“อาคารสำนักงานใหม่” จะเปลี่ยนไปนับตั้งแต่ปี 2021
“อาคารสำนักงาน” เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่มีการใช้งานตลอดทั้งวันจากคนจำนวนมาก หลังจากที่เกิดโรคอุบัติใหม่ อย่างโควิด 19 จะมีทิศทางที่ต้องเปลี่ยนไปอย่างไร เทรนด์งานออกแบบจะต้องใส่ใจกับอะไรบ้าง เพื่อให้ตอบโจทย์การทำงานและไลฟ์สไตล์ของคนยุคนี้ ฟังมุมมองจาก ดร. จักรกฤษณ์ เหลืองเจริญรัตน์ Studio Director บริษัท เก็นสเล่อร์ (ประเทศไทย) จำกัด Gensler บริษัทออกแบบทางด้านสถาปัตยกรรมตกแต่งภายในและผังเมือง ถูกจัดให้เป็น อันดับ 1 ของโลกด้านการออกแบบ โดย Architectureal Record ในปี 2020 ที่ร่วมเปิดเผยข้อมูลสุด exclusive กับ TerraBKK เป็นที่แรก
เกี่ยวกับ Gensler
พัฒนาเครื่องมือสำหรับวางแผนและออกแบบสิ่งปลูกสร้างสำหรับโลกที่หลากหลาย
ในช่วงวิกฤตโควิด19 ของปีที่แล้วส่งผลกระทบให้หลายๆ อย่างต้องหยุดลงกลางคัน บริษัทออกแบบหลายแห่งได้ใช้โอกาสนั้นในการปรับปรุงพัฒนาเครื่องมือของตนเองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น บริษัท Gensler คือหนึ่งในตัวอย่างที่โดดเด่นที่สุด ที่ใช้เวลาในปีที่แล้วพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องมือของบริษัท ซึ่งช่วยให้นักออกแบบ สามารถใช้ data ขับเคลื่อนการออกแบบ ย่าน อาคาร และ การตกแต่งภายใน ได้อย่างรวดเร็ว และยังช่วยให้สามารถมองเห็นภาพของโครงการที่สมบูรณ์แล้วในระดับ Human scale ทำให่สามารถทำการออกแบบให้เข้าถึงความหลากหลายของกลุ่มคนได้อย่างสมบูรณ์แบบมากขึ้น อ้างอิงจาก www.fastcompany.com
งานออกแบบภายนอกอาคารในยุค New Normal
ถ้าพูดถึงถึงการเปลี่ยนแปลง ต้องยอมรับว่ามีการเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว เพราะพฤติกรรมคนเปลี่ยนตามสภาพแวดล้อมให้คนเปลี่ยนครับ ที่ผ่านมาเราก็ไม่ได้แคร์เรื่องโลกร้อนเท่าไหร่ แล้วก็จะเปลี่ยนวิธีการกินวิธีการใช้ชีวิตทำไม แต่พอเรามองว่าเมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไปแล้ว และสร้างปัญหาผลกระทบกับมนุษย์ เช่น อากาศร้อนขึ้น, ฝนตกหนักขึ้น, ลมแรงขึ้น คนก็เริ่มเปปลี่ยนพฤติกรรมตัวเอง วันนี้เราพูดถึงว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จากโรคอุบัติใหม่ ซึ่งปีที่แล้ว เราก็ไม่รู้เลยว่าโควิด-19 มันคืออะไร แต่ปีนี้เรารู้จักดีขึ้น แต่ดีมากพอหรือยังก็คงต้องมองระยะยาวไป ทำให้เรามองเห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นแต่มันมีผลกระทบแน่นอน โดยเฉพาะเรื่องของตัวอาคารเรื่องของการใช้ชีวิต เรื่องของพื้นที่ภายใน มีการปรับเปลี่ยนแน่นอนครับ
