หลายคำพูดธรรมดา ๆ ที่พ่อแม่พูดกับลูกอยู่ทุกวัน แต่อาจจะเป็นคำพูดที่ฝังความเจ็บปวดไว้ให้กับลูก โดยไม่รู้ตัว ประโยคแบบไหน คำพูดแบบไหน คำพูดที่ไม่ควรพูดกับลูก มาเรียนรู้ ปรับตัวที่จะได้ไม่เผลอ พลั้งพลาด พูดกับลูกจนส่งผลต่อพฤติกรรมแย่ ๆ หรือพัฒนาการล่าช้าของลูกได้

7 คำพูดที่ไม่ควรพูดกับลูก

1. เดี๋ยวให้ตำรวจมาจับนะ! เชื่อว่าหลายครอบครัว ไม่เฉพาะแค่พ่อแม่ แต่คนเลี้ยง ปู่ย่าตายาย ก็อาจจะเคยพูดจ่าข่มขู่เด็กให้กลัวบ้าง เช่น อย่าทำนะ เดี๋ยวตำรวจมาจับ เดี๋ยวผีมาหลอก เดี๋ยวให้หมอฉีดยา ฯลฯ สารพัดคำขู่แบบแปลก ๆ ที่ไม่มีเหตุผลให้ลูกหยุดพฤติกรรม แต่การปลูกฝังความกลัว หรือ ข่มขู่ลูกแบบไม่มีเหตุผลแบบนี้ ส่งผลต่อพัฒนาการทางอารมณ์ และจิตใจลูกได้

ความกลัวจะทำให้ลูกขาดความเชื่อมั่น ขาดการใช้ความคิดไตร่ตรอง ไม่หาความจริงด้วยเหตุผล ยิ่งขู่ให้กลัว ลูกยิ่งรู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่มั่นใจในตนเอง เปราะบาง มีปัญหาเกี่ยวกับอารมณ์ และอื่น ๆ อีกมากมาย หรือถ้าความกลัวรุนแรง ปล่อยไว้นานวันอาจส่งผลต่ออาการทางประสาทได้ เช่น เด็กความมืด กลัวที่แคบ เมื่อโตขึ้นได้

2. อย่าทำนะ ! พ่อแม่ หรือคนเลี้ยงที่ ห้ามนั่น ห้ามนี่เด็กตลอดเวลา จะทำให้เด็กขาดความเชื่อมั่น ไม่กล้าตัดสินใจ การห้ามลูกทำสิ่งที่อันตราย หรือไม่เหมาะสมทำได้ แต่ควรอธิบายให้เหตุผลกับลูกด้วย ไม่ใช่ห้ามพร่ำเพรื่อแบบไม่มีเหตุผล เช่น ลูกวิ่งเล่น ก็ออกคำสั่งแค่ว่า อย่าวิ่งนะ มานั่งเฉย ๆ นี่ เพราะลูกจะไม่ได้เรียนรู้ว่าเพราะอะไรจึงไม่ควรวิ่ง ต่อไปลูกก็จะทำอีก เข้าทำนอง “ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ” แต่ให้ใช้วิธีบอกสิ่งที่ลูกควรจะทำแทน เช่น “มาเดินจับมือแม่ไว้นะ” “มานั่งเล่นด้วยกันตรงนี้ดีกว่า”

3. ล้อเลียน บูลลี่! บางครั้งพ่อแม่ ก็นึกสนุกกับลูก มองว่าลูกยังเป็นเด็กเล็ก ๆ ที่ไม่คิดอะไรอยู่เสมอ ทั้งที่ลูกเริ่มโตขึ้นแล้ว เราห่วงกลัวลูกจะโดนแกล้ง โดนล้อ โดนบูลลี่จากที่โรงเรียน จากคนอื่น ๆ แต่บางครั้ง พ่อแม่ ผู้ปกครองนี่แหละ ที่ทำร้ายลูกหลาน เด็ก ๆ โดยไม่รู้ตัว เช่น ใช้คำพูดล้อเลียนสิ่งที่เด็กไม่ชอบ ไม่ว่าจะเป็นรูปร่าง หน้าตา สีผิว บุคลิกลักษณะเฉพาะตัว หรือความผิดพลาดในอดีต เรียก “หมูอ้วน” “ฉี่ราด” ฯลฯ ซึ่งเป็นปมในใจที่ดูเหมือนว่าเด็กไม่ได้คิดหรือรู้สึกอะไร อาจหัวเราะเสียด้วยซ้ำ แต่เก็บสะสมฝังใจจนทำให้เกิดความคิด และพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนไปจากความคาดหวังได้

4. ทำไมไม่เหมือนคนอื่นเลย “ลองดูเพื่อนคนนั้นสิ่” “ดูน้องสิ่ ยังทำได้เลย” การพูดแบบนี้ พ่อแม่อาจะคิดว่าเป็นการกระตุ้นให้ลูกพัฒนาตัวเอง แต่การเปรียบเทียบลูกกับเด็กคนอื่น ๆ หรือกับพี่กับน้อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร อาจทำให้ลูกรู้สึกว่าเราด้อยกว่าอยู่เรื่อย ๆ ไม่ส่งผลดีในการกระตุ้นให้ลูกได้พัฒนาตัวเองเลย นาน ๆ ไปจะทำให้ลูกไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง ขี้อาย ไม่กล้าแสดงออก ไม่กล้าลงมือทำอะไรเพราะขาดความมั่นใจว่าตนจะทำได้สำเร็จ

