วย ซึ่งคำว่า กุศโลบาย นั้นมาจากคำว่า กุศล แปลว่า ความดี และ อุบาย แปลว่า การหลอกล่อ ดังนั้นเมื่อผสมกันจึงออกมาเป็น การหลอกล่อให้ทำความดี ประมาณนี้
ซึ่งเมื่อนำมาใช้กับเด็กโดยส่วนใหญ่จะเป็นการหลอกให้กลัวเสียมากกว่า ซึ่งแน่นอนเราทุกคนเคยผ่านการหลอกด้วยคำพูดเหล่านี้มาบ้างแล้ว เช่น
- อย่าออกไปเล่นนอกบ้านตอนค่ำเดี๋ยวผีจะมาจับตัวไป เพราะเด็กมักชอบเล่นซนจนลืมเวลา การปรุงแต่งเรื่องผีจะช่วยให้เด็กกลัวและตระหนักว่าการเล่นจนมืดค่ำจะเจอผี
- อย่าตัดเล็บตอนกลางคืนเดี๋ยววิญญาณบรรพบุรุษจะไม่เป็นสุข เนื่องจากสมัยก่อนไฟที่ให้แสงสว่างตอนกลางคืนอาจทำให้มองเห็นไม่ชัดพอ อาจมีการตัดเล็บผิดพลาดจะทำให้บาดเจ็บเองได้ การนำเอาบรรพบุรุษมาอ้างเพราะสมัยก่อนบรรพบุรุษได้รับความเคารพรักมาก
- อย่าร้องเพลงตอนกินข้าวไม่งั้นจะได้เมีย/ผัวแก่ เพราะตอนกินข้าวหากพูดหรือร้องเพลงไปด้วยอาจทำให้สำลักได้ และที่สำคัญไม่มีใครอยากได้ผัว/เมียแก่แน่นอน
- ถ้านอนกินเดี๋ยวจะกลายเป็นงู เพราะด้วยลักษณะท่าทางการนอนกินข้าวหรือขนมนั้นดูไม่เหมาะสม
- หรือเป็นการหลอกเล็ก ๆ น้อย ๆ ทั่วไป เช่น ถ้าไม่กินข้าวตุ๊กแกจะมากินตับ ถ้าดื้อจะจับให้หมอฉีดยา
โดยอันที่จริง การใช้กุศโลยาบโดยมีใจความเป็นการหลอกให้เกิดความกลัวเพื่อการบางอย่างนั้น ไม่ใช่เรื่องดีและไม่เป็นที่ยอมรับแล้วในปัจจุบัน เพราะเป็นการสอนที่ค่อนข้างมักง่ายและไร้เหตุผล เด็กที่ได้รับการบ่มสอนด้วยการหลอกแบบนี้จะไม่รู้ถึงเหตุผลที่แท้จริง แต่ทำไปเพราะความกลัวเท่านั้น
สังคมไทยที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกับการใช้อำนาจในการปกครองในบ้านมาตั้งแต่นมนาน กล่าวโดยง่ายคือการข่มให้กลัวและทำตามโดยไม่มีเหตุผลรองรับ เด็กบางคนอาจถามกลับบ้างว่า เพราะอะไร, ทำไม ซึ่งส่วนใหญ่จะตอบไม่ได้ บอกแค่เพียงว่าคนโบราณเขาบอกมา จนเป็นการฝังหัวการสั่งสอนเด็กแบบผิดสืบทอดมาตามชั่วอายุคน
ซึ่งในทางจิตวิทยาการปลูกฝังความกลัวให้กับเด็กนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ควร เพราะความกลัวที่ฝังใจจะส่งผลกระทบต่อจิตใจ ซึ่งสำหรับบางคนอาจหายเมื่อโตขึ้น แต่สำหรับบางคนอาจเป็นความกลัวที่ติดตัวไปตลอด เช่น การหลอกว่าอย่าไปเล่นน้ำเดี๋ยวผีพรายดึงขา อาจส่งผลให้เด็กกลัวการลงน้ำหรือว่ายน้ำ ทั้งที่จริงแล้ว ควรบอกด้วยเหตุผลมากกว่าว่าการไปเล่นน้ำควรอยู่ในสายตาผู้ใหญ่เพราะมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุจมน้ำได้
แม้ว่าเด็กจะยังไม่ค่อยเข้าใจเหตุผลที่ผู้ใหญ่อธิบาย แต่ก็น่าจะดีกว่าถ้าเราค่อย ๆ สอนเขาไป ให้เขาได้รู้เหตุผลที่แท้จริงว่าทำไมถึงห้ามไม่ให้เขาทำ ให้เขาเข้าใจในหลักการจริง ๆ ดีกว่าหลอกให้เขากลัว
SOURCE : tonkit360