เคยรู้สึกว่าอยู่ผิดที่ผิดทางมั้ย?
รู้สึกว่าตัวเองไม่ควรมาอยู่ตรงนี้ หรือที่นี่ไม่ใช่ที่ของฉันเลย ไม่ใช่เพราะคิดว่าตัวเองเก่งเกินไป แต่เพราะรู้สึกว่าตัวเองยังไม่เก่งพอจะมายืนตรงนี้

การที่คุณรู้สึกว่าไม่มั่นใจในตัวเอง ว่าจะสามารถทำได้ หรือคิดว่าตัวเองไม่มีความสามารถเพียงพอ ไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิด เพียงแต่คุณอาจจะกำลังประสบกับโรคคิดว่าตัวเอง ‘ไม่เก่ง ไม่ดีพอ หรือ Impostor Syndrome’

.

ไม่ได้กลัวล้มเหลว แต่คิดว่าไม่ได้มีความสามารถจริง
ที่เห็นว่าเก่ง ที่จริงก็บังเอิญทั้งนั้น

.

Impostor Syndrome เป็นอาการขาดความมั่นใจ รู้สึกว่าตัวเองไม่เก่งจริง โดยคาดว่าในช่วงชีวิตหนึ่งของคนราว 70% ทั่วโลกจะต้องเคยประสบกับสภาวะนี้ และสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ว่าจะหญิง ชาย คนทำงาน ผู้บริหารระดับสูง หรือแม้แต่นักเรียน

คนที่เป็นโรคนี้ หลายคนจะมองความสำเร็จที่เกิดขึ้นในชีวิตของตัวเองว่าเป็นเพราะโชคช่วย หรือความบังเอิญ มากกว่าจะคิดว่าเป็นเพราะตัวเองมีความสามารถหรือคุณสมบัตินั้นจริงๆ และมักจะตามมาด้วยการกดดันในตัวเองในแต่ละแบบที่ต่างกันออกไป

.

ถ้ายังไม่แน่ใจ ลองอ่านตัวอย่างข้างล่างกันต่อ

  1. คุณรู้สึกว่าชีวิตของคุณควรจะต้องเพอร์เฟ็กต์แบบเต็ม 100% เสมอ (และแม้ว่ามันจะบรรลุเป้าหมายไปได้ถึง 99% คุณก็ยังรู้สึกเฟล)
  2. คุณมักจะอยู่ทำงานดึกกว่าคนอื่น หรือรู้สึกกระอักกระอ่วนเวลาต้องหยุดงาน หรือยอมทิ้งงานอดิเรก สิ่งที่รักของตัวเองเพื่องาน
  3. ในวัยเด็ก คุณคือเด็กคนนั้นที่มักจะถูกชมว่า ฉลาด เก่ง กว่าเด็กคนอื่นในครอบครัวหรือเพื่อนในชั้น โดยไม่ต้องพยายามอะไรมากมายนัก
  4. คุณชอบทำอะไรให้สำเร็จด้วยตัวเอง และไม่ค่อยชอบพึ่งพาคนอื่น เพราะการขอความช่วยเหลือทำให้คุณรู้สึกว่าคุณไร้ความสามารถ
  5. คุณคิดว่าตัวเองยังรู้ไม่พอ ต้องรู้มากกว่านี้ ต้องการทุกรายละเอียดก่อนจะเริ่มโปรเจ็คต์ใดใด หรือลงมือทำอะไรซักอย่าง และกลัวที่จะถูกมองว่าคุณไม่เก่งจริง

.

Impostor Syndrome สามารถจัดกลุ่มได้เป็นคนหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะ perfectionist ตัวพ่อตัวแม่ / ยอดมนุษย์เงินเดือน / คนเต็งหนึ่งมาแต่เด็ก / One man show หรือแม้แต่ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งก็เชื่อว่าเกิดได้จากหลากหลายปัจจัยทั้งประสบการณ์ในวัยเด็กที่สะสมมาแบบไม่รู้ตัว หรือสภาพแวดล้อม

.

รับมือยังไงต่อดี ถ้าอ่านแล้วว่าใช่ ต้องใช่แน่ๆ

ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้บอกว่าแรกสุดคือ รู้ให้ทันว่าเจ้าความคิดนี้กำลังเกิด ยอมรับมัน และสำรวจความคิดตัวเองให้ได้ เมื่อไหร่ที่ความรู้สึกนี้ผุดขึ้นมาบ่อยๆ อาจจะทำให้คุณเกิดความรู้สึกกดดันตัวเองหรือความเครียดแบบที่เราไม่รู้ตัว

สมาคมจิตวิทยาแนะนำว่า การออกกำลังกายถือว่าเป็นตัวเลือกที่ดีในการจัดการกับความเครียดได้ เนื่องจากร่างกายจะหลั่งสารเอนดอร์ฟิน (Endorphin) ซึ่งเป็นสารที่ช่วยให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย โดยจะส่งผลมากที่สุดในช่วง 90 – 120 นาที

แต่หากคุณเห็นว่า เวลา 90 – 120 นาทีนานเกินไป คุณสามารถเริ่มออกกำลังกาย แอโรบิค หรือโยคะ เพียง 5 นาที ก็จะช่วยให้ระดับความเครียดลดลงได้ หากสามารถออกกำลังกายได้เป็นประจำในทุกวัน ก็จะช่วยลดความเครียดในระยะยาวได้

นอกจากนี้คุณอาจหาเพื่อนที่ไว้ใจได้ หรือคนที่ให้คำแนะนำดีๆ ได้ซักคน (บางคนอาจเรียกว่า mentors) แล้วแชร์ความคิดนี้ออกไป อย่าลืมว่าบนโลกนี้ไม่ได้มีตัวคุณคนเดียว ลองคุยกับคนอื่นบ้าง แล้วคุณอาจจะได้รู้ว่าสิ่งที่คุณเป็นก็ไม่ได้ต่างอะไรจากคนอื่น แล้วดูว่าเขารับมือกันยังไง

.

เป็นเรื่องปกติที่เราหลายคนจะประสบกับความเครียดที่มาจากการกดดันในตัวเอง แต่อย่าลืมว่าในทุกๆ ปัญหาสามารถจัดการได้ เพียงแค่ลองหาวิธีที่จัดการให้เหมาะสมกับตัวเอง และเริ่มลงมือทำวันละนิดอย่างต่อเนื่อง

สิ่งที่สำคัญคือ หมั่นตรวจสุขภาพจิตของตนเอง อย่าปล่อยให้ความรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเองครอบงำจนส่งผลต่อการใช้ชีวิต ค่อยๆ หาแนวทางของตัวเอง แล้วสักวันคุณจะพบเจอเส้นทางที่ใช่สำหรับคุณ

SOURCE : prusocials