การลงทุนใน disruptive innovation companies
บทความโดย ดร.ธนภูมิ ดำรักษ์, CFA.
ทำไมเราถึงควรให้ความสนใจกับบริษัทที่กำลังทำธุรกิจที่กำลังเปลี่ยนโลกด้วยเทคโนโลยี ทั้งๆ ที่โอกาสในการลงทุนอื่นๆมีมากมาย บริษัทที่ราคาหุ้นขึ้นมาหลายเท่าในระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมาเช่น Nvidia, Shopify, Netflix, Tesla บริษัทเหล่านี้มีอะไรที่แตกต่าง และทำไมราคาหุ้นถึงเพิ่มขึ้นหลายเท่า
ความน่าสนใจลงทุนในบริษัทที่มีนวัตกรรม (Innovation)
1. ความเร็วในการพัฒนาของเทคโนโลยีนั้นเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
แต่เดิม กว่าที่มนุษย์จะพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ขึ้นมานั้นจะต้องใช้เวลานาน และกว่าที่จะถูกใช้ในวงกว้างก็เป็นเวลานานอีกเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น เจมส์ วัตต์ ประดิษฐ์เครื่องจักรไอน้ำในปี 1769 แต่กว่าที่รางรถไฟจะครอบคลุมทั่วประเทศสหรัฐอเมริกาก็คือปี 1869 (First Transcontinental Railroad) แต่ปัจจุบันเทคโนโลยี smart phone สามารถเข้าถึงผู้บริโภคส่วนใหญ่ได้ภายในเวลาไม่ถึง 10 ปี
ซึ่งเหตุผลที่การพัฒนาทำได้เร็วมากยิ่งขึ้นอาจจะเกิดจากหลายปัจจัย เช่นข้อมูลข่าวสารและการร่วมมือกันทำงานทำได้ง่ายขึ้นจากอินเตอร์เนท นอกจากนี้การวิจัยที่ต้องใช้การประมวลผลก็สามารถทำได้เร็วขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากคอมพิวเตอร์ที่ประมวลผลได้รวดเร็วกว่าเดิมมาก
2. บริษัทที่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถทดแทนธุรกิจในรูปแบบเดิมได้ จะสามารถกินส่วนแบ่งตลาดได้มากขึ้นเรื่อย ๆ
เราเห็นได้ชัดจากหลายอุตสาหกรรมเช่น
- ค้าปลีก ห้างสรรพสินค้าและร้านขายของ กำลังถูกทดแทนด้วย ecommerce เช่น Amazon เป็นต้น
- สื่อโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ ถูกทดแทนด้วย Social Media เช่น Facebook และ YouTube
- โรงหนัง ถูกทดแทนด้วยบริการ Streaming (เช่น Netflix)
บริษัทที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีสมัยใหม่เหล่านี้สามารถที่จะชนะการแข่งขันกับธุรกิจแบบดั้งเดิมได้เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ดีกว่าหรือราคาที่ต่ำกว่า ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปความแข็งแกร่งก็จะมากขึ้นเรื่อย ๆ และส่วนแบ่งตลาดก็จะมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน (จนกว่าจะมีรายใหม่เข้ามาที่มีเทคโนโลยีที่ดีกว่าเดิมมาก ๆ)
เราจะเห็นกำไรและราคาหุ้นของบริษัทเหล่านี้เติบโตขึ้นทุก ๆปี
3. เทคโนโลยีจะเป็นเกราะกำบังคู่แข่ง (moat)
วอเรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนที่เป็นตำนานวีไอ จะเลือกลงทุนในบริษัทที่ได้เปรียบในการแข่งขัน แต่ Elon Must ผู้บริหาร Tesla กล่าวว่า บริษัทที่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีได้เร็วกว่าคู่แข่งเท่านั้นถึงจะสามารถเติบโตได้ดี และคู่แข่งก็จะไม่สามารถพัฒนาตามได้ทัน ทำให้มีความสามารถในการแข่งขันในที่สุด
การคัดเลือกบริษัทที่น่าลงทุน
1. ผู้บริหาร ปัจจัยนี้เป็นปัจจัยที่ให้ความสำคัญมากที่สุด เนื่องจากผู้บริหารจะเป็นผู้กำหนดทิศทางของบริษัท และทำการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ล้ำหน้ากว่าคู่แข่งได้ นอกจากนี้ยังจะต้องสามารถปรับตัวตามสภาวะอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนไปได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งผู้บริหารที่ดีควรมีคุณสมบัติดังนี้