ในทางตรงข้ามเด็กบางคนอาจจะรู้สึกโกรธ อิจฉา หรือแสดงพฤติกรรมต่อต้าน รุนแรง ก้าวร้าวตอบโต้กลับไป ตรงกันข้ามกับที่ผู้ใหญ่บอกให้ทำ เพื่อให้เกิดความรู้สึกสะใจที่พ่อแม่มักจะเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น ซึ่งไม่เป็นผลดีกับตัวเด็กเลย

5. เดี๋ยวแม่ไม่รักนะ ควรหลีกเลี่ยงคำสั่งที่เป็นการบีบบังคับ กดดัน ข่มขู่ หรือมีเงื่อนไข และหากไม่ทำตามจะไม่ได้รับความรัก เช่น สั่งให้ทำการบ้านเดี๋ยวนี้ ไม่เช่นนั้นจะไม่รัก ประโยคที่บอกว่า "ต้องดี ถึงจะรัก" เด็กที่ถูกพูดแบบนี้อยู่บ่อย ๆ ก็อาจจะทำให้ ไม่แน่ใจว่าตัวเองเป็นที่รัก เด็กหลายคนระวังกังวล กลายเป็นเด็กที่ไม่มีความมั่นใจ เด็กหลายคนไขว่คว้าหาความรัก ซึ่งผลสุดท้ายของการแสดงความรักที่มีเงื่อนไข อาจนำไปสู่ความนับถือตัวเองที่ไม่ดี

6. ลูกไม่ผิดหรอก เมื่อเป็นพ่อแม่คน เราก็อดที่จะตามใจ สปอยล์ลูกโดยไม่รู้ตัว หลายครั้งที่เราเผลอเข้าข้างลูกไปบ้าง แต่การบอกบ่อย ๆ ว่าลูกไม่ผิด หรือโอ๋ลูกมากไป เช่น เดินเตะโต๊ะก็บอก ไหนใครทำลูกเจ็บ ทำเป็นตีโต๊ะ ตีเก้าอี้ แทนที่จะบอกให้ลูกเดินระมัดระวัง จะทำให้ลูกไม่รู้จักเรียนรู้ความผิดหวัง เมื่อโตขึ้นก็จะกลายเป็นคนที่รับมือกับความผิดหวังได้ต่ำ เพราะคิดว่าทุกคนต้องทำตามที่ต้องการ

7. หยุดร้องเดี๋ยวนี้นะ! เมื่อลูกมีอารมณ์โกรธ โมโห ร้องไห้ออกมา ถ้าไม่อยู่ในที่สาธารณะ ที่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนรำคาญ พ่อแม่อาจจะต้องปล่อยให้ลูกได้ร้องไห้ออกมา ไม่ควรออกคำสั่งแค่ว่าหยุดร้อง! เดี๋ยวนี้นะ แต่ต้องบอกว่าลูกร้องไห้ได้ โมโหได้ เสียใจได้ ถ้าลูกหยุดร้องแล้วเรามาคุยกันนะคะ เป็นการสะท้อนอารมณ์ให้ลูก และให้ลูกได้ระบายความเครียดตัวเองออกมา ลูกจะได้ไม่เก็บความเครียดไว้ และไม่ว่าจะเป็นเด็กผู้หญิง หรือเด็กผู้ชายก็สามารถร้องไห้ได้ ไม่ใช่บอกว่าเป็นเด็กผู้ชายห้ามร้องไห้นะ

การพูดคุยกับลูก สิ่งสำคัญคือ ต้องอยู่บนพื้นฐานความรักของพ่อแม่ ควรใช้วิธีการพูดกับลูกอย่างสร้างสรรค์ พูดในทางบวก การชมเชยลูก การให้กำลังใจ เช่น “เก่งจังเลย” “สวยจัง” “ทำได้เยี่ยมไปเลย” สิ่งสำคัญคือ ไม่ใช้อารมณ์ ถึงแม้จะเป็นเรื่องที่ห้ามยาก พ่อแม่ก็คนเหมือนกัน มีอารมณ์โกรธ โมโหได้ ยิ่งลูกไม่ได้ดั่งใจ แต่เราต้องพยายามจัดการอารมณ์ตัวเองให้ได้ ต้องไม่คุยกับลูกต้อนที่โกรธมาก ๆ พยายามใจเย็นก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องสอนลูก ควรใช้คำพูดที่สุภาพ ใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ เพื่อให้ลูกเรียนรู้ เติบโตขึ้นเป็นเด็กที่มีพัฒนาการที่ดีในทุก ๆ ด้าน ทั้งร่างกาย จิตใจ

SOURCE : www.gedgoodlife.com