“อาคารสำนักงานใหม่” จะเปลี่ยนไปนับตั้งแต่ปี 2021
เราต้องมองเป็นกลุ่ม ๆ หมายความว่า ถ้าเรามองถึง เรื่องอาคารพักอาศัย, อาคารสำนักงาน,ห้างสรรพสินค้า และโรงแรม เพราะประเทศไทย ถือเป็นเมืองท่องเที่ยว
ถ้าพูดถึงอาคารสำนักงาน เราก็ต้องมองก่อนว่าอะไรบ้างที่เป็นตัวทำให้ต้องเปลี่ยนแปลง อันแรกเลยนะพูดถึงคำว่า mobility คือ การเคลื่อนของคน จากเมื่อก่อนเนี้ยขึ้นรถเมล์ ปัจจุบันนี้มีรถไฟฟ้า ทำให้การเคลื่อนตัวของคนจากฝั่งเหนือใต้ตะวันตก จากภายนอกเข้าสู่ภายในศูนย์กลางง่ายขึ้น
ปัจจัยต่อไปคือ ปัจุบันนี้ทุกคนมีทางเลือก ว่าเลือกจะมาทำงานหรือเลือกที่จะอยู่บ้าน รวมถึงสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป และเรื่องสุดท้ายก็คือเรื่องของสุขภาพและสภาวะแวดล้อม ที่มีผลกับเรา ก็คือเรื่องของอุบัติใหม่ ก็คงเป็นองค์ประกอบผสมกลมกลืนกันนะครับ ซึ่งส่งผลต่อตัวอาคารทั้งภายในและภายนอก
สำหรับอาคารสำนักงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ถ้าพูดถึงพื้นที่ ก็ต้องมองว่าพื้นที่ภายในเหมาะสมหรือไม่ เพราะปัจจุบันนี้ โรคอุบัติใหม่มันเกิดขึ้นเร็วมากเราคงเปลี่ยนแปลงอะไรได้ไม่มาก เพราะเป็นอาคารที่สร้างเสร็จก่อนจะเกิดโรคระบาด
ทำให้เราต้องมองเป็น 2 ประเด็น คือ อาคารที่สร้างก่อนที่โรคระบาดจะเกิดขึ้น และอาคารที่ต้องสร้างใหม่เพื่อตอบสนองโรคอุบัติใหม่
ซึ่งอาคารเดิม คนก็จำเป็นต้องเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การปรับรูปแบบทางเข้า-ออก สำนักงานต้องปรับอย่างไร เพื่อลดการเดินสวนทาง การใช้พื้นที่ส่วนกลางเพื่อลดการติดต่อ ซึ่งจริงๆ ก็ได้หลายรูปแบบ ถ้าอาคารนั้นขนาดใหญ่พื้นที่สาธารณะเยอะ ก็อาจจะมีพื้นที่ ที่ทำให้คนไม่ต้องเดินสวนกันได้ แต่ถ้าเป็นพื้นที่ที่มีขนาดเล็กลงมาหน่อย ก็ต้องหาวิธีการ อาจต้องมีฉากกั้น เพื่อให้คนลดกันเดินสวนกันครับ รวมถึงการติดตั้งเครื่องตรวจจับอุณหภูมิ ตัวนี้คือที่ต้องติดตั้งเพิ่มเติมขึ้นมา เพื่อให้เรารู้ว่าคนที่เข้ามาในพื้นที่ของเรา เนี่ยเป็นอย่างไร เพื่อป้องกันให้พนักงาน
สุดท้ายก็ต้องมีเรื่องของ Application เช่น ใครชนะ, หมอชนะ หรือบางทีต้องใช้ Application ที่ไปต่างประเทศใช้กัน เพื่อให้พนักงานติดตั้ง และสามารถติดตามได้ว่าพนักงานแต่ละคนมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อจากคนอื่นในพื้นที่ทำงานได้มากน้อยแค่ไหน
โรคอุบัติใหม่ มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการทำงาน
พฤติกรรมของการใช้สำนักงานจะเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมพนักงานทุกคน ต้องเข้ามาทำงานพร้อมกันหมด แต่ถ้าเกิดเปลี่ยนไปในอนาคต ถ้าคนมีทางเลือก 50% มาทำงาน อีก 50% สามารถทำงานที่บ้าน ปรากฏว่าสำนักงานก็ไม่จำเป็นต้องรองรับคนทำงานทั้งหมด ขนาดของพื้นที่ก็จะเล็กลงส่วนตัวตึกเองไม่ต้องเล็กลงตาม แต่ว่าพื้นที่ขายจะเล็กลง
อันที่ 2 เราก็มองว่า ถ้าอาคารสำนักงานในกรุงเทพฯ เป็นตึกเป็นแท่งขึ้นไป พื้นที่เปิดโล่งอยู่แค่ข้างล่าง เก็นสเล่อร์ เราก็มองว่าในอนาคตการออกแบบตึกทุกชั้นมีพื้นที่เปิดโล่ง หรือ ที่เรียกว่า Terrace เพื่อให้คนเอาไปสูดหายใจ และกลับเข้ามาทำงานนะครับ ซึ่งเราก็มองว่า อากาศภายนอกบรรยากาศบริสุทธิ์ ถ้าไม่รวม ถึง PM 2.5 ของบ้านเรานะ ซึ่งวันที่อากาศใสสะอาด คือข้างนอกก็สะอาดกว่าภายใน เพราะภายในอาคาร คืออากาศหมุนเวียน เรามองว่าในอนาคตจะต้องมีการเอาอากาศใหม่เข้ามาจากภายนอก
แล้วเราก็มองต่อไปว่า ถ้าคนมีทางเลือกที่จะเดินทางได้ เรื่องพื้นที่ส่วนกลาง ที่ไม่ใช่พื้นที่สำนักงานก็ต้องคิดเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของที่จอดรถยนต์ เช่น ถ้าวันนี้กฎหมายบอกว่ารถ 1 คัน ต่อการใช้พื้นที่ 60 ตารางเมตร แล้วในอนาคต คนส่วนใหญ่หันมาใช้ขนส่งมวลชนมากขึ้น-คนขับรถน้อยลง พื้นที่จอดรถเหล่านี้อาจจะไม่จำเป็น ดังนั้นในอนาคตเราจะใช้พื้นที่มาให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไรบ้าง
ดังนั้นตึกใหม่เราก็ต้องใช้งานดีไซน์ใหม่ ว่าเราจะรองรับพื้นที่จอดรถสำหรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้อย่างไร หนึ่งคือในกรณีที่มันเกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของข้อกฎหมาย, คนขับรถน้อยลง
อันที่สอง คือทางเลือกของการเดินทางใหม่ เช่น ถ้าเกิดผมบอกว่าผมไม่อยากเดินทางด้วยรถไฟฟ้า แต่ปั่นจักรยานมาแทนได้หรือไม่ ดังนั้นตึกสมัยใหม่ ก็อาจจะต้องมีพื้นที่รองรับการเก็บจักรยาน มีห้องอาบน้ำ มีล็อกเกอร์ ต้องคิดเผื่ออนาคต แต่ผมคิดว่ามันมาแน่นอน เพราะโลกเริ่มเปลี่ยนไปมาก แล้วก็เป็นเทรนด์
สำหรับเรื่องสุขภาพภายในอาคารสำนักงาน อยู่ที่เรื่องการวางพื้นที่ ทำอย่างไรให้คนลดการเจอกัน ถ้าไม่จำเป็น รวมถึงเทคโนโลยีไร้การสัมผัส ที่อาจจะต้องใช้การพัฒนา เช่น ลดการสัมผัสกับปุ่มลิฟท์ กลายเป็น application บนมือถือ ใช้สแกนทดแทนการสัมผัส ซึ่งเป้นการผนวกสุขภาพและเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน
ผมคิดว่าอาคารในเมืองไทยตอนนี้ก็เริ่มปรับเปลี่ยน ส่วนตึกเก่าก็ต้องปรับ ซึ่งคนที่จะดีไซน์ตึกใหม่ก็ต้องมีการคิดใหม่ ทำใหม่ อาคารสำนักงานก็ต้องมีองค์ประกอบที่เพิ่มขึ้นเพื่อให้ตอบโจทย์กับการเปลี่ยนแปลงตามสภาพแวดล้อม และไลฟ์สไตล์ของคนที่เปลี่ยนแปลงไป