- มีความรู้และประสบการณ์ในอุตสาหกรรมนั้นเป็นเวลานาน มีผลงานที่พึงประจักษ์ได้
- มีวิสัยทัศน์ ที่จะสามารถนำพาบริษัทไปในทิศทางที่ถูกต้องได้
- มีหุ้นอยู่ในบริษัทมากพอสมควร (เพื่อให้มีแรงจูงใจในการพัฒนาบริษัท)
- มีความซื่อสัตย์ ไม่มีประวัติคดโกง
2. สินค้าและผลิตภัณฑ์มีความได้เปรียบเหนือคู่แข่งอย่างไร
- มีคุณสมบัติที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค
- ราคาที่ถูกกว่า
- ช่องทางการเข้าถึงผู้บริโภคที่ง่ายกว่า
3. มีรายได้เติบโตอย่างสม่ำเสมอ
- รายได้ที่เติบโตแสดงให้เห็นว่าสินค้าหรือผลิตภัณฑ์เป็นที่ต้องการของตลาด ควรมีการเติบโตอย่างน้อย 15-25% ต่อปี
- รายได้โตเร็วกว่าคู่แข่ง ทำให้ market share เพิ่มขึ้น
4. อยู่ในอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโต
- เลือกอุตสาหกรรมที่กำลังมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดเนื่องจากมีนวัตกรรมใหม่ (breakthrough) เนื่องจากการเติบโตจะรวดเร็วกว่า
- ลองคำนวณหา Total Addressable Market (TAM) หรือหมายถึงขนาดของตลาดของสินค้าชนิดนี้ ว่ามีขนาดเท่าไหร่ บริษัทยังสามารถเติบโตได้อีกหรือไม่ และTotal Addressable Market (TAM) ในอนาคต จะสามารถเติบโตได้อีกเท่าไหร่
5. วิสัยทัศน์ระยะยาว (Long term vision)
- วิสัยทัศน์จะต้องชัด ว่าบริษัทมีเป้าหมายต้องการจะทำอะไร เพื่อให้พนักงานทุกคนมุ่งหน้าไปในทิศทางเดียวกัน
- วิสัยทัศน์จะต้องเข้าใจง่าย ไม่ก่อให้เกิดความสับสน
กระบวนการลงทุน
1. นักลงทุนควรทยอยเข้าซื้อ
เนื่องจากราคาหุ้นมความผันผวนมาก การทยอยเข้าซื้อเป็นสิ่งที่ควรทำ เนื่องจากนักลงทุนอาจจะเข้าซื้อผิดจังหวะได้ง่าย
2. ถือไว้ระยะเวลานานพอ
การที่รายได้และกำไรจะเติบโตต้องใช้เวลาหลายปี การถือเป็นระยะเวลานานจึงจะทำให้ได้ผลตอบแทนที่ดีได้ การซื้อขายบ่อย ๆ อาจจะทำให้พลาดโอกาสในการลงทุนได้
3. ไม่หวั่นไหวกับความผันผวน
นักลงทุนในหุ้นระยะยาวจะต้องสามารถอดทนกับความผันผวนได้ หุ้นที่ถืออาจจะลงมามากกว่า 50% ในบางโอกาส ให้ถือเป็นจังหวะเข้าซื้อเพิ่ม (ถ้ายังเป็นหุ้นที่ดีอยู่)
4. หมั่นตรวจสอบข้อมูล
บริษัทจะประกาศงบทุกไตรมาส นักลงทุนควรติดตามว่าบริษัทยังเติบโตตามที่เราคาดหวังได้หรือไม่ แผนการในอนาคตเป็นอย่างไร ยังเป็นบริษัทที่ดีอยู่หรือไม่ ถ้าพื้นฐานเปลี่ยนไปในทางที่แย่ลงให้ตัดสินใจขายไปซื้อตัวอื่น
5.อย่าลงทุนในหุ้นตัวเดียว
หุ้นรายตัวมีความเสี่ยง ดังนั้นควรกระจายการลงทุนในหุ้นหลายตัว เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายถ้ามีปัจจัยลบมากระทบกับหุ้นตัวนั้นๆ ทั้งนี้ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้เช่น
- อาจจะมีเทคโนโลยีอื่นมาทดแทนได้
เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีใหม่ จึงอาจจะยังไม่ชัดเจนว่าใครจะเป็นผู้ชนะในที่สุด นอกจากนี้บริษัทใหม่ ๆ ยังเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา บางครั้งอาจจะมาจากอุตสาหกรรมอื่นที่เข้ามาแข่งขัน
-ราคาหุ้นอาจปรับตัวลงรุนแรงหากการเติบโตไม่เป็นไปตามเป้า
ความคาดหวังต่อหุ้นมีสูง ทำให้หากรายได้หรือกำไรไม่เข้าเป้า นักลงทุนอาจจะผิดหวังและเทขายอย่างรุนแรงได้ นอกจากนี้บริษัทอาจะให้ข้อมูลถึงแนวโน้มในอนาคตที่ไม่ดี ทำให้นักลงทุนเทขายได้เช่นกัน
ดร.ธนภูมิ ดำรักษ์, CFA.
บทความโดย เทอร์ร่า บีเคเค จาก ดร.ธนภูมิ ดำรักษ์, CFA. Email : tanapoom@uchicago.edu บทความโดย TerraBKK คลังความรู้สู่การลงทุนเพิ่มความมั่งคั่ง ